วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสายปฏิบัติ ฯ


วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสายปฏิบัติ ฯ

"วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสายปฏิบัติ ฯ"

ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อประมาณ 22 ปีเศษ ที่ผู้เขียนได้เริ่มบรรจุเข้ารับราชการ เมื่อ 1 เมษายน 2531 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนคลุกชีวิตอยู่กับการทำงาน โดยเริ่มเติบโตมาจากสายปฏิบัติ ซึ่งเริ่มบรรจุเข้ารับราชการเป็นเจ้าพนักงานธุรการ 2 ในสมัยนั้นส่วนมาก สำนักงาน ก.พ. จะเปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ ระดับ 1 จะมีเป็นจำนวนมาก ระดับ 2 มี จำนวนน้อย สำหรับระดับ 3 นั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะสมัยก่อนการจบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี จะมีจำนวนน้อยมาก

ผู้เขียนได้รับการเรียกตัวจากสำนักงาน ก.พ. โดยสอบได้ลำดับที่ 21 จากจำนวนที่สอบได้ประมาณ 3,000 กว่าคน เพราะใช้สนามสอบภาคเหนือตอนล่าง คือ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งใช้เวลาขึ้นบัญชีไว้ประมาณ 2 ปี ผู้เขียนกว่าจะได้บรรจุเข้ารับราชการใช้เวลาในการรอคอย ประมาณ 2 ปี เต็ม ซึ่งเป็นคนสุดท้ายในจำนวนที่สอบได้ 3,000 กว่าคน แต่ที่เหลือก็ถูกยกเลิกบัญชีไป เรียกว่า สำหรับรุ่นที่ผู้เขียนสอบได้และได้รับการเรียกตัวเข้ารับการบรรจุ มีจำนวน 21 คน เท่านั้น และให้ไปรายงานตัวที่สำนักงาน ก.พ. เพื่อเลือกหน่วยงานที่จะได้รับการบรรจุต่อไป...

ผู้เขียน ได้บรรจุที่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอทับคล้อ สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร ในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ 2 โดยกรอบอัตรากำลัง คือ เจ้าพนักงานธุรการ 2 - 4 ทำงานในด้านงานการเจ้าหน้าที่ สำหรับการทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อ 22 ปี ที่แล้ว ผู้เขียนจะทำงานด้านการปฏิบัติ โดยมีเครื่องมือในการทำงาน เพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จได้ นั่นคือ เครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งในสมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ... การทำงานในสมัยก่อน ถ้าพูดถึง...คือ...เราคิดว่ามีเครื่องพิมพ์ดีด 1 เครื่อง ก็สามารถทำงานได้แล้ว เพราะผู้เขียนได้จบ ปวท. วิชาเอกการเลขานุการ (ไม่ต้องพูดถึงว่าคนเรียนเลขาฯ ในสมัยนั้น ต้องเก่งการจดชวเลข + พิมพ์ดีด ไทย - อังกฤษ) เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ทางวิทยาลัยจะไม่ให้จบ ยิ่งพิมพ์ดีดไทย ระบบสัมผัส ต้องพิมพ์ได้ 45 คำ ต่อนาที และพิมพ์ดีดอังกฤษ ระบบสัมผัส ต้องพิมพ์ได้ 50 คำต่อนาที (โดยห้ามมีคำผิด) ผู้เขียนทำได้ ได้ A ทุกวิชา ปลื้มมาก ๆ เพราะตอนเรียน ม.ศ. 4 - 5 เรียนวิทย์ - คณิต แต่ทำไม มาเรียนขั้นสูงขึ้น ถึงมาเรียนสายบริหารธุรกิจได้ ไม่เคยคิด ไม่เคยฝัน และตอนนั้น ไม่เคยทราบมาก่อนด้วยว่า เรียนพิมพ์ดีด แล้วจะช่วยเราทำงานได้อย่างไร...

มีพวกพี่ ๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมา แซวผู้เขียนว่า งานพิมพ์ดีด คือ งานเสมียน ไม่ได้เป็นผู้บริหารหรอก...แต่ผู้เขียนไม่ได้ว่าอะไรตอบ...เพียงแต่ต้องการบอกว่า...คำพูดที่พวกพี่ ๆ แซวเล่นนั้น ไม่จริง...นะค่ะ เพราะปัจจุบันผู้เขียนเป็นผู้บริหารแล้ว ถึงไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูง แต่ก็เป็นผู้บริหารระดับกลางค่ะ...อาจเรียกได้ว่า ต้นกำเนิดของสายผู้บริหารบางคนเติบโตมาจากสายปฏิบัติ...นั่นเอง

จะมาทราบอีกครั้ง ก็ต่อเมื่อผู้เขียนได้งานทำ ได้รับการบรรจุแล้ว และคิดอยู่เสมอมาว่าถ้าเราไม่ได้เรียนมา มาปัจจุบัน มีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ เราคงจะจิ้มดีดแน่นอน...ทำให้อดนึกถึงเมื่อสมัย 20 กว่าปี ไม่ได้ว่า สมัยนั้น ตอนพิมพ์งานให้กับหัวหน้าการประถมศึกษา หรือ หัวหน้างาน (พวกพี่ ๆ ที่เราเคยเรียก...) เราทำงานเกี่ยวกับงานการเจ้าหน้าที่ งานโครงการ งานแผนงาน ยิ่งเป็นการพิจารณาความดีความชอบ เราต้องนั่งตีตารางลงในกระดาษไข ซึ่งสมัยปัจจุบันไม่มี พอผิดที... อื้อฮือ...ใช้ยาลบไขลบคำผิด เสียแดงเชียว...เลอะเทอะไปหมด...แต่กระดาษไขก็ยังใช้ได้...เพราะเราต้องประหยัด กล่องหนึ่งก็ราคาค่อนข้างแพงมาก...

เมื่อพิมพ์เสร็จมาตรวจคำผิด...โดยพี่หัวหน้างานจะเป็นคนตรวจให้...(เพราะตามมโนสำนึกของตนเองชอบคิดว่า เราพิมพ์ เราต้องถูก ซึ่งการปฏิบัติจริงไม่ใช่ ต้องใช้อีกคน คือ หัวหน้างานของเรา ตรวจความถูกต้องให้)...พอทราบว่าผิด...ผู้เขียนก็จะนำกระดาษไขกลับเข้าเครื่องพิมพ์ดีดอีกครั้ง...แล้วทำการแก้ไขคำผิด...อาศัยความชำนาญที่เราเคยทำ เรียกว่า "ประสบการณ์ในการทำมากกว่า" ผู้เขียนจะนำกระดาษไขเข้าเครื่องพิมพ์ โดยกะระยะบรรทัดพอดีที่เราจะพิมพ์ใหม่ให้ตรงกับบรรทัดเดิม...และก็ตรงแม่นเป๊ะ...เพราะเวลาออกมาเป็นตัวพิมพ์ เนื้อความของข้อความที่แก้ไขจะได้เนียนกับข้อความเดิมที่มีอยู่...เรียกได้ว่า เป็นเทคนิคของแต่ละคน บางคน แก้ไข ก็ได้ผลไม่เนียน ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติที่จะอาศัยประสบการณ์หรือเทคนิคอย่างไร...

มีบางครั้ง เมื่อพิมพ์กระดาษไขเสร็จแล้ว ผู้เขียนก็ต้องนำไปโรเนียวโดยเครื่องโรเนียวที่ใช้มือหมุน ซึ่งถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ เห็นคงหัวเราะ...แน่ แน่...เพราะในยุคนี้ ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ + เครื่องถ่ายเอกสารแทน...ที่เขียนมาทั้งหมดข้างต้น...ทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการในการทำงานของสายปฏิบัติ ฯ ในสมัยที่ผู้เขียนได้เคยปฏิบัติงานมา ยิ่งในปัจจุบัน เป็นอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ มีไว้เพื่อให้ Save งาน ไว้ใช้ในครั้งต่อไปได้ (โดยการแก้ไข) ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์ใหม่ แต่ข้อควรระวัง ระวัง Copy มาแล้ว ลืมการแก้ไขไฟล์ใหม่ ซึ่งผู้เขียนหน้าแตกหลายครั้ง...คิดว่าแก้ไขแล้ว...แต่ลืมค่ะ...เรียกว่า สบายเกินไป...

บทความทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าถึง "วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสายปฏิบัติ ฯ" ที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่างในการทำงานในสมัยก่อนกับปัจจุบันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร...และผู้เขียนก็เชื่อว่าในอนาคตอีก 20 ปี ข้างหน้า ก็คงมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน...

หมายเลขบันทึก: 353870เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท