ชื่นชม รศ. ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์



          สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ จัดฉลองการเกษียณอายุงานของ รศ. ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์ ในวันที่ ๒๗ มี.ค. ๕๓   ผมไปร่วมไม่ได้   จึงได้ส่งข้อเขียนสั้นๆ ไปร่วมแสดงมุทิตาจิตดังต่อไปนี้

 

รศ. ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์   
ปราชญ์แห่งการเรียนรู้และนวัตกรรม

วิจารณ์ พานิช
นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล
……………………

 

          รศ. ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์ กับผมเป็นสหชาติกัน คือเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เหมือนกัน   โดย ดร. ภิญโญแก่เดือนกว่า    แต่ในเชิงความเฉียบแหลมของสติปัญญาแล้ว ผมบอกตัวเองให้หมั่นเรียนรู้จากท่าน เพราะท่าน “แก่” กว่าผมมาก

          เรามารู้จักสนิทสนมกันก็เมื่อผมมาทำงานที่ สกว. แล้ว   และโชคดีที่ สกว. ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาชุดตรวจสอบ ไอโอดีนที่มี รศ. ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์ และ รศ. ดร. พิณทิพ รื่นวงษา เป็นหัวหน้าโครงการ    ทำให้เกิดนวัตกรรมชิ้นหนึ่งขึ้น คือชุดโครงการเกี่ยวกับชุดทดสอบ ไอโอดีน ที่มีคุณประโยชน์ทั้งต่อประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่ภาวะพร่องไอโอดีนมีอยู่แพร่หลาย   เป็นที่ยอมรับว่าเป็นชุดทดสอบที่มีคุณภาพดีกว่าชุดที่ติดตลาดอยู่ในขณะนั้น   และผมเคยได้ยินสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ มีพระดำรัสถึงชุดตรวจนี้หลายครั้ง   โดยมีบทคัดย่อของผลงานวิจัยปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลของ สกว. ดังนี้

•    การพัฒนาชุดตรวจภาคสนามสำหรับตรวจเกลือไอโอดีนใน Iodized Salt ในประเทศไทย (http://www.trf.or.th/research/abstract.asp?PROJECTID=RDG3930003)


•    การส่งเสริมให้ชุดตรวจสอบไอโอดีนในเกลือที่ทำขึ้นด้วยการสนับสนุนจาก สกว. เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย (http://www.trf.or.th/research/abstract.asp?PROJECTID=RDG4130004)       

 

          ในปี ๒๕๔๐ ท่านอาจารย์คู่แฝด “๒ พิน” ก็ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ๒๕๔๐ สาขาการประดิษฐ์   ดังในข่าวนี้ http://www.sc.mahidol.ac.th/CSIR/text/pintip.htm     

          หลังจากนั้นท่านอาจารย์ทั้งสอง “พิน” ก็ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการการเรียนรู้   มีหลักสูตรปริญญาเอกเพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์แนวนวัตกรรม   ที่นักศึกษาเรียนแนว research-based   และผมได้นำสภามหาวิทยาลัยไปเยี่ยมสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการการเรียนรู้เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ และบันทึกความประทับใจไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/council/95668    ต่อมาสถาบันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ (http://www.il.mahidol.ac.th/th/)     ดร. ภิญโญ จึงน่าจะได้ชื่อว่าเป็น “บิดาผู้ให้กำเนิดสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้”

          ใครได้คุยกับ ดร. ภิญโญ จะสัมผัสได้ถึงความเป็นคน “หัวนวัตกรรม” ของท่าน   คือเป็นคนที่คิดไม่เหมือนใคร   ไม่คิดตามแนวทางที่มีคนคิดแล้ว   คุณสมบัตินี้เอง ที่ช่วยส่งเสริมให้ ดร. ภิญโญ ได้สร้างคุณูปการในการคิดนวัตกรรมให้แก่สังคมไทยหลายอย่าง    โดยผมมีสติปัญญานำมากล่าวถึงเฉพาะส่วนที่ผมได้สัมผัสโดยตรงเท่านั้น 

          แม้อายุจะถึง ๖๘ ปี แต่ ดร. ภิญโญยังมีร่างกายและสมองแข็งแรงฉับไว   ผมจึงเชื่อว่าท่านจะยังคงทำงานตามแนวที่ท่านถนัดต่อไป เพื่อสร้างนวัตกรรมให้แก่วงการอุดมศึกษาและวิจัย   เพราะวงการด้านการเรียนรู้ของไทยต้องการนวัตกรรมด้านการเรียนรู้อีกมาก   การเรียนรุ้แนว research-based ที่ท่านริเริ่มขึ้น ต้องการการสานต่อ 

…………………………

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ มี.ค. ๕๓
     

หมายเลขบันทึก: 352557เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมไม่เข้าใจคำว่า "สหชาติกัน" ครับ..

ผมก็ขอชื่นชมปราชญ์ แห่งการเรียนรู้และนวัตกรรม อยากเจอบางจังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท