ล้วงแนวคิด Active Learning เรียนเชิงรุก-ปลุกเด็กสนุกเรียน


Active Learning
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤษภาคม 2553 15:14 น.
คิดจะปลุกเด็กไทยให้ตื่น ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายการเรียน ครู-พ่อแม่ ควรเปิดใจกว้าง ใจเย็น คิดและหาสื่อการสอนที่สนุก มอบอิสระทางความคิด มีกิจกรรมสุดหรรษาให้เด็กทำไปพร้อมๆ กับเพื่อน
       
       เป็นหลักคิดการเรียนรู้แบบ "Active Learning" หรือการเรียนรู้เชิงรุก แนวทางที่จะช่วยเด็กอนุบาล ให้สนุกกับการเรียน เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน ทั้งทางกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์ ผ่านการลงมือกระทำ

       
       "ผศ.ดร.ธัญสุตา จิรกิตตยากร" คณะกรรมการร่างหลักสูตรโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) และผู้จัดทำหนังสือเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต้นกำเนิดการเรียนรู้นี้ เกิดจาก จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) โดยเชื่อว่าเด็กเรียนรู้ผ่านการกระทำ ซึ่งการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดประสบการณ์ นำมาซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล
       
       ขณะที่เพียเจท์ ผู้คิดค้นทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา เชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และปฏิสัมพันธ์นี้จะทำให้เกิดพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะพัฒนาไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้นตอน โดยเด็กมีความอยากรู้อยากเห็น และจะได้รับข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้ง 5
       
       สำหรับ Active Learning ในไทย ได้พัฒนาการมาจากระบบการสอนแบบ Active Teaching ซึ่งในอดีตเน้นครูเป็นศูนย์กลาง จากนั้นพัฒนามาเป็น Active Participation เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย โดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัว ผู้เรียนรู้เป็นผู้จัดกระทำต่อสิ่งเร้า (สิ่งที่เรียนรู้) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง และควรเป็นการตื่นตัวอย่างรอบด้าน ทั้งทางกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์
       
       "ปัญหาที่ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้ผล เพราะมุ่งหวังให้เด็กอนุบาล อ่านออกเขียนได้มากเกินไป แต่แท้ที่จริงแล้ว ในช่วง 0-5 ปี เด็กจะมีพัฒนาการทางด้านสมองสูงสุด ถ้าจัดสภาวะแวดล้อมที่ดีให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง หาคำตอบเองเป็น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดที่ดี ส่วนเรื่องอ่านเขียนได้ ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่อาจจะเป็นช่วงหนึ่งที่เมื่อเด็กพร้อมจะสามารถเรียนทันกันได้หมด
       

       อีกปัญหาหนึ่งคือ ครูส่วนใหญ่ไม่ได้จบครูมาโดยตรง โดยเฉพาะครูอนุบาล ทำให้การสอน และการเข้าถึงเด็กยังไม่เต็มที่ โดยเฉพาะจิตวิทยาการสอนเด็ก บางครั้งยังขาดความอดทน และใช้คำพูดกับเด็กไม่เหมาะสม ทำร้ายความรู้สึกของเด็กโดยไม่รู้ตัว เด็กจึงไม่อยากเรียน และเรียนอย่างไม่มีความสุข" ผศ.ดร.ธัญสุตากล่าว

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       คุณครูใจดี ใช้สื่อสนุก ปลุกเด็กเรียน
       

       การเรียนรู้แบบ Active Learning คุณครูคือคนสำคัญ ที่นอกจากจะต้องใจดี ใจเย็น และใจกว้างแล้ว การจัดเตรียมกิจกรรมและเปิดประสบการณ์ที่เอื้อให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัว ก็สำคัญไม่แพ้กัน ทางที่ดีครูควรวางแผนการสอน และวางแผนการใช้สื่อกับเด็ก โดยลงมือทำกับตัวเองก่อน จนกระทั่งได้ผล แล้วค่อยนำมาใช้กับเด็ก โดยเริ่มต้นให้อิสระทางความคิดและจินตนาการ เพื่อให้เด็กเกิดความสนุกกับเกมต่างๆ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแนวคิดและเสริมสร้างแนวทางการแก้ปัญหา และหากเด็กแก้ปัญหาไม่ได้ ครูผู้สอนควรเข้าไปช่วยแนะนำทันที แต่ไม่ใช่บอกทั้งหมด
       
       "การสังเกตเด็กเพื่อดูความสามารถของเด็กแต่ละคน จะทำให้เกิดการส่งเสริมเด็กได้ตรงกับความสามารถ เช่น เด็กที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ก็ส่งเสริมเพื่อให้เขาพัฒนาศักยภาพด้านคณิตศาสตร์อย่างเต็มที่ โดยให้เด็กลงมือกระทำ เช่น สอนเรื่องการจัดประเภท อาจจะมีกระดุมหลายๆ สีมาวางให้เด็กได้ช่วยกันสังเกต และแบ่งขนาด สีที่เหมือน และไม่เหมือน ซึ่งเด็กจะเปรียบเทียบ และสนุก จากนั้นให้ตั้งคำถามสอดแทรกกิจกรรมนั้นๆ โดยให้เด็กทุกคนสันนิษฐานคำตอบ ถึงค่อยมาเฉลยว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ซึ่งครูมาพิสูจน์ร่วมกันกับเด็ก" ผศ.ดร.ธัญสุตากล่าว

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       หลังจากนั้น เมื่อเด็กเรียน หรือส่งการบ้านเสร็จแล้ว ควรปล่อยให้เด็กได้พักผ่อนตามมุมต่างๆ ภายในห้องเรียน เช่น มุมแต่งตัวเสื้อผ้า มุมทำอาหาร หรือมุมอื่นๆ สร้างบทบาทสมมติ ต่อเติมฝันของเด็กได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะที่เด็กเล่นอยู่ ครูควรเข้ามาสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ด้วยว่ามีวิธีการคิด และแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง
       
       "พ่อแม่เชิงรุก" ดึงลูกรักเรียน
       

       อย่างไรก็ตาม Active Learning ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงแค่ครูคนเดียวเท่านั้น พ่อแม่สามารถทำได้เช่นกัน อย่างน้อย ควรมีเวลาให้กับลูก เพื่อรู้ทันว่าลูกต้องการอะไร จะได้ส่งเสริมได้ตรงจุด ซึ่งบางทีซื้อแค่แบบฝึกหัดมาให้ทำคงไม่พอ พ่อแม่ควรเข้ามาสร้างกิจกรรมกับลูกระหว่างลูกทำแบบฝึกด้วย โดย 1 วัน ต่อ 1 หัวข้อ เพราะเวลาลูกสงสัย หรือเกิดคำถาม จะได้มีที่ปรึกษา
       
       ดังนั้นวิธีการเลือกซื้อแบบฝึกหัดให้ลูก พ่อแม่ควรดูความเหมาะสมของภาพที่อ่อนหวาน จากนั้นอ่านจุดประสงค์ในแบบฝึกหัด เข่น ทำแล้วเพิ่มทักษะด้านไหน ซึ่งไม่ควรเลือกในปริมาณของเนื้อหามากเกินไป ที่สำคัญ ควรสื่อสารกับโรงเรียน เพื่อรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกกำลังเรียนอยู่ เป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อแบบฝึกหัดทบทวนได้ถูกทาง
       

       "การสอนเด็กอนุบาล ความอดทนคือสิ่งสำคัญ รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมที่อบอุ่นปลอดภัย ไม่ดุ หรือตำหนิลูก เมื่อผิดก็ค่อยๆ ชี้แนะลูก นอกจากนี้เด็กอนุบาล หรือเด็กประถม การเล่นคืองานของเขา เพราะเด็กเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเล่น เพื่อรู้จักวิธีที่จะอยู่ และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งบริบททางสังคมเป็นสิ่งสำคัญ แต่ตอนนี้มันได้ขาดหายไปเลย เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว เมื่อครู และพ่อแม่เร่งให้เรียนจนเด็กไม่มีช่องทางที่จะคิด หรือทำอะไรด้วยตัวเอง พอเด็กขึ้นชั้นเรียนที่สูงขึ้น จึงไม่อยากเรียน เพราะเคยผ่านมาหมดแล้ว" ผศ.ดร.ธัญสุตากล่าวทิ้งท้าย
คำสำคัญ (Tags): #active learning
หมายเลขบันทึก: 356898เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท