ตัวอย่างการเรียนโดย "เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง" ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต


"ลูกบอกว่า แม่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น!!!"

ข้อความต่อไปนี้เป็นของคุณอรวัต เสนะวัต ที่ได้ร่วมคณะไปพบนักศึกษาในโครงการ ม.ชีวิต ที่มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนทำร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่ศูนย์เรียนรู้ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2553 โดยในบันทึกของคุณอรวัตนั้นใช้ชื่อจริงของนักศึกษา ผมขออนุญาตเปลี่ยนมาเป็นนามสมมุติเพื่อเผยแพร่ ด้วยเหตุว่าความสำคัญอยู่ที่เนื้อหาสาระมากกว่าชื่อคน

ประเมินผลการเรียนการสอนวิชา สปช.2 ของอาจารย์สุรเชษฐ

          ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดกลาง อ.เมือง บุรีรัมย์ อันเป็นที่ตั้งศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อาจารย์สุรเชษฐคัดเลือกนักศึกษา 6 คน ที่เรียนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน 2 (สปช.2) ในภาคเรียนที่แล้วมาขอสัมภาษณ์ และขอให้ช่วยประเมินกระบวนการเรียนการสอนวิชานี้

          วิชานี้เริ่มจากการให้นักศึกษาค้นหาตนเอง โดยใช้เครื่องมือการแบ่งบุคลิกภาพคนออกเป็น 4 แบบ ตามธาตุทั้ง 4 มีการใช้สัตว์ 4 ชนิด เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุ ได้แก่ กระทิง(ธาตุไฟ) หนู(ธาตุน้ำ) หมี(ธาตุดิน) และอินทรี(ธาตุลม) เมื่อผ่านกิจกรรมหลายอย่างทั้งกิจกรรมเดี่ยว กิจกรรมกลุ่ม แล้วก็ให้นักศึกษาคิดเรื่องที่ตนต้องการพัฒนาตนเองขึ้นมา 1 เรื่อง มาทำเป็นโครงงาน เรียกว่า โครงงานพัฒนาบุคลิกภาพ วิธีปฏิบัติโครงงานก็คือการสังเกตุตนเองในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดภาคการศึกษา แล้วจดบันทึกประจำวันไว้ แล้วนำมารายงานการค้นพบและพัฒนาการของตน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้นเรียนเป็นระยะๆ (ตามตารางเรียน)  ปลายเทอมก็สรุปเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์และนำเสนอในชั้นเรียน

          ขณะที่ไปถึงนั้น นักศึกษายังนั่งเรียนวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยวิชาหนึ่งกันอยู่ในห้องเรียน พวกเราจึงถือโอกาสนั่งพักและรับประทานอาหารว่างที่อาจารย์ยุภา ประยงค์ทรัพย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรจาก มรภ.สุรินทร์นำมาให้รับประทานแก้หิว ซึ่งก็คือ พายน์มะพร้าวอ่อน หอมหวานอร่อยมาก ตามด้วยน้ำส้มคั้นอีก 1 แก้ว ชื่นใจจริงๆ

          หลังจากที่นักศึกษาเรียนเสร็จ อาจารย์สุรเชษฐ ก็ได้นั่งล้อมวงคุยกับนักศึกษาทั้ง 6 คนที่นัดไว้ ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องราวของนักศึกษาแต่ละคน ที่อาจารย์สุรเชษฐได้สัมภาษณ์ตามแบบสัมภาษณ์ที่อาจารย์ได้เตรียมมา

          คนแรก คุณ ส.ว. ทำโครงงาน “เคี้ยวอาหารให้ช้าลง” ฉันฟังแล้วก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า แค่การเคี้ยวอาหาร ถึงขนาดต้องทำเป็นโครงงานเลยหรือ แต่เมื่อได้ฟังที่คุณ ส.ว.เล่า ถึงได้เข้าใจ คุณ ส.ว.เล่าให้ฟังว่า เป็นคนที่ทานอาหารเร็ว ทำอะไรไม่วางแผน เช่นจะไปเรียน จะต้องนั่งดูทีวีจนเหลืออีก 5 นาทีถึงได้ไป เรียกว่าถึงเวลาแล้วก็ต้องเร่งตนเอง ไม่เคยวางแผนว่าก่อนจะไปเรียนต้องทำอะไรก่อนบ้าง ทุกอย่างเร่งรีบไปหมด จะกินก็ยังต้องเร่งรีบ และที่สำคัญเรื่องสุขภาพ จะท้องอืดเป็นประจำ สุขภาพไม่ดี แต่หลังจากที่ได้ทำโครงงาน รู้จักปรับเวลา ทำอะไรช้าลง ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบ มีการดูแลตนเองมากขึ้น ที่สำคัญได้รับความรักจากลูกมากขึ้น เพาะตนมีเหตุผลกับลูกมากขึ้น จนลูกบอกว่า “แม่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ใจเย็นขึ้น” ทุกอย่างมาจากการทำโครงงาน 

          คุณ ส.ว.บอกว่า การที่ได้เรียนวิชานี้ทำให้ตนเปลี่ยนไป ชีวิตดีขึ้นเยอะมาก สนุกกับการเรียนวิชานี้มากจนไม่อยากจะพลาดการเรียนเลย เพราะอาจารย์ผู้สอนเป็นตัวอย่างที่ดี ใจเย็น ตรงต่อเวลา การที่อาจารย์ผู้สอนทำเป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นเหมือนอาจารย์ เพราะก่อนหน้านั้น ไม่เคยมีการวางแผนอะไรเลย เงินก็ไม่มีเก็บ มักจะคิดว่าเดี๋ยวสิ้นเดือนก็ได้เงิน ไม่เคยรู้เลยว่าการเก็บออมเงินสามารถเก็บได้จากการเจียดจากเงินที่ได้รับมาออมไว้ ก่อนนี้มักคิดเสมอว่าต้องมีเป็นก้อนถึงจะเก็บออมได้

          เมื่อได้เรียนวิชานี้ บุคลิกของตนก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนจากการที่เป็นคนนิสัยโผงผาง ไม่ค่อยฟังใคร ไม่ค่อยแคร์ความรู้สึกใคร ถ้าไม่พอใจจะปะทะคารมทันที แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนคิดก่อนทำ รู้จักชมก่อนติ รู้จักการพูดขอโทษ ผลพลอยได้จากการทำโครงงาน นอกจากจะทำให้ชีวิตมีระบบ ระเบียบมากขึ้น ยังทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย การขับถ่ายก็เป็นปรกติ ไม่มีอาการท้องอืดแล้ว

          ปัจจัยที่ทำให้ตนเปลี่ยนไปได้ก็คือ การได้เรียนวิชานี้ได้เรียนรู้จริง ปฏิบัติจริง เพราะแต่ก่อนไม่รู้ อยากเถียงก็เถียง ไม่ยอมรับผิด ยึดหลักอาจารย์เพราะอาจารย์เป็นคนใจเย็น ดูอาจารย์เป็นตัวแบบ บางครั้งเราพูดผิดแต่อาจารย์ก็ไม่เคยบอกว่าผิด ไม่เคยบอกว่าไม่ใช่ ทำให้เรากล้าพูดกล้าแสดงออกไม่กลัวว่าจะพูดผิด

          วิชานี้เรียนแล้วได้ทั้งตนเองและครอบครัว เพราะนำแบบอย่างที่ดีที่ได้เห็นจากอาจารย์ไปบอกสามีด้วย เช่นเรื่องสุขภาพ ก็ยึดแบบอย่างอาจารย์ในการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เรียกว่า การเรียนวิชานี้อาจารย์ผู้สอนเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองได้มาก

          คนที่สอง คุณ ช.ก. ทำโครงงาน “การตรงต่อเวลาของข้าพเจ้า” เหตุที่คิดทำโครงงานนี้ คุณ ช.ก.บอกว่า เพราะตนเองมีนิสัยที่ผิดนัดเสมอ ก่อนนั้นเป็นคนไม่กระตือรือร้น ชักช้า โอ้เอ้ นัดกับลูกชาย พ่อแม่ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานก็มักจะผิดนัดเสมอ พอทำโครงงานนี้ ลูกน้องเอ่ยปากชมว่า มาทำงานแต่เช้า ขยัน รู้สึกว่าแปลกไป จึงได้เล่าให้ลูกน้องฟังว่าทำโครงงานตรงต่อเวลา  มีน้องๆ ที่ทำงานได้ลองทำตามด้วย  คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นก็เป็นผลดีกับตนเอง

          หลังจากได้ทำโครงงาน เวลาตอนเช้าไปทำงานก็จะมีการเผื่อเวลา จึงไม่สาย เงินเดือนก็ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกหักเงินเพราะการตรงต่อเวลา เวลามีประชุมตอนเช้า ก็มาประชุมทัน ไม่โดนเจ้านายตำหนิ  ปัจจุบันนี้ สิ้นปีได้รับเบี้ยขยัน ทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยได้รับ

          มีลูกชาย 1 คนอายุ 6 ขวบ ไม่ได้อยู่กับลูกชาย เพราะลูกอยู่กับคุณตาคุณยายที่อำเภอนางรอง เมื่อก่อนนั้นเมื่อนัดลูกแล้วบางครั้งจะผิดนัด หาข้ออ้างมาแก้ตัวเสมอ ทำให้ลูกต้องรอคอยและผิดหวังเสมอ แต่เดี๋ยวนี้มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น มีเวลาดูแลพ่อแม่มากขึ้น สามีก็เอ่ยปากว่าแปลกไป ขยันขึ้น อยากให้เรียนอย่างนี้นานๆ ปัจจัยที่ทำให้ปรับเปลี่ยนตนเองได้ มาจากจิตสำนึก ซึ่งเกิดมาจากการได้เรียนวิชา สปช.2 นี้

          จากคำถามที่ว่า กระบวนการเรียนการสอนอย่างนี้ใช้ได้หรือไม่ อย่างไรนั้น คุณ ช.ก.บอกว่าใช้ได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์ ถ้าผู้เรียนตั้งใจที่จะปรับตัว สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เกือบทุกเรื่อง เวลานั่งดูอาจารย์สัมภาษณ์คนอื่นในชั้นเรียน ตนเองได้แนวคิดจากเรื่องที่แต่ละคนบอกเล่าออกมาด้วย ได้เรียนรู้ทั้งเวลาที่อาจารย์ถาม(สัมภาษณ์)เราและถามคนอื่น

          ตอนเริ่มทำโครงงานยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ ยังไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร ต้องอ่านใบงานถึง 2 รอบ แล้วก็ต้องรู้ก่อนว่าตนเองเป็นคนธาตุอะไร ก่อนที่จะได้หัวข้อโครงงานก็ต้องดูจุดอ่อนของตน ที่คิดว่าทำแล้วจะปรับปรุงตนเองได้ ทำให้ชีวิตดีขึ้น แล้วจึงเอาจุดอ่อนนั้นมาทำเป็นโครงงาน

          สำหรับแบบฟอร์มการเขียนเค้าโครงของโครงงานนั้นก็ไม่ยากเพราะได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ประกอบกับการอ่านหนังสือที่ได้รับมา

          ในกระบวนการเรียนที่มีทั้งหมด 5 ครั้งๆ ละ 1 วัน คิดว่าเหมาะสมแล้ว

          สำหรับเอกสารประกอบการเรียนนั้นสำคัญมาก หากไม่อ่านคงทำไม่ได้

          ในกระบวนการเรียนการสอนก็ควรจะให้มีการบรรยายไว้ด้วยเพราะสนุกและไม่น่าเบื่อ

          ข้อแนะนำสำหรับการเรียนวิชานี้คือนักศึกษาต้องขยัน ตรงต่อเวลา มีความมุมานะ ถ้าไม่มาเรียนหรือไม่มาร่วมกิจกรรมเลยจะไม่สามารถทำเองได้ และคิดว่าไม่ได้ผลอย่างแน่นอน เพราะการทำโครงงานต้องขอคำแนะนำจากอาจารย์ทุกครั้งที่อาจารย์มาสอน ซึ่ง “อาจารย์คือรากฐานของความสำเร็จ”

          อาจารย์ที่จะสอนวิชานี้ได้ต้องสามารถติดต่อได้สะดวก เพราะว่าบางครั้งไม่เข้าใจและต้องการคำปรึกษา

          คนที่สาม คุณ ส.ส. ทำโครงงานเดียวกับคุณ ช.ก. คือ “การตรงต่อเวลาของข้าพเจ้า” เหตุที่ทำโครงงานนี้เพราะไปทำงานสายถูกหักเงิน จนเงินเดือนแทบไม่มีเหลือเลย ถูกปรับมาสายนาทีละ 1 บาท ถ้าสายเกิน 3 ครั้งเบี้ยขยันก็ไม่ได้ มาสายตลอดทุกเดือน โดนหักวันละหลายบาท รวมกันเป็นเงินกว่า 200 บาท บางทีก็หยุดงานเพราะสุขภาพไม่ดี บางทีลูกไม่สบายก็ต้องลาเพื่อพาไปหาหมอ พออาจารย์ได้ให้ทำโครงงานก็เลยมาคิดได้ว่าจะลองทำจุดอ่อนของเราตรงนี้ดู

          ได้คุยกับสามีให้เข้าใจด้วยเพราะต้องให้สามีช่วยเหลือหลายๆ อย่าง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงานในตอนเช้าก่อนออกไปทำงาน ให้สามีช่วยปลุกในตอนเช้า เรื่องการทำอาหารตอนเช้า หากจะทำต้มยำไก่ตอนเช้าต้องใช้เวลา ก็จะต้มไก่ไว้ก่อนในตอนเย็นเพื่อให้ไก่เปื่อย ตอนเช้าก็เตรียมเครื่องใส่เท่านั้น ก็จะได้ทานข้าวเช้ากับลูก ก่อนนั้นลูกไม่เคยได้รับประทานอาหารเช้าเลย ได้ทานนมกล่องแค่กล่องเดียว แล้วก็ไปหาซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งวันละ 20 บาทให้ลูก เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเสียเงินตรงนั้นแล้ว มีเวลาได้อยู่กับลูก ตอนนี้มีลูกคนเล็กอีกคนอายุใกล้จะ 1 ขวบแล้ว ตอนเช้าลูกคนเล็กจะงอแงอยากให้อุ้ม แต่คุณ ส.ส. ก็ไม่มีเวลาอุ้มลูกเลย แต่เมื่อได้ทำโครงงานนี้ ก็มีเวลาได้อุ้ม ได้สัมผัส ได้กอด รู้สึกมีความสุขมากจริงๆ

          ในขณะที่พูดถึงลูกคนเล็ก เสียงของคุณ ส.ส.  สั่นเครือ พร้อมกับมีน้ำตาคลอตาทั้ง 2 ข้าง อาจารย์สุรเชษฐจึงได้ยื่นกระดาษทิชชูส่งให้ ฉันเดาว่าคงเพราะความรู้สึกของความเป็นแม่ เมื่อคิดถึงการได้มีเวลาสัมผัส อุ้มชูเลี้ยงดูลูกคนเล็กอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความสุขเอ่อท้นขึ้นมาจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะเมื่อก่อน คุณ ส.ส. แทบไม่มีเวลาได้อุ้มลูกคนเล็กเลย

          มีเดือนหนึ่ง คุณ ส.ส. ได้เงินเดือนเต็มๆ ได้เบี้ยขยันด้วย เงินมีเหลือใช้ รู้สึกมีความสุขมาก แฟนบอกว่าเรียนอย่างนี้ดีมาก ก่อนที่จะทำโครงงานนี้ แฟนบ่นว่าเวลาดูแลลูกก็ไม่ค่อยมี ตื่นก็สาย ตอนเช้าก็เร่งรีบ แต่มาระยะหลัง แฟนก็เห็นว่าเราทำได้ แฟนช่วยเหลืองานบ้านแบ่งเบาภาระได้มาก

          ทุกวันนี้ถึงแม้วิชานี้จะผ่านไปแล้วก็ยังทำอย่างต่อเนื่อง ทำแล้วมีความสุข และเท่ากับมีได้รายได้เพิ่มขึ้น เพราะไม่โดนหักเงินเดือน ได้เบี้ยขยัน และมีเวลาทำงานเสริมรายได้โดยไปเก็บของเก่าขาย ซึ่งวันนี้ก็เพิ่งไปขายได้เงินมา 2,000 กว่าบาท

          เมื่อก่อนนั้นที่ถูกหักเงินเดือนทุกเดือน ไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่คิดจะปรับปรุงตัว แต่พอได้เรียนวิชานี้ ได้ทำโครงงาน เหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่างมาบังคับให้เราต้องทำให้ได้ตามที่เขียนไว้ในเค้าโครงงาน

          ปัจจัยที่ทำให้โครงงานสำเร็จมี 2 ข้อ คือ ความร่วมมือจากสามี และความตั้งใจของตนเอง ถ้าคนเราจะทำอะไรไม่มีความตั้งใจจะไม่สามารถทำได้

          คนที่สี่ คุณ ว.ก. ทำโครงงาน “พูดคำว่าไม่อย่างชัดเจน” ที่เลือกทำโครงการนี้ เพราะเป็นจุดอ่อนของตนเอง คือเป็นคนขี้เกรงใจ ใจอ่อน ใครให้ช่วยอะไรก็ช่วย ไม่กล้าปฏิเสธ หรือขัดใจใคร จนบางครั้งยอมเบียดเบียนตนเองและสามี หลังจากทำโครงงานก็ยังใจอ่อนอยู่ แต่จะมีเหตุผลมากขึ้น สามีเป็นคนถือเงิน ถ้าคิดว่ามีเหตุผลที่ดีก็ให้ได้ ปัจจัยที่ทำให้ทำโครงงานนี้ได้สำเร็จคือ มีลูกเล็ก การที่จะใช้เงินก็จะคิดถึงลูกก่อน บวกกับมีความตั้งใจที่จะทำโครงงานให้สำเร็จ

          คนที่ห้า คุณ ร.พ. ทำโครงงาน “พูดคำว่าไม่อย่างชัดเจนและจริงใจ” สาเหตุที่ทำ ก็คล้ายกับ คุณ ว.ก. เพราะเคยประสบปัญหาชีวิตจากการพูดปฏิเสธคนไม่เป็นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ใครมาขออะไรให้หมด จนตนเองเดือดร้อนต้องชดใช้โดยที่ตนเองไม่ได้ใช้เลย ก่อนเรียนวิชานี้เป็นคนใจอ่อน ใครมาพูดอะไรเชื่อทุกอย่าง ตนเองไม่มีเงินก็ไปหยิบยืมเงินคนอื่นให้เขา แล้วก็ใช้หนี้แทนเขาด้วย ก่อนนี้ยังไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ลูกก็ยังเล็ก ทำงานก็เก็บเงินได้ ไปหยิบยืมเงินใครเขาก็กล้าให้ เพราะเห็นว่ามีเงินเดือน ไปยืมเงินให้คนอื่น แต่ไม่เคยได้รับเงินคืนตรงเวลา ก็ต้องนำเงินตนเองชดใช้ให้ไปก่อน เนื่องจากตนเป็นคนกว้างขวาง มีคนรู้จัก พูดขอยืมเงินใครก็ได้รับความเชื่อถือ คนที่มายืมเงิน บางที่รู้ว่ายืมไปกินเหล้า แต่ก็ยืมให้ ปัจจุบันนี้ เปลี่ยนไปแล้ว กล้าที่จะพูดปฏิเสธอย่างมีเหตุผลที่ดี แม้ตอนนี้จะไม่ได้เรียนวิชานี้แล้ว แต่ก็ยังปฏิบัติอยู่ รู้สึกดีมาก ภาคภูมิใจที่สุดในวิชานี้ ตั้งแต่ปฏิบัติมา เงินทองก็ดีขึ้น โดยรวมแล้วชีวิตครอบครัวมีความสุขขึ้น รู้จักปฏิเสธ สามีบอกว่าหากรู้ว่าดีอย่างนี้ให้เรียนตั้งนานแล้ว เวลาเงินเดือนออก ก็จะบอกสามีและมีการวางแผนการใช้เงินอย่างคุ้มค่า

          คนสุดท้าย คุณ น.พ. ทำโครงงาน “ขับรถไม่เกิน 90 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง” เหตุที่ทำโครงการนี้เพราะมีอาชีพเป็นพนักงานขับรถ เอาสิ่งที่ใกล้ตนเองมากที่สุดมาทำ ก่อนนั้นเติมน้ำมันเต็มถังขับไปถึงกรุงเทพฯ น้ำมันเกือบหมดถัง แต่เดี๋ยวนี้พอทำตามโครงงานตามที่เขียนไว้ น้ำมันเหลือเพิ่มขึ้น 1 ขีด พอทำแล้วรู้สึกว่ามีผลดีกับเรามากขึ้น ค่าน้ำมันก็ลดลง ค่าสึกหรอลดลง ร่างกายไม่เหนื่อยมาก ไม่เครียด เวลาติดไฟแดง คนจะข้าม รถจะแซง เราก็ให้ไปก่อน จิตใจดีขึ้น รู้สึกว่าตนเป็นคนมีค่า บางครั้งจอดให้เด็กข้ามถนน เด็กหันมายกมือไหว้ หรือว่าหยุดให้รถคันอื่นเลี้ยว เขาก็จะหันมาโค้งให้เป็นการแสดงความขอบคุณ เราเจอเรื่องดีๆ แบบนี้มากขึ้นจากที่เมื่อก่อนไม่เคยเจอเลย พอไฟเขียวเราก็จะรีบเข้าเกียร์กระชากรถออก หรือรถข้างหน้าช้าก็จะบีบแตรไล่ยกไฟสูงให้คันหน้าหลบ เลขาเจ้านายที่นั่งคู่กับเราพอรู้ว่าทำโครงงานนี้ก็คอยช่วยสะกิดเตือนเวลาเราลืมตัว แฟนที่บ้านก็คอยเตือนด้วย เขาบอกว่ารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เจ้านายก็สังเกตุเห็นและบอกว่ารู้สึกว่าเราใจเย็นขึ้น

          ด้านกระบวนการเรียนการสอนวิชานี้ ที่ให้ทำกิจกรรมเพื่อรู้จักตนเองก่อนและค่อยไปทำโครงงานนั้น อาจารย์สุรเชษฐให้ทุกคนช่วยกันตอบ ซึ่งแต่ละท่านก็ได้สะท้อนความคิดออกมาไม่แตกต่างกัน ทุกคิดว่าเป็นการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ดีมากๆ เพราะทำให้ได้รู้จุดอ่อนของตนเองเพื่อจะนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เมื่อรู้จักตนเองแล้วทำให้การคิด การทำ และการเขียนรายงานผลโครงงานไม่ยาก

          กิจกรรมที่ได้ทำและชอบที่สุดคือ แม่น้ำพิษ เป็นการสอนให้เรารู้จักวางแผนร่วมกัน รู้จักการเสียสละ ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น มีความสามัคคี เพื่อให้ทุกคนไปถึงเป้าหมาย กิจกรรมนี้หลังจากอาจารย์อธิบายกติกาการเล่นแล้ว ตอนแรกไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่พอได้ลงมือทำก็แปลกใจว่าเราทำได้ จึงเห็นว่าสิ่งที่บางอย่างเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้นั้นก็ “เป็นไปได้” หากมีความตั้งใจจริง ซึ่งหลายๆ อย่างสามารถนำไปใช้ได้ในการทำงานอาชีพ

          กิจกรรมแสดงบทบาทสมมุติ ที่เป็นสัญลักษณ์สัตว์ต่างๆ นั้น ทำให้เห็นบุคลิกภาพของแต่ละคน อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพที่ไม่ดีของตนได้

          ส่วนกิจกรรมอ่านหนังสือ คิดว่ามีประโยชน์มาก ได้เอาสิ่งที่อ่านเจอมาแก้ไข ได้พบหลักคิดที่จะนำมาทำเพื่อความสำเร็จ และการที่ทุกคนแบ่งกันนำไปอ่าน และนำมาเล่าสู่กันฟังก็ทำให้เราได้ประโยชน์ ได้รู้โดยที่ไม่ต้องอ่านหลายเล่ม

          เอกสารประกอบการเรียนเหมาะสมดี มีประโยชน์มาก สามารถช่วยได้มากในการทำโครงงาน เช่น เรื่องของจิตใต้สำนึก ภาพภูเขาน้ำแข็ง พอดูแล้วก็เข้าได้ง่าย

          การที่อาจารย์ตรวจโครงงานให้นักศึกษาเป็นรายบุคคลนั้นดีมาก เพราะจะทำให้รู้ว่าต้องทำอย่างไรแก้ไขอย่างไร ทำให้รู้ว่าอาจารย์เอาใส่ใจนักศึกษา การที่อาจารย์ให้เขียนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างหลังการเรียนแต่ละครั้ง เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนว่าเข้าใจมากน้อยแค่ไหน รู้สึกอย่างไร และเกิดความคิดอะไรขึ้นบ้าง

          การสอบย่อยก็ดีมาก เพราะเป็นการทบทวนว่าเข้าใจถูกต้องแค่ไหน

          การบรรยายของอาจารย์ในวิชานี้ นักศึกษาทุกคนเห็นว่ากำลังดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป

          ด้านคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอนวิชานี้ นักศึกษาทุกคนที่นั่งล้อมวงกันได้ช่วยกันออกความคิดเห็นว่า ผู้ที่จะสอนวิชานี้ได้ จะต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นคนที่ใจเย็น พูดจารื่นหู ไม่ดุเกินไป ไม่เสแสร้ง เป็นตัวของตัวเองจริงๆ จึงจะทำให้นักศึกษาไม่เกร็ง ตรงต่อเวลา ไม่บังคับนักศึกษามากเกินไป ยืดหยุ่น บุคลิกของอาจารย์จะเป็นต้นแบบที่ดีให้นักศึกษาทำตาม

          ก่อนจบการสนทนากันในวันนี้ อาจารย์สุรเชษฐได้ถามคำถามสุดท้ายกับนักศึกษาว่า หากจะประสบความสำเร็จในการเรียน จะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น ทุกคนเห็นตรงกันว่า ต้องมาเข้าเรียน ตรงต่อเวลา มีความตั้งใจ และสำหรับการเรียนวิชานี้ นักศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่การปฏิบัติตัวของตนเองเป็นสำคัญ.

หมายเลขบันทึก: 356895เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • อาจารย์ครับ
  • เป็นการเรียนรู้ที่สนุกมากครับ
  • ได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว มีความสุข ในปัจจุบันเราเรียนรู้เรื่องไกลตัวมากเกินไปและไม่ได้เรียนรู้แบบองค์รวม
  • ลืมบอกอาจารย์ไป
  • อาจารย์ให้นักศึกษาสร้างบันทึกแล้วใส่เบอร์โทรศัพท์ในชื่อกลางหรือเปล่าครับ
  • น่าจะเอาออกนะครับ
  • เพราะจะมีคนโรคจิตโทรไปก่อนกวนนักศึกษา
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณอาจารย์ P ขจิต ฝอยทอง เมื่อ ส. 08 พฤษภาคม 2553 @ 11:17 มากครับที่กรุณาอ่านและให้ความคิดเห็น

ผมงงๆ เรื่องเบอร์โทรศัพท์ในชื่อกลางที่อาจารย์เขียนครับว่าหมายถึงอะไร ในรายงานผลโครงงานฉบับสมบูรณ์ตอนปลายภาคของวิชานี้ในหน้าสุดท้ายให้เขียนประวัติผู้ทำโครงงานโดยให้นักศึกษากรอกที่อยู่และเบอร์โทรพร้อมอีเมลผู้ทำ(วิจัยตนเอง)ด้วย แต่เป็นรายงานที่ไม่เผยแพร่ทั่วไปครับ

ยังไงถ้าอาจารย์จะกรุณาขยายความตรงนั้นให้ผมเข้าใจ เพื่อผมจะได้นำไปปรับปรุงต่อไป จะเป็นพระคุณยิ่งครับ

สุรเชษฐ
8 พฤษภา 53

มีนักศึกษาเป็นครูที่ชัยภูมิแต่มาเรียนที่มหาสารคามสร้างบล็อกแล้วใส่เบอร์โทรศัพท์ในประวัติ ตรงชื่อกลางครับ สอบถามแล้วว่าเรียนกับอาจารย์ เขาบอกว่า รออาจารย์ตรวจงานก่อนถึงจะลบออกครับ เอหรือผมเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจผิดขอโทษด้วยครับ...

ผมเข้าใจแล้วครับ น่าจะเป็นอีกวิชาหนึ่ง(วิชาการจัดการความรู้) เมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว

วิชานี้มีกิจกรรมให้ นศ.ฝึกทำเว็บบล็อกด้วย

ขอบพระคุณอาจารย์ขจิตครับที่ช่วยชี้แนะ

สุรเชษฐ 8 พ.ค.53

ด้วยความยินดีครับ มีอะไรพอช่วยได้บอกนะครับ คงมีโอกาสได้พบอาจารย์นะครับ...

Dear Ajaan krub,

Enjoy your style of sharing with your students a great deal. I am planning my project on "A Bike to School ". My intention is clear for many reasons. Will let you know every quarter that done. Please wait and see na krub. :-)

ยากทราบเพราะยากเรียนขณะได้อุปสมบทอยู่เรียนได้ไหม เคยเรียนการบริหารการจัดการคณะสงฆ์จบแล้วเทียบได้ไหม ปัจจุบันเรียน ปัญหาพัฒนาการทางการเมืองไทยของ มสธ โครงการสัมฤทธิบัตร ยากจบตรี

อุปสมบทอยู่ก็เรียนได้ครับ โปรดดูรายละเอียดใน www.life.ac.th

อยากได้ตัวอย่างโครงการก่อนจบจิงค่ะ ในเล่มจะประกอบด้วยข้อมูลอะไร มากน้อยแค่ไหน มีตัวอย่างแนบไฟล์ให้ได้ศึกษาบ้างไหมค่ะท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท