การทำหมันสุนัข


ทำหมันสุนัข

 

การทำหมันสุนัขนั้น นอกจากจะเป็นการชะลอปัญหาการเพิ่มจำนวนประชากรสุนัขแล้ว ยังป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสุนัขได้ในระดับหนึ่ง

ในอดีตนั้น ทั้งสัตวแพทย์และเจ้าของสุนัข มีความรู้ว่าควรทำหมันสุนัขเมื่อสุนัขผ่านวัยเจริญพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ในศาสตร์ของระบบสืบพันธุ์ทางสัตวแพทย์แผนปัจจุบัน ได้มีข้อพิสูจน์ยืนยันว่า การทำหมันสุนัขก่อนวัยเจริญพันธุ์โดยการตัดแหล่งผลิตอสุจิในเพศผู้ แหล่งผลิตไข่ในเพศเมีย รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนเพศด้วยนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ตามที่ได้เกรงกันมาในอดีตเลย และยังสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตสุนัขด้อยลง เมื่อสุนัขสูงวัยขึ้น เช่น การทำหมันเมื่อก่อนที่สุนัขเพสเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือเข้าสู่วงรอบการเป็นสัดครั้งแรก จะลดอุบัติการการเกิดเนื้องอกเต้านมในสุนัขได้ถึงเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับการทำหมันสุนัขเพศผู้ก่อนจะเข้าสุ่วัยเจริญพันธุ์นั้น จะช่วยลดการเกิดปัญหาของต่อมลูกหมากของสุนัขได้อย่างมาก

การทำหมันสุนัขเพศเมีย และเพศผู้

การทำหมันสุนัขเพศเมียที่เหมาะสมคือการตัดทั้งมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด ส่วนสุนัขเพศผู้นิยมทำหมันโดยการตัดอัณฑะออก วงรอบการเป็นสัดของสุนัข และมนุษย์แตกต่างกันมาก ทั้งช่วงเวลา และระดับฮอร์โมนเพศ จึงทำให้ความจำเป็นของฮอร์โมนเพศต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายนั้นแตกต่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันด้วย จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ผนังมดลูกสุนัขนั้นจะไวต่อการหนาตัว และเกิดมดลูกอักเสบ จึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดออก ส่วนรังไข่ของเพศเมีย และอัณฑะของเพศผู้นั้น เป็นแหล่งการสร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ และพฤติกรรมตามมาได้ จึงเหมาะสมที่จะผ่าตัดออกทั้งหมดเมื่อทำหมัน

ในปัจจุบัน เจ้าของสุนัข เลี้ยงดูสุนัขอย่างดี ทำให้มีอายุที่ยืนยาวมาก ปัญหาของระบบสืบพันธุ์มักเกิดตามมาเมื่อสุนัขทั้งสองเพศมีอายุเพิ่มขึ้น ดังนั้น การทำหมันในสุนัขเพศผู้จะช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของต่อมลูกหมาก และความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาของผิวหนัง และเนื้องอกตามมา ส่วนการทำหมันในเพศเมียนั้น นอกจากจะป้องกันปัญหาเรื่องเนื้องอกเต้านมแล้ว ยังป้องกันการเกิดภาวะมดลูกอักเสบในสุนัข ซึ่งมักเกิดขึ้นในสุนัขอายุมากที่ผนังมดลูกอยู่ในสภาพที่เสื่อม การขับของเสียออก และระบบภูมิคุ้มกันลดลง ไม่ว่าจะเคยผสมพันธุ์ เคยมีลูก หรือไม่ก็ตาม ปัญหาเหล่านี้มักทำให้คุณภาพชีวิตของสุนัขสูงวัยเสื่อมถอยลงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการป้องกันปัญหาโดยการทำหมันสุนัขตั้งแต่สุนัขยังมีอายุน้อย มีความแข็งแรง และมีสุขภาพสมบูรณ์ จึงเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสุนัขได้ในระดับหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวไป

ปัญหาที่เกิดขึ้นและพบได้เสมอแล้วในสุนัขที่ทำหมันส่วนใหญ่แล้วคือน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะน้ำหนักตัวที่เพิ่มจนเกินสมควรนี้สามารถใช้การจำกัดปริมาณอาหาร ให้อาหารที่สมดุล และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การคุมกำเนิดสุนัข และแมว โดยการให้กิน หรือฉีดยา เช่นในมนุษย์มีผลอย่างไร

วงรอบการเป็นสัดในสุนัขและแมว รวมทั้งรูปแบบของการขึ้นลงของระดับฮอร์โมนเพศแตกต่างจากในมนุษย์ ดังนั้นการนำยาคุมกำเนิดของมนุษย์ซึ่งมีหลายชนิด บางชนิดมีส่วนประกอบของฮอร์โมนบางอย่างที่ไม่เหมาะสมต่อสัตว์เลี้ยง มาให้สุนัขและแมวกินจึงเป็นการทำให้สัตว์เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ขึ้นได้ โดยส่วนหนึ่งนั้นสัตว์จะไม่ได้แสดงอาการความผิดปกติให้สังเกตได้อย่างชัดเจนอย่างทันทีทันใด เจ้าของสัตว์จึงไม่ทราบถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา ยาคุมกำเนิดของสัตว์เลี้ยงในรูปแบบของการกินนั้น มีจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก ส่วนยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้น เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในมนุษย์ หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกไม่อนุญาตให้ใช้ในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในแมว แต่เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจของเจ้าของสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย จึงทำให้ฮอร์โมนคุมกำเนิดนี้ยังถูกนำมาใช้อยู่

ถ้าสัตวแพทย์มีความรอบคอบในการให้ฮอร์โมนนี้ โดยตรวจวงรอบของการเป็นสัดในสัตว์เลี้ยงได้อย่างแม่นยำ และให้ฮอร์โมนในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งได้แก่ช่วงที่สัตว์ไม่แสดงอาการเป็นสัด จะสามารถยืดระยะเวลาในการไม่เข้าสู่วงรอบการเป็นสัด เพื่อผสมพันธุ์ออกไปได้หลายเดือน แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นในระยะยาวที่อาจตามมาคือภาวะการเกิดถุงน้ำบนผนังมดลูก และมดลูกอักเสบเป็นหนอง โดยจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แก่สัตว์เลี้ยงได้ ซึ่งการรักษาโดยการใช้ยาต่อภาวะนี้ ไม่ได้ผลดีในสัตว์เลี้ยง จึงสมควรต้องระมัดระวังในการคุมกำเนิดโดยการให้ยาหรือฮอร์โมนเหล่านี้ให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ฮอร์โมนในช่วงที่สัตว์อยู่ในช่วงติดสัด และยอมรับการผสมพันธุ์ สัตว์อาจตั้งท้องได้อย่างปกติ แต่จะไม่สามารถเกิดกระบวนการคลอดได้ เนื่องจากฮอร์โมนที่ให้เข้าไปทำให้ระยะการตั้งท้องยาวนานออกไปจนตัวอ่อนเจริญเกินขนาดที่มดลูกของแม่สัตว์จะส่งผ่านสารอาหาร และออกซิเจนได้เพียงพอ ผลที่เกิดคือการตายของตัวอ่อนในมดลูก และเป็นอันตรายต่อแม่สัตว์ตามมา

ถ้าสุนัขมีประจำเดือนแล้ว ไม่ต้องการให้ตั้งท้องควรทำอย่างไร

การให้ฮอร์โมนเพื่อกดภาวะการเป็นสัดในสุนัขนั้น ไม่ได้ผลดีนัก เนื่องจากต้องทำการให้อย่างเร็วที่สุดภายหลังจากการพบเลือดจากช่องคลอด ซึ่งเลือดนี้ไม่ใช่ลักษณะของประจำเดือนเช่นในมนุษย์ ประจำเดือนของคนนั้น เกิดภายหลังที่ไข่ตกไปแล้ว ไม่มีการปฎิสนธิ หรือไม่มีการฝังตัวบนผนังมดลูก ผนังมดลูกก็จะลอกหลุดออกมาพร้อมเลือด แต่เลือดจากช่องคลอดสุนัขจะเกิดจากการบวมของทางเดินระบบสืบพันธุ์โดยอิทธิพลของฮอร์โมนเพศเมีย ที่เรียกว่า เอสโตรเจน จนทำให้กิดการลอกหลุดของเม็ดเลือดแดงจากผนังทางเดินระบบสืบพันธุ์นั้น ดังนั้น การให้ฮอร์โมนเพศเมียอีกชนิดหนึ่ง คือ โปรเจสเตอโรน เข้าไป สามารถยับยั้งวงรอบการเป็นสัดได้ในระดับหนึ่ง แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาอาจรุนแรงต่อตัวสุนัข เช่นการเกิดถุงน้ำบนผนังมดลูก และเกิดภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนองตามมาได้ ฉะนั้น ถ้าไม่สามารถแน่ใจได้ว่า พบเลือดออกจากช่องคลอดสุนัขตั้งแต่เมื่อใด จะเป็นการเสี่ยงที่จะให้ฮอร์โมนไปกดวงรอบการเป็นสัด แล้วไม่ได้ผล พร้อมทั้งเกิดผลเสีย ขึ้นได้มากเท่านั้น การป้องกันไม่ให้สุนัขตั้งท้องโดยการแยกขังสุนัขไว้ 1-2 สัปดาห์ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเกิดอันตรายต่อตัวสุนัขน้อยที่สุด

มดลูกอักเสบในสุนัข

เมื่อสุนัขอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่จะมากกว่า 4-5 ปีไปแล้ว ไม่ว่าจะเคยผสมพันธุ์ เคยมีลูก หรือไม่ก็ตาม มักพบภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนองได้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสุนัข โดยสุนัขจะแสดงอาการป่วย มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร กรณีที่ปากมดลูกปิดจะพบว่าช่องท้องขยายใหญ่ขึ้น แต่ในกรณีที่ปากมดลูกเปิด จะพบของเหลว (อาจเป็นหนอง เลือด หรือหนองปนเลือด) ไหลจากช่องคลอด

เหตุใดสุนัขจึงเป็นมดลูกอักเสบเป็นหนองได้ง่าย

วงรอบการเป็นสัดของสุนัขต่างไปจากสัตว์หลาย ๆ ชนิดรวมทั้งมนุษย์ โดยสุนัขจะมีช่วงการผสมพันธุ์ได้เพียง ปีละ 1-2 ครั้ง มีช่วงที่ไม่แสดงการเป็นสัดนาน ถึง 4-6 เดือน ซึ่งภายหลังการยอมรับการผสมพันธุ์หรือภายหลังการเป็นสัด สุนัขทุกตัว ไม่ว่าตั้งท้องหรือไม่ก็ตาม จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชนิดหนึ่ง คือ โปรเจสเตอโรน อยู่นาน 2 เดือน ต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ รวมทั้งมนุษย์ซึ่งถ้าไม่มีการตั้งท้อง ฮอร์โมนนี้จะลดลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อสุนัขอยู่ในภาวะการมีฮอร์โมนนี้คงอยู่ในระดับสูงถึง 2 เดือน จะมีผลทำให้เกิด การหนาตัวของผนังมดลูก มีถุงน้ำบนผนังมดลูกและการหลั่งสิ่งคัดหลั่งบางอย่างจากต่อมบนผนังมดลูก

ในกรณีสุนัขวัยเจริญพันธุ์ หรือมีสุขภาพดี เมื่อผ่านเวลา 2 เดือน ฮอร์โมนนี้จะลดลง มดลูกก็จะกลับสู่สภาวะปกติ แต่กรณีสุนัขสูงวัยอาจเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ และการเสื่อมของผนังมดลูกทำให้มดลูกไม่สามารถคืนสภาพได้ดี ฮอร์โมนนี้ยังลดการบีบตัวของมดลูกลดการขับของเสียออก และลดการนำเข้าเม็ดเลือดขาวที่มาเก็บกินเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้ผนังมดลูกมีความไวในการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมดลูกอักเสบเป็นหนอง

จะเห็นได้ว่าภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนองในสุนัขนั้น สามารถเกิดขึ้นได้เอง และถ้ามีสิ่งเหนี่ยวนำร่วม เช่น การให้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ภาวะมดลูกเป็นหนองนี้จะสามารถเกิดได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับในสภาวะของสุนัขสูงวัย ที่ระบบภูมิคุ้มกันสำหรับปกป้องร่างกาย (ซึ่งรวมถึงบนผนังมดลูก) จากการติดเชื้อต่างๆ ลดลง ก็สามารถโน้มนำให้เกิดมดลูกอักเสบเป็นหนองได้ด้วย ดังนั้น การทำหมันถาวร จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้สุนัขพ้นจากภาวะนี้ และมีสุขภาพที่ดี

 

 

 

บทความโดย ผศ.น.สพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์

 

 

http://www.mrjackkennel.com/mcontents/marticle.php?headtitle=mcontents&id=109099&Ntype=0

หมายเลขบันทึก: 351819เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2010 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท