หากทะเล มีบ้านปลาที่ดอนหอยหลอด


หวังที่จะมี สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาสู่ทะเล มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

 

บ้านปลาจากวัสดุธรรมชาติ ผมเคยได้ยินมานานแล้ว ... 

แต่ก็ยังสงสัยว่าเค้าทำกันอย่างไร ? จากคำบอกเล่าของประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดว่า ... เป็นวิธีที่มีการทำ และนำมาใช้ในทะเลเขตพื้นที่อื่นๆ  แต่ ดอนหอยหลอด ยังไม่เคยทดลองทำมาก่อน ผมก็พยายามถามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากคนเรือที่ออกทะเลทำอาชีพประมงว่ารู้จักบ้างหรือเปล่า ...ก็เลยได้คำตอบว่า แต่เดิม บ้านปลาที่ว่านั้นจะคล้ายๆ กับซั้ง ที่ชาวประมงนิยมทำกัน แล้วนำไปทิ้งในทะเล เพื่อล่อให้สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาอยู่อาศัย และเป็นแหล่งอาหาร โดยใช้ทางมะพร้าวผูกมัดกันและนำไปทิ้งในทะเล ว่ากันประมาณนั้นนะครับ

 

วันนี้...ได้มีโอกาสชวนกลุ่มคนที่มีจิตอาสา จาก PTT AR ระยอง มาช่วยกันทำบ้านปลา อุปกรณ์ก็ใช้ไม่มากครับ หาเอาจากท้องถิ่น ประกอบด้วย ทราย กระสอบ เชือก โฟม หรือถัง  ต้นจาก หรือ ต้นมะพร้าว  โดยตัดเป็นทางยาว 
ก่อนที่จะเริ่มทำบ้านปลากัน ผมแบ่งกลุ่มคนที่มาทำกิจกรรม ออกเป็น 3 กลุ่ม แล้วให้พี่โจ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ ช่วยสาธิตวิธีการทำ
โดยเริ่มจากนำเชือกไนลอน ขนาดประมาณ  6 หุน ยาวประมาณ 5 เมตร มาผูกเป็นแนวขวาง จากนั้นก็นำใบจากเป็นทางยาวที่เตรียมไว้ มาซ้อนทับกัน แล้วนำเชือกขนาด 1.5 หุน ผูกมัดด้วยเงื่อนผูกเบ็ดให้แน่น ส่วนปลายด้านบนเหลือเชือกเอาไว้สำหรับผูกทุ่นซึ่งอาจทำด้วยแกลอน หรือ โฟม บริเวณส่วนกลางและท้ายให้มัดทางจากต่อยาว เป็น 2 ท่อนตามความยาวของเชือก ในลักษณะการมัดที่เหมือนกัน และเหลือเชือกส่วนท้ายเอาไว้ประมาณ 30 ซม. สำหรับไว้มัดกระสอบ จากนั้นให้นำกระสอบที่เตรียมไว้ ไปใส่ทรายประมาณ 1/2 กระสอบ ผูกมัดปากกระสอบด้วยเชือกแล้วทำเป็นห่วงให้แน่น  เตรียมไว้สำหรับผูกกับเชือกส่วนท้ายที่มัดติดกับทางใบจาก แค่นี้ก็เสร็จแล้วครับ รอเตรียมตัวนำทุ่นบ้านปลาไปทิ้งในทะเลได้เลยครับ  
เมื่อเข้าใจในวิธีทำแล้ว จึงเริ่มให้แต่ละกลุ่มลงมือช่วยกันทำ โดยในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะทำทุ่นบ้านปลาทั้งหมด 15 ทุ่น ทุกคนต่างลงมือทำกันอย่างสนุกสนาน จนสำเร็จตามแผนที่วางไว้ทุกกลุ่ม
 
จากกำหนดการเดิมที่จะพากลุ่มจิตอาสา PTT AR ไปออกทะเลเพื่อทิ้งทุ่นบ้านปลากลางทะเล ห่างจากชายฝั่ง 3.5 กม. ในวันนี้ หากคลื่นลมสงบ หลังจากนำคณะนั่งเรือเที่ยวชมวิถีชีวิตคนริมคลอง ด้วยเรือของชาวบ้าน
 
เมื่อพร้อมกันแล้วจึงนำเรือขับผ่านหมู่บ้านประมง ป่าจาก  ตามคลองที่คดเคี้ยว เหมือนล่องแก่งเลยครับ... จนมาถึงคลองบางจะเกร็ง (ปากอ่าว) "ลมเริ่มพัดแรง คลื่นสาดกระแทก ท้องเรือเป็นระลอก เมื่อออกมาถึงทะเลอ่าวไทย เรือที่นำคณะเรามาต่างโต้คลื่น โคงเครงไปมา เหมือนนั่งเรือ "บานาน่าโบด" ดูท่าแล้ววันนี้คงพาคณะออกทะเลไป ทิ้งทุ่นบ้านปลาไม่ได้แน่"  จึงต้องลอยเรือจอดเข้าฝั่งกลางทางก่อนเพื่อความปลอดภัย แล้วนั่งรถที่ทีมงานจัดมารับแบบฉุกเฉินเพื่อกลับจุดนัดพบ
 
แต่... "ด้วยเจตนาที่จะทำบ้านปลาและทิ้งทุ่นในทะเลให้สำเร็จ" ทีมงานจึงต้องเตรียมแผนรอคลื่นลมสงบเพื่อนำเรือออกทะเลในวันใหม่  เวลาประมาณเก้าโมง ของเช้าวันรุ่งขึ้น ทีมงานแม่กลองแคมป์ พร้อมกับสมาชิก จาก พอช. และกองทุนไทย รับอาสาจะนำทุ่นบ้านปลาไปทิ้งในทะเลเอง โดยนัดคนขับเรือรุ่นเก๋า นำทุ่นบ้านปลา พร้อมถุงทราย ออกทะเลด้วยเรือประมง พร้อมกัน ณ ท่าเรือบ้านฉู่ฉี่ วันนี้น้ำในคลองเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว มองเห็นสันดอน เนิน ดินโคลน ห่างจากฝั่งไกลเป็นกิโลเลยครับ  เรือต้องขับผ่านล่องน้ำไปตามหลักซึ่งมีธงบอกระยะ โบกตลอดทาง จนออกสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งทีมงานได้นัดพบกับสมาชิกจากราชบุรีที่ขับเรือมาช่วยอีกแรง
 แสงแดดของเวลาใกล้เที่ยง ลมพัดแรง น้ำสาดกระเด็นตามแรงเครื่องยนต์ ธงผ้าสีสวยสดที่เตรียมไว้ปักหลักกลางทะเล พัดปลิวไสว ดูสวยงาม จนมาถึงที่หมาย "จากคำบอกเล่าว่า... เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นฟารม์หอย ในทะเลอ่าวไทย แต่ในปัจจุบันได้เลิกทำไปแล้ว เนื่องจากสภาพของน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง" ซึ่งผมได้ตกลงกับกลุ่มชาวบ้านไว้ว่า จะเลือกที่นี่ไว้เพื่อเป็นพื้นที่ทดลอง "ทิ้งทุ่นบ้านปลา" โดยคาดหวังว่าในไม่ช้า จะมีสัตว์น้ำกลับเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยมีตัวชี้วัดจากประมงชาวบ้านที่ ขับเรือยนต์ขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์ประมง หา กุ้ง หอย ปูปลา ในทะเล เป็นผู้ช่วยประเมินผล
 ในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้าเมื่อทุ่นบ้านปลามีการย่อยสลายตามธรรมชาติ ทีมงานตั้งใจว่าจะกลับเข้าไปติดตามผลอีกครั้ง เมื่อปฎิบัติภาระกิจสำเร็จแล้ว วันนี้ยังไม่สามารถนำเรือกลับเข้าฝั่งได้ เนื่องจากระดับน้ำทะเลลดลงมาก ใกล้ฝั่งมีแต่เนินดินโคลน มองเห็นปูลม จำนวนมาก ออกมาโชว์ตัวเดินไปมา จึงต้องรอเวลา โดยอาศัยเวลาว่าง นั่งคุยกัน และ งมหอยตลับ แบบชาวประมงที่ทำกัน อย่างสนุกสนาน จนถึงเวลาช่วงบ่าย ระดับน้ำจึงเริ่มขึ้น เรือของทีมงาน และ ประมงชาวบ้าน จึงเคลื่อนเรือลอยลำ เข้าฝั่งตามกัน
นับเป็นอีกภาระกิจหนึ่งที่ได้ทำแล้วมีความสุขครับ...
สุขหนึ่ง คือ ได้ช่วยริเริ่มทำงานตามความตั้งใจของกลุ่มที่มีเจตนาอนุรักษ์ ฟื้นฟูดอนหอยหลอด
สุขสอง คือ ได้ลงมือทำด้วยความตั้งใจของตัวเอง และ ชวนผู้อื่นมาช่วยทำ
สุขสาม คือ ได้เห็นทุกคนมีความสุข กับความคาดหวังที่จะมี สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาสู่ทะเล มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ครับ
หมายเลขบันทึก: 360873เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตามมาอ่าน เพิ่งเคยเห็นบ้านปลาเหมือนกันครับ ตื่นเต้นๆๆ

ไว้มีโอกาส ไปติดตามงานด้วยกันนะครับ

ที่แท้ก็บ้านปลานี้เอง..

เห็นจากรูปที่ copy กันที่ de'musoi

ก็ยังนั่งนึกว่าคุณปูกับพวก..

เอาทางมะพร้าวเอย ทรายเอย

ไปทิ้งในทะเลทำไม?

แล้วจะมาตามอ่านผลของการทำบ้านปลานะค่ะ

 

สวัสดีครับ

  • ขอบคุณสำหรับมิตรภาพ
  • บ้านคนคือวิมานของคน
  • ส่วนปลาก็คงไม่ต่างจากคน
  • ขอให้มีความสุขกับการทำงานตามที่ใจอยากจะทำนะครับ

เป็นอีกกิจกรรมดีๆ ที่ไม่ได้มองแค่ความเป็นอยู่ของคน ฮ่าๆๆๆ

บ้านปลาเอื้ออาทร ชาวบ้านบอกว่า "ถ้าทำจากทางมะพร้าวจะอยู่ได้ 3 เดือน" ไว้คราวหน้าลองทำกัน

พอดีกำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องบ้านปลาค่ะ อยากทราบว่าจะมีการติดตามผลอย่างไร เมื่อมีการสร้างบ้านปลาเสร็จแล้ว ทำการศึกษาเปรียบเทียบชนิดและปริมาณสตัว์น้ำที่เข้ามาอาศัยในบ้านปลา ช่วยให้คำแนะนำด้วยน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท