การสรรหาผู้นำในสถาบันอุดมศึกษา : เรื่องแปลกแต่จริง


ผมเชื่อว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยจะมีความเป็นเลิศทางวิชาการได้ จะต้องมีมาตรการและการสร้างกระแสใหม่ เพื่อเปลี่ยนสภาพใจแคบทางวิชาการ ไปสู่สภาพใจกว้างทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารวิชาการ เปิดกว้างให้มีการสรรหาผู้นำทางวิชาการจากทั่วประเทศ


          ไม่ทราบว่ากฎระเบียบมันแปลก หรือว่ากระบวนทัศน์ของคนมหาวิทยาลัยมันแปลก   หรือว่าผมคิดเพี้ยนๆ เอาเอง    แนวคิดในบันทึกนี้ปิ๊งแว้บจากการอ่านหนังสือ Socrates in the Boardroom : Why Research Universities Should be Led by Top Scholars  

          แนวคิดในหนังสือเล่มนี้ก็คือ สถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการเป็นเลิศ ต้องสรรหานักวิชาการที่มีทั้งประสบการณ์วิชาการและความสามารถด้านบริหารมาเป็นผู้นำ    โดยใน สรอ. และประเทศตะวันตกเขาเปิดกว้างสรรหาคนจากทั้งโลก   เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมจริงๆ   

          แต่ในประเทศไทยมีกระแสที่แตกต่าง   คือต้องการให้ตำแหน่งผู้บริหารมาจากคนในสถาบันนั้นเท่านั้น    บางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ใน พรบ. หรือในข้อบังคับ ว่าผู้บริหารระดับอธิการบดี คณบดี และหัวหน้าภาควิชา ต้องมาจากข้าราชการประจำของมหาวิทยาลัยนั้นเท่านั้น   นี่ถือว่ายึดหลักการใจแคบที่สุด   บางมหาวิทยาลัยตัว พรบ. และข้อบังคับเปิดกว้าง   แต่วิธีการสรรหามันไม่ส่งเสริมให้พิจารณาคนนอก   และนอกจากนั้น จะมีการหาเสียงต่างๆ จากคนในเพื่อบีบให้การสรรหาพิจารณาคนในเป็นหลัก   ปิดประตูคนนอกไปโดยปริยาย

          สภาพที่ กกอ./สกอ. และสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ปล่อยให้สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่ เป็นเรื่อง “แปลกแต่จริง” สำหรับผม    เพราะมันเป็นสภาพของการจำกัดสถาบันนั้นๆ ไว้ในที่แคบ   แคบทั้งในเครือข่ายวิชาการของประเทศ และแคบทั้งจิตใจของอาจารย์มหาวิทยาลัย   ผมเชื่อว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยจะมีความเป็นเลิศทางวิชาการได้ จะต้องมีมาตรการและการสร้างกระแสใหม่   เพื่อเปลี่ยนสภาพใจแคบทางวิชาการ ไปสู่สภาพใจกว้างทางวิชาการ    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารวิชาการ    เปิดกว้างให้มีการสรรหาผู้นำทางวิชาการจากทั่วประเทศ   ให้คนที่มีหน่วยก้านดี ผลงานน่ายกย่อง มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางวิชาการ แม้อายุจะไม่อาวุโสมาก   โดยสภามหาวิทยาลัยช่วยทำหน้าที่ risk governance   ฝ่ายบริหารเน้นสร้าง change management ทางวิชาการให้แก่สถาบัน

          จุดเน้นคือ เราต้องการผู้บริหารมาสร้างความแตกต่าง (differentiation) ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง   ไม่ใช่ต้องการผู้บริหารมาบริหารความราบรื่นหรือ status quo   เราต้องการการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเป็นเลิศ    โดยใช้การบริหารสมัยใหม่ที่ใช้ leadership ที่สร้าง participation และ engagement ของทุก stakeholder   โดยคณาจารย์,  นศ., ศิษย์เก่า,  เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน,  real sector, และภาครัฐ  ต่างก็เป็นหนึ่งใน stakeholder   โดยมีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรอนุมัติทิศทาง เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ และแผนยุทธศาสตร์ ของสถาบัน

          หนังสือเล่มนี้ เสนอผลการวิจัยที่ extensive มาก   เพื่อหาทางพิสูจน์/ลบล้าง ความคิดว่า    ผู้บริหาร (อธิการบดี และคณบดี) ที่เป็นนักวิจัยชั้นยอด    สร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการให้แก่มหาวิทยาลัยวิจัยได้ดีกว่าผู้ที่เป็นนักบริหารจากนอกภาควิชาการหรือวิชาการไม่เด่น    โดยเขาศึกษาเฉพาะใน สรอ.,  อังกฤษ และยุโรปตะวันตก   ซึ่งในประเทศเหล่านี้เขาเปิดกว้างในการสรรหาผู้บริหารระดับสูง เป็นการสรรหาข้ามประเทศอยู่บ่อยๆ    เมื่อ กว่า ๓๐ ปีมาแล้วผมเคยเห็นมหาวิทยาลัยที่มีศักดิ์สูงมากสรรหาหัวหน้าภาควิชาโลหิตวิทยามาจากอิตาลี คือ Prof. Lucio Luzzatto ที่นักโลหิตวิทยาไทยรู้จักดี   โดยเป็นการมาเป็นหัวหน้าภาควิชาต่อจาก Prof. Sir John Dacies อันได้ชื่อว่าเป็น Professor of the Professors

          ข้อเรียนรู้สำหรับมหาวิทยาลัยไทยก็คือ   เราจะเข้าสู่สภาพที่ในการสรรหาผู้บริหารระดับสูง คำนึงถึงความเป็นผู้นำทั้ง ๒ ด้าน (ด้านวิชาการและด้านบริหาร) ได้เมื่อไร   โดยสรรหาจากทั้งประเทศ   และต่อไปมหาวิทยาลัยระดับโลกของเราจะต้องสรรหามาจากทั่วโลกได้

 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ เม.ย. ๕๓

                       

หมายเลขบันทึก: 357910เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนอาจารย์ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์มากๆๆครับ

ไม่เข้าใจครับ

อาจารย์ก็เป็นประธานโน่นประธานนี่ของหลายมหาลัย ทำไมถึงไม่ผลักดันความคิดนี้ครับ

เอาง่าย ๆ อย่างที่มหิดล ยังต้องให้พนักงานมหาลัยเท่านั้นที่เป็นผู้บริหารได้ ข้าราชการเป็นไม่ได้ สุดท้ายเราก็เสียผู้บริหารดี ๆ ไปหลายคน

ชอบอ่านงานของอาจารย์นะครับ แต่อยากเห็นอาจารย์ practice what you preach

นอกจากจะ สรรหานักวิชาการที่มีทั้งประสบการณ์วิชาการและความสามารถด้านบริหารมาเป็นผู้นำ ตามที่อาจารย์ว่าแล้ว ดิฉันเห็นว่า ควรจะมี Public Mind ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท