หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ประสบการณ์ดงขมิ้น (๒) : ท่องคำขอบวช


สำหรับผู้ที่จะบวชและเตรียมตัวท่องคำขอบวช ควรจะสอบถามจากวัดที่จะไปบวชก่อนว่าใช้คำขอบวชแบบไหน เพื่อที่จะไม่ท่องผิดแบบ ดังที่ผมเคยพบเห็นคนรู้จักหลายคนที่เตรียมท่องไปไม่ตรงกับที่ทางวัดใช้

บันทึกก่อนหน้า

ประสบการณ์ดงขมิ้น (๑) : เป็นนาคฝึกหัดกายใจก่อนบวช

 

 

      การเป็น “นาค” อยู่วัด นอกจากจะเป็นการเตรียมพร้อมกายใจการบวชเป็นพระแล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการท่องคำขอบวช

      ผมได้รับหนังสือ “มนต์พิธี” จากหลวงตามาหนึ่งเล่ม ภายในมีเกือบจะทุกบทสวดที่พระต้องใช้ รวมทั้งคำขอบวชทั้งสองแบบ

 


(ภาพประกอบจาก Internet)

 

      โดยทั่วไปแล้ว “คำขอบวช” จะมี ๒ แบบ คือ “เอสาหัง” กับ “อุกาสะ”

      ตอนแรกผมเข้าใจว่า คำขอบวชแบบ “เอสาหัง” จะใช้กับการบวชใน “ธรรมยุตินิกาย” ส่วน “อุกาสะ” จะใช้กับการบวชใน “มหานิกาย”

      แต่ตอนหลังจากผมบวชมาแล้วหลายพรรษาจึงพบว่าตนเองเข้าใจผิด เพราะวัดหลายแห่งที่สังกัดมหานิกายก็ใช้ทำขอบวชแบบ “เอสาหัง” แต่กลับไม่พบว่าวัดสังกัดธรรมยุติใช้คำขอบวชแบบอุกาสะ

      เกี่ยวกับคำขอบวชนี้ ญาณวชิร อธิบายไว้ในหนังสือ ลูกผู้ชายต้องบวช ว่า การอุปสมบทแบบอุกาสะ เป็นการอุปสมบทแบบเดิมที่คณะสงฆ์รับสืบทอดกันมาจากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนการอุปสมบทแบบเอสาหัง เป็นแบบที่คิดขึ้นใช้ใหม่ โดยการประยุกต์มาจากแบบอุกาสะเพื่อย่อขั้นตอนให้สั้นเข้า มีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ โดยยึดรูปแบบมาจากพระพม่ารามัญ การอุปสมบทแบบเอสาหังมีที่แปลกจากแบบเดิมบางส่วน

      วัดที่ผมบวชเป็นวัดในสังกัดธรรมยุตินิกาย และใช้คำขอสวดแบบเอสาหัง

      สำหรับผู้ที่จะบวชและเตรียมตัวท่องคำขอบวช ควรจะสอบถามจากวัดที่จะไปบวชก่อนว่าใช้คำขอบวชแบบไหน เพื่อที่จะไม่ท่องผิดแบบ ดังที่ผมเคยพบเห็นคนรู้จักหลายคนที่เตรียมท่องไปไม่ตรงกับที่ทางวัดใช้

      ผมใช้เวลาท่องคำขอบวชตลอดที่พักอยู่ในวัดทั้ง ๑๓ วัน โดยมีหลวงตาห้องใกล้ ๆ เป็นผู้คอยให้คำแนะนำทั้งเรื่องการอ่าน การออกเสียง

      สิ่งที่ยากในการท่องคำขอบวช คือ ความไม่คุ้นกับภาษาบาลี และการต้องท่องออกเสียงเป็นแบบมคธ

      การออกเสียงแบบมคธนั้นเป็นการสวดที่ใช้ในกลุ่มพระธรรมยุติ รวมทั้งวัดที่ผมจะบวชด้วย

      โดยปกติแล้วการสวดมนต์จะมี ๒ สำเนียง คือ สำเนียงสังโยค และสำเนียงมคธ

      สำเนียงสังโยคใช้ในกลุ่มพระมหานิกาย การสวดจะออกเสียงตรงตามพยัญชนะไทย ในการสวดมนต์แต่ละบทนั้นจะไม่มีการเว้นวรรค จะสวดยาวติดต่อกันไป

      ส่วนสำเนียงมคธนั้นจะออกเสียงตามแบบภาษามคธ การสวดจะแบ่งเป็นวรรคเป็นตอน ในการสวดนั้นมีบางพยัญชนะที่ออกเสียงไม่ตรงตามพยัญชนะไทย เช่น ค ออกเสียงเป็น ก, ช ออกเสียงเป็น จย, ฑ ท ออกเสียงเป็น ด, พ ออกเสียงเป็น บ และบางพยัญชนะต้องออกเสียงขึ้นนาสิก เช่น ง ญ ณ น ม ฯลฯ

      ผมขอยกตัวอย่างการสวดทั้งสองแบบด้วยบทสวดนี้

      นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

      สวดแบบสำเนียงสังโยค : นะโมตัดสะพะคะวะโตอะระหะโตสัมมาสัมพุดทัดสะ

      สวดแบบสำเนียงมคธ : นะโมตัสสะ บัคก๊ะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมบุ๊ดดัสสะ

...

 

      คำขอบวชแบบเอสาหังและแบบอุกาสะแม้จะต่างกัน แต่ก็มีหลายส่วนที่ตรงกัน (สนในดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำขอบวช ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ คำขอบวชแบบเอสาหัง และ คำขอบวชแบบอุกาสะ)


วัดน้ำหัก - สีตลาราม
(ภาพประกอบจาก Internet)

บันทึกถัดไป 

หมายเลขบันทึก: 349445เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2010 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้  น้องก้องพี่ชายคนโตจะบวชเณรค่ะ  บอกว่าท่องคำขานนาคได้แล้ว

     

ระลึกถึงนะคะน้องหนานกียรติ

 

สวัสดีครับพี่

P
ครูอรวรรณ 
เมื่อ อา. 04 เม.ย. 2553 @ 01:00 
#1938065 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยือนครับ...
มีบันทึกตอนต่อไปด้วยนะครับ

สวัสดีค่ะ

  • ตอนต่อไป...ไปอ่านมาแล้วค่ะ
  • อันนี้มาอ่านแบบย้อนหลัง
  • อาการป่วยกาย...หายหรือยังละ  ให้เฌวาบีบนวด ขี่หลังไม่นานก็หายนะคะ

สวัสดีครับ พี่คิม

P
ครูคิม 
เมื่อ อา. 04 เม.ย. 2553 @ 12:45 
#1938524 [ ลบ ] 

อาการค่อยทุเลาแล้วครับ
ยังมึนงงนิดหน่อย 
อากาศที่กรุงเทพฯ ร้อนมาก ๆ คงส่งผลต่อการเจ็บป่วยด้วย...
เลี้ยงเฌวาที่ที่ป่วย ๆ อย่างนี้ เพราะแม่เฌวาไม่อยู่บ้าน
เพิ่งจะระบายสีเสร็จ เลอะพื้นไปทั้งแถบ
สักพักคงจะมาระบายใหม่
ตอนนี้เดินไปเล่นกับยายครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท