ผชช.ว.ตาก (22): Mission Impossible II หมอน้อยชาวตาก


ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนห่างไกลทุรกันดาร การโยกย้ายของเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ชายแดนมาในพื้นที่ใกล้เมืองและปัญหาเรื่องภาษา วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้ให้บริการและผู้รับบริการที่แตกต่างกันยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของจังหวัดตากอย่างต่อเนื่องจึงต้องการการแก้ไขที่แตกต่างไปจากวิธีเดิมๆที่เคยมีมา

ผมทำงานอยู่จังหวัดตากเข้าปีที่สิบสามแล้ว และทุกปีงบประมาณและช่วงเมษายนของทุกปี ก็จะได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาการจัดสรรเจ้าหน้าที่จบใหม่ออกไปทำงานในพื้นที่และการพิจารณาการขอโยกย้ายของเจ้าหน้าที่เดิมจากพื้นที่ชายแดนเข้ามาสู่พื้นที่ชั้นในซึ่งเหตุผลถึงร้อยละ 80 คือการย้ายกลับภูมิลำเนาหรือย้ายมาอยู่ใกล้บ้านใกล้ครอบครัว และปัญหาประการหนึ่งที่พบในการทำงานของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็คือปัญหาเรื่องภาษาทำให้เกิดความยากลำบากในการทำงาน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกือบทั้งหมดในพื้นที่ทั้งแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ล้วนแล้วแต่ถูกคัดเลือกให้เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาด้านสุขภาพด้วยระบบคัดคนเก่งจึงได้คนที่มีโอกาสในการศึกษามากกว่า คนบนดอยจึงมักไม่ได้โอกาสมากนัก แม้จะมีโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งพยาบาล หรือหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอก็ตาม

ตอนเรียน ป.โทที่เบลเยียมผมได้ทำวิจัยเรื่องแก้ปัญหากำลังคนด้านสุขภาพและได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาตามแนวคิดองค์การอนามัยโลกคือ Rural recruitment, Rural training, Hometown working และเมื่ิอกลับมาปฏิบัติงานที่ตากก็พยายามนำแนวคิดนี้มาใช้จนได้ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนตากพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้และได้จัดอบรมจนจบตามหลักสูตรและได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตรเมื่อ 26 เมษายน 2553 ที่ผ่านมาโดยมี ฯพณฯองคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัยมาเป็นประธานในพิธีมอบที่โรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซต์

หลักสูตรที่จัดฝึกอบรมแล้วทั้งหมด 5 หลักสูตร คือ

1. หลักสูตรพนักงานสุขภาพชุมชน (พสช.) 1 ปี จำนวน 32 คน ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยหรือสถานบริการสุขภาพชุมชน

2. หลักสูตรพนักงานมาลาเรียชุมชน 6 เดือน (ปฏิบัติงานในศูนย์มาลาเรียชุมชนหรือMalaria post) มี 2 รุ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 47 คน รุ่นที่ 2 มี 35 คน

3. หลักสูตรผู้ช่วยเจ้าพนักงานสาธารณสุข 6 เดือน (ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยหรือสถานบริการสาธารณสุขชุมชนในเขตอำเภอท่าสองยาง) จำนวน 29 คน

4. หลักสูตรพนักงานสุขภาพชุมชนชายแดน (พสชช.) 6 เดือน มี 3 รุ่น คือ

-รุ่นที่ 1 จำนวน 27 คน ปฏิบัติงานในHealth post ตามโครงการShield ในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงรายและเชียงใหม่

-รุ่นที่ 2 จำนวน 29 คน ปฏิบัติงานในสุขศาลาพระราชทานและสุขศาลาในเขตอำเภออุ้มผาง

-รุ่นที่ 3 จำนวน 23 คน ปฏิบัติงานในHealth post ในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ (ส่วนของเชียงราย ได้นำหลักสุตรไปประยุกต์และจัดอบรมโดบ สสจ.เชียงรายร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเอง)

และอีกหลักสูตรหนึ่งเป็น 5.หลักสูตรในการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพสำหรับอาสาสมัครสาธารรสุขประจำหมู่บ้าน หลักสูตร 3 เดือน มีผู้จบการฝึกอบรมทั้งสิ้นจาก 9 อำเภอของจังหวัดตากรวม 380 คน หลักสุตรนี้เป็นแนวคิดเริ่มต้นมาจากนพ.สถาพร วงษ์เจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สมัยที่เป็นผู้ตรวจราชการเขต17)

ผมไม่ได้เข้าไปร่วมแสดงความยินดีและไม่ได้ร่วมงานในวันที่ 26 เมาายนเนื่องจากติดภารกิจอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ได้ร่วมกับทีมวางแผนและจัดเตรียมงานไว้แล้ว และมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาดแม้ตนเองจะไม่ไปร่วมงานก็ตาม

การฝึกอบรมดังกล่าวนี้ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากแบบMission Impossible ที่สามารถประยุกต์แนวคิด Rural recriutment, Rural training & homwtown working ได้และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนเป็นอย่างมาก และช่วยป้องกันปัญหาดรคหรือปัญหาสาธารรสุขตามแนวชายแดนได้อย่างดีเป็นเสมือนเขื่อนกั้นโรคหรือๅHealth Dam ได้

คุณเอ๋หรือคุณณัฐนันท์ เจ้าหน้าที่ของIRC ที่มีส่วนร่วมในการพัมนาหลักสุตรและฝึกอบรมได้เล่าบรรยากาสให้ผมทราบในวันที่อาจารย์หมอเกษม วัมนชัยมามอบวุฒิบัตรไว้ว่า "ผมอยากให้อาจารย์หมอได้มาอยู่ในงานวันนั้นจริง ๆ ครับ  องคมนตรีท่านกล่าวชื่นชมทีมงานโดยเฉพาะทีมพัฒนาหลักสูตร  รวมแล้วประมาณ  3  ครั้งด้วยกัน  ผมจำได้ช่วงหนึ่งท่านบอกว่า  “ขอชื่นชมผู้พัฒนาหลักสูตรเป็นอย่างมาก ที่มีความกล้าหาญในการดำเนินการ เพราะเมื่อนึกถึงครั้งแรกที่มีการนำเสนอหลักสูตรแล้ว ผมไม่อยากเชื่อว่าผลของมันจะออกมาได้สวยงามขนาดนี้ พร้อมกับกวาดมือไปยังเหล่าผู้เข้ารับเกียรติบัตรในห้องประชุมใหญ่ ผมได้ยินแล้วขนลุกและนึกถึงคุณหมอเป็นคนแรก “คุณหมอน่าจะได้มาอยู่ในห้องนี้ด้วยกันจะได้ ๆ ยินพร้อมกัน” 

คุณกิตติพัทธ์ ทีมงานของ สสจ.ตากก็ได้รีบส่งรูปกิจกรรมวันงานมาให้ได้ชมโดยสามารถเข้าไปชมได้ที่ลิงค์ http://www.tempf.com/getfile.php?id=500763&key=4bd5511ede1c6

นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ท่านได้กล่าววลีเด็ดไว้เกี่ยวกับการพัมนา การแก้ปัญหาต่างๆของจังหวัดตากนั้น "มังกรต่างถิ่น หรือจะสู้งูดินชาวตาก" ผมจึงคิดว่า การผลิต "หมอน้อยชาวตาก" เหล่านี้ อาจจะเรียกได้อีกอย่างว่าเป็น "งูดินพันคบเพลิง" ที่สามารถทำงานฝังตัวอยู่ในชุมชน มีวิถีชีวิตชาวบ้านและทำงานเพื่อญาติพี่น้องของเขาได้อย่างแท้จริง เป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพโดยเฉพาะการเพิ่มการเข้าถึงบริการปฐมภูมิได้อย่างดี คนเมืองใหญ่อาจไม่เคยเห็น เดินทางกว่าครึ่งวันกว่าจะถึงสถานีอนามัยก็ยังมีอีกหลายหมู่บ้าน ยิ่งหน้าฝนยิ่งลำบากมาก

ความสำเร็จในกิจกรรมนี้ มีผู้มีส่วนร่วมผลักดันจำนวนมาก ผมเป็นเพีงแค่ฟันเฟืองตัวหนึ่งเท่านั้น ถ้าทีมงานได้เข้ามาเล่าเพิ่มเติมก็จะได้เห็นภาพต่างๆของความร่วมมือของภาคีเครือข่ายมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 355879เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจมากๆที่งานออกมาได้สำเร็จลุล่วง ได้ตามเวลาที่กำหนดไม่มีข้อผิดพลาดเลยค่ะ ยอมรับเกินคาด เพราะตอนแรกทีมงานกังวลมากๆ ในการจัดระเบียบคน 560 คน ที่ไม่ใช่นักศึกษา แต่เป็นวัยผู้ใหญ่และผู้สูงวัย อย่างเช่นอสม. 343 คน บางคนอายุมากกว่า 50 ปีแล้วค่ะทุกคนและเราไม่มีการซ้อมก่อนล่วงหน้าและจัดระเบียบก่อนล่วงหน้าเหมือนนักศึกษานะค่ะ ซ้อมก่อน 1 รอบในช่วงเช้า 1 ชั่วโมงก่อนรับจริง และซ้อมได้ไม่ทุกคนด้วยค่ะ แต่พวกเราทำได้ ต้องขอบคุณความร่วมมือของผู้รับวุฒิบัตรทุกคนเป็นอย่างยิ่ง และต้องขอโทษด้วยนะค่ะ ถ้าทีมงานต้องดุและเข้มงวดในบางครั้งค่ะ และขอบคุณความร่วมมือ ร่วมใจของทีมงานค่ะ และขอบคุณทีมอาจารย์ดร.ศุภกฤต กัณต์ธีราทร ที่มาดำเนินการให้ค่ะ และ ขอบคุณท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากที่ช่วยอำนวยการงานให้สำเร็จลุล่วงค่ะ และสุดท้ายต้องขอบคุณนายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ เจ้าของโครงการทั้งหมด และที่สำคัญที่สุดคือการวางแผนที่ชัดเจนและเป็นระบบของคุณหมอพิเชฐ จึงทำให้งานสำเร็จได้เป็นอย่างดีเกินคาดค่ะ

รอยยิ้มสดใสในวันรับวุฒิบัตรของผู้รับและผู้มอบ มีความสำคัญต่อทีมงานมากที่สุดเลยค่ะ วันนั้นผู้รับวุฒิบัตรมีการซื้อดอกไม้แสดงความยินดีในวันรับวุฒิบัตร เหมือนรับปริญญาเลยค่ะ ถ่ายรูปกันชะหมด Memery เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท