หลักการจัดการ(ต่อ2)


“สารสนเทศ” ระบบสารสนเทศ เป็นระบบการจัดทำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรและภายนอกองค์กรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนำข้อมูลดังกล่าวมาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้หน่วยงานย่อยต่าง ๆ ภายในองค์กรและหน่วยงานภายนอกสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน

หน่วยที่   11  ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ

                ความหมายของ สารสนเทศ ระบบสารสนเทศ เป็นระบบการจัดทำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรและภายนอกองค์กรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนำข้อมูลดังกล่าวมาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้หน่วยงานย่อยต่าง ๆ ภายในองค์กรและหน่วยงานภายนอกสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน

                ระบบสารสนเทศมีบทบาทต่อการจัดการ 

  1. เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริหารระดับสูงเพื่อประกอบการตัดสินใจ
  2. มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในองค์กร
  3. ช่วยสรุปและประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ช่วยให้การปฏิบัติงานของพนักงานมีระบบ

องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ

1. ตัวป้อน (Input) หมายถึงข้อมูลที่จะป้อนเข้าสู่ระบบ อาจมีลักษณะเป็นตัวอักษร ตัวเลข ที่รวมเรียกว่า ดาต้า (Data)

2. การประมวลผล (Processing) เป็นองค์ประกอบในส่วนของการนำข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาเข้าสู่กระบวนการประมวลผลหรือรวบรวมผลของข้อมูลทั้งหมดทั้งหมดให้เป็นรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

3. ผลลัพธ์ (Output) คือ การนำผลการประมวลจากข้อ 2 มาจัดทำรายงาน อาจทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นตัวเลข เป็นตาราง หรือเป็นกราฟ เพื่อความสะดวกในการอ่านและทำความเข้าใจ ผลลัพธ์ของการประมวล

4. การป้อนกลับ (Feedback) เมื่อมีการนำผลลัพธ์ไปใช้แล้วจะมีการรายงานผลการใช้ป้อนกลับ

ระบบสารสนเทศที่ดี ควรมีลักษณะ

มีความถูกต้องเชื่อถือได้ มีความเป็นปัจจุบัน มีความครบถ้วนสมบูรณ์ มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน ง่ายและสะดวกในการใช้งาน และเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้

การใช้คอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ คุณภาพของเครื่อง โปรแกรมที่ใช้ ข้อมูลพื้นฐานถูกต้องหรือไม่ ความรู้ ความสามารถในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์

การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบสารสนเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การใช้คอมพิวเตอร์ในระบบเครื่องเดี่ยว (Stand  Alone) คือ การใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์เองในการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยขีดความสามารถตามลำพังของตัวเองในการประมวลผลด้วยหน่วยความจำภายในของตน

2. การใช้คอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่าย (Network) คือ การใช้ประโยชน์จากเครื่องคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องมาเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย การทำงานจะใช้ข้อมูลร่วมกัน โดยผ่านเครื่องบริการ แฟ้มข้อมูล (File  Server) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับการเชื่อมต่อเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารร่วมกันในระบบเครือข่ายที่จำเป็นในแต่ละจุดจะต้องมี

ความหมายของการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ การใช้คอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายเป็นการนำคอมพิวเตอร์จำนวนมากเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบเพื่อการทำงานร่วมกัน ทำให้คอมพิวเตอร์เปลี่ยนรูปแบบจากการทำงานเครื่องเดี่ยวมาเป็นการทำงานแบบเครือข่าย ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมาก และมีความนิยมแพร่หลาย

การประยุทธ์ระบบสารสนเทศกับการทำงานประจำวัน

ระบบสารสนเทศที่ดีจะต้องมีความสอดคล้องกับงานประจำวัน ต้องออกแบบเพื่อรองรับการทำงานของพนักงานอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการเพิ่มภาระงาน เพราะหากเป็นการเพิ่มภาระงานระบบสารสนเทศนั้นจะถูกปฏิเสธหรือไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรจะเป็น สำหรับองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่สามารถนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการทำงานประจำได้โดยง่าย แต่สำหรับองค์กรเดิมที่ไม่เคยใช้ระบบสารสนเทศในงานประจำ หากจะนำมาใช้จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากร, เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ และระบบปฏิบัติการ ก่อนที่จะสามารถประยุกต์สารสนเทศมาใช้ในงานประจำวันได้

การประยุทธ์ระบบสารสนเทศกับการทำงานสำนักงาน

การนำระบบสารสนเทศมาใช้ในงานสำนักงาน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการจัดทำสำนักงานอัตโนมัติเป็นการประยุกต์ใช้สารสนเทศเพื่อทำให้สำนักงานเป็นสำนักงานที่มีความทันสมัยสามารถติดต่อเชื่อมโยงกับภายนอกได้อย่างคล่องตัว

การนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดการ

1. การพัฒนาระบบสารสนเทศขึ้นมาใช้เองในองค์กร เป็นการออกแบบและสร้างระบบสารสนเทศโดยใช้บุคลากรภายในขององค์กรเป็นผู้คิดค้นหรือมอบหมายให้จัดทำระบบสารสนเทศขององค์กรขึ้นมา

2. การจัดซื้อระบบสารสนเทศสำเร็จรูปมาใช้ เป็นการซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีขายโดยทั่วไปมาใช้ในระบบสารสนเทศขององค์กร

3. การจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานมาจัดระบบสารสนเทศ เป็นแนวทางที่องค์กรจะมีระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ มีผู้รับผิดชอบในการพัฒนาระบบสารสนเทศให้ทันสมัยอยู่ตลอด แต่มีข้อจำกัดในแง่ที่ต้อยใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจ้างค่อนข้างสูง

 

หน่วยที่   12  การประยุกต์ใช้หลักการจัดการ

                เหตุที่ต้องประยุกต์หลักการจัดการมาใช้ในองค์กร

                1. เนื่องจากศาสตร์การจัดการเป็นศาสตร์ที่กว้าง มีการกำหนดหลักการอย่างกว้าง ๆ เอาไว้ ดังนั้นในการนำไปใช้จำเป็นต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรหรือการจัดการ

                2. องค์กรแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านขนาดขององค์กร วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง รูปแบบในการบริหารจัดการ ดังนั้นการจัดการองค์กรที่แตกต่างกันย่อมต้องประยุกต์ความรู้ด้านการจัดการเพื่อนำไปใช้ที่แตกต่างกันออกไป

                3. สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แม้ว่าการจัดตั้งองค์กรบางองค์กรอาจมีลักษณะการจัดตั้งที่เหมือน ๆ กัน เช่น เป็นบริษัทจำกัดเช่นกัน แต่หากมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในการจัดการจึงต้องมีการประยุกต์ให้เหมาะสม

                4. การเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์

                แนวทางในการประยุกต์หลักการจัดการ

  1. ศึกษาสภาพที่แท้จริงขององค์กร
  2. วิเคราะห์สภาพที่แท้จริงขององค์กรทั้งในด้านจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค
  3. ศึกษาแนวทางการจัดการที่เหมาะสมกับองค์กร
  4. นำหลักการจัดการที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในการดำเนินการ

วัตถุประสงค์ของแนวทางพัฒนาองค์กร

  1. เพื่อพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ทันสมัย
  2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร
  3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกร่วมมือและร่วมใจกันอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
  4. เพื่อเพิ่มพูนสัมพันธภาพอันดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
  5. เพื่อส่งเสริมให้บุคคลในทุกระดับชั้นขององค์กรได้วางแผนปฏิบัติงาน
  6. เพื่อเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจหรือความไว้วางใจกันในบรรดาสมาชิกขององค์กร
  7. เพื่อสร้างระบบการสื่อสารเปิด

ขั้นตอนในการพัฒนาองค์กร

ขั้นที่ 1    การสร้างความเข้าใจ

ขั้นที่ 2    การรวบรวมปัญหา

ขั้นที่ 3    การวางแผนเพื่อพัฒนาองค์กร

ขั้นที่ 4    การสร้างกลุ่มเพื่อพัฒนา

ขั้นที่ 5    การสอดแทรกกิจกรรมเพื่อพัฒนา

ขั้นที่ 6    การติดตามและประเมินผล

 

แนวทางในการจัดการโดยยึดวัตถุประสงค์

ในการประยุกต์หลักการจัดการโดยใช้แนวทางการบริหารจัดการที่ยึดวัตถุประสงค์เป็นหลักนั้น ผู้บริหารจะต้องทำหน้าที่อำนวยการและประสานงานให้กิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรดำเนินไปด้วยดีและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดเอาไว้ เทคนิคการจัดการโดยยึดวัตถุประสงค์เป็นหลักจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของพนักงานทุกคน เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์กร และให้      ทุกคนปฏิบัติงานโดยยึดวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กรเป็นหลักสำคัญที่สุด

ปัจจัยที่ทำให้การจัดการโดยยึดวัตถุประสงค์บรรลุผลตามที่ต้องการ

  1. ผู้บริหารขององค์กร ทุกระดับจะต้องกล้าที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  2. การเตรียมพร้อมของระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร
  3. ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน

แนวทางการจัดการโดยใช้กลุ่มพัฒนาคุณภาพ

กลุ่มพัฒนาคุณภาพหรือที่เรียกว่า กลุ่ม QCC (Quality  Control Circle) เป็นการรวมตัวกันของบุคลากรในองค์กรเป็นกลุ่มย่อยที่มีจำนวนสมาชิกประมาณ 3 – 15 คน เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมหรือแก้ปัญหาในการทำงานหรือปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น โดยหลักการของกลุ่มพัฒนาคุณภาพแล้วเชื่อว่าสมาชิกทุกคนในองค์กรมีความสามารถในการช่วยเหลือและพัฒนาองค์กรได้อย่างมีความสุขในการทำงาน

แนวทางการจัดการโดยใช้ระบบการให้ข้อเสนอแนะ หมายถึงการจัดการที่ให้ความสำคัญกับการเสนอแนะของบุคลากรในองค์กรอย่างเป็นระบบ เป็นการสร้างบรรยากาศที่ให้บุคลากรในระดับปฏิบัติการสามารถเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหารในระดับสูง

แนวทางการจัดการโดยการรีเอ็นจิเนียริ่ง (Reengineering) เป็นแนวคิดในการปรับปรุงการทำงานในองค์กรแบบถอนรากถอนโคน คือการไม่ยึดติดในรูปแบบเดิม ให้ใช้รูปแบบหรือแนวคิดใหม่ทั้งหมดในการทำงาน มีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ มโหฬารในองค์กร โดยเน้นการทำงานที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงาน ลดจำนวนการใช้บุคลากรลงให้เหลือน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ

แนวทางการจัดการแบบไคเซ็น (Kaizen) เป็นรูปแบบการจัดการที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการจัดการแบบรีเอ็นจิเนียริ่ง เพราะไคเซ็นเป็นการจัดการที่เน้นความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนโยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม

 

หน่วยที่   13  หลักการจัดการกับเศรษฐกิจพอเพียง

                ความหมายของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว       ภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและการบริหารประเทศ โดยยึดหลักทางสายกลาง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการตัดสินใจและการกระทำเพื่อตนเอง สังคมและประเทศรอดพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นและยังสามารถนำทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีความสมดุลภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

                หลักสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

  1. เป็นแนวทางและแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกระดับ
  2. เป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง
  3. จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน์
  4. ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ
  5. จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง
  6. จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ

“ความพอประมาณ” ในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

  1. ความพอประมาณในระดับบุคคล
  2. ความพอประมาณในระดับครอบครัว
  3. ความพอประมาณในระดับชุมชนหรือสังคม
  4. ความพอประมาณในระดับประชาชาติ

“ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี” ในหลักเศรษฐกิจพอเพียง  ความมีภูมิคุ้มกันที่ดีเปรียบเสมือนการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลง ความเสี่ยงในที่นี้มีความหมายครอบคลุมกว้างขวาง ทั้งในแง่ของการดำเนินชีวิตของบุคคล การปฏิบัติงาน การประกอบธุรกิจ การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของประเทศชาติ จะต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเป็น เช่น เกิดความเสี่ยงเพราะมีความโลภมากเกินไป หรือเสี่ยงเพราะปล่อยกู้มากเกินไป หรือกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรมากเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยง

แนวทางในการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน

  1. รู้จักใช้เงิน
  2. รู้จักเลือกให้เหมาะสม
  3. รู้จักบริโภคให้เหมาะสม
  4. งดอบายมุข
  5. รู้จักลงทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์

 

 

รัฐสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดการระบบเศรษฐกิจ ดังนี้

  1. การจัดการด้านเสถียรภาพและการจัดการความเสี่ยง
  2. การใช้ระบบธรรมาภิบาล
  3. การลงทุนและการก่อหนี้ของรัฐต้องไม่เกินตัว

ธรรมาภิบาล หมายถึง การบริหารของภาครัฐที่มุ่งความดีงาม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชนอย่างทั่วถึงและยุติธรรม ธรรมาภิบาล จึงประกอบด้วย การบริหารที่ดีและมีความยุติธรรมทั้งเพื่อรัฐและเพื่อประชาชน

ควรมีลักษณะที่สำคัญ ๆ 4 อย่าง คือ

1. การบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ การบริหารจัดการที่รัฐและประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์สูงสุดที่ควรจะได้

2. การบริหารด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐไม่มีการคอร์รัปชั่นหรือการสร้างผลประโยชน์ให้กลุ่มของตนเอง ตลอดจนการสร้างประโยชน์แบบทับซ้อน

3. มีความยุติธรรมอย่างทั่วถึง การบริหารราชการที่ดีจะต้องให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง

4. ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ในการบริหารราชการที่ดีรัฐจะต้องให้ประชาชนทุกชั้นมีส่วนร่วมในการบริหาร

ระบบบรรษัทภิบาล คือ วิธีการภายในของบริษัทในการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ โดยมีผลในทางที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีผลมีต่อพนักงานและผู้ถือหุ้นของบริษัท ในการดำเนินการของบริษัทสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส

การจัดการด้านเสถียรภาพและการจัดการความเสี่ยง มีประโยชน์คือจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของชาติมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากสภาวะของโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก หากระบบเศรษฐกิจของประเทศเราไปพึ่งพาอาศัยประเทศอื่นย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศอย่างแน่นอน

แนวทางในการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในภาคธุรกิจ

1. การปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจประกอบด้วย เจ้าของธุรกิจ หุ้นส่วนของธุรกิจ และประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทุกคนที่เกี่ยวข้องควรได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินธุรกิจ

2. มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท

3. ดำเนินงานอย่างโปร่งใส เพราะความโปร่งใสต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง

4. ดำเนินธุรกิจแบบมีวิสัยทัศน์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าหวังผลกำไรชั่วครั้งชั่วคราว

คำสำคัญ (Tags): #หลักการจัดการ
หมายเลขบันทึก: 348312เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท