เรื่องน่ารู้...รำวงมาตรฐาน


รำวงมาตรฐาน

เรื่องน่ารู้ของ....รำวงมาตรฐาน

ประวัติความเป็นมาของรำวงมาตรฐาน

รำวงมาตรฐานเป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการมาจากรำโทน(กรมศิลปากร, 2550 : 136-143)  เป็นการรำและการร้องของชาวบ้านซึ่งมีผู้รำทั้งชายและหญิง  รำกันเป็นคู่ ๆ รอบ ๆ ครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้ หรือไม่ก็รำกันเป็นวงกลม โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำและร้องเป็นไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้คงเป็นการรำและร้องง่าย ๆ มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ  เช่น  เพลงช่อมาลี    เพลงยวนยาเหล  เพลงหล่อจริงนะดารา  เพลงตามองตา  เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด  ฯลฯ  ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ  จึงเรียกการแสดงชุดนี้ว่ารำโทน 

ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2487ในสมัยจอมพลป.พิบูลย์สงครามเป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการละเล่นรื่นเริงประจำชาติและเห็นว่าคนไทยนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้อง ลีลาท่ารำ และการแต่งกายจะทำให้การเล่นรำโทนเป็นที่น่านิยมมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐาน มีการแต่งเนื้อร้องทำนองเพลง และนำท่ารำจากเพลงแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะ  แต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน

รำวงมาตรฐานประกอบด้วยเพลงทั้งหมด  10  เพลง  กรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน 4 เพลง  คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย  เพลงรำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย  ท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลย์สงครามแต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก 6 เพลง คือ  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ  เพลงดอกไม้ของชาติ  เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า  เพลงหญิงไทยใจงาม  เพลงบูชานักรบ  เพลงยอดชายใจหาญ ส่วนทำนองเพลงทั้ง10เพลง กรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้แต่ง 

จากการสัมภาษณ์นางสุวรรณี  ชลานุเคราะห์  ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการจัดการแสดง(นาฏศิลป์ไทย) ปีพุทธศักราช2533 อธิบายว่าท่ารำเพลงรำวงมาตรฐาน  ประดิษฐ์ท่ารำโดย นางลมุล  ยมะคุปต์  นางมัลลี  คงประภัศร์  และนางศุภลักษณ์  ภัทรนาวิก  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทยวิทยาลัยนาฏศิลป  ส่วนผู้คิดประดิษฐ์จังหวะเท้าของเพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ  คือนางนางจิตรา  ทองแถม ณ อยุธยา  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสังคีตศิลป์ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยนาฏศิลป)  ปี พ.ศ.2485 -2486 

เมื่อปรับปรุงแบบแผนการเล่นรำโทนให้มีมาตรฐานและมีความเหมาะสม  จึงมีการเปลี่ยนชื่อจากรำโทนเป็น  รำวงมาตรฐาน  อันมีลักษณะการแสดงที่เป็นการรำร่วมกันระหว่างชาย-หญิง เป็นคู่ ๆ เคลื่อนย้ายเวียนไปเป็นวงกลม  มีเพลงร้องที่แต่งทำนองขึ้นใหม่  มีการใช้ทั้งวงปี่พาทย์ประกอบและบางเพลงก็ใช้วงดนตรีสากลบรรเลงประกอบ  ซึ่งเพลงร้องที่แต่งขึ้นใหม่ทั้ง 10 เพลง  มีท่ารำที่กำหนดไว้เป็นแบบแผน  รำวงมาตรฐานนิยมเล่นในงานรื่นเริงบันเทิงต่าง ๆ และยังนิยมนำมาใช้เล่นแทนการเต้นรำ 

 

เพลงร้อง

      เพลงร้องของรำวงมาตรฐานมีทั้งหมด 10  เพลงได้แก่ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงรำซิมารำ  เพลงคืนเดือนหงาย  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลง ดอกไม้ของชาติ เพลงงามแสงเดือน เพลงหญิงไทยใจงาม  เพลง ดวงจันทร์ขวัญฟ้า  เพลงยอดชายในหาญ และเพลงบูชานักรบ  ดังรายละเอียดคือ

1.  เพลงงามแสงเดือน   มีเนื้อร้อง  ดังนี้
                งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า         งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ (ซ้ำ)
เราเล่นกันเพื่อสนุก                             เปลื้องทุกข์วายระกำ
ขอให้เล่นฟ้อนรำ                                                เพื่อสามัคคีเอย

2.  เพลงชาวไทย    มีเนื้อร้อง  ดังนี้

                ชาวไทยเจ้าเอ๋ย                                     ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่
               การที่เราได้เล่นสนุก                            เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้
               เพราะชาติเราได้เสรี                                             มีเอกราชสมบูรณ์
               เราจึงควรช่วยชูชาติ                                             ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ
               เพื่อความสุขเพิ่มพูน                                            ของชาวไทยเราเอย

3.  เพลงรำซิมารำ    มีเนื้อร้อง  ดังนี้

รำมาซิมารำ                                                เริงระบำกันให้สนุก
ยามงานเราทำงานกันจริงๆ                               ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็ญขุก
ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น                                       ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์
ตามเยี่ยงอย่างตามยุค                                           เล่นสนุกอย่างวัฒนธรรม
เล่นอะไรให้มีระเบียบ                                        ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ
มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ                                     มาเล่นระบำของไทยเราเอย

4.  เพลงคืนเดือนหงาย    มีเนื้อร้อง  ดังนี้
              ยามกลางคืนเดือนหงาย                       เย็นพระพายโบกพริ้วปลิวมา
เย็นอะไรก็ไม่เย็นจิต                                           เท่าเย็นผูกมิตรไม่เบื่อระอา
เย็นร่มธงไทยปกไปทั่วหล้า                               เย็นยิ่งน้ำฟ้ามาประพรมเอย

5.  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ    มีเนื้อร้อง  ดังนี้
                             ดวงจันทร์วันเพ็ญ                     ลอยเด่นอยู่ในนภา
                ทรงกลดสดสี                                          รัศมีทอแสงงามตา
             แสงจันทร์อร่าม                                      ฉายงามส่องฟ้า
             ไม่งามเท่าหน้า                                        นวลน้องยองใย
                                งามเอยแสงงาม                              งามจริงยอดหญิงชาติไทย
             งามวงพักตร์ยิ่งดวงจันทรา                                   จริตกิริยานิ่มนวลละไม
             วาจากังวาน                                              อ่อนหวานจับใจ
             รูปทรงสมส่วน                                        ยั่วยวนหทัย
              สมเป็นดอกไม้                                        ขวัญใจชาติเอย

6.  เพลง ดอกไม้ของชาติ    มีเนื้อร้อง  ดังนี้

                                                            (สร้อย)

ขวัญใจดอกไม้ของชาติ                      งามวิลาศนวยนาดร่ายรำ(ซ้ำ)
 เอวองค์อ่อนงาม                                                 ตามแบบนาฎศิลป์
 ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น                                              เจริญวัฒนธรรม
                                                 (สร้อย)

งามทุกสิ่งสามารถ                               สร้างชาติช่วยชาย
 ดำเนินตามนโยบาย                            สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ
                                                 (สร้อย)

 7.  เพลงหญิงไทยใจงาม    มีเนื้อร้อง  ดังนี้
                เดือนพราว                                            ดาวแวววาวระยับ
แสงดาวประดับ                                   ส่งให้เดือนงามเด่น
ดวงหน้า                                                โสภาเพียงเดือนเพ็ญ
คุณความดีที่เห็น                                  เสริมให้เด่นเลิศงาม
ขวัญใจ                                                   หญิงไทยส่งศรีชาติ
รูปงามพิลาศ                                         ใจกล้ากาจเรืองนาม
เกียรติยศ                                                ก้องปรากฎทั่วคาม
หญิงไทยใจงาม                                   ยิ่งเดือนดาวพราวแพรว

8.  เพลง ดวงจันทร์ขวัญฟ้า    มีเนื้อร้อง  ดังนี้
                          ดวงจันทร์ขวัญฟ้า                      ชื่นชีวาขวัญพี่
              จันทร์ประจำราตรี                                 แต่ขวัญพี่ประจำใจ
               ที่เทิดทูนคือชาติ                                    เอกราชอธิปไตย
               ถนอมแนบสนิทใน                              คือขวัญใจพี่เอย

9.  เพลงยอดชายใจหาญ    มีเนื้อร้อง  ดังนี้
                             โอ้ยอดชายใจหาญ                 ขอสมานไมตรี
             น้องขอร่วมชีวี                                         กอร์ปกรณีกิจชาติ
             แม้สุดยากลำเค็ญ                                     ไม่ขอเว้นเดินตาม
             น้องจักสู้พยายาม                                    ทำเต็มความสามารถ

10.  เพลงบูชานักรบ    มีเนื้อร้อง  ดังนี้
                              น้องรักรักบูชาพี่                    ที่มั่นคงที่มั่นคงกล้าหาญ
              เป็นนักสู้เชี่ยวชาญ                                สมศักดิ์ชาตินักรบ
              น้องรักรักบูชาพี่                                    ที่มานะที่มานะอดทน
              หนักแสนหนักพี่ผจญ                          เกียรติพี่ขจรจบ
              น้องรักรักบูชาพี่                                    ที่ขยันที่ขยันกิจการ
              บากบั่นสร้างหลักฐาน                          ทำทุกด้านทำทุกด้านครันครบ
              น้องรักรักบูชาพี่                                    ที่รักชาติที่รักชาติยิ่งชีวิต
              เลือดเนื้อพี่พลีอุทิศ                                ชาติยงอยู่ยงอยู่คู่พิภพ

4.  การแต่งกาย

                       การแต่งกายมีการกำหนดการแต่งกายของผู้แสดง  ให้มีระเบียบด้วยการใช้ชุดไทย  และชุดสากลนิยมโดยแต่งเป็นคู่ ๆ รับกันทั้งชายและหญิง                  สามารถแต่งได้ 4  แบบ  คือ

แบบที่ 1  แบบชาวบ้าน

ชาย         นุ่งผ้าโจงกระเบน  สวมเสื้อคอพวงมาลัย  เอวคาดผ้าห้อยชายด้านหน้า

หญิง       นุ่งโจงกระเบน  ห่มผ้าสไบอัดจีบ  ปล่อยผม  ประดับดอกไม้ที่ผมด้านซ้าย  คาดเข็มขัดใส่เครื่องประดับ

 

แบบที่ 2  แบบรัชกาลที่ 5

ชาย         นุ่งผ้าโจงกระเบน  สวมเสื้อราชปะแตน  ใส่ถุงเท้ารองเท้า

หญิง       นุ่งผ้าโจงกระเบน  สวมเสื้อลูกไม้  สไบพาดบ่าผูกเป็นโบว์  ทิ้งชายไว้ข้างลำตัวด้านซ้าย

               ใส่เครื่องประดับมุก

แบบที่ 3  แบบสากลนิยม

ชาย         นุ่งกางเกง สวมสูท  ผูกไทน์

หญิง       นุ่งกระโปรงป้ายข้าง  ยาวกรอมเท้า  ใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก

แบบที่  4  แบบราตรีสโมสร 

ชาย         นุ่งกางเกง  สวมเสื้อคอพระราชทาน  ผ้าคาดเอวห้อยชายด้านหน้า

หญิง       นุ่งโปรงยาวจีบหน้านาง  ใส่เสื้อจับเดป  ชายผ้าห้อยจากบ่าลงไปทางด้านล่าง  เปิดไหล่ขวา 

                 ศีรษะทำผมเกล้าเป็นมวยสูง  ใส่เกี้ยว  และเครื่องประดับ

รูปแบบและลักษณะการแสดง

        รำวงมาตรฐาน  เป็นการรำหมู่ประกอบด้วยผู้แสดง  8  คน  ท่ารำประดิษฐ์ขึ้น  จากท่ารำมาตรฐานในเพลงแม่บท  ความสวยงามของการรำ  อยู่ที่กระบวนท่ารำ  ที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละเพลง  และเครื่องแต่งกายไทยในสมัยต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบการแสดงในลักษณะการแปรแถวเป็นวงกลม            การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้  ดังนี้

        ขั้นตอนที่ 1  ผู้แสดงชายและหญิง  เดินออกมาเป็นแถวตรง  2  แถว  หันหน้าเข้าหากัน  ต่างฝ่ายทำความเคารพด้วยการไหว้ 

        ขั้นตอนที่ 2  รำแปรแถวเป็นวงกลม  ตามทำนองเพลงและรำตามบทร้อง  รวม  10  เพลง  โดยเปลี่ยนท่ารำไปตามเพลงต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่เพลงงามแสงเดือน  เพลงชาวไทย  เพลงรำซิมารำ  เพลงคืนเดือนหงาย  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ  เพลงดอกไม้ของชาติ  เพลงหญิงไทยใจงาม  เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า  เพลงยอดชายใจหาญ  และเพลงบูชานักรบ 

        ขั้นตอนที่ 3  เมื่อรำจบบทร้องในเพลงที่ 10  ผู้แสดงรำเข้าเวทีทีละคู่ ตามทำนองเพลงจนจบ

 โอกาสที่ใช้แสดง

        โอกาสที่ใช้แสดงเพลงรำวงจะว่าใช้ในงานเทศกาลต่างๆ ที่ให้ความรื่นรมย์ได้ทุกงานเพื่อสร้างความสนุกสนานสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม  และเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย

ท่ารำเพลงรำวงมาตรฐาน

เพลงงามแสงเดือน    ท่าสอดสร้อยมาลา

เพลงชาวไทย            ท่าชักแป้งผัดหน้า

เพลงรำซิมารำ          ท่ารำส่าย

เพลงคืนเดือนหงาย   ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง

เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ   ท่าแขกเต้าเข้ารัง,  ผาลาเพียงไหล่

เพลง ดอกไม้ของชาติ     ท่ารำยั่ว

เพลงหญิงไทยใจงาม     ท่าพรหมสี่หน้า,  ยูงฟ้อนหาง

เพลง ดวงจันทร์ขวัญฟ้า    ท่าช้างประสานงา,   จันทร์ทรงกลดแปลง

เพลงยอดชายใจหาญ      หญิง  ชะนีร่ายไม้      ชาย  จ่อเพลิงกาฬ

เพลงบูชานักรบ              หญิง  ขัดจางนาง        ชาย  จันทร์ทรงกลด  

                                                                หญิง  ล่อแก้ว             ชาย  ขอแก้ว

ที่มา :  ศิลปากร, กรม. (2550).  ทะเบียนข้อมูลวิพิธทัศนา ชุดระบำ  รำ ฟ้อน เล่ม 2.  กรุงเทพมหานคร: บริษัท ไทยภูมิ  พับลิชชิ่ง  จำกัด.

คำสำคัญ (Tags): #รำวงมาตรฐาน
หมายเลขบันทึก: 349241เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2010 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
เขมิสรา น้อยเจริญ

^-------------------------^

ชอบมากครับขอบคูณครับ

ดีมากค่ะ ชอบๆ เป็นประโยนช์กับ เด็กมากค่ะ😘❤❤

ดีมากค่ะ ชอบๆ เป็นประโยนช์กับ เด็กมากค่ะ😘❤❤

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท