วิญญาณครู


ศิษย์มีครู เหมือนงูมีพิษ

วิญาณครู

     "วิญาณครู"  มีความหมายได้หลายอย่าง  ความรู้แจ้ง,ความรู้สึกตัว,จิต,ใจ  สิ่งที่สิงอย่ในตนทำให้เป็นบุคคลขึ้น  เมื่อร่างกายเปื่อยเน่าแล้วเชื่อกันว่าอยู่ต่อไป

     สิ่งใดมี  "วิญญาณ"   สิ่งนั้นเราเรียกว่า  มีชีวิต  เช่นคน  สัตว์  สิ่งที่ไม่มีวิญญาณก็คือไม่มีชีวิต  เช่นซากศพ  (คนที่ตายแล้ว)  บ้านเรือน  ต้นไม้  แผ่นดิน  เป็นต้น

    "ครู"  มาจาก  คุรุ  แปลว่า  หนัก,เคารพ,  หมายความว่า  เป็นผู้ทำหน้าที่อันหนัก  ผู้เป็นที่เคารพแห่งศิษย์ได้แก่ผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน

  ครูเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติสูง  เทียบได้กับวรรณพราหมณ์ในสมัยก่อน   ครูเปรียบเสมือนพระจันทร์  ที่สาดแสงให้แต่ความสดชื่นน่ารื่นรมย์  เป็นส่วนสร้างแต่พระคุณไม่มีพระเดช  จึงเป็นผู้ควรเคารพ  ครูต้องมีหน้าที่ฝึกสอนอบรมต้องอดทนต่อความเหนื่อยกายเหนื่อยใจ  ต้องเกี่ยวข้องกับหัวใจเป็นจำนวนสิบจำนวนร้อย   การทำอะไรให้ถูกหัวใจหลายๆ  ดวงนั้นย่อมไม่ได้  แม้แต่ของครูเพียงดวงเดียวก็เอาใจไม่ไหวอยู่แล้ว  จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่หนัก  ครูเป็นผู้มีความหวังดี  ให้แต่ความสุข  ความดีของครูนั้น  เป็นความดีนาน

   คนทุกคนไม่ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตสักเพียงใด  เขาเหล่านั้นล้วนอาศัยครูเป็นผู้ให้ความรู้ทั้งนั้น  "ศิษย์มีครู  เหมือนงูมีพิษ"  ฉะนั้น  คนในโลกนี้จึงต้องมีครูทุกคน  แต่คนที่จะพึงรู้อุปการะคุณของครูหรือไม่นั้น  เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

   การทำงานทุกอย่างจะเกิดเป็นผลสำเร็จหรือดีนั้น  ก็ต้องอาศัยที่ผู้ทำงานนั้นรู้จักหัวใจของงาน  นักประพันธ์ที่ขีดเขียนอะไรๆแล้วก็เป็น  "อมตะ"  หรือเป็นที่นิยมของผู้อ่าน  เรามักกล่าวถึงเขาว่าเป็นคนที่มี  "พรสวรรค์"  ศิลปินขั้นดาราในวงการภาพยนตร์  ละคร  ลิเก  เป็นต้น  แสดงแล้วสามารถดึงดูดคนดูสร้างความสนใจ  เพราะเขาเหล่านั้นถึงหัวใจของศิลปะ  บทบาทที่แสดงออกย่อมกลมกลืนเหมาะสมกับเรื่องราว  จึงตรึงใจคนดูให้เกิดความนิยม  แต่ถ้าเข้าไม่ถึง  "หัวใจ"  แล้ว  การแสดงบทบาทย่อมไม่สนิทสนม  พาให้คนเบื่อหน่าย  เช่น  พระเอกจริงๆแสดงเป็นผู้ร้ายก็ต้องเป็นผู้ร้ายจริงๆ  อีกเหมือนกัน  กิริยาอาการ  ท่าทาง  ท่วงที  วาจา  ต้องให้สมกับหน้าที่  แม้นักการศาสนาที่ประกาศตนเป็นศาสดา  เช่น  พระพุทธเจ้า  พระเยซูคริสต์  หรือพระนบีโมฮำเหม็ด  ที่ยอมอุทิศตนฟันฝ่าอุปสรรคกันมากมายก็มีความประสงค์เหมือนกันคือ  "สันติสุข"  หรือนักการเมืองก็มีวิญญาณของนักการเมืองที่เราเรียกกันว่า"อุดมคติ"  ที่ทั่วๆไปก็คือการสร้างความสุขให้แก่ประชาชนเป็นหลักยึดถือ  เมื่อต่างวางแนวทางกันไว้แล้วก็เดินไปสู่แนวทางอันนั้น  โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคใดๆนั่น  หมายความว่า  ต่างมีวิญาณของตนๆแล้ว

   ครูก็เช่นเดียวกัน  ผู้ที่จะเป็นครูเขาได้นั้นต้องมี  "วิญญาณ"  คือจิตต์,ใจ  เป็นครูจริงๆ  รู้สึกตัวว่าเป็นครูมีวิญญาณแห่งความเป็นครูสิงอยู่ในตัว  ซึ่งต่างจากวิญญาณที่ประกอบให้เป็นสิ่งมีชีวิต  มิใช่เป็นครูเพียงชื่อ  ครูขอไปที  ครูรับแต่อามิสหรือเพียงเพื่อเลี้ยงชีวิต  อะไรทำนองนี้  อันจะทำให้ฐานะครูพลอยรับบาปกันไปด้วย

   บทความจากหนังสือสามเดือนในเชตวัน  พ.ศ.  ๒๔๙๕ - พ.ศ.๒๔๙๖.

คำสำคัญ (Tags): #โคราช12
หมายเลขบันทึก: 353793เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2010 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท