สระเอ- ออ- อิ- นอ -เงิน เงินเดือนที่ต้อง(การ)รู้


วุฒิ-ตำแหน่ง-เงินเดือน

เปิดผลสำรวจค่าตอบแทน "เอกชน"จ่ายสูงลิ่วระดับผู้อำนวยการรับเหยียบแสน

การสำรวจค่าตอบแทนภาคเอกชน ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งได้จัดทำทุก 2 ปี ล่าสุดได้เก็บรวบรวมข้อมูลสถานประกอบการ 10,260 แห่ง ประกอบด้วยสถานประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการผลิต ร้อยละ 64.1 รองลงมาเป็นกิจการขนส่งขายปลีก ร้อยละ 13 กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ และกิจการโรงแรมและภัตตาคาร ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 5.7 ตามลำดับ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2552 สะท้อนให้เห็นโครงสร้างค่าตอบแทนภาคเอกชนในอีก มุมหนึ่งที่น่าสนใจ

เพราะนอกจากเงินเดือนแล้ว ภาคเอกชนหลายแห่ง หลายตำแหน่งยังมีเงินเพิ่ม และสวัสดิการต่าง ๆ เติมเข้ามาให้อีก

โดยผลการสำรวจครั้งนี้สรุปว่า ค่าตอบแทนของพนักงานประจำ (ไม่รวมโรงพยาบาลเอกชน) ในปี 2551 ผู้ที่ทำงานในระดับผู้อำนวยการฝ่าย ได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 99,802 บาทต่อเดือน ระดับผู้จัดการแผนก ได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 53,532 บาทต่อเดือน สำหรับระดับหัวหน้างานระดับต้น และผู้ปฏิบัติการที่มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยเดือนละประมาณ 29,718 บาท และ 19,179 บาท ตามลำดับ

ส่วนผู้ปฏิบัติงานที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 12,547 บาท

เมื่อเปรียบเทียบค่าตอบแทนเฉลี่ยในระยะ 12 ปีที่ผ่านมา พบว่าค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนของพนักงานประจำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกระดับตำแหน่ง

โดยในปี 2551 พนักงานระดับหัวหน้างานระดับต้นมีอัตราการเพิ่มของค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าระดับตำแหน่งอื่น ๆ คือร้อยละ 9.9 หรือจาก 27,050 บาท ในปี 2548 เป็น 29,718 บาท ในปี 2551

รองลงมาคือระดับผู้จัดการแผนก และ ผู้อำนวยการฝ่าย มีค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.0 และ 1.4 ตามลำดับ

ในขณะที่ระดับผู้ปฏิบัติการได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 14.2

สำหรับโรงพยาบาลเอกชนในปี 2551 พบว่าเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร ตำแหน่งผู้อำนวยการ ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 143,552 บาท รองลงมาคือตำแหน่งรอง ผู้อำนวยการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการ 96,828 บาท และ 67,313 บาท ตามลำดับ สำหรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย หัวหน้าตึก และหัวหน้าแผนก จะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 42,000 บาท

ในส่วนของอัตราค่าตอบแทนของ พนักงานใหม่ หลังทดลองงาน จากการเก็บข้อมูล พบว่าวุฒิ ปวช.หรือเทียบเท่า พนักงานตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักเขียนโปรแกรม ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยหลังการทดลองงานสูงกว่าตำแหน่งอื่น ๆ คือประมาณเดือนละ 7,358 บาท รองลงมาคือนักทรัพยากรบุคคล ประมาณ 7,013 บาท นักประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ประมาณ 6,739 บาท

โดยเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยหลังพ้นการทดลองงานที่พนักงานใหม่ได้รับ พบว่าตำแหน่ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักเขียนโปรแกรม ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยสูงกว่าตำแหน่งอื่น คือประมาณเดือนละ 1,101 บาท ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ย ต่อเดือนน้อยกว่า 1,000 บาท

ระดับวุฒิ ปวส.หรือเทียบเท่า ในตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักเขียนโปรแกรม ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยหลังทดลองงานสูงสุดประมาณ 9,587 บาท รองลงมาคือนักวิทยาศาสตร์ นักเคมี และ นักทรัพยากรบุคคล เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล ประมาณ 8,639 บาท และ 7,970 บาท ตามลำดับ

สำหรับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยหลังพ้นการทดลองงานที่พนักงานใหม่ได้รับ พบว่าตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ นักเคมี ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด ประมาณ 1,823 บาท

กลุ่มระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า พบว่าตำแหน่งเภสัชกร ได้รับเงินเฉลี่ยหลังทดลองงานสูงสุด ประมาณ 16,850 บาท รองลงมาคือสถาปนิก ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 15,114 บาท ตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ วิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล นักทรัพยากรธรณี นักรังสีการแพทย์ ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ประมาณ 14,888 บาท 14,797 บาท และ 14,356 บาท ตามลำดับ

สำหรับเงินเพิ่มเฉลี่ยหลังพ้นการทดลองงานที่พนักงานใหม่ได้รับ พบว่าตำแหน่ง นักโภชนาการ ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด คือประมาณ 5,604 บาท รองลงมาคือตำแหน่งนิติกร นักกฎหมาย พยาบาล และเภสัชกร ประมาณ 3,907 บาท 3,662 บาท และ 3,153 บาท ตามลำดับ ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 3,000 บาท

ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือเทียบเท่า พบว่าตำแหน่งแพทย์ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยหลังทดลองงานสูงสุด ประมาณ 51,768 บาท รองลงมาคือตำแหน่งทันตแพทย์ ประมาณ 46,154 บาท

ที่น่าสนใจ ผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สถานประกอบการมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 60.2 ไม่ให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลแก่พนักงาน ส่วนที่ให้สิทธิมีประมาณร้อยละ 39.8

เมื่อพิจารณาตามประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจพบว่า สถานประกอบการประเภทการไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลมากที่สุด คือร้อยละ 92.9 รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชน และการเป็นตัวกลางทางการเงิน ประมาณ ร้อยละ 90.0 และร้อยละ 89.8 ตามลำดับ

สถานประกอบการที่ให้สวัสดิการ เกี่ยวกับเครื่องแบบพนักงาน ค่าเครื่อง แต่งกาย และให้เงินช่วยเหลือทางสังคม มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 83.7 และร้อยละ 83.5 ตามลำดับ

ส่วนสถานประกอบการที่ให้ค่าเบี้ยขยันมีประมาณร้อยละ 61.5

ที่มา :

  วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4209  ประชาชาติธุรกิจ
 
หมายเลขบันทึก: 358187เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท