มามะ มาบริหาร "ข้อเข่า" กันเถอะ


มามะ มาบริหาร "ข้อเข่า" กันเถอะ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2553 10:08 น.
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       แน่นอนแล้วว่า พอเริ่มอายุมากขึ้น ก็มีแต่ตัวเลขที่มันเพิ่มขึ้นตาม แต่ว่าสภาพร่างกายของคนเราไม่แข็งแรงตามอายุ ตรงกันข้ามกลับถดถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของ "กระดูกข้อเข่า" บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านคงเข้าใจ และเจอะเจอกับปัญหาสุขภาพนี้มาแล้ว แต่ก็มีหลายบ้านที่ปัญหานี้ยังไม่ไปเยี่ยมเยือน วันนี้ทีมงาน Life & Family มีข้อมูลดีๆ จากศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน เอาไว้สำหรับการต้อนรับ "อาการปวดข้อเข่า" แขกที่ไม่ได้รับเชิญของบ้านมาฝากกันค่ะ
       

       หลักการออกกำลังข้อเข่า
       
       1. ควรเริ่มจากท่าง่ายๆ ไปหาท่าที่ยากขึ้นตามลำดับ โดยทำท่าที่ 1 ก่อน เมื่อทำติดต่อกันหลายวันไม่มีปัญหาจึงเปลี่ยนท่าที่ 2, 3, 4....อย่าหักโหมหรือใจร้อนเพราะอาจทำให้ปวดเข่ามากขึ้น
       
       2. ควรทำภายหลังจากอาการปวดทุเลาลงบ้างซึ่งอาจทุเลาจากการหยุดใช้เข่าชั่วคราวหรือใช้ระงับการอักเสบ
       
       3. ขณะออกกำลังกายบางท่า ถ้าท่านมีอาการปวดเข่ามากขึ้นให้ลงจำนวนครั้งลง หรือหยุดพักออกกำลังกายท่านั้นๆ จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง จึงค่อยทำท่านั้นใหม่
       
       4. ควรทำสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2-3 เวลา เช่น ตอนตื่นนอน ก่อนนอนและตอนกลางวันหรือเย็น เมื่อกล้ามเนื้อดีขึ้นแล้วจึงเพิ่มความถี่ขึ้นเป็นวันละ 4-5 เวลาก่อนที่จะหัดท่าตอนไป
       
       5. ในโรคข้อเสื่อมการออกกำลังเข่าควรทำสลับข้างกันเสมอ เพื่อฝึกเข่าข้างดีให้แข็งแรงเป็นการป้องกันไม่ให้เสื่อมลง เนื่องจากถูกใช้งานมากเกินไป
       
       6. ในผู้ที่ไม่เคยปวดเข่า การฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อข้อเข่าไว้ก่อน จะช่วยให้ข้อเข่าแข็งแรงและไม่ปวดเข่าง่าย ท่านสามารถทำได้ทุกท่าตามต้องการ
       
       ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อเข่า
       
       ท่าที่ 1 นอน – เหยียดเข่า
       
       นอนหงาย ใช้หมอนใบเล็กๆ หนุนใต้เข่าทั้งสองเหยียดเข่าข้างหนึ่งให้ตรงสุด เกร็งไว้ประมาณ 5 ถึง 10 วินาที เอาลงพัก เหยียดเข่าอีกข้างหนึ่งเช่นเดียวกัน ทำสลับกับข้างละ 10 ครั้ง

ท่าที่ 1
       ท่าที่ 2 นอน - ยกขา – เหยียดเข่า
       

       นอนหงาย ยกข้างอีกข้างหนึ่งทำมุมประมาณ 45 องศากับพื้น ยกอีกข้างหนึ่งขึ้นตรงๆ โดยให้ส้นเท้าสูงจากพื้นประมาณ 1 ฟุต เกร็งส้นเท้าไว้ประมาณ 5-10 วินาที พัก ทำสลับกับข้างละ 10 ครั้ง

ท่าที่ 2
       ท่าที่ 3 นอน – กดเข่า
       
       นอนหงาย ขาข้างที่เจ็บเหยียดตรง เกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาเหนือข้อเข่า พยายามให้หลังเข่าติดพื้นเอามือจับกล้ามเนื้อเหนือเข่าจะพบว่า เกร็งแข็งและสะบ้าอยู่กับที่ ค้างไว้ 5-10 วินาที พัก ทำซ้ำ อีกครั้ง จากนั้นเปลี่ยนเป็นกดส้นเท้าดันพื้นแทนเข่า เพื่อเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อด้านหลังข้อเข่า

ท่าที่ 3
       ท่าที่ 4 นั่ง – เหยียดเข่า
       
       นั่งบนเก้าอี้หรือโต๊ะ เอียงตัวไปข้างหลังเล็กน้อย มือยันพื้นหรือเอียงตัวพิงพนัก (ถ้ามี) เหยียดข้อเข่าให้ขายื่นออกตรงๆ แล้วเกร็งเข่าอยู่ในท่านี้ประมาณ 5-10 วินาที ค่อยๆ วางขาลงพัก แล้วเหยียดขาอีกข้างหนึ่งแบบเดียวกัน ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง ถ้าสามารถทำได้ดีแล้วอาจเพิ่มน้ำหนักคล้องที่ข้อท้าได้ โดยเริ่มที่น้ำหนัก 0.3 กิโลกรัม ก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มเป็น 0.5, 0.7,1, 1.5 ก.ก. ตามลำดับ

ท่าที่ 4
       ท่าที่ 5 งอเข่า
       

       นอนคว่ำโดยที่ให้ขาสองข้าง เหยียดตรงพยายามพับเข่าข้างที่เคยปวดหรืองอไม่ได้เต็มที่นั้นให้งอมากที่สุด เกร็งไว้ 3-5 วินาทีแล้วเหยียดลงทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าที่ 5
       ท่าที่ 6 ขึ้นบันได
       
       ให้ทำท่านี้เมื่อท่านสามารถทำท่าอื่นๆ ได้ดีแล้วโดยหาแผ่นไม้หนาๆ หรือม้าเตี้ยๆ ที่แข็งแรงวางบนพื้นยกขาข้างที่ปวดเข่าก้าวขึ้นไป ยืนตรงบนแผ่นไม้หรือม้านั้นสักพักแล้วก้าวกลับลงมา โดยใช้ขาหน้าเดิมทำซ้ำ 10 ครั้ง ถ้าปวดเข่าทั้งสองข้างควรทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง เมื่อท่านสามารถทำได้ดีแล้วให้ฝึก โดยเพิ่มความสูงของแผ่นไม้หรือม้ามากขึ้นทีละ 1-2 นิ้วจนกว่าจะได้ความสูงเท่ากับบันไดบ้านของท่านเอง

       ท่าที่ 7 ย่อตัวลงนั่ง
       
       ยืนหันหลังให้ขาชิดขอบเก้าอี้หรือขอบเตียง ค่อยๆ ย่อเข่าทั้งสองลงนั่งระวังให้หลังตรงไม่โน้มตัวไปข้างหน้า แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืนโดยใช้เข่าทั้งสองเช่นกัน ทำ 5 ครั้ง ท่านควรจะรู้สึกเมื่อยเล็กน้อยที่กล้ามเนื้อรอบเข่า เมื่อท่านทำถูกต้องและทำได้ดีแล้วให้ลองเปลี่ยนเก้าอี้หรือเตียงให้เตี้ยลงเรื่อยๆ

หมายเลขบันทึก: 356901เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมาก ๆ คงต้องหาเวลามาออกกำลังกายบ้างแล้ว เพื่อให้ข้อ เข่าอยู่ให้เราใช้งานไปนาน ๆ ขอบคุณค่ะ

น่าสนใจมากครับมีรูปภาพประกอบ

คนสมัยนี้ไม่ค่อยดูแลตัวเองมากนักจากการอ่านได้ความรู้มากมายและจะนำไปปฏิบัติกับเพื่อนๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท