Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การตอบข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation) ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (HRC) เกี่ยวกับสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ : ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของนักวิจัย


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=515&d_id=514

๑.  บทนำ

โดยปกติประเพณีของการทำรายงานประเทศนั้น  รัฐภาคี ICCPR จะต้องตอบคำถามของ HRC[1] หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ HRC ในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณารายงานประเทศฉบับแรกที่ประเทศไทยเสนอต่อ HRC   คณะกรรมการนี้ได้มี ๒๖ ชุดประเด็นคำถาม (List of Issues) ต่อผู้แทนรัฐบาลไทยในวันที่ ๑๙ – ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่ง ๓ ประเด็นคำถามเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนชายขอบในประเทศไทย กล่าวคือ (๑) ปัญหาสิทธิในหลักประกันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย (๒) ปัญหาเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและการผลักดันคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย และ (๓) ปัญหาสิทธิของชาวเขาและบุคคลบนพื้นที่สูงในประเทศไทย

นอกจากนั้น หลังจากที่ HRC ได้พิจารณารายงานฉบับแรกของประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ ๒๒๙๓ ๒๒๙๔ และ ๒๒๙๕ ในวันที่ ๑๙-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ดังกล่าว HRC ได้ทำConcluding Observations จำนวน ๒๖ ข้อขึ้นในการประชุมครั้งที่ ๒๓๐๗ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘  เราพบว่า มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคนชายขอบในประเทศไทย ๔ ข้อ  กล่าวคือ (๑) ปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ (๒) ปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิของคนงานอพยพทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย (๓) ปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลบนพื้นที่สูงที่ยังไร้รัฐ และ (๔) ปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิของชุมชนของชนกลุ่มน้อย รวมทั้งผู้ที่อยู่บนพื้นที่สูง

ดังนั้น เพื่อที่จะเตรียมข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานประเทศฉบับที่สองเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม ICCPR ของประเทศไทย ซึ่งโดยปกติประเพณีจะต้องมีการตอบ HRC อีกครั้ง ผู้ศึกษาสิทธิตาม ICCPR ของคนชายขอบ จึงขอมีข้อสรุปสำหรับประเด็นเกี่ยวกับคนชายขอบที่ HRC สนใจทั้ง ๗ ประเด็นดังกล่าวมาข้างต้น

บันทึกฉบับนี้ ก็คือ การตอบ HRC ในประเด็น ๑ ใน ๗ ประเด็นที่เกี่ยวกับ “ผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์”

ข้อมูลด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติของประเทศไทยต่อผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์มาจากทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรง ก็คือ การสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง ทางอ้อม ก็คือ การอ่านจากเอกสารที่ท่านอื่นเขียนขึ้น

๒.  คำถามของ HRC เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์

ภายหลังจากฟังคำชี้แจงของผู้แทนไทยใน “ประเด็นคำถามที่ ๑๘” HRC จึงมีความเห็นเกี่ยวกับสิทธิตาม ICCPR ของผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum-seekers) ผู้ลี้ภัย (refugees) และ ชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ใน “ข้อ ๑๗ แห่ง Concluding Observation” ว่า

“ในขณะที่คณะกรรมการรับทราบการให้ความมั่นใจของคณะผู้แทนไทยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจังหวัดด้านการรับผู้ลี้ภัย คณะกรรมการมีความกังวลต่อการขาดกระบวนการพิจารณาด้านผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการมีความกังวลต่อแผนการเคลื่อนย้ายผู้อพยพเมื่อเดือน มีนาคม ๒๕๔๘ ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าทั้งหมดในรัฐภาคีต้องย้ายไปอยู่ที่ค่ายต่างๆใกล้ชายแดนพม่า และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนั้นจะถือว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมาย และจะถูกผลักดันกลับประเทศพม่า นอกจากนี้ คณะกรรมการมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่น่าสลดหดหู่ของคนม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ที่ไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยโดยรัฐภาคี ซึ่งกำลังจะเผชิญกับการถูกผลักดัน ที่เกรงว่าหากผลักดันไปอาจถูกฆ่าได้ ท้ายนี้ คณะกรรมการมีความกังวลต่อกระบวนการกลั่นกรองและการผลักดันในปัจจุบัน ที่ไม่มีมาตรการรับรองว่ามีการเคารพสิทธิต่างๆที่กติกาฯให้การคุ้มครอง (While Acknowledging the delegation’s assurances that the Provincial Admission Board is in the process of establishment, the Committee notes with concern the lack of a systematic adjudication procedure for asylum-seekers. The Committee is also concerned that the relocation plan of March 2005 requires all Burmese refugees in the State party to move to the camps along the Burmese border and that those who do not comply will be considered illegal migrants and will face forcible deportation to Myanmar. Furthermore, the Committee is concerned about the deplorable situation of the Hmong people in the Petchabun Province, the majority of them being women and children, who are not considered refugees by the State party and are facing imminent deportation whereby they fear persecution. Finally, the Committee notes with concern that the current screening and expulsion procedures contain no provisions guaranteeing respect for the rights protected by the Covenant (arts. 7 & 13)

รัฐภาคีควรสร้างความมั่นใจว่าจะมีการจัดทำกลไกที่ห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การผลักดัน หรือการบังคับให้คนต่างด้าวกลับประเทศที่ซึ่งเขาหรือเธอมีความเสี่ยงจะถูกกระทำทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่เป็นอันตราย รวมทั้งสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเข้าตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล รัฐภาคีควรปฏิบัติตามพันธกรณีในการเคารพหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นคือ หลักการไม่ส่งกลับหากบุคคลนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำทรมาน (The State party should secure the establishment of a mechanism to prohibit the extradition, expulsion, deportation or forcible return of aliens to a country where he or she would be at risk to torture or ill-treatment, including the right to judicial review with suspensive effects. The State party should observe its obligation to respect a fundamental principle of international law, the principle of non-refoulement.)”

๓.   วิเคราะห์ข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation) ของ HRC

ในประการแรก HRC แสดงความห่วงใยในเรื่องราวดังต่อไปนี้ (๑)  กระบวนการพิจารณาผู้แสวงหาที่ลี้ภัยขาดความเป็นระบบ (๑) แผนการเคลื่อนย้ายผู้อพยพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าทั้งหมดในรัฐภาคีต้องย้ายไปอยู่ที่ค่ายต่างๆ ใกล้ชายแดนพม่า (๒) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนั้นจะถือว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมาย และจะถูกผลักดันกลับประเทศพม่า (๓) คนม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ไม่ถูกถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยโดยประเทศไทย และกำลังจะเผชิญกับการถูกผลักดัน  (๔) กระบวนการกลั่นกรองและการผลักดันไม่มีมาตรการรับรองว่า จะมีการเคารพสิทธิตาม ICCPR

ในประการที่สาม  HRC ชี้ว่า มีการละเมิดสิทธิตาม ICCPR ของคนงานอพยพใน ๒  ข้อบท ดังต่อไปนี้   (๑) ข้อ ๗[2] แห่ง ICCPR ซึ่งว่าด้วยสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือได้รับผลประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้ามิได้ และ (๒) ข้อ ๑๓[3] แห่ง ICCPR ซึ่งว่าด้วยสิทธิที่จะชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านคำสั่งเนรเทศ

ในประการที่สาม  HRC เสนอแนะประเทศไทยให้เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวข้างต้นดังนี้  (๑) มีกลไกที่ห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (๒) ไม่มีการผลักดัน หรือการบังคับให้คนต่างด้าวกลับประเทศที่ซึ่งเขาหรือเธอมีความเสี่ยงจะถูกกระทำทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่เป็นอันตราย (๓) มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเข้าตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล (Right to judicial review) และ (๔) มีการเคารพหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นคือ หลักการไม่ส่งกลับหากบุคคลนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำทรมาน (Fundamental principle of international law, the principle of non-refoulement.)

๔.  คำตอบที่ผู้ศึกษาตอบ HRC เกี่ยวกับการปฏิบัติของประเทศไทยเกี่ยวกับสิทธิตาม ICCPR ของผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์

ผู้ศึกษาเสนอแนะให้รายงานประเทศฯ มีประเด็นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนของชนกลุ่มน้อยและบุคคลบนพื้นที่สูง ในความกังวลของ HRC ตาม “ข้อ ๒๒ แห่ง Concluding Observation”  ใน ๖ ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ

 

ประเด็นที่เสนอในยกมาตอบเกี่ยวกับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัย และ ชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์

กฎหมายและนโยบายของรัฐไทยที่ควรจะยกมาตอบ

(๑.)

กระบวนการพิจารณาผู้แสวงหาที่ลี้ภัยขาดความเป็นระบบ

  • ต้องยืนยันว่า กระบวนการพิจารณาผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเป็นระบบมากขึ้น
  • มีความช่วยเหลือจาก UNHCR ในการสร้าง screening and expulsion procedures

(๒.)

แผนการเคลื่อนย้ายผู้อพยพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าทั้งหมดในรัฐภาคีต้องย้ายไปอยู่ที่ค่ายต่างๆ ใกล้ชายแดนพม่าได้รับภยันตรายหรือไม่ ?

  • ต้องยืนยันว่า ภายหลังแผนการเคลื่อนย้ายผู้อพยพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าในพื้นที่พักพิงชั่วคราวก็ยังปลอดภัย

(๓.)

ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนั้นจะถือว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมาย และจะถูกผลักดันกลับประเทศพม่า

  • POC ทุกคนไปรายงานตัว
  • ไม่มีใครถูกผลักดัน
  • ส่วนใหญ่ของ POC ไปประเทศที่สามแล้ว

(๔.)

คนม้งลาวที่เพชรบูรณ์ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ไม่ถูกถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยโดยประเทศไทย และกำลังจะเผชิญกับการถูกผลักดัน  

  • รัฐบาลลาวรับรองว่า จะไม่เอาโทษคนม้งลาวที่ส่งกลับ

(๕.)

กระบวนการกลั่นกรองและการผลักดันไม่มีมาตรการรับรองว่า จะมีการเคารพสิทธิตาม ICCPR

  • การยอมรับให้บุคคลภายนอกมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความเป็นอยู่ของคนม้งลาวที่อพยพกลับจากเพชรบูรณ์ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศลาว
  • การติดตามสถานการณ์ของรัฐบาลไทยเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและต่อเนื่อง

(๖.)

ความเสี่ยงที่จะถูกกระทำทรมาน

  • รัฐบาลลาวรับรองว่า จะไม่เอาโทษคนม้งลาวที่ส่งกลับ
  • เชื่อว่า รัฐบาลลาวยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน

๕. ข้อมูลความคืบหน้า[4]เกี่ยวกับคนม้งลาว ๔,๓๕๐ คนที่ถูกส่งออกจากเพชรบูรณ์ไปยังเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

ผู้ศึกษาเสนอให้มีการสรุปความคืบหน้าเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนม้งลาว ๔,๓๕๐ คนที่ถูกส่งออกจากเพชรบูรณ์ไปยังเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว โดยมีหัวข้อที่เป็นที่สนใจของประชาคมโลกดังต่อไปนี้

๕.๑.พื้นฐานความคิดในการส่งกลับคนม้งลาวที่เพชรบูรณ์กลับประเทศลาว

พื้นฐานความคิดที่ใช้ในการส่งคนม้งลาวการส่งตัวตามข้อตกลงระหว่างทางการไทยกับทางการลาว ก็คือ (๑) เป็นความร่วมมือแบบทวิภาคี ไทย-ลาวเท่านั้น (๒) ทางการไทยไม่มีสิทธิส่งพลเมืองลาวไปยังประเทศที่สาม การที่ม้งลาวจะไปประเทศที่สามได้ จะต้องถูกส่งกลับมาที่ประเทศลาวเสียก่อน

ตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒...ประเทศไทยจัดส่งคนม้งลาวที่บ้านห้วยน้ำขาวกลับลาวรวมทั้งสิ้น ๒๑ ครั้ง เป็นจำนวนทั้งหมด ๗,๗๖๑ คน ใช้เวลาทำงานร่วมกัน ๕  ปี (๒๕๔๘ – ๒๕๕๒)

๕.๒.บุคคลที่ส่งกลับคือใคร ?

พลโทนิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร (จก.ชด.ทหาร) อธิบายว่า คนที่ถูกส่งกลับนั้นต้องเป็นคนที่ลักลอบเข้าเมืองไทยในลักษณะที่ผิดกฎหมาย จึงไม่มีการส่งคนม้งในพื้นที่ภาคเหนือของไทยที่ลักลอบเข้ามาอยู่ที่บ้านห้วยน้ำขาว มีม้งจำนวนไม่น้อย แสดงตัวว่าไม่ใช่ม้งลาว

๕.๓.ทำไมประเทศไทยจึงไม่ส่งม้งเพชรบูรณ์ไปประเทศที่สาม ?

ทางการลาวก็มีกฎเหล็กชัดเจนว่า เมื่อคนม้งลาวเป็นพลเมืองลาว  และเข้าเมืองไทยในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ทางการไทยจึงไม่มีสิทธิส่งพลเมืองลาวไปยังประเทศที่สาม การที่คนม้งลาวจะไปประเทศที่สามได้ จะต้องถูกส่งกลับมาที่ประเทศลาวเสียก่อน ด้วยความตกลงทวิภาคี ไทย-ลาว กรณีปัญหาม้งลาวจึงเป็นเรื่องระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทยเท่านั้น

๕.๔.การส่งกลับไปเป็นโดยบังคับหรือไม่

ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ม้งลาวทั้งหมด ๔,๓๕๐ คนได้รับการส่งต่อจากเจ้าหน้าที่ไทย ไปถึงมือเจ้าหน้าที่ทางการลาว โดยไม่มีการกระทบกระทั่งใดๆแม้แต่น้อย

พลเอกวรพงษ์ สง่าเนตร รองเสธ.ทหาร หัวหน้าคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย-ลาว ยืนยันว่า ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นแม้แต่น้อย ยืนยันชัดเจนว่ากองทัพไทยใช้หลักมนุษยธรรม ความละมุนละม่อม โน้มน้าว ชักจูงให้ม้งลาวสมัครใจกลับประเทศบ้านเกิดเอง...ด้วยการเดินขึ้นรถเอง

๕.๕.รัฐบาลลาวจะทำอย่างไรต่อม้งลาวที่ถูกส่งกลับ ?

ในประการแรก พลโทนิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร (จก.ชด.ทหาร) อธิบายว่า "คงต้องใช้เวลาอีก...สองอาทิตย์   ให้ทางการลาวทำทะเบียนตรวจสอบประวัติก่อนที่จะแจกจ่ายกระจายไปอยู่ใน ๓ หมู่บ้านเฉพาะที่จัดเตรียมเอาไว้"

ในประการต่อมา พลจัตวาบัวเสี้ยน  จำปาพัน  รองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพ สปป.ลาว  ยืนยันรับรองว่า  "ม้ง...ก็เป็นคนลาว บางคนก็มีครอบครัว มีลูกเมียอยู่ที่ลาว...ต้องตรวจสอบ ซักประวัติ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร .....สุดท้าย...ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการช่วยเหลือฟื้นฟูชีวิตใหม่ ให้ตั้งตัวได้ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศลาว

๕.๖.คนม้งลาวที่มีประวัติต่อต้านรัฐบาลลาวหายไปไหน ?

เราทราบว่า มีคนม้งลาว ๑๕๘ คนที่ส่งตัวมาจากที่คุมขัง ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย  ซึ่งมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า  จะได้รับการส่งตัวต่อไปยังประเทศที่ ๓ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ม้งกลุ่มนี้เป็นที่สนใจของสังคมโลก เพราะราว ๓๐ คน..เป็นกลุ่มที่มีประวัติว่ามีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลลาวมาก่อน สื่อรายงานว่า เท่าที่ติดตามไปถึงที่พักพิงชั่วคราว  เมืองปากซัน  ไม่น่าจะมีม้งกลุ่มนี้รวมอยู่ด้วย คำถามจึงมีว่า แล้วคนม้งกลุ่มนี้ถูกจัดให้พักอยู่ที่ไหน ? ยังมีความปลอดภัยหรือไม่ ?

ประเด็นนี้  พลจัตวาบัวเสี้ยน  อธิบายว่า 

“ม้งกลุ่มนี้ไม่มีอะไรที่จะต้องปฏิบัติเป็นพิเศษ เพราะเป็นประชาชนลาวเหมือนกัน การให้สื่อเข้าเยี่ยมศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือใครก็ตามที่กังวลอยากเห็นชีวิตความเป็นอยู่ ก็เข้าไปดูได้

"ประเทศที่สาม...กับข่าวที่ออกมา บอกตรงๆว่า...ไม่รู้ ประเทศที่สามที่กล่าวถึงก็ไม่เคยมาพูด...มาเสนออะไร และข้าพเจ้าก็ไม่ได้อนุญาต... บ่ ฮู้"

๕.๗.รัฐบาลลาวจะยินยอมให้คนม้งลาวไปประเทศที่สามหรือไม่ ?

ประเด็นนี้  พลจัตวาบัวเสี้ยน  อธิบายว่า 

“วันนี้ม้งลาวถึงบ้านแล้วจะให้...ไม่ให้  ไม่จำเป็นต้องตอบ  เพราะถึงตอนนี้คนที่พูดอย่างนั้นก็ยังไม่เคยเห็นหน้า  จะเป็นคนบ้านใดเมืองใด

"ถึงจะถามกันแล้วว่า เขาอยากอยู่หรือไม่...บางคนเท่าที่ดูประวัติก็มีลูกเมียคอยอยู่...ทางการลาวก็ต้องถาม  ว่าจะอยู่กับลูกเมีย  หรือ ปฏิเสธ"

“ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการต่อไปของการสอบปากคำ  ใครจะตัดสินใจเลือกไปอยู่ประเทศที่สาม ประเทศที่สี่...ก็ได้ รัฐธรรมนูญลาวไม่ได้ห้าม แต่ต้องขอหนังสือ ตามขั้นตอนระเบียบกฎหมาย

“คนลาวที่พำนักในต่างประเทศไม่ว่าด้วยเหตุผลใด วันนี้...รัฐบาลลาวมีนโยบายชัดเจนว่า สามารถเอาเงินเข้ามาลงทุนในประเทศลาวได้อย่างอิสระ

"ผู้ใด...เปลี่ยนจากสัญชาติลาวไปแล้ว คิดจะมาแค่อยู่ชั่วคราว 4-5 เดือน...ก็ได้ หรือจะมาอยู่ถาวรเลยก็ได้ ทางการจะออกเป็นบัตรต่างด้าวให้... แต่ถ้าพอใจมากๆ คิดจะเปลี่ยนสัญชาติกลับมาเป็นลาว ก็ได้เหมือนกัน ความอิสรเสรีนี้ทำให้มีคนลาวกลับเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศลาวหลายจำนวนหนึ่ง

"ใครจะไปก็ไป  ใครจะมาก็มา...จะมาเอาเมีย  เอาลูก  เอาผัวได้ทั้งนั้น"

สรุปให้เข้าใจอีกครั้ง...กระบวนการดำเนินการกับม้งลาวที่หลบหนีเข้าเมืองแล้วถูกส่งตัวกลับ มีข้อปฏิบัติชัดเจน ใครจะพูดอะไร...หรือคิดอย่างไร บังคับกันไม่ได้

"กรณีสิทธิเดินทางไปอยู่ประเทศที่สาม สอบถามแล้ว...ใครอยากไป ก็จะได้เสนอรัฐบาล ถ้าตกลงก็ไป...ไม่ตกลงก็ไม่ได้ไป"


[1] HRC หรือ "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee)” ของสหประชาชาติ  เป็นกลุ่มบุคคลซึ่งแต่งตั้งมาจากผู้เชี่ยวชาญอิสระให้มีหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับ ICCPR ของประเทศที่เป็นรัฐภาคี

[2] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับผลประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้ามิได้  กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็คือ บุคคลใดจะถูกทดลองทางแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ โดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจอย่างอิสระหาได้ไม่ (No one shall be subjected to torture or to cruel, inhuman or degrading treatment or punishment. In particular, no one shall be subjected without his free consent to medical or scientific experimentation.)”

[3] ซึ่งบัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้โดยชอบด้วยกฎหมายจะถูกเนรเทศได้ก็โดยคำวินิจฉัยอันเป็นไปตามกฎหมายและย่อมมีสิทธิที่จะชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านคำสั่งเนรเทศและมีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและมีสิทธิที่จะมีทนาย  เว้นแต่ในกรณีมีเหตุผลจำเป็น เพื่อความมั่นคงของชาติเป็นประการอื่น (An alien lawfully in the territory of a State Party to the present Covenant may be expelled there from only in pursuance of a decision reached in accordance with law and shall, except where compelling reasons of national security otherwise require, be allowed to submit the reasons against his expulsion and to have his case reviewed by, and be represented for the purpose before, the competent authority or a person or persons especially designated by the competent authority.).”

[4] ม้งลาวถึงฝั่งลาว จะเป็นหรือจะตาย, ข่าวไทยรัฐเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒

http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/56230

หมายเลขบันทึก: 360871เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • เข้ามาอ่านศึกษา ยังไม่ค่อยเข้าใจในบางประเด็นค่ะ
  • จะพยายามต่อไป
  • ขอบคุณค่ะ

 ถ้าตรงไหนไม่เข้าใจ กรุณาบอกนะคะ จะเป็นพระคุณค่ะ

อยากทำเวบแบบนี้บ้างจังเลยอ่ะคะ

คิกๆ ลืมเขียนชื่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท