ขณะที่เราให้เรารับ ขณะที่เรารับก็กำลังให้


ขณะที่เราให้เรารับ ขณะที่เรารับก็กำลังให้

ตอนสองเรื่องการให้และรับ ต่อจากบทความที่แล้ว ขอแสดงความรู้สึกต่อในเรื่องนี้

เมื่อเรา "ไหว้" เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

สมมติว่า "ไหว้" เป็นการให้แบบหนึ่ง (ให้ความเคารพ นับถือ) เราให้อะไรบ้าง?

  • แสดงออกว่าเรารับรู้อะไรบางอย่างที่สมควรไหว้ อาทิ อายุอาวุโส ตำแหน่งหน้าที่ สิ่งที่คนๆนั้นทำ พฤติกรรมที่แล้วมาหรือ ณ ขณะนั้นของคนๆนั้นสมควรไหว้ สิ่งที่คนๆนั้นเชื่อศรัทธาและถือปฏิบัติ
  • แสดงออกถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเรากับบุคคลนั้น
  • ยังมี "ไหว้ไปยังงั้น" ซึ่งน่าเสียใจที่นับวัน ไหว้ หรือทำอะไรแบบที่ว่านี้ มีมากขึ้นๆเรื่อยๆ

ดังนั้นเราอาจจะไหว้เพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ หรืออย่างลึกซึ้งไปกว่านั้น เช่น มีบุญคุณ ไหว้ความดีงาม ไหว้ในสัญญลักษณ์หรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จิตวิญญาณ หรือพฤติกรรมอันน่าสรรเสริญ ไร้อัตตา เป็นไปเพื่อประะโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน (หาไม่ยาก เช่นในทหาร ตำรวจตระเวณชายแดน ที่ทำดีไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่) ไหว้ตามๆกันไป จะไปยากอะไรแค่ยกมือปะหลกๆ (แทบจะได้ยินเสียง "กองไว้ตรงนั้นแหละย่ะ" ประกอบ)

ทันทีที่เรา "ไหว้" หรือให้ความเคารพไป โดยฉับพลันนั้นเอง เราได้ตอกย้ำอะไรบางอย่างลงไปในตัวตนของเราด้วย จะรู้ตัวหรือไม่ก็เถอะ หรือจะมีคนเห็นหรือไม่ก็ตาม ก็แล้วแต่ที่เราทำไปเพราะอะไร กราบไหว้บูชาเพื่ออามิส (ขอพร ขอถูกลอตเตอรี) หรือไหว้เพื่อสดุดีและตั้งจิตอธิษฐานขอกำลังใจเพื่อปฏิบัติ ประพฤติตามที่ได้ตั้งใจไว้ เมื่อเราให้ความหมายแบบไหนไป กิจกรรมที่เรา "ให้" ไปสักครู่ เรากลายเป็น "ผู้รับ" ไปทันที

ไม่นับความ "งาม" ของการให้ ที่อาจจะมีคนเห็นแล้วชื่นชม เสริมมงคล ราศีให้แก่เราเอง ลูกหลานก็เห็นภาคปฎิบัตินอกเหนือจากทฤษฎี ที่พ่อแม่พร่ำบอกว่าให้เป็นคนมีกิริยามารยาทสมสกุล สมกับการมีคนสั่งสอน

หรือถ้าเราไหว้ไปยังงั้น ทันทีที่ทำ เราก็ได้ "รับ" เหมือนกัน โห เมื่อกี้ไหว้หรือเนี่ย นึกว่าเสยผม ใครสอนมาน้า ที่บ้านสงสัยจะไม่ค่อยมีคนให้ฝึกไหว้อยู่ใกล้ๆ เพราะทำกระดากประดักประเดิดเหลือเกิน

ขณะที่รับ ก็กำลังให้

ขณะที่เรารับอะไรก็ตาม เรากำลังทำกิจกรรมที่ทำให้ "วงจรมงคล" สมบูรณ์ ไม่มีการให้ที่ครบ ถ้าหากไม่มีการรับ ดังนั้นกิจกรรมนี้เป็นของเคียงคู่กัน ถ้าหากเราจะเรียนรู้การให้ โดยไม่ยินยอมรับหรือมองเห็นความงามของการรับไปด้วย ก็อาจจะกลายเป็นว่าเราเองก็ "ไม่เชื่อ" ในคุณค่าอันนี้ แต่หากแต่มองเห็นแต่การตักตวงบุญ ตักตวง feel-good effect ของการให้ฝ่ายเดียว ไม่ยอมสนับสนุนให้คนอื่นได้ทำดีอย่างเราเคยคิดว่าทำบ้าง

เคยมีคนไข้อยู่คนหนึ่ง แกเป็นคนมีศักดิ์ศรีคือว่าสัญญาไว้กับตัวเองว่าจะไม่เป็นภาระให้ใคร ไม่ยอมเบียดเบียนหรือทำให้ใครต้องมาพะวงเดือดร้อนเพราะตัวแก จนแม้กระทั่งล้มป่วยลง ก็ไม่ยอมขอร้องหรือบอกเล่าให้ลูกให้หลาน ให้เพื่อนบ้านคนรู้่จักทราบ เมื่อมาหาเราที่โรงพยาบาล เราก็เกิดความลำบาก เพราะเราไม่แน่ใจว่าเขาอยากจะได้อะไร อยากจะให้เราช่วยอะไรบ้าง ลำพังหมอพยาบาลไม่เท่าไหร่ เพราะเราตรวจได้ พอจะทราบเลาๆว่าแกน่าจะทุกข์จากอะไร แต่สำหรับลูกหลานและญาติๆ สภาวะที่ไม่มีข้อมูลเลยว่าเขาจะมีบทบาทอะไรให้กับคนไข้ในภาวะเช่นนี้ได้บ้าง ทำให้เกิดความทุกข์ที่ค่อยๆสะสม

เราเลยไปสะท้อนให้ฟัง ว่า "ป้าสอนเรื่องกตัญญูกตเวทีไหม สอนให้ลูกให้หลาน ดีไหมป้า อยากให้เขาทำไหม อยากใช่ไหม เพราะอะไร อ้อ เพราะการปรนนิบัติผู้มีพระคุณ ดูแลพ่อแม่เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เขาเป็นคนดี ถ้างั้นที่ป้าป่วยอยู่ตอนนี้ ลูกหลานเขาทราบไหมล่ะป้่า ทราบเหรอ อ๋อ รู้เลาๆ แหม แล้วรู้แค่นั้นเขาจะมาช่วยดูแลป้าได้ไหม ได้นิดหน่อยเหรอ เอ... ป้าคิดว่าเวลาลูกหลานอยากดูแล อยากกตัญญู แต่ทำไม่ได้ ไม่มีโอกาส ไม่มีช่องว่างจะทำนี่ เขาจะทุกข์ไหมเนี่ย? ไหนๆป้าก็สอนทฤษฎีไปแล้ว ว่าคนเราควรกตัญญู ทีนี้ภาคปฏิบัติเขาจะหาทำได้ที่ไหน ถ้าป้าไม่ยอมให้เขามาทำ"

ปรากฏว่าป้าแกให้ความหมายใหม่ได้ ว่าการขอความช่วยเหลือ บอกเล่าความทุกข์แก่ลูก แก่หลาน มันอาจจะเป็นภาระก็จริง แต่นี่คือ กิจภาระอันเป็นธรรมะแก่ผู้เจริญ ซึ่งควรจะสนับสนุนให้กระทำ สนับสนุนให้เกิด

การให้การรับ เป็นการทำวงจรกตัญญูกตเวทีให้ครบวงจร และสิ่งนี้ที่จะเป็นรากฐานของสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืนจะต้องมีให้หนักแน่น ไม่ใช่มีบุญคุณต้องรีบชำระล้าง เหมือนกับเป็นของสกปรก ล้างให้หมดจด มันไม่ใช่แค่นั้น แต่ให้เราตระหนักรู้่ว่าชีวิตของเราทุกวันนี้ เราขอหยิบยืม ถูกประคับประคอง ถูกค้ำจุน ด้วยบุญคุณเหลือคณานับที่จะชำระล้างได้ สิ่งเดียวที่ใกล้เคียงที่สุด ที่เราจะทำอะไรเพื่อสมกับที่เราได้รับ ก็คือ "การให้ต่อๆไปให้มากที่สุด และตระหนักว่าเราได้สืบสานศักยภาพที่แท้ของมนุษย์ คือความสุขจากการให้ และความสุขอบอุ่นใจจากการเป็นผู้รับ" ให้เป็นมฤดกสำคัญต่อๆไปไม่มีที่สิ้นสุด

หมายเลขบันทึก: 354694เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2010 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีท่านอาจารย์ Pheonix ครับ

แวะมาเรียนรู้ความหมายของการให้ และ รับ ครับ

จะเป็นผู้ให้ และ ผู้รับที่ดีเช่นกันครับ...

สวัสดีค่ะอาจารย์

พี่เคยเป็น ทั้งผู้ให้และรับเพราะเป็นสูติแพทย์ เป็นผู้อำนวยการ เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นคนไข้ของแพทย์รุ่นน้อง เป็นคนไข้ของอาจารย์โรงเรียนแพทย์ เป็นคนไข้ของสูติแพทย์

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ ที่ การให้การรับ เป็นการทำวงจรกตัญญูกตเวทีให้ครบวงจร ค่ะ คงดูที่จิตของเราว่าเกิดกุศลหลังจากกระทำหรือเปล่า

เคยมีคนไข้ฝากท้อง2-3ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ให้อะไรเรา ทุกวันนี้สองคนผัวเมียยังมาตรวจกับเรา ลูกน้องที่โรงพยาบาล บางคนเกรงใจ เอาของเป็นกระเช้ามาให้ พี่ใช้วิธีโทรไปบอกว่าไม่ได้ทานและต้องให้ต่อ ปีใหม่ให้โทรมาเยี่ยมก็พอ น้องเปลี่ยนเป็นขนมซึ่งไม่แพงมากนักและไม่เดือดร้อน กระเช้าที่ได้จากน้องๆเมื่อเป็นผอ. ส่วนใหญ่จะแกะแจกกลับให้น้องๆค่ะ

ในวันเกษียณ พี่ได้ของที่ระลึกมามาก แต่ไม่ค่อยได้ใช้ แต่พี่ซื้อผ้าไหมให้แพทย์ พยาบาลที่ช่วยเราให้ทำงานให้สำเร็จโดยตั้งใจตอบแทนพระคุณ น้องแพทย์บางคนยังฝากของมาให้ทุกปีทั้งๆที่เมื่อก่อนก็ไม่ได้ให้ของกัน น้องคงเกรงใจที่ได้รับของจากเรา ซึ่งเราก็เกรงใจไม่อยากให้น้องเดือดร้อนเพราะตั้งใจตอบแทนพระคุณ เมื่อคิดแล้วเห้นว่าไม่เสียเงินมากนักก็ซื้อของฝากมาให้ ลูกสาวที่เป็นแพทย์รำคาญเพราะต้องขนของมา บอกว่าแม่ทำไมให้กันไปให้กันมา ไม่จบซะทีละแม่ ไม่ขนให้นะ

บางเรื่องก็คิดไม่ออกเวลาไปตรวจคลินิกพิเศษกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ น้องแพทย์ที่โรงพยาบาลบางคนไม่บอกว่าเป็นหมอเพื่อให้อาจารย์คิดเงินอย่างคนปกติซึ่งก็เป็นทางเลือกค่ะ

ขอเล่ามายาวหน่อยนะคะ พอดีตรงใจค่ะ

มีเวลาจะติดตามอ่านเรื่องดีๆของอาจารย์นะคะ

อาจารย์คะ เคยเขียน เรื่องนี้ วาบความคิดมาจากการคุยกับเพื่อนรักค่ะ

     ค่อยๆ เข้ามาศึกษา  ค่อยๆคิดตามครับ เรื่องรับ และ เรื่องให้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มากๆเลยครับ

      เพราะเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของจิตใจ   มองเห็นไม่ชัด  ต้องมองด้วยความประณีตนะครับ   จึงจะมองเห็น

                    ขอบคุณบันทึกดีๆที่นำมาฝากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท