เหตุใดจึงไม่ควรนำคำ "เหวง" มาล้อเลียน?


"ผมได้ใช้เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างในการสอนคุณธรรมและจริยธรรมลูกหลาน"

ในระยะไม่กี่สัปดาห์มานี้ ผมได้ยินเด็ก คนหนุ่มสาว และผู้ใหญ่หลายคน
นำคำว่า "เหวง" มาใช้ในความหมายว่า วุ่นวายบ้าง วกวนบ้าง เช่น "อย่ามาเหวงนะ"

คำนี้มีที่มาจากชื่อของแกนนำคนหนึ่งของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ
แห่งชาติ (นปช.) ซึ่งโดยอาชีพแล้วเป็นแพทย์ ผมไม่รู้จักเขาเป็นส่วนตัว
แต่ได้ยินชื่อเสียงมานานตั้งแต่ครั้ง ๑๔ ต.ค.๒๕๑๖ และ ๖ ต.ค.๒๕๑๙
เท่าที่ทราบประวัติมาบ้าง นายแพทย์คนนี้เป็นคนที่ต่อสู้กับเผด็จการ
ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกับความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมมานาน
เพียงแต่อาจมีคนไม่ชอบเขา จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ 
ผมเข้าใจว่าอาจจะมาจากเมื่อครั้งที่ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่าย นปช.เจรจาออกทีวีกัน 2 ครั้ง 
วิธีการพูดที่ดูคล้ายจะตอกย้ำวนเวียนอยู่แต่กับบางเรื่องบางประเด็นที่บางคน
เห็นว่า "นอกประเด็น" กระทั่งฟังแล้วรู้สึกเบื่อรู้สึกรำคาญ หรือไม่ก็รู้สึกว่าไม่ได้
มาเจรจาแต่มาหาเรื่องด้วยการตั้งคำถามกับอีกฝ่ายในลักษณะของการโจมตี ฯลฯ

ผมเข้าใจว่า ผู้ที่นำคำ "เหวง" มาใช้ในความหมายข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นฝ่าย
ที่ไม่เห็นด้วยกับ นปช. เป็นพื้นอยู่ก่อน ผมเองไม่ได้เป็นฝ่ายไหนทั้งสิ้น
ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะอยากให้เราแต่ละคนมองคนทะลุผ่านพฤติกรรมภายนอก
เข้าไปให้ถึงส่วนที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์ทุกคน ผมเชื่อว่า มนุษย์เราทุกคน
โดยพื้นฐานแล้วมีความดีอยู่ในจิตใจ ผมเองมีความรู้สึกว่า นายแพทย์คนนี้
เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีจิตใจรักความเป็นธรรมมากทีเดียว และสิ่งนี้เป็นพลังขับเคลื่อน
ให้เขาออกมาอยู่แถวหน้า (ของฝ่ายที่เขาเห็นว่าร่วมอุดมการณ์กับเขา)

การนำชื่อคนอื่นมาล้อเลียนให้กลายเป็นตัวตลกเป็น “ความรุนแรง” อย่างหนึ่ง
เป็นการกระทำที่เริ่มจาก “ใจ” ผ่าน “วาจา” ออกไป “กระทำ” ต่อมนุษย์คนอื่น
ซึ่งผู้ถูกกระทำ(ถูกทำร้าย)ย่อมเจ็บปวด สมาชิกในครอบครัวเขาก็ย่อมเจ็บปวดไปด้วย
ลองคิดถึงใจลูกเมียเขาดู (เอาใจเขาใส่ใจเรา)
ถือเป็นการ “เบียดเบียน” คนอื่นอย่างหนึ่ง ตามความหมายของศีลข้อแรกในพุทธศาสนา
อีกทั้งยังเป็นเป็นการไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น

บางคนอาจไม่พอใจในพฤติกรรมบางอย่างของเขา
เมื่อมีคนมาทำให้เราไม่พอใจ ทำอะไรที่กระทบใจเรา
แล้วเราตอบโต้ด้วยวิธีการแบบเดียวกัน
แสดงว่าทั้งเราทั้งเขา “พอกัน” หรือเปล่า?

หากมีคนทำตัวเป็นอันธพาลมาตีหัวเรา เราตีหัวเขากลับ
อย่างนี้เรามิกลายเป็นอันธพาลไปด้วยหรือ?

การทำให้ใครคนใดคนหนึ่งมีภาพพจน์เป็น “ตัวตลก” จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ในทางวิชาการเรียกว่า "การฆาตกรรมทางบุคลิกภาพ" (Characteristic Assassination)
มีการใช้วิธีนี้กันมากในทุกวงการ โดยเฉพาะในวงการเมือง ในหลายประเทศ
การนำหนังเรื่องฮิตเลอร์มาแปลงเป็น “แม้วเลอร์” ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
ของวิธีฆาตกรรมทางบุคลิกภาพ

ลูกหลานผมบางคนก็นำคำ “เหวง” มาพูดที่บ้าน โดยจำมาจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียน
ผมได้ใช้เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างในการสอนคุณธรรมและจริยธรรมลูกหลาน
ทั้งในเรื่องการเคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์ เรื่องการเอาใจเขาใส่ใจเรา
ไม่ล้อเลียนคนอื่นด้วยความคะนองปาก การบ่มเพาะความเมตตา
รวมทั้งความกรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้เบ่งบานขึ้นในจิตใจของเรา

คนเราควรมี “สัมมาวาจา” กับทุกคน ไม่ว่ากับผู้ที่เรารักเราชอบ
คนที่เราสื่อสารด้วยกิจธุระเฉยๆ หรือแม้แต่กับคนที่เรารู้สึกไม่ชอบ

สัมมาวาจานี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ “มรรค” (ทางสู่ความดับทุกข์) ในพุทธศาสนา

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
27 เมษายน 2553

 

หมายเลขบันทึก: 354571เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2010 00:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ขออนุโมทนาที่อาจารย์ช่วยชี้แนะเรื่องการเสพสื่ออย่างรอบด้านครบถ้วนและมีสติรอบคอบ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะท่านแม้แต่รูปก็ไม่สมควรที่จะเอามาขูดตรงหน้าเขาหรือเติมฟันดำๆหนวดฯลฯ ไม่สมควรทั้งนั้นค่ะทั้งชื่อและรูปถ้าเป็นคนในครอบครัวหนูแล้วโดนคนอื่นเอาไปล้อเลียนเหยียดหยามหนูก็ไม่ยอมเช่นกันค่ะ

แหะ...แหะ...จะปรับปรงุตัวเองค่ะ

บ่อยครั้งที่อดไม่ไหว ค่ะ :) จะฝึกฝนตนต่อไป ขอบคุณค่ะ

ผมว่าสิ่งที่สังคมประนามยังน้อยไปนะครับ กับความคิดที่จะล้มล้างสถาบัน
ท่านอาจารย์ทราบเรื่องนี้แล้วมาทำแกล้งไม่ทราบ

ผมเป็นเคยเป็นคนเดือนตุลฯาเหมือนกัน
เรื่องหมอเหวงผมทราบมากกว่าอาจารย์ครับ

ทุกวันนี้ผมอยู่อย่างสมถะ แต่ทนไม่ได้กับคนที่ทำลายชาติและสถาบัน

หรือว่าอาจารย์คิดว่าหมอเหวงไม่ได้ทำลายชาติและมุ่งร้ายต่อสถาบัน

ตอบ พระมหาแล ขำสุข [IP: 118.172.137.141]

เมื่อ พ. 28 เม.ย. 2553 @ 01:24 ที่เขียนว่า

"ขออนุโมทนาที่อาจารย์ช่วยชี้แนะเรื่องการเสพสื่ออย่างรอบด้านครบถ้วนและมีสติรอบคอบ"

ขอขอบพระคุณพระคุณเจ้าครับ

สุรเชษฐ

ตอบคุณ

P พรเทพ วรางค์นนท์
เมื่อ พ. 28 เม.ย. 2553 @ 07:04

ขอบคุณคุณพรเทพมากครับสำหรับความคิดเห็นและคำถามที่ทำให้ผมได้คิด

๑. ที่ว่า "สิ่งที่สังคมประนามยังน้อยไป" ผมไม่ประนามใครครับ พยายามดำเนินชีวิตประจำวันโดยไม่ตัดสินคนอื่น แม้แต่การล้อเลียนซึ่งเบากว่าประนามจึงไม่ทำด้วย แม้กับคนที่ผม(เผลอ)รู้สึกไม่ดี(เป็นทุกข์)กับพฤติกรรมของเขาขึ้นมา

๒. ที่ว่า "เรื่องหมอเหวงผมทราบมากกว่าอาจารย์ครับ" ผมกับคุณพรเทพไม่เคยรู้จักกันแล้วทราบได้อย่างไรครับ?

๓. ที่ว่า "หรือว่าอาจารย์คิดว่าหมอเหวงไม่ได้ทำลายชาติและมุ่งร้ายต่อสถาบัน" ข้อนี้ผมไม่คิดว่าหมอเหวงมีเจตนาจะทำอย่างนั้นจริงๆ ครับ คือยังคิดว่าเขารักชาติครับ ส่วนข้อหลังผมไม่ทราบจริงๆ ครับ อันนี้ถ้าใครติดใจสงสัยและมีโอกาสถามเจ้าตัวได้ ก็ถามเจ้าตัวโดยตรงดีที่สุดครับ

ผมเชื่อว่าเราทุกคนในที่สุดก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เรากระทำด้วยตนเอง โดยที่ผู้อื่นไม่ต้องทำอะไรเรา (ตามกฏแห่งกรรม)

ขอขอบคุณคุณพรเทพอีกครั้งครับสำหรับความคิดเห็น

สุรเชษฐ
๒๘ เมษา '๕๓

ดูแลใจตนเองเป็นเบื้องต้น

ขอสันติจงมีในจิตใจของทุกท่าน (รวมทั้งผมด้วย)

หนูคิดว่า คำว่า "เหวง" ที่เอามาพูดนั้น ทุกวันนี้มันเหมือนกับศัพท์ใหม่คำหนึ่ง

ที่สามารถจะสื่อหรืออธิบายลักษณะ ท่าทาง ท่าที ของคนพูดได้ โดยไม่ต้องอธิบายยืดยาว

เหมือนกับช่วงหนึ่ง ที่นิยมใช้คำว่า "ตุ๋ย" เพื่อจะสื่อถึงการที่ผู้ชายมีอะไรกับผู้ชาย

เพราะคนที่เป็นต้นเรื่องที่ทำให้เป็นข่าวครึกโครมนี้เค้าชื่อตุ๋ยน่ะค่ะ คือสั้นๆ ง่ายๆ

เรียกว่าถ้าพูดคำนี้ แล้วก็เห็นภาพ นึกออกทันทีโดยไม่ต้องอธิบายซ้ำให้ยืดยาวค่ะ

ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับ....อาจารย์สุรเชษฐ ผมอาจจะไม่ได้เข้าธรรมะอย่างเต็มที่ เพราะมีเวลา ปฏิบัติน้อย แต่อย่างน้อย สิ่งที่ผมกระทำอยู่เสมอก็คือ สมาทานศีลสิกขา สมาทานจิตสิกขา และสมาทานปัญญาสิกขา ยังไม่ถึงขั้นของ อธิศีลสิกขา,อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา.... ด้วยการระมัดระวัง กาย,วาจา และใจ คือ เริ่มจากการสังวรกาย คือการไม่เบียดเบียนทั้งตัวเรา และบุคคลอื่น การสังวรใจ คือการการไม่เบียดเบียนทางใจ ทั้งตัวเอง และบุคคลอื่น เช่น การไม่เอาปัญญาของตนเองไปขูดรีดคนอื่น หรือไปข่มเหงชาวบ้าน การเอาความรู้ความสามารถที่เหนือมาคิดเอาเปรียบคนอื่น เป็นต้น

และการสังวรวาจา คือ การการไม่เบียดเบียนตัวเอง และบุคคลสัตว์สิ่งของ ด้วยคำพูด แยกได้ ๔ ประเภทคือ อะนูปะวาโท หมายความว่า  เราจะพูดถึงใครก็ตามทั้งต่อหน้า และลับหลังเขา  วจีกรรมของเราต้องมีเมตตาอยุ่ด้วยเสมอ  การพูดกับคนอื่นที่ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ถ้ามุ่งแต่จะพูดให้ร้าย ด่าว่า  โจมตีเขา  ก็เป็นอันเสียหลักธรรมข้อนี้  เช่นเดียวกันในหลักธรรมของสัตบุรุษ  ก็มีคำสอนอยู่ข้อหนึ่งว่า  "จะพูดสิ่งใด  ก็ไม่พูดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น"

อะนูปะวาโท  หมายความว่า ในการพูดคุยธรรมดา  การเทศน์  การสอน  การแนะนำตักเตือน หรือในการถกเถียงเรื่องราวใด ๆ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้ฟัง  ผู้พูดต้องมีวจีสังวร  ไม่ปล่อยคำพูดของตน  ถ้อยคำวาจาตนเป็นหอกทิ่มแทงผู้อื่นให้เดือนร้อน หรือย้อนมาทิ่มแทงตนเองให้ลำบาก 

นอกจากพระพุทธเจ้าจะให้หลักการพูดจาไว้ในสารณียธรรม  กับสัปปุริสธรรมอย่างนี้แล้ว  พระองค์ยังทรงสอน ผู้รักษาศีล ไม่ว่าจะรักษาศีล ๕ ศีล๘ ศีล๑๐ หรือศีล ๒๒๗ จะต้องมีเวรมณีคือ  งดเว้นการพูดดังต่อไปนี้

๑.นินทา  พูดติเตียนผู้อื่นลับหลังเขา

๒.มุสาวาท  พูดเท็จโกหกหลอกลวงเขา

 ๓.ปรูปวาท  พูดให้ร้ายป้ายสีโจมตีเขาคนอื่น

๔.โอมสวาท  พูดเหยียบย่ำเสียดแทง หรือกดเขาให้เลวลง ให้เขาเกิดความเจ็บใจ

คงเพียงพอสำหรับกรณีนี้ผมคงไม่สามารถแสดงความคิดเรืองคำว่า "เหวง" ได้ และคงไม่พูด  เพราะผิดศีลข้อ ๔  และผิดการสังวรวาจา  ครับ

 

รังสรรค์ เรืองสมบูรณ์

"การทำทาน ก็ควรทำกับผู้รู้คุณค่าแห่งทานนั้น" ดังนั้นการที่เราจะให้เกียรติและนับถือใคร คนๆนั้นก็ต้องควรค่า แห่งการได้รับเกียรติ และรับเกียรตินั้นๆด้วย แต่พฤติกรรมและการดำเนินชีวิต ของ นาย (แพทย์) เหวง ที่ผ่านมาหลายปีนั้น ผมยังไมสามารถมองเห็น หรือจับต้องได้ว่า "มีสิ่งใดที่ทำแล้ว ควรค่าพอที่จะได้รับการให้เกียรติ หรือนับถือเลยครับ

สาระและแก่นแท้ เรื่องคุณธรรม การไม่ก้าวล่วงไปทำร้ายจิตใจของผู้อื่น การให้อภัยและเข้าใจความรู้สึกนีกคิด และเข้าใจในปัจเจกบุคคลนั้น เป็นสิ่งดีที่จะสอนกันในทุกๆคนที่เรารักและหวังดี เพื่อให้มีจิตใจงดงาม (ความเห็นส่วนตัวนะครับ) เพียงแต่ว่า ตัวอย่าง ที่ยกมาเป็น case นั้นมันไม่อาจจะพยายาม มองให้สอดคล้องกับสิ่งที่นายพยายามสื่อ สาระหรือแก่นของมันเลยถูกบดบังไปด้วยกระพี้ หากนายเอาตัวอย่างอื่นที่ไม่ต้อง in trend ก็ได้ มันอาจจะส่งข้อความสาระที่ต้อการได้เข้าถึงผู้รับก็ได้ครับ

ขอเป็นความเห็นนะครับ คงไม่บังอารเรียกว่า "วิจารณ์" ครับ

รังสรรค์/ หมี

ตอบคุณ อรวัต [IP: 58.9.194.183]

เมื่อ พ. 28 เม.ย. 2553 @ 11:53

ผมคิดว่าการนำชื่อคนที่ประกอบคุณงามความดีมาเป็นคำศัพท์เพื่อสื่อความหมายจะเหมาะสมกว่าครับ เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติของผู้นั้นด้วยเช่น คำ mentor ซึ่งเป็นศัพท์คำหนึ่งในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า ผู้ดูแล หรือพี่เลี้ยง คำนี้มีที่มาจากชื่อตัวละครในเทพนิยายเรื่องโอดิซิส ของโฮมเมอร์ ที่ดูแลเอาใจใส่อบรมสั่งสอนลูกชายของเพื่อนที่มาฝากฝังให้ช่วยดูแลในยามที่เพื่อนต้องจากบ้านไปปฏิบัติภารกิจแดนไกลหลายปี

สุรเชษฐ
๒ พ.ค.๕๓

ตอบรังสรรค์ /หมี เมื่อ ศ. 30 เม.ย. 2553 @ 12:02

ขอบใจและดีใจที่หมีเข้ามาอ่านบันทึกนี้และแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

๑. เห็นด้วยกับหมีที่ว่า เราควรยกย่องให้เกียรติผู้ทำคุณงามความดี แต่ส่วนตัวเราขอไม่ล้อเลียนใครก็ตามที่ทำอะไรผิดพลาด หรือทำให้เราไม่พอใจ ไม่ชอบใจ

๒. ที่ยกตัวอย่างเรื่องที่กำลัง in trend (กำลังเป็นกระแส) คือ การใช้คำว่า "เหวง" กันในขณะนี้ เป็นการใช้โอกาสที่กำลังเกิดเหตุการณ์ "สด" ที่เราคิดว่าได้ผลในการสอนจริยธรรมลูกหลานในเรื่องการพูด และคุณธรรมในเรื่องความเมตตา แม้กับคนที่ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ

ยอมรับว่ามีความยากลำบากมากกับการสัมผัสกับเมตตาธรรมและสันติธรรม (ที่มีอยู่แล้วในส่วนลึกของเราทุกคน) ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถรักคนที่แม้กระทั่งเป็นศัตรูกับเราจากส่วนลึกของจิตใจ (ในระดับความรู้สึกที่แท้จริง) ได้ ไม่ใช่จากระดับเหตุผลว่าควรหรือไม่ควรเพียงอย่างเดียว

'เชษฐ ๒ พ.ค.๕๓

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท