จำใจจำจากจำจร


(ลีลาป่วนชั้นครู)

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราฉันใด

ค่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์จุฬาฯก็ฉันนั้น

จากที่เคยครึกครื้นอึกทึกทั้งคืนวัน

บัดนี้พลันมาเงียบสงบเข้ารอยเดิม

หมอเจ๊คนสวย แซ่เฮ ต้องกลับไปเคลียนงานที่กระบี่เป็นรายแรก 8.30 น.

รอกอด รอฟังสรุปแล้ว ก็กลับเป็นรายที่ 2 ตอน 11.00 น.

คุณหมอจอมป่วน รอป่วนจนหัวใจใครๆสั่นคลอนกลับตอน 13.00 น.

มะเดี่ยว รอช่วยจนหยดสุดท้าย กลับพร้อมๆกับคณะ 14.00 น.

(นิสิตได้ร้อยเรียงความรู้สึกในการวาด เสียดายไม่ได้ขอภาพใส่กรอบไว้)

นักศึกษาได้เห็นกระบวนการเฮฮาศาสตร์ครั้ง นี้ นับเป็นโอกาสทองของชีวิต (ฟังจากตัวแทนนักศึกษากล่าวอำลา) ได้เจอตัวสมาชิกแต่ละคนที่ไม่ธรรมดา สื่อให้เห็นมิติของผู้มีสังคมอยู่ในหัวใจ ถ้าคิดบ้างก็จะตระหนักถึงความพยายามที่จะมาช่วยเหลืองานค่ายครั้งนี้ ด้วยความตั้งใจอย่างเหลือล้นเพราะแต่ละคนนั้นงาน งาน ท่วมตัวและหัวใจกันทั้งนั้น จากมุกดาหาร-จากกระบี่-จากพิษณุโลก-จากร้อยเอ็ด ไกล้ที่ไหนละ แต่ก็ดั้นด้นมาเพื่อจะช่วยกันอุ้มชูลูกหลานนักศึกษาแพทย์ให้เป็นคนดีคนแกร่ง ด้านทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณะสุข เท่าที่ฟังวันแรกๆอาจจะแปลกที่แปลกถิ่น และเผชิญกับความร้อน-ความไม่พร้อม-ความพิลึกกึกกือของที่นี่ แต่พอเจอกระบวนการเฮฮาศาสตร์เข้าไป พลังใจของหมู่เฮาชาวเฮสามารถที่จะแลกใจกับใครๆก็ได้ เมื่อได้ใจแล้วอะไรๆก็ดูดี มีความสุข

(ปลูกต้นไม้ที่ระลึกก่อนกลับ)

นิสิตได้เรียนรู้มิติชีวิตและสังคมชนบทเชิงประจักษ์

สัมผัสกับความร้อนหนาวด้วยตนเอง

สัมผัสกับน้ำใจที่ผู้อื่นเอื้ออาทร

คอนดรั๊กเตอร์ชวนปั้นพระในขณะห้ามพูดกัน

หมอเจ๊ชวนขบคิดเรื่องบทบาทหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ท่านบางทรายยกงานวิถีสังคมชนบทมาให้ใคร่ครวญ

หมอจอมป่วน ลูกเล่นเยอะ งัดออกมาให้ฮ่าและหุบสลับมันส์ทุกหยด

มะเดี่ยวชวนน้องๆฟังประสบการณ์ตรงของคนทำงานในท้องถิ่น

อาจารย์สุชาดา คลุกอยู่กับการออกแบบกระบวนการในแต่ละช๊อต

คณาจารย์ก็ทุ่มเทเต็มที่คอยประคองบรรยากาศและอารมณ์ลูกศิษย์ให้เปิดรับทุกเรื่องราว

(จำจรจำลาอาวรณ์อาลัย ปีหน้าฟ้าใหม่มาพบกันอีก)

ทั้งสนุกทั้งเหนื่อยกันทั่วหน้า เทวดายังมาร่วมด้วย เป็นส่งลมมากระโชกให้ไฟฟ้าดับ ช่วยส่งคลื่นความเย็นมาให้สบายๆ ทำให้จัดกิจกรรมได้อย่างที่คาดไว้ รายการจูงวัวไปเลี้ยงนั้นคงจะติดตราตรึงใจไปนานเท่านาน รายการทำอาหารก็สร้างสัมพันธภาพระหว่างกลุ่มได้ไม่เลว ช่วงที่ปลูกต้นไม้ก่อนขึ้นรถอำลา ทุกคนร่าเริงสนุกสานเป็นกันเอง คุณหมอจอมป่วนช่วยแจกลายเซ็นต์ แจกหนังสือ และยังบอกว่าจะป่วนอีกในเล่มต่อไปเร็วๆนี้ ส่วนผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์อุ๊เอายามาฝากหลายขนาน ได้ชิมข้าวหม้อดินฝีมืออาจารย์ ได้เรียนรู้และพัฒนามหาชีวาลัยในลำดับต่อๆไป.

การจัดค่ายให้นิสิตนักศึกษาเต็มรูปแบบเช่นนี้ไม่ง่ายเลย

คณาจารย์ของคณะนอกจากจะทุ่มเทยอมเหนื่อยยากแล้ว

จะต้องประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย

ถ้าไม่ชัดเจนชัดถ้อยชัดคำยากที่จะฝ่ามาถึงตรงนี้ได้

ค่ายนิิสิตแพทย์จุฬาฯ-ชลบุรีสมควรเป็นมาตรฐาน

เป็นตัวอย่างให้ภาควิชาอื่น คณะอื่น มหาวิทยาลัยอื่นๆได้นำไปพิจารณา

ว่าการจัดค่ายเพื่อการเรียนรู้ชีวิตและสังคมนั้นเป็นฉันใด

แต่ก็ทำได้ ถ้าหัวใจอาจารย์เสริมใยเหล็ก

มหาชีวาลัยอีสานและชาวเฮดีใจแทนนิสิตชาวค่ายทุกคน

ที่เธอเหล่านี้โชดีตรงที่มีอาจารย์สุดยอดจริงๆ..ขอบอก

ขอให้จำเริญๆเถิดนะคนดี

ปีหน้าฟ้าใหม่กลับมาเด็ดพริก-มะละกอ-มะนาว-ตะลิงปิง ที่ปลูกไว้

ช่วยกันทำกับข้าวให้ลือลั่นไปทั้งสวนป่า

แคว๊กๆ

หมายเลขบันทึก: 354250เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2010 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีคะ พ่อ...เมื่อไหร่นะ... พอลล่าจะได้ไปบ้าง(มาอีกแระ) อิอิ

แล้วพอลล่าจะทำอะไรได้บ้างคะพ่อ ...

เห็นบรรยากาศแล้ว อยากร่วมด้วยจังครับ...

คืนนี้พระจันทร์ฝั่งโน้น คงงามงดนะคะ ใกล้จะเต็มดวงอีกแล้วคะพ่อขา

ค่ายนี้ยกให้เป็น ค่ายแบบอย่าง งานสร้างสรรค์ น้องๆคงจำประทับใจค่ะ

จำได้ว่าค่ายชนบทครั้งนิสิต ผ่านไปนานก็ยังคงมีความรู้สึกดีๆ ฝันดีค่ะพ่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท