ชีวิตที่พอเพียง : ๙๙๙. ความรับผิดชอบต่อสังคม



          ผมอ่านเอกสารของ The Nippon Foundation เพื่อเตรียมความคิดในการไปร่วมประชุมฉลอง ๑๐ ปี ของ API ที่มานิลา    และชมว่าเขาคิดกว้างดี    ที่จริงโครงการ API หรือ Asian Public Intellectual นี้ ทางญี่ปุ่นเขาคิดลึกมาก   เขาต้องการเข้ามามีบทบาทกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายของปัญญาชนสาธารณะ “Public Intellectual”   โดยตีความคำว่า PI กว้าง    เน้น public มากกว่า intellectual    ต้องการให้โครงการนี้เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงระหว่างต่างสังคม ระหว่างประเทศ ในเอเซีย 

          เขาเลือกคนจำนวนหนึ่งจากประเทศต่างๆ รวม ๔ ประเทศ   ได้แก่ มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และไทย มาทำโครงการข้ามประเทศ    หวังว่าจะเกิดความรู้จักและเข้าใจประเด็นต่างๆ ในสังคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้    เกิดความเข้าใจในมิติข้ามสังคม ข้ามประเทศ    ไม่มองแค่มิติที่แคบจำกัดในเฉพาะพื้นที่ หรือประเทศ   ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสังคม ระหว่างประเทศ

          ความรับผิดชอบต่อสังคม มีทั้งมิติที่จำเพาะพื้นที่/ชุมชน และมิติที่เชื่อมโยง   

          เขาเลือกประเด็นสำหรับศึกษา/ทำความเข้าใจเพียง ๓ ประเด็นคือ (๑) การเปลี่ยนแปลงเชิงอัตลักษณ์  (๒) ความเป็นธรรม  (๓) โลกาภิวัตน์ 

          ผมเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกของประเทศไทย ต่อเนื่องมา ๖ – ๗ ปี   ได้เรียนรู้ดังได้เล่าไว้แล้ว

          ผมตีความว่า โครงการนี้ตีความคำว่า “ปัญญาชนสาธารณะ” ว่าหมายถึงคนที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ชักชวนผู้คนให้เข้ามาร่วมกันทำเพื่อสังคม   ผมจึงใช้การตีความนี้ทำความเข้าใจ หาหลักฐาน ว่าโครงการนี้มีส่วนสร้างแรงกระเพื่อมในทางเพิ่มกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม ในสังคมไทยหรือไม่ 

          ผมตอบตัวเองว่า ไม่เห็น   เห็นแต่กิจกรรมเล็กๆ ในกลุ่มคนเล็กๆ    ไม่เห็นการขับเคลื่อนสังคมไทย   อาจจะมี แต่ผมไม่เห็นก็ได้  

          ที่เห็นคือ มีการตีพิมพ์หนังสือหรือจริงๆ แล้วเป็น proceedings The Asian Face of Globalization ออกมาในปี ๒๕๔๗   และคุณ Tatsuya Tanami ได้เขียนบทนำในหนังสือไว้อย่างดีมาก ในด้านมองภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงในเอเซียในช่วงหลังสงครามโลกจนปัจจุบัน   

          ผมมองว่าญี่ปุ่นเขาเอาใจใส่บทบาทของประเทศญี่ปุ่นต่อการอยู่ร่วมกันกับสังคมอื่นๆ ในโลก   เนื่องจากเขามีเงิน เขาจึงใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ปัญญาชนสาธารณะระหว่างประเทศ ตามเป้าหมาย ๓ ข้อดังกล่าวแล้ว   แล้วเขาจึงใช้ผลของกิจกรรมนี้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้ออกมา    สำหรับเป็นความรู้พื้นฐานในการทำหน้าที่เป็นประเทศที่รับผิดชอบต่อสังคมโลก

          ผมคิดอย่างนี้ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด   จะเอาแนวคิดนี้เป็นโจทย์ไปหาข้อมูลที่นครมานิลาปลายเดือนนี้

 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ พ.ค. ๕๓
       
                  

หมายเลขบันทึก: 361001เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2010 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีดีครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท