สมาธิชาวชาวบ้าน


การถอดรหัสของความคิดออกจากจิต

สมาธิชาวบ้าน

18 เมษายน 2553 - 00:00

  จิตว่าง

   จิตเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมากในการปฏิบัติสมาธิภาวนา ผู้ปฏิบัติต่างก็มีความมุ่งหวังที่จะฝึกอบรมจิตให้มีคุณสมบัติทางจิตในระดับสมาธิจิต อันเป็นสภาวะธรรมที่อยู่นอกเหนือสภาวะทางกาย ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของการปฏิบัติย่อมทราบดีว่าจะอบรมจิตของเราไปเพื่ออะไร และอบรมไปเพื่อให้จิตได้อะไร

     จิตที่ได้ผ่านการอบรมพัฒนาแล้วจะมีอาการทางจิตที่เหมือนๆ กันคือ เป็นอิสระจากความคิดอันหลากหลาย ภาวะที่จิตอยู่กับความคิดน้อยที่สุดหรืออยู่กับความคิดเพียงหนึ่งเดียวนี้เองที่เราเรียกว่า "สมาธิ"

     สมาธิก็คือการที่จิตกลับสู่ความเดิมแท้แห่งจิต อาการเดิมแท้ของจิตจึงเป็นภาวะที่อยู่เหนืออาการปรุงแต่งทางจิต อันเป็นอาการของความว่าง ปราศจากความคิด เพราะความคิดอันหลากหลายล้วนเป็นผลผลิตของมายาการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นจากความหลง และอวิชชาของจิตที่สร้างความคิดอันหลงผิดเหล่านั้นขึ้นมาเอง จิตสร้างเองและหลงติดในความคิดเหล่านั้นจึงหาทางออกมาจากมิติแห่งความคิดที่จิตตนเองสร้างขึ้นมาไม่ได้

     การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารเกิดจากการหลง และอวิชชาที่เกิดขึ้นภายในจิตที่สร้างมิติแห่งความหลง อวิชชาเหล่านั้นได้ทำให้จิตเกิดความหลง คิดเป็นจริงเป็นจังในมายาสมมติที่จิตสร้างและปรุงแต่งขึ้นมา จิตเมื่อยึดที่ไหนปรุงที่ไหนย่อมเกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาที่นั่น จิตจึงเวียนว่ายตายเกิดในมิติแห่งความคิดความฝันอยู่เช่นนั้น หาทางที่หลุดพ้นออกไปไม่ได้จนกว่าจิตดวงนั้นจะพบความจริงและถอดรหัสแห่งความคิดความฝันนี้ออกไปได้ การเวียน ว่าย ตาย เกิดจึงจะจบสิ้นลง

     การที่ผู้ปฏิบัติต้องให้เครื่องรู้แก่จิตก็เพื่อเป็นอุบายแก่จิตในการหลอกล่อจิตออกมาจากดงแห่งความคิดอันหลากหลายมาสู่อุบายกรรมฐานที่เรากำหนดให้ เพื่อที่จิตจะได้มีเครื่องรู้แต่เพียงอย่างเดียว ไม่นำเอาความคิดอันมากมายและหลากหลายมาเป็นอารมณ์แก่จิต

     เมื่อจิตมีสิ่งที่รู้อยู่เพียงสิ่งเดียวแล้ว จิตจะเริ่มพรากตัวออกมาจากดงแห่งความคิดอันหลากหลายเหล่านั้น เกิดเป็นสภาวะแห่งสมาธิจิต เมื่อจิตอันเป็นตัวรู้และเป็นตัวต้นเรื่องแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เริ่มที่จะตื่นจากมิติแห่งความฝัน ภาพฝันอันเป็นภาพมายาที่จิตสร้างขึ้นมาก็จะเริ่มจางหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียวเท่านั้น ร่างกายตัวตนก็พลันหายไป ความคิดอันเป็นมายาทั้งหลายก็หายหมดไป จิตจึงกลับสู่ความเดิมแท้อันมีความสะอาดบริสุทธิ์ มีปีติ มีความสุข ปรากฏอยู่ตลอดเวลา จิตเดินทางเข้าถึงความว่างแห่งจิตอันเป็นจุดเริ่มแห่งการเดินทางทางจิตครั้งสำคัญ

     จิตแม้จะเข้าถึงความว่างได้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจิตดวงนั้นได้สำเร็จพระนิพพานแล้ว  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากจิตที่เดินทางเข้าสู่ความเป็นจิตเดิมแท้จะมีแต่อาการว่าง แต่เป็นอาการว่างที่ขาดภูมิปัญญา จิตที่ขาดซึ่งภูมิปัญญานั้นย่อมไม่อาจเอาชนะมายากิเลสทั้งหลายได้ อีกทั้งไม่มีภูมิปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง มีแต่อาการของจิตที่ว่างเท่านั้น จิตในลักษณะนี้จึงไม่อาจหลุดพ้นออกไปจากมิติแห่งความคิดได้

     จิตเมื่อได้รับการอบรมดีแล้วจะเริ่มมีอาการปล่อยวาง ปล่อยวางจากสิ่งอันเป็นอวิชชาความหลงที่แฝงตัวอยู่ในจิตนั้นเอง ในภาวะปกติแล้วจิตที่ไม่ได้รับการอบรมจะไม่มีโอกาสได้มองเห็นอวิชชาความหลงเหล่านั้นเลย เพราะจิตที่ขาดการอบรมจิตจะตกอยู่ในอำนาจแห่งความคิดโดยที่ไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของตนนั้นคืออะไร จิตจะเสพความคิดเป็นอารมณ์จิตอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่ามายาสมมติเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง เป็นความจริง ยึดมั่นถือมั่นเรื่องราวเหล่านั้นว่าเป็นจริงเป็นจัง

     จิตเดิมแท้จึงเป็นจิตที่มีความว่างเป็นอารมณ์จิต ความว่างที่กล่าวถึงคือความว่างที่เกิดจากการอบรมจิตจนกระทั่งมีพลังออกจากความคิดได้ แต่ยังคงมีจิตอยู่ เป็นจิตที่ปราศจากความคิด หากพิจารณาแล้วจิตในลักษณะนี้อาจเกิดมีอาการของความคิดเกิดขึ้นมาในจิตเมื่อไรก็ได้ เมื่อเกิดมีความคิดจิตที่เคยว่างก็จะไม่ว่างอีกต่อไป

     เมื่อจิตสามารถออกจากความคิดได้แล้วก็จะมาถึงกระบวนการอบรมจิตขั้นสุดท้าย นั่นคือการถอดรหัสของความคิดออกจากจิตจนหมดสิ้น จิตที่สามารถเท่าทันความคิดที่เกิดขึ้นภายในจิตได้อย่างสมบูรณ์เท่านั้นที่จะสามารถถอดอุปาทานว่ามีจิตอยู่นั้นลงได้ ในที่สุดภูมิปัญญาอันสูงสุดก็จะบังเกิดขึ้นกับจิตของผู้ปฏิบัติ  คือจิตผู้รู้ผู้สะสมดวงนี้จะหายไป ไม่มีตัวไม่มีตนอยู่ ทำให้จิตนั้นหมดไป หรือ  "ว่างจิต" เมื่อจิตไม่มีตัวตนอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาวิธีการเอาความคิดออกจากจิตอีกต่อไป จิตเมื่อหมดไปความคิดย่อมไม่มี เช่นนั้นแล้ว "จิตว่าง" จึงไม่เท่ากับ "ว่างจิต" นั่นเอง.

หมายเลขบันทึก: 352432เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2010 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่กรุณานำสิ่งดีๆมาแบ่งปันนะคะ

เป็นกำลังใจให้และจะมาเก็บเกี่ยวความรู้เรื่อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท