เรียนรู้จากประสบการณ์ CEO คนเก่ง วิกรม กรมดิษฐ์ (ตอนที่ 3-4)


รู้เขารู้เรา...รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

"ก่อร่างสร้างธุรกิจ วิกรม กรมดิษฐ์ (ตอน3)

 

ท่ามกลางความ ไม่สงบของบ้านเมืองในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  เวลานั้นกองทัพจากดินแดนอาทิตย์อุทัยได้ยกพลขึ้นบกโดยอาศัยประเทศไทยเป็นเส้นทางในการขนส่งเชลยศึก  ทำให้ไทยตกเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงไปด้วย

 
ถึงแม้กระนั้นยังมีสตรีเชื้อสายจีนผู้หนึ่ง ยังคงสามารถทำธุรกิจการค้าเล็กๆจำพวกผลหมากรากไม้และสินค้าบริโภคอย่างง่ายได้อย่างสนุกสนาน  เธอใช้ความเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีมีรอยยิ้ม  ขยันอดทน  มีไหวพริบและวาจาที่ปราดเปรื่องในการหาลู่ทางทำการค้าเล็กๆนั้นท่ามกลางภาวะสงครามที่มีทั้งชาวไทยและทหารญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งครัดได้อย่างลื่นไหล...ใช่แล้วสตรีที่กำลังถูกกล่าวถึงอยู่นี้คือคุณแม่ของวิกรม  กรมดิษฐ์...หากเปรียบครูบาอาจารย์ว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติแล้วไซร้  คุณแม่ของเขาคงเปรียบได้กับแม่พิมพ์ความคิดของชีวิตธุรกิจแบบวิกรม  โดยลักษณะนิสัยและวิสัยทัศน์เหล่านี้คงสืบทอดกันมาทางดีเอ็นเอหน่วยเล็กๆใน ร่างกายที่ใช้ถอดรหัสพันธุกรรมกระมัง


พ่อค้าตัวน้อย วัยสิบกว่าขวบคิดริเริ่มการค้าขายเสียตั้งแต่ยังไม่เดียงสา  ผิดกับวิสัยของเด็กทั่วไปที่ควรจะนึกสนุกวิ่งเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน  วิกรมเริ่มเรียนรู้ที่จะทำมาหากินเก็บเล็กผสมน้อยจากหยาดเหงื่อด้วยการเป็นลูกจ้างรับถั่วคั่วจากคุณป้าไปเร่ขายตามสถานที่ฉายหนังกลางแปลง  เมื่อจับจุดการขายได้เขาก็เริ่มมีความคิดใหม่ๆปรับใช้กลยุทธลดแลกแจกแถมให้กับลูกค้า  ทั้งการนำหนังสือพิมพ์เก่าๆที่ไม่ใช้แล้วมาขายคู่กันเพื่อบริการลูกค้าที่จะนั่งชมหนังกลางแปลงแต่ไม่มีที่รองนั่ง  รวมไปถึงการแถมหนังสือพิมพ์นั้นให้กับลูกค้าที่ซื้อถั่วคั่วในปริมาณมากอีกด้วย  กระทั่งวันหนึ่งที่คุณป้าของเขาจะย้ายบ้าน  เขาจึงได้เอ่ยปากขออุปกรณ์ทำถั่วคั่วจากคุณป้าหากเธอไม่ได้นำมันติดตัวไปขณะย้ายไป  เพื่อที่เขาจะได้ทำธุรกิจค้าถั่วคั่วนี้ต่อไป  ซึ่งคุณป้าเองก็เห็นดีเห็นงามด้วย  ทำให้เจ้าของธุรกิจ(ถั่วคั่ว)ที่อายุอานามดูท่าจะน้อยที่สุดได้ถือกำเนิด ขึ้น ณ อำเภอท่าเรือ  เมืองกาญจน์นั่นเอง

 http://www.finecooking.com/cms/uploadedimages/images/cooking/articles/issues_91-100/051096ro5-01-spicy-sweet-roasted-nuts-recipe.jpg


มาวันนี้ เด็กชายเจ้าของธุรกิจถั่วคั่วคนนั้นได้เติบใหญ่ขึ้น  เขาผ่านการทำแบบฝึกหัดมาหลายบทจากการลงมือปฏิบัติทำธุรกิจเล็กๆหลายๆอย่าง ขณะที่ศึกษาอยู่ในประเทศไต้หวัน  เช่นการนำสินค้าหลุดจำนำประเภทจิวเวลลี่จากเมืองไทยไปขายสาวน้อยสาวใหญ่ในมหาวิทยาลัยไต้หวัน  หรือแม้กระทั่งการร่วมมือกับเพื่อนนำชิ้นส่วนจากจักรยานเก่าๆไร้เจ้าของที่กองทิ้งไว้แถวหอพักนักศึกษามาประกอบเป็นจักรยานคันใหม่  ที่มีสไตล์และสัญลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใครออกมาวางจำหน่ายในรั้ว มหาวิทยาลัยในราคาย่อมเยา  ทำให้มีเงินไหลเข้ากระเป๋าสตางค์เป็นค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องเรียนและเรื่องส่วนตัวได้อยู่บ้าง  พร้อมทั้งยังอิ่มใจที่ได้เห็นพาหนะที่ตนเองประดิษฐ์ขึ้นมาได้รับการตอบรับ ที่ดีมีขับเคลื่อนอยู่ทั่วไป  เรียกได้ว่าทั้งสุขกายสบายใจนักแล...

 
หลังจากที่บ่มเพาะความเป็นนักค้านักขายมาบ้างแล้วเขาก็ขึ้นเวทีธุรกิจอย่างเต็มตัวกับธุรกิจตัวแทนส่งออกแป้งมันและปลาทูน่ากระป๋อง  เขาได้เรียนรู้ว่า ‘รู้เขารู้เรา...รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนความจริง ของโลกธุรกิจ...โลกที่ต้องชิงไหวชิงพริบกัน...โลกที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรู ที่ถาวร...โลกที่มอบอุทาหรณ์ให้กับความผิดพลาดที่ต้องจำฝังใจเพื่อไม่ให้ผิดซ้ำ...โลกที่จะขัดเกลาให้มนุษย์ได้ใช้สัญชาติญาณดิบเพื่อเอาตัวรอด...วิกรม  กรมดิษฐ์ถือเป็นผู้ล้มแล้วรอดในหลายต่อหลายครั้งบนเวทีค้าขายนี้  และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งของการลงทุนทำธุรกิจ  นิคมอุตสาหกรรมขนาดเกือบ 200 ไร่  ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท  บางปะกงอินดัสเตรียล  ปาร์ค  จำกัดก็ได้ฤกษ์จัดตั้งขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม  พ.ศ.2531


อย่างไรก็ตามเมื่อเขาลงมือทำการใหญ่แล้ว  กฎธรรมชาติข้อหนึ่งที่ว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวคงจะเลี่ยงไม่พ้น  ปัญหาจากการก่อสร้างบริษัทที่ตามมานั้นถึงแม้จะมีอยู่ไม่กี่เรื่องหลักๆ  แต่ก็สร้างความหนักใจให้ไม่น้อยทีเดียว  เพราะสิ่งที่ก่อปัญหาให้นั้นเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐเสียครึ่งของก้อนปัญหาทีเดียว  ทั้งปัญหาเรื่องของสาธารณูประโภค  การประปาที่มีกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ  และการไฟฟ้าที่ส่งเข้ามามีคุณภาพไม่ถึง  รวมไปถึงปัญหาเรื่องการโอนโฉนดที่ดินที่ไร้ซึ่งความพร้อม  สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างความท้อใจในการปฏิบัติงานเหลือเกินเมื่อความ เป็นจริงที่ต้องพบเจอนั้นไม่ได้แขวนอยู่บนความสวยงามดังที่เคยวาดหวังไว้


แต่หลังจากความอดทนที่เดินหน้าท้าชนกับปัญหาต่างๆที่มี  แถมด้วยเครดิตที่ดีน่าเชื่อถือทำให้ได้รับความไว้วางใจจากทั้งผู้ถือหุ้นและธนาคาร  นอกจากนั้นยังพ่วงความโชคดีที่เขามีผู้ร่วมงานที่มีความสามารถอย่างหลากหลาย เป็นดังรากฝอยที่เร่งกันทำหน้าที่ตามแขนงของตน  ทำให้เรื่องเงินทอง  และการบริหารงานในองค์กรไม่เป็นที่น่ากังวลนัก  ดังนั้นเมื่อเขาลงตะลุยตลาดนิคมอุตสาหกรรมในเวลาเพียงครึ่งปีกว่าทางบริษัทของเขาก็สามารถขายพื้นที่ในโครงการได้เกือบหมด  ทำให้บริษัท  บางปะกงอินดัสเตรียล  ปาร์ค2  จำกัดจึงได้ถือก่อตั้งขึ้นตามมาในเวลาไม่นาน


เป็นปรกติที่องค์กรขนาดใหญ่มักจะมีผู้ถือหุ้นมากกว่าหนึ่งหรือสองคน  ดังนั้นผู้ถือหุ้นของบริษัท บางปะกงอินดัสเตรียล  ปาร์ค  จึงต้องได้รับการคัดสรรค์แล้วเป็นอย่างดีว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะก้าวเข้ามาเป็นคณะผู้บริหารขององค์กรนี้  แต่อย่างที่เขาว่ากันว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุน’ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้ที่ถูกเลือกให้มาถือหุ้นจะเป็นฝ่ายเลือกเช่นกันว่า องค์กรที่ลงทุนด้วยมีความมั่นคงและมีศักยภาพเพียงพอที่จะร่วมถือหุ้นด้วยหรือไม่


การขายที่ดินในโครงการบางปะกงนั้นมีปัจจัยใน การเลือกเฟ้นผู้ถือหุ้น  ชนิดที่เรียกว่าค้นฟ้าคว้าหาบุคคลที่มากล้นด้วยคุณลักษณะของผู้ถือหุ้น  เพื่อที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคงดำรงด้วยมาตรฐานให้กับจุดเริ่มต้นแรก  และจากการพบปะพูดคุยเพื่อทาบทามบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้น  ก็ทำให้โครงการมีผู้ร่วมถือหุ้นทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่นร่วมด้วย  ดังเช่นกลุ่มบริษัทของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง, ตระกูลพานิชชีวะ, ตระกูลโสภณพานิช  และกลุ่มบริษัทอีโตชู  และเพราะมีชาวญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนถือหุ้นด้วยทำให้ผู้ลงทุนที่คิดจะตั้งโรงงานประกอบกิจการในนิคมนั้นไม่ได้มีจำกัดเพียงแค่คนไทยด้วยกัน  อย่างที่รู้กันว่าชาวญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นชาตินิยมสูง  ซ้ำยังมีมาตรฐานในธุรกิจที่ละเอียดละออมากเสียด้วย  ดังนั้นการมีผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่นร่วมเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยจึงยังผลประโยชน์ให้กับบริษัทมาก  โดยเฉพาะเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดึงดูดความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติตามเชื้อชาติของผู้ถือหุ้นนั้นๆ  เพราะเหตุนี้เหมือนมีแรงแม่เหล็กดึงดูดให้มีบริษัทจากญี่ปุ่นหลายบริษัทให้ความสนใจในการลงทุนนั้นด้วย


การเจรจาแถลงนโยบายและจุดยืนขององค์กรนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายความมีไหวพริบของวิกรมอยู่ไม่ใช่น้อยต้องอาศัยลวดลายการเจรจาพาทีที่ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้และกาลเทศะเท่านั้น  แต่เขาต้องใช้ไหวพริบในความช่างสังเกตจุดแข็งและสิ่งที่เป็นดั่งไฟร้อนที่จะรนใจนักลงทุนใหญ่ให้โอนอ่อนยอมรับข้อเสนอเลยทีเดียว  เช่นครั้งที่เขาได้เข้าพบพูดคุยอย่างเป็นส่วนตัวกับคุณเกียรติ  ศรีเฟื่องฟุ้ง  ประธานบริษัทกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้งซึ่งเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงของประเทศ  ด้วยประสบการณ์ของคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากทำให้การพบปะในครั้งนั้นไม่ได้เรียบง่ายและน่าสบายใจอย่างที่ควรจะเป็นสำหรับการพบกันครั้งแรกนัก  ทำให้ความตึงเครียดของบรรยากาศเริ่มทมึนขึ้น  แต่หมอกมัวเหล่านั้นก็ค่อยๆมลายไปด้วยกลเม็ดวาจาที่ยกย่องความภูมิใจในวัยหนุ่มของคุณเกียรติด้วยภาษาแดนมังกร  ทำให้ความอึดอัดในการใช้ภาษาที่มีวัยเป็นตัวขั้นไม่มีผลอีกต่อไปในการสนทนา  นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการพบปะผู้ถือหุ้นอย่างฟ้าหลังฝนทีเดียว

http://www.3kingdomspark.com/images/bio/02.jpg


เมื่อการเติบโตของการบริหารองค์กรถึงจุดอิ่มตัวในระดับหนึ่ง  ภาพของอมตะที่สะท้อนออกมาสู่สายตาประชาคมคือการที่มี ‘หัวใจแห่งการบริการ’ให้กับลูกค้าทุกคน  ควบคู่ไปกับ ‘ความมุ่งมั่นในการขาย’ เบื้องหลังความสำเร็จที่สะท้อนออกมานั้นพบได้ว่าเกิดจากการรู้จักที่จะวางแผนให้ชัดเจน  นำข้อด้อยหรือข้อเสียเปรียบขึ้นมาพิจารณาเทียบกับองค์กรอื่น  แล้วแก้ไขสิ่งที่ปัญหาให้หมดไป  โดยพนักงานทุกส่วนทุกคนได้ร่วมมือร่วมแรงกายแรงใจเพื่อทุ่มเทในการเฟ้นหา ทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน


ด้วยแนวความคิดและนโยบายของวิกรม  กรมดิษฐ์ที่สร้างมาตรฐานให้กับการทำงานโดยวางความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง  และทำทุกวิถีทางให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า  จัดการกับอุปสรรคที่คาดว่าเป็นไปไม่ได้  ให้เป็นไปได้  จนสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าทุกคน  ดังนั้น ‘The Best Seller’ คงเป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่วิกรม  กรมดิษฐ์คว้าไปครองอย่างสมเกียรติและความสามารถ

 

(ตอน4)

หินผาอันสูงตระหง่านยืนต้านแรงลมที่พัดใส่อย่างไม่หวาดหวั่น  บ่งบอกถึงความมั่นคงที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งแสงแดดที่แผดเผา  พายุฝนและลมหนาวที่โถมกระหน่ำอย่างบ้าคลั่ง  ทว่าหินผาก็ยังคงเป็นหินผาอยู่วันยังค่ำ    เฉกเช่นเดียวกับการเติบโตและความมั่นคงของอมตะที่เริ่มจากธุรกิจตัวแทนส่งออกสินค้า ผ่านเรื่องราวทั้งดีและร้ายจนก้าวกลายมาเป็นธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ ที่มีพื้นที่รวมทั้งหมดทั้งในและนอกประเทศเบ็ดเสร็จหลายหมื่นไร่อย่างที่เป็นในทุกวันนี้


http://www.amata.com/eng/images/history_02.jpg  Amata Industrial Park

 ลู่ทางของนิคมอุตสาหกรรมบางปะกง อินดัสเทรียลปาร์ค 1-2 (ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “อมตะ”)  เริ่มปูพรมแดงต้อนรับชาวต่างชาติให้เข้ามาร่วมโรยกลีบกุหลาบตั้งแต่ช่วง ปี2530  ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดชาวต่างประเทศให้เข้ามาลง ทุนได้มากเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค   จากผลของการวางแผนเปิดประตูต้อนรับนักลงทุนในยุคเศรษฐกิจเริ่มเฟื่องฟู ประกอบกับนิสัยโอบอ้อมอารีและค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม   รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  ระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณูปโภคที่ดี  ทำให้นักลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วพากันเทใจมาทำธุรกิจที่ประเทศไทยนี้  และด้วยรายรับจากบัญชีเดินสะพัดที่พัดเข้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ก่อตั้ง นิคมอุตสาหกรรมอย่างวิกรม  กรมดิษฐ์เริ่มคิดและมองหาลู่ทางที่จะขยายการลงทุนด้านนิคมอุตสาหกรรมนี้ไป ยังต่างประเทศเพิ่มเติม


หลังจากนั้นราว 4 ปีที่เขาเริ่มทำการบ้านมองหาประเทศที่น่าลงทุน  เขาได้พบกับคุณทานากะ  ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท  อีโตชู  เวียดนามที่มาเยือนเมืองไทย  และการพบกันคราวนั้นก็ส่งผลให้วิกรมไม่รีรอที่จะคว้า “โอกาส” การเรียนรู้ เพื่อสยายปีกการลงทุนด้วยการไปเยี่ยมชมบ้านเมืองของเวียดนาม  ครั้งนั้นวิกรมได้เรียนรู้สภาพแวดล้อม  ภูมิประเทศ-ภูมิอากาศ  วัฒนธรรมประเพณี  และการใช้ชีวิตของชาวเวียดนาม  โดยมุ่งเป้าหมายเมืองที่จะศึกษาไปที่เมืองโฮจิมินห์  ซิตี้  ฮานอย  และไฮฟอง  แน่นอนว่าการไปดูลู่ทางลงทุนที่เวียดนามครั้งนี้ก็โน้มน้าวใจนักธุรกิจอย่างเขาไปกว่าครึ่ง  ทั้งผู้บริหารชาวเวียดนามที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี  ทั้งสภาพการบ้านเมืองของเวียดนามที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง  ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ดูมีแรงขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว


ดังนั้นด้วยปัจจัยเหล่านี้ที่สร้างความพอใจจนไม่อาจมองข้ามเวียดนามไปได้  ทำให้ในเดือนธันวาคมปี 2538  นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้  ที่เมืองเบียนหัว  จังหวัดดองไน  ประเทศเวียดนามจึงได้ถูกก่อตั้งขึ้น  ด้วยเงินลงทุนประมาณ 40 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ  บนพื้นที่มากกว่า 3000 ไร่  และทุนจดทะเบียนบริษัทอีก 17 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ  และในปัจจุบันนี้อมตะก็ได้วางแผนขยายโครงการเพิ่มขึ้นบนพื้นที่ซึ่งจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่สวยที่สุดในเวียดนามใต้  ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่ใกล้กับเมืองโฮจิมินห์  ปากอ่าวทะเล  และสนามบินนานาชาติที่จะสร้างแห่งใหม่ 

 http://www.dongnai.gov.vn/dong-nai/chuyende/XTDT_hoa_ky/mlfolder.2005-04-15.4057037333/mlfolder.2005-09-14.6039534660/AMATA.jpg   Amata (Vietnam)


นอกเหนือจากนี้แล้ววิกรมยัง เคยวาดผังวางแผนที่จะขยายการทำธุรกิจลงทุนไปในอีกหลายประเทศ  แต่ก็มีเหตุไม่เอื้ออำนวยทำให้แผนการเหล่านั้นยังคงเป็นเพียงภาพฝันที่ถูกวาดค้างไว้ขณะที่การดำเนินงานต้องจบลงอย่างไม่ถึงจุดมุ่งหมาย  เช่นในกลางปี 2536  ด้วยแนวคิดที่ว่าเมืองเซี่ยงไฮ้จะต้องกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่เจริญขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจีนเป็นแน่  ทั้งยังได้ผู้บริหารบริษัทซีพีอย่างคุณธนินท์  เจียรวนนท์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงชวนเขาไปสร้างนิคมที่เซี่ยงไฮ้อีก  ทำให้เขาตอบรับอย่างไม่ลังเล  พร้อมทั้งยังชวนหุ้นส่วนชาวญี่ปุ่นจากบริษัท  อีโตชูเข้าร่วมด้วย  โดยเขาทำหน้าที่ในการลงพื้นที่ศึกษาทำเลใกล้กับเมืองเซี่ยงไฮ้  หลังจากที่ดำเนินงานมาถึงขั้นจะเริ่มทำสัญญาเพื่อพัฒนาที่ดินแล้ว  ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินให้สูงขึ้นกว่าที่เคยคุยกันไว้ ซึ่งปัญหานี้ก่อให้เห็นเค้ารางที่ย่ำแย่ของการลงทุน  ทำให้โครงการนี้ต้องยุติลงพร้อมทั้งงบประมาณและเวลาที่สูญเปล่าไปเกือบปี


และให้หลังอีกสองปีเขาก็ยังไม่เข็ดกับการมองหาช่องทางขยายการลงทุน  คราวนี้เขาเพ่งความสนใจไปที่อินเดียด้วยความตั้งใจที่จะตั้งนิคมปิโตรเคมีคอลคอมเพล็กซ์ซึ่งได้ร่วมจับมือกับผู้บริหารบริษัทอิตาเลียนไทย  คุณเปรมชัย  กรรณสูต  ในครั้งนี้ความฝันของเขาถูกพัดพาไปกับภัยธรรมชาติอย่างคลื่นยักษ์ที่เกิดจาก พายุไซโคลนขนาดสูงหกเมตรที่โถมเข้าใส่พื้นที่ที่วางแผนจะสร้างนิคม  ทำให้เขาฉุกคิดได้ว่าหากลงทุนสร้างนิคมไปทั้งๆที่มีโอกาสประสบภัยร้ายแรงขนาดนี้คงไม่คุ้มเป็นแน่  เขาจึงทำได้ดีที่สุดเพียงพับแผนการแล้วเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมเสียค่าศึกษาโครงการกว่าสิบล้าน  นอกจากที่กล่าวมานี้แล้ววิกรม  กรมดิษฐ์ยังเคยวางแผนขยายธุรกิจในประเทศอื่นๆอย่างพม่า  กัมพูชา  และอินเดียอีกด้วย
 

คืนวันผ่านไปเศรษฐกิจไทยที่ชวนล่องลอยลวงตาแลเพ้อฝันดังฟองสบู่ก็ผันแปร  แม้ว่า อมตะจะโลดแล่นอย่างสนุกสนานอยู่บนสภาพเศรษฐกิจที่ทะยานตัวสูง  พร้อมด้วยการวางแผนระยะยาวอย่างมีระบบของผู้นำร่องอันเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์อย่างวิกรม  ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นกูรูคนหนึ่งในการอภิปรายถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้การทำ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมนั้นประสพผลสำเร็จ  แต่ถึงแม้บริษัท  อมตะจะมั่นคงเพียงใด  แต่เมื่อโดนวิกฤตต้มยำกุ้งปะทะเข้าใส่ก็ต้องมีสั่นคลอนกันบ้าง  ซึ่งดูแล้วคงเป็นการสั่นไหวไม่น้อยเลยทีเดียว

 

การค้าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมอมตะถึงคราวต้องชะงักสะดุดสลับหยุดนิ่ง เพราะขายที่ดินไม่ได้แม้เพียงแปลงหนึ่ง  บททดสอบในการแก้ปัญหาได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของวิกรมชนิดที่เรียกได้ว่าไม่ว่างเว้น  ทั้งเรื่องปัญหาราคาที่ดิน  เรื่องการเงิน  เรื่องลูกค้า  ซึ่งปัญหาที่ทำความหนักใจที่สุดคงไม่พ้นเรื่องหนี้สินที่พอกพูนขึ้นมาราวกับถูกเสกด้วยมนต์ดำ  จากการลงทุนในธุรกิจมูลค่าเฉียด 500 ล้านบาท  หนี้ของบริษัท  อมตะอีกเกือบ 4 พันล้านบาท  หนี้เงินนอก 20 ล้านดอลลาร์  รวมไปถึงหนี้ของอมตะพาวเวอร์ที่เป็นเงินไทยกว่า 2000 ล้านบาท  และเงินต่างประเทศอีก 150 ล้านดอลลาร์
 

ด้วยมูลค่าหนี้สินที่ทำให้แทบกระอักเลือดนี้ วิกรมต้องรับหน้าที่สมุหบัญชีควบคุมรายรับรายจ่ายของบริษัทด้วยตัวเองทั้งหมด  ทั้งยังต้องระงับการก่อสร้างทุกชนิดในนิคมยกเว้นแต่เพียงการซ่อมบำรุงเท่านั้นที่ยังคงเดินงาน  เมื่อถึงจุดวิกฤตที่เกินจะรับได้การลดเงินเดือนจึงเป็นหนทางสุดท้าย  มีการลดเงินเดือนพนักงานตั้งแต่ 5-30 %  ส่วนตัวของวิกรมและท่านเลขาชวลิตฯนั้นไม่รับเงินเดือนเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนด้วยกัน   
 

อย่างไรก็ดีในความโชคร้ายนี้ ด้วยความที่วิกรมเป็นคนที่ยึดมั่นบนความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  ทำให้เขาได้รับการเกื้อหนุนคล้ายกับคำว่า ‘คนดีตกน้ำไม่ไหล  ตกไฟไม่ไหม้’ ทั้งจากความสำเร็จในการขายโครงการ  การมีหุ้นส่วนอย่างกัลยาณมิตร  และการสนับสนุนด้านเงินทุนจากธนาคารกสิกรและคาเธ่ย์ทรัสต์  ก่อให้เขาเกิดแรงใจที่จะสู้กับเศรษฐกิจที่ซบเซานั้น  และแล้วหลังมรสุมร้ายสลายตัวไป  ขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่พนักงานก็เริ่มกลับมา  รายรับก็เริ่มกลับมาทำให้เขาเริ่มสามารถทยอยส่งหนี้คืนได้เรื่อยๆ  และหนี้ก้อนสุดท้ายของอมตะ  ซึ่งเจ้าหนี้คือธนาคารกสิกรไทยก็ได้ส่งคืนกลับไปในปลายปี 2548  และบทพิสูจน์ทางเศรษฐกิจนี้ก็แสดงให้เห็นทั่วกันแล้วว่าวิกรมเป็นผู้บริหารที่มีความรับผิดชอบสูงคนหนึ่ง  ซึ่งส่งผลไปถึงบริษัท  อมตะให้กลายเป็นลูกหนี้ชั้นยอดที่ใครๆก็ล้วนพร้อมให้การสนับสนุน
 

จวบจนวันนี้ทั้งที่อมตะได้ขยายตัวไปถึงในเวียดนามด้วยจำนวนนิคม 2 แห่งแล้ว  แต่การเรียนรู้ของวิกรม  กรมดิษฐ์ก็ยังไม่สิ้นสุด  เขายังคงขวนขวายหาประสบการณ์ใหม่ๆเพื่อมาใช้ประยุกต์แก้ไขจัดการบริหารองค์กรอยู่เสมอ  มุมมองที่กว้างไกลของเขาจึงสะท้อนออกมาที่นโยบายการสร้าง ‘อมตะ’ให้เป็นเมืองสมบูรณ์แบบ  และเพราะนิยามความสมบูรณ์แบบนั้นไม่เคยมีขีดจำกัดลงเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ  ทำให้การพัฒนาศักยภาพขององค์กรไม่เคยหยุดนิ่ง


http://www.gmgroup.in.th/main/_admin/photo/2470000475.jpg

 

คำว่า ‘เมืองสมบูรณ์แบบ’ นี้มาจากแนวความคิดที่วิกรมจะสร้าง ‘อมตะ’ ให้เป็นเมืองที่ขับเคลื่อนและเติบโตโดยระบบของตัวมันเอง  หากใช่ที่ตัวบุคคลของผู้บริหาร  ดังนั้นเขาจึงวางแผนให้บริษัท อมตะมีความเป็นไทมากที่สุด  จะต้องมีหนี้สินน้อยที่สุดหรือไร้หนี้สิน  และมีเงินสดในการขยายงาน  มีผลกำไรอย่างน้อย 20-30 %ต่อปี  และต้องมีธุรกิจอื่นมาเสริม  นอกเหนือไปจากการทำธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อทำนิคมอุตสาหกรรม  ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวก็มีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้ที่มาใช้บริการอย่างพรั่งพร้อมด้วยประสิทธิภาพและความมั่นคงที่จะสร้างความพึงพอใจและเชื่อมั่นได้อย่างสูงที่สุด

 

ที่มา http://www.doohoon.com/smf/index.php?topic=23186.0

หมายเลขบันทึก: 351337เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2010 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท