ปลูกผักไร้ดินทางเลือกใหม่ของผู้มีที่ดินไม่มากนัก


     การปลูกผักในปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก  เนื่องจากผักเป็นพืชที่มีแมลงศัตรูพืชหลากหลายทำให้สารเคมีตกค้างอยู่ในผักในปริมาณที่เป็นอันตราย ต่อผู้บริโภคประกอบกับปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทจึงส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ  โดยจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ  และให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีในการผลิตและการจัดการด้านการตลาดแก่เกษตรกร  โดยดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษจังหวัดชัยนาท  ปี 2552   เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้และตื่นตัวในการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ รวมทั้งให้เกษตรกรรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษและสร้างระบบการจัดการด้านการผลิตและการตลาด จำนวน  2  กลุ่ม ๆ ละ 20 ราย  และให้เกษตรกรสมัครเข้ารับการตรวจรับรองตามระบบการจัดการคุณภาพ(GAP)พืชผัก เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในผลผลิตของเกษตรกร

      นายบำรุง  ศรีทองใส   เกษตรจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษจังหวัดชัยนาท  ปี 2552   กิจกรรมที่ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือการถ่ายทอดความรู้ตามระบบโรงเรียนเกษตรกร  จำนวน  5  ครั้งต่อโรงเรียน สนับสนุนโรงเรือนปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษแก่เกษตรกร(ผักกางมุ้ง) จำนวน 34 โรงเรือน และถ่ายทอดความรู้การผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อใช้สำหรับป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผัก  อีกจำนวน  2  โรงเรียน กิจกรรมต่างๆ ดำเนินการในพื้นที่หมู่ที่ 5  บ้านหนองกระเบา  ต.ห้วยงู  อ.หันคา  และหมู่ที่ 4  บ้านหลั่น  ต.ท่าฉนวน  อ.มโนรมย์  จ.ชัยนาท

     การจัดตั้งแปลงเรียนรู้และสาธิตผักไร้ดินเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง จัดทำไว้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท  เพื่อเป็นจุดศึกษาดูงานและฝึกอบรมสำหรับเกษตรกร ประกอบไปด้วย โรงเรือนอนุบาลต้นกล้า จำนวน 1 โรงเรือน ขนาด 1 X 2.40  เมตร และโรงเรือนแปลงปลูกจำนวน 3 โรงเรือน ขนาด 2 X 7.20 เมตร  ปลูกได้ 1,200 หลุม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถผลิตผักที่ดีมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษ และเป็นผักที่สวยงามเป็นที่ต้องการของตลาดและถูกใจต่อผู้บริโภค

    สำหรับการเพาะปลูกนั้นผู้เขียนได้ติดตามคุณพี่วัชรี  เอี่ยมรอด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ผู้รับผิดชอบจุดสาธิตการปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน พบว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ได้ปลูกพืชไร้ ดินเพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจ จำนวน 3 โรงเรือน และโรงเรือนเพาะกล้า 1 โรงเรือน ลักษณะการปลูกพืชแบบให้สารละลายธาตุอาหารพืชและอากาศไหลวนผ่านรากพืชในระดับน้ำลึกอย่างต่อเนื่องในการปลูก โดยมีขั้นตอนการปลูกไม่ยากนัก คือ

  1. เตรียมเพาะกล้า ด้วยการนำฟองน้ำสำหรับเพาะบางลงบนถาดเพาะ รดน้ำให้ชุ่ม
  2. เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ผักมีขนาดเล็กมาก จึงใช้ไม้ปลายแหลมจุ่มน้ำแล้วนำไปแตะกับเมล็ดพันธุ์ผักให้ติดก่อนนำไปวางในฟองน้ำหลุมละ 2-3 เมล็ด เสร็จแล้วจึงนำผ้าคลุมถาด รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ระยะเวลา 3 วัน เมล็ดผักจะงอกออกมาให้เห็น จึงนำผ้าคลุมถาดเพาะออก ก่อนนำไปอนุบาลในโรงเรือนอนุบาลต้นกล้าจำนวน 4 วัน เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงพร้อมที่จะย้อยไปปลูก
  3. ย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูก  จะย้ายต้นกล้าในช่วงเย็นเพื่อให้ฟื้นตัวเร็ว การย้ายด้วยการนำฟองน้ำออกจากถาดเพาะก่อนสอดทางด้านหลังของหลุมแผ่นปลูก แต่ขอให้ระมัดระวังป้องกันการกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุด
  4. หลังปลูก 1 วันเติมสารละลายธาตุอาหารตามความต้องการของพืชที่ปลูก พร้อมทั้งดูแลระบบน้ำและระบบน้ำและไฟฟ้าตลอดอายุจนกว่าจะเก็บเกี่ยวหมด อายุการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับชนิดของพืชผัก

     สำหรับการเก็บเกี่ยวนั้น  ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะหยุดเติมสารละลายธาตุอาหาร แต่จะเติมน้ำเปล่าแทน เพื่อลดความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหาร เป็นระยะเวลา 4-5 วัน 

     เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้อ่าน จึงขอนำเสนอข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชไร้ดินดังนี้

 ข้อดี 

      สามารถปลูกพืชได้ทั้งปี เหมาะสำหรับปลูกในสถานที่ที่มีพื้นผิวดินสำหรับปลูกพืชน้อยในบริเวณบ้าน  ง่ายต่อการควบคุมและป้องกันโรคและแมลง ไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลง 100% และไม่มีปัญหาในการกำจัดวัชพืชในพื้นที่ปลูก ประหยัดน้ำและปุ๋ยเพราะสามารถควบคุมได้ตามที่พืชต้องการ ผลผลิตที่ได้สม่ำเสมอ และอายุเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น เนื่องจากพืชสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ ผลผลิตที่ได้มีความสะอาด สด คุณภาพดี และที่สำคัญคือ ปลอดสารพิษ จึงสามารถพัฒนาการปลูกไปในเชิงพาณิชย์ได้

ข้อเสีย 

   ของการปลูกพืชไร้ดิน เนื่องจากต้องใช้วัสดุและอุปกรณ์จึงต้องลงทุนสูงในระยะแรก สามารถปลูกได้ทั้งผักไทย ผักจีน และผักต่างประเทศ   ผู้ปลูกต้องมีความรู้อย่างแท้จริงต่อการปลูกพืชไร้ดิน ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามดูงานได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท  สำหรับด้านการตลาดนั้นไม่ถือเป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น  ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อเกษตรกรที่สนใจทำธุรกิจการปลูกพืชไร้ดินมากขึ้น

       หมายเหตุ ธาตุอาหารที่เรานำมาใช้ เป็นธาตุอาหารที่ค่อนข้างบริสุทธิ์เมื่อผ่านกระบวนการสังเคราะห์โดยใบพืชและแสงแดดจะถูกเปลี่ยนเป็นผักปลอดสารพิษที่เหมาะกับการบริโภค ความต้องการพื้นฐานของพืชนอกจากธาตุอาหารที่เหมาะสมแล้ว ยังมีแสงแดด น้ำ อากาศ เมล็ดพันธุ์ที่ดี เพื่อการเติบโตอีกด้วย(ความรู้และธาตุอาหารพืชจาก บริษัทศูนย์เกษตรกรรมบางไทรจำกัด )

คำสำคัญ (Tags): #ผักไร้ดิน
หมายเลขบันทึก: 348095เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจพืชไร้ดิน แต่เคยทำแต่แบบแผงเล็กๆ ไทยประดิษฐ์ ไม่ใหญ่โตขนาดนี้

เป็นทางเลือกที่ดี น่าส่งเสริมครับ

  • เคยอ่านเจอว่านอกจาก"ไฮโดรโปนิคส์ "แล้วที่ทางอีสานยังมีการปลูกผักแบบ"แอร์โรโปรนิคส์" อีกนะคะ และดูท่าทางเครื่องทือ/อุปกรณ์จะถูกกว่าผักในน้ำนะพี่นะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท