หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ประสบการณ์ดงขมิ้น (๔) : เตรียมอัฐบริขารก่อนบวช


     ผมเป็นนาคอยู่วัดตั้งแต่วันก่อนบวช ๑๓ วัน ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมของตนเอง สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ ทั้งเรื่องพิธีกรรม การจัดหาอัฐบริขารสำหรับการบวช เป็นหน้าที่ของทางบ้าน ซึ่งพ่อและปู่เป็นหัวเรือใหญ่ในการตระเตรียม

 

      อัฐบริขารที่ผมพูดถึง คือ เครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงสมณะเพศ มีทั้งสิ้น ๘ อย่างคือ บาตร จีวร สบง สังฆาฏิ ผ้าประคดเอว เครื่องกรองน้ำ เข็ม/ด้าย และมีดโกน

 

      บริขารแรกคือ “บาตร” โดยพระวินัยแล้ว อนุญาตให้พระใช้บาตรได้ ๒ ชนิด คือ บาตรดินเผาและบาตรเหล็ก ไม่อนุญาตบาตรที่ทำจากไม้ และจะใช้วัสดุคล้ายบาตรมาทดแทนเช่น น้ำเต้า กระโหลก หม้อ ก็ไม่อนุญาตเช่นกัน

      ขนาดของบาตรมีตั้งขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ วิธีวัดขนาดคือวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของปากบาตรซึ่งมีขนาด ๕ นิ้วไปจนถึง ๑๓ นิ้ว

      การจัดหาบาตรในปัจจุบันโดยมากมักซื้อหาจากร้าน มี ๓ แบบ คือ บาตรเหล็กหล่อ บาตรตะเข็บ และบาตรสแตนเลส ส่วนบาตรดินไม่พบว่ามีการใช้ที่ไหน

      บาตรเหล็กหล่อ หล่อจากเหล็กผืนเดียว มีขนาดไม่ใหญ่นัก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๕ -๖ นิ้ว

      บาตรตะเข็บ ทำจากแผ่นเหล็กเล็ก ๆ หลายแผ่น เชื่อมต่อกันแล้วตีขึ้นรูปเป็นบาตร ซึ่งจะเห็นรอยต่อของแผ่นเหล็กชัดเจน จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อบาตรตะเข็บ ขนาดของบาตรตะเข็บมีตั้งแต่ ๗ – ๑๓ นิ้ว

      บาตรสแตนเลส เป็นบาตรที่พัฒนาขึ้นมาในชั้นหลัง เป็นบาตรที่หล่อจากโรงงานอุตสาหกรรม มีความสวยงานและไม่เป็นสนิม ดูแลรักษาง่าย มีขนาดตั้งแต่ ๕ - ๑๓ นิ้ว

      สิ่งที่คู่มากับบาตรมี ๒ อย่างคือ เสื้อหรือสลกบาตร เป็นวัสดุหุ้มบาตรทำจากผ้าหรือถักจากไหม ส่วนที่หุ้มฝาบาตรมักถักจากไหมพรม  และขาตั้งบาตร หากเป็นบาตรเหล้กหล่อมักจะมีขาตั้งบาตรเป็นเหล็กหล่อ ส่วนบาตรตะเข็บและบาตรสแตนเลสขาตั้งบาตรมักทำจากไม้ไผ่หรือหวาย

      ผมได้รับบาตรจากพระวัดป่าแห่งหนึ่ง เป็นบาตรตะเข็บขนาด ๘ นิ้ว เสื้อบาตรเย็บจากผ้า ที่หุ้มฝาบาตรถักจากไหมพรม ส่วนขาตั้งบาตรทำจากไม้ไผ่และหวายดูแน่นหนา

     การจัดหาบาตรมิจำเป็นต้องไปซื้อตามร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ไม่ว่าผู้นั้นจะมีระยะเวลาบวชยาวนานหรือไม่ก็ตาม เพราะบาตรในวัดนั้นมาเยอะมาก โดยเฉพาะบาตรเหล็กหล่อ สามารถขอเช่าบูชาจากวัดที่จะเข้าไปบวชได้ 



บาตรเหล็ก หรือ บาตรตะเข็บ
(ภาพจาก Internet)
 


บาตร เสื้อบาตรและขาบาตร
(ภาพประกอบจาก internet)

 

      บริขารถัดมา คือ “จีวร” ในภาษาบาลีเรียกว่า “อุตราสงค์”

      ปัจจุบันการแสวงหาจีวรมาเพื่อบวชพระมิใช่เรื่องยุ่งยากเช่นในสมัยพุทธกาล ซึ่งในสมัยนั้นผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยมีความประสงค์จะออกบวช ต้องใช้เวลาเก็บสะสมผ้าไม่น้อยกว่าจะได้จำนวนมากพอที่จะนำมาเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ ผ้าที่เก็บมาโดยมากเป็นเศษผ้าที่ชาวบ้านทิ้ง บ้างก็เป็นผ้าห่อศพที่ถูกทิ้งให้ฝูงอีแร้งทึ้งกิน

      พระวินัยอนุญาติขนาดของจีวรไว้ในสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งรตนวรรค ว่า ให้ยาวได้ ๙ คืบพระสุคต และกว้าง ๖ คืบพระสุคต (๑ คืบพระสุคตเท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร)

      จีวรผืนใหญ่นั้นเป็นการเย็บต่อจากผ้าผืนเล็ก ๆ มองไปคล้ายผืนนาและคันนา ซึ่งจีวรที่มีลักษณะนี้เกิดจากการออกแบบของพระอานนท์ ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล

      สีของจีวรที่พระวินัยไม่อนุญาตได้แก่ สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว สีดำ

      ในปัจจุบันอาจแบ่งสีจีวรได้สัก ๔ สีหลัก ๆ  ได้แก่ สีกรักขี้ม้า สีกรักแดง สีเหลืองส้ม และสีเหลืองทอง


สีของจีวร (เหลืองทอง กรักแดง เหลืองส้ม กรักขี้ม้า)
(ภาพประกอบจาก internet)

      การพิจารณาขนาดของจีวรดูได้จากขนาดของขัณฑ์ของจีวร ขัณฑ์จีวรคือผืนผ้าที่เย็บต่อกัน เมื่อคลี่ผ้าจีวรออกแล้วพิจารณาในแนวยาวจะเห็นช่องสี่เหลี่ยมผืนใหญ่ที่ดูคล้ายเป็นผืนนาและช่องเล็ก ๆ ที่ดูเป็นผืนนา ช่องสี่เหลี่ยมใหญ่ ๑ ช่องจะเรียก ๑ ขัณฑ์

      จีวรที่ใช้ได้ดีโดยทั่วไปจะมีจำนวน ๗ ขัณฑ์ขึ้นไป ผมเคยเห็นจำนวนขัณฑ์สูงสุดเพียง ๑๑ ขัณฑ์

      สำหรับจีวรที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด หากไม่ระบุรายละเอียด ทางร้านก็จะนำจีวรทั่วไปมาขายให้ ซึ่งเป็นการตัดเย็บด้วยผ้าที่หยาบและไม่ประณีต มีขนาดเล็กเพียง ๕ ขัณฑ์ ซึ่งไม่เหมาะสมกับการใช้ในระยะเวลายาวนาน

      เช่นเดียวกับบาตร จีวรผืนที่ผมใช้บวชได้รับจากพระป่า มีขนาด ๑๑ ขัณฑ์

     ในการจัดหาจีวรสำหรับการบวช มิจำเป็นต้องซื้ใหม่จากร้านเช่นเดียวกับการจัดหาบาตร จีวรเก่าที่พระใช้แล้วและลาสิกขาไปในแต่ละวัดมีจำนวนไม่น้อย สามารถนำมาทำความสะอาดแล้วนำมาใช้นุ่งห่มได้ ข้อนี้อยากให้นึกย้อนไปในสมัยพุทธกาลที่ผู้ประสงค์บวชต้องสะสมเศษผ้าจากเศษผ้าต่าง ๆ กระทั้งผ้าห่อศพนำมาตัดเย็บเป็นจีวร แต่นี่เป็นเพียงจีวรเก่าประสาอะไรจึงจะใช้การไม่ได้ 

 

      บริขารถัดมาที่คู่กับ “จีวร” คือ “สบง” “สังฆาฏิ” “ประคดเอว” ซึ่งอาจรวม “อังสะ” เข้าไปด้วย

      “สบง” ภาษาบาลีเรียกว่า “อันตรวาสก” เป็นผ้านุ่ง มีสองแบบคือ สบงซึ่งเย็บจากผ้าหลายผืนเรียกว่าสบงขัณฑ์  และสบงที่ตัดเย็บจากผ้าผืนเดียว

      การตัดเย็บผ้าสบงขัณฑ์ คล้ายกับการตัดเย็บจีวร เพียงแต่ผืนจะเล็กกว่า เมื่อคลี่ผ้าออกมาจะเห็นผืนผ้าเย็บต่อกันเช่นเดียวกับจีวร การพิจารณาขนาดของสบงดูได้จากขนาดของขัณฑ์เช่นเดียวกับจีวร

      โดยปกติหากพระรูปใดที่ไม่ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร (๑ ในธุดงควัตร) จะมีสบงมากกว่า ๑ ผืนไว้เปลี่ยน

      กรณีผมมีสบง ๒ ผืน คือ สบงขัณฑ์ กับสบงทั่วไป ซึ่งเป็นบริขารที่ได้มาพร้อมกับบาตรและจีวรจากพระวัดป่า

      ส่วนผ้า “สังฆาฏิ” เป็นหนึ่งในไตรจีวร มีลักษณะคล้ายจีวร เป็นผ้าที่ใช้สำหรับห่มคลุมซ้อนจีวรอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันความหนาวเย็น

      ในบ้านเราอากาศร้อนมักมิได้ใช้ห่มคลุม แต่จะใช้พาดบ่าในยามประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

      ผ้าสังฆาฏิมีลักษณะคล้ายผ้าจีวร การตัดเย็บกระทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่จะตัดเย็บด้วยผ้าสองชั้น (สองผืน) แทนที่จะเป็นชั้นเดียว (ผืนเดียว) ดังเช่นจีวร

      อย่างไรก็ตามในปัจจุบันจะพบว่าใช้จีวรแทนสังฆาฏิกันทั่วไป สำหรับผมสังฆาฏิ เป็นบริขารที่ได้รับจากพระวัดป่ามาพร้อมกับบริขารอื่น เป็นสังฆาฏิสองชั้น สีเดียวกับจีวรและสบง ขนาดเท่ากับจีวร

      ผมใช้งานสังฆาฏิหลากหลายวัตถุประสงค์นอกเหนือจากแค่การใช้เป็นผ้าพาดบ่าในยามทำวัตรสวมนต์ หรือประกอบพิธีกรรม ใช้แทนผ้าห่ม ใช้เป็นผ้าปูนอน ใช้แทนจีวรในบางคราว เป็นต้น

      สำหรับอีกบริขารหนึ่งคือ “ประคดเอว” ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับเข็มขัด มีทั่งทำมาจากผ้าและถักจากไหม

      ผ้าอีกผืนหนึ่งที่ติดมาพร้อมกับไตรจีวรคือผ้า “อังสะ”เป็นผ้าที่ใช้สวมกายท่อนบน ทำหน้าที่คล้ายเสื้อ

      อังสะมีทั้งชนิดเป็นผ้าผืนยาวแล้วนำมาห่มเฉวียงบ่าแบบสไปของผู้หญิง โดยจะมีเชือกผูกติดไว้บริเวณข้างลำตัว และชนิดที่ตัดเย็บเป็นอังสะสำเร็จรูปลักษณะคล้ายเสื้อกล้ามแต่มีบ่าด้านเดียว นอกจากนั้นยังมีอังสะไหมพรมไว้สำหรับใส่ในหน้าหนาวด้วย

      ในวันบวช อังสะผมเป็นผ้าผืนเดียวคล้ายสไบ สีเดียวกับไตรจีวร ในห่อผ้าไตรจีวรอังสะจะเป็นผ้าที่ห่อรัดรัดผ้าทั้งสามผืนไว้ด้วยกัน

 


อังสะแบบต่าง ๆ 
(ภาพประกอบจาก Internet)


     เช่นเดียวกับจีวร ทั้ง “สบง” “สังฆาฏิ” “ประคตเอว” และ “อังสะ” มิจำเป็นต้องซื้ใหม่จากร้าน สามารถใช้ของเก่าที่พระใช้แล้วและลาสิกขาไปในแต่ละวัด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย นำมาทำความสะอาดแล้วใช้สอยนุ่งห่มได้ 

 

      “เครื่องกรองน้ำ” หรือ “ธมกรก” เป็นบริขารหนึ่งที่ถูกจัดให้เป็น ๑ ใน ๘

      ตามพระวินัยนั้น พระภิกษุจะดื่มน้ำได้ต้องกรองเสียก่อนเพราะอาจจะเผลอดื่มน้ำที่มีสัตว์ขนาดเล็กที่อาจมองไม่เห็นลงไปด้วย ซึ่งเป็นผลให้ต้องโทษอาบัติ

      ในสมัยพุทธกาลการกรองน้ำใช้ผ้ากรอง ปัจจุบันมีการทำเครื่องกรองน้ำสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งมีทั้งที่ทำมาจากพลาสติกและสแตนเลส

      วันที่ผมบวชผมได้รับเครื่องกรองน้ำเป็นพลาสติก ซึ่งหาซื้อจากร้านสังฆภัณฑ์ และต่อมาหลังจากบวชและเข้าไปอยู่ที่วัดป่า ผมได้รับเครื่องกรองน้ำแบบสแตนเลสจากเพื่อนสหธรรมิก ซึ่งได้ใช้เพียงไม่กี่ครั้ง เนื่องมิได้อาศัยน้ำดื่มจากธรรมชาติ น้ำดื่มส่วนใหญ่เป็นน้ำบรรจุซึ่งสะอาดและมั่นใจได้ว่าไม่มีสัตว์ปะปนอยู่

 

      เข็ม/ด้าย” เป็นบริขารที่แทบไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน ยิ่งพระที่บวชระยะเวลาสั้น ๆ ด้วยแล้ว โอกาสที่จะเย็บ ปะ ชุนไตรจีวรแทบไม่มี

      การเย็บ ปะ ชุน จีวรเป็นกิจสำคัญของสงฆ์ ในวินับระบุว่าหากไตรจีวรเกิดการฉีกขาดแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องรีบปะชุนทันที มิเช่นนั้นจะต้องอาบัติ

      สมัยเป็นพระผมเย็บปะจีวรด้วยตัวเองหลายครั้ง ทั้งที่อยู่ที่วัดป่าและวัดบ้าน

 

      สำหรับ “มีดโกน” บริขารสุดท้าย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระภิกษุ เพราะนอกเหนือจากการโคนหนวดเคราแล้ว ยังต้องปลงผมและคิ้วอย่างน้อยเดือนละครั้ง บางวัดกำหนดทุกขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ

 

      ทั้งหมดที่ว่ามานี่เป็นบริขารที่ต้องใช้ในการบวช

      ของใช้อื่น ๆ เช่น ย่าม ตาลปัตร ผ้าห่ม มุ้ง รองเท้าแตะ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบครับ

      บริขารผมครบแล้ว พร้อมจะบวชแล้วครับ...

 

หมายเลขบันทึก: 349727เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2010 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • สึกมาเบียดเลยไหม ฮ่าๆๆๆๆ
  • สมัยก่อนสงสัยว่าขาดอะไร

บาตร จีวร สบง สังฆาฏิ ผ้าประคดเอว เครื่องกรองน้ำ เข็ม/ด้าย และมีดโกน

 ที่กรองน้ำสำคัญ  ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นแล้วนะครับ  จำได้ว่าสีเหลืองๆๆ 

มีดโกนตอนพระบวชใหม่ๆๆ โกนกันเลือดออก เสียวๆๆ แถมบางรูปเอาจีวรหรือมุ้งมาดึงศีรษะไว้ โอโหไปไม่ได้ ผมที่โกนใหม่ๆๆจะติดผ้าเช่นมุ้งได้ดีมาก ...ฮาเลย จะได้บุญไหมเนี่ย...

สวัสดีครับอาจารย์

P
ขจิต ฝอยทอง 
เมื่อ จ. 05 เม.ย. 2553 @ 10:57 
#1939786 [ ลบ ] 

แหะ แหะ ยังครับอาจารย์ สึกมาพักใหญ่ครับกว่าจะได้เบียน แบบว่าไม่มีใครอยากให้ไปเบียดหนะครับ...

สวัสดีครับ ครูโย่ง

P
ครูโย่ง หัวหน้า~ natadee 
เมื่อ จ. 05 เม.ย. 2553 @ 11:04 
#1939799 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
จะเบียดแล้ว บวชหรือยังครับ ฮิ ฮิ...

สวัสดีครับ

P
ปีตานามาจิตต์ 
เมื่อ จ. 05 เม.ย. 2553 @ 11:38 
#1939850 [ ลบ ] 

 

 

ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ
ด้วยความระลึกถึงครับ

 

สวัสดีค่ะ

  • อ่านแล้วเข้าใจดีมากขึ้นเกี่ยวกับการเรียกชื่อเครื่องบริขาร
  • ความจริงแล้ว  เป็นเรื่องที่อ่อนด้อยของชาวพุทธมากนะคะ
  • ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้เล่าเพื่อเป็นการเรียนรู้ค่ะ

สวัสดีครับ พี่คิม

P
ครูคิม 
เมื่อ จ. 05 เม.ย. 2553 @ 13:22 
#1940005 [ ลบ ] 

ขอบคุณแวะมาเยี่ยมครับ
ว่าจะเขียนเล่าต่อไปเรื่อย ๆ 
พี่คิมอยากรู้เรื่องอะไรบอกมาได้นะครับ

 

 

...สวัสดีค่ะ...โมธนาสาธุ..เจ้าค่ะ...(อยากบังสกุลให้ต้นไม้ที่...ตายๆ..เกิดๆ...พอจะให้ความรู้ได้บ้างไหม..เจ้าคะ)ฝากวานบอกแผนหลานชายให้หน่อยว่าควรจะทำไงดี..เบอรโทร ๐๘๙ ๒๕๑ ๖๐ ๕๖....สวัสดี..ยายธีค่ะ

สวัสดีครับ ยายธี

P
ยายธี 
เมื่อ จ. 05 เม.ย. 2553 @ 14:54 
#1940162 [ ลบ ] 

จนแล้วจนรอดไม่ได้ไปเยือนไร่ยายธีเลย 
ความรู้เรื่องบังสกุลต้นไม้ ได้ยินคลับคล้ายคลับคลา ขอผมระลึกนิดและถามไถ่ผู้รู้ก่อนนะครับ
แล้วจะส่งข่าวให้
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

บวชแล้วครับพี่

ว่าจะเบียดอย่างเป็นทางการ

อิอิ

สวัสดีครับ ครูโย่ง

P
ครูโย่ง หัวหน้า~ natadee 
เมื่อ จ. 05 เม.ย. 2553 @ 15:59 
#1940240 [ ลบ ] 

แหะ แหะ แสดงว่าเบียดอย่างไม่เป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว...
ฮิ ฮิ....

สวัสดีคะ

แหม.. น่าเสียดายที่แม่ต้อย มาอ่านบทความนี้ ช้าไปสักนิด

เพราะว่า เพิ่งเป็นเจ้าภาพ บวชให้กับน้องที่เขาขับรถให้แม่ต้อยไป เมื่อต้นเดือนนี้เองคะ

ได้ความรู้ดีมากๆเลยคะ

แม่ต้อยต้องกลับมาอ่านใหม่ตั้งแต่ตอนแรกเลยละคะ

ขอบคุณๆๆคะ

แต่สงสัยว่าครูโย่ง ทำไมท่านสนใจแต่เรื่องราว หลังบวช จังเลย

แม่ต้อยสงสัยนะคะ อิอิ

สวัสดีครับ แม่ต้อย

P
แม่ต้อย 
เมื่อ จ. 05 เม.ย. 2553 @ 22:08 
#1940847 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ผมต้ังใจจะเขียนบันทึกประสบการณ์เรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ 
ดีใจมาก ๆ ครับที่จะมีผู้ติดตามอ่านครับ...

หวัดดีค่ะ หาหนังสือชื่อ ฝ่าดงขมิ้น เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ไม่รู้ว่ายังมีหลงเหลืออยู่หรือเป่าน้อๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท