เรียนรู้พิธีทำขวัญนาค ตอนที่ 9 บทร้องเบิกบายศรีประกอบพิธีทำขวัญนาค


การผูกสัมผัสระหว่างบทอาจมีการเชื่อมโยงคำไม่ลงกันบ้าง นี่เป็นบทเดิมที่ตัดเอามาต่อติดกันใหม่

เรียนรู้พิธีทำขวัญนาค

ตอนที่ 9 บทร้องเพลงเบิกบายศรี

              ประกอบพิธีทำขวัญนาค

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านเพลงพื้นบ้าน ปี 2547 

          พิธีทำขวัญนาคดำเนินมาจนถึงขั้นตอนสำคัญ เมื่อหมอขวัญทำการเชิญขวัญนาคตามพิธีที่ได้เรียนมาจบแล้ว เสียงโห่ร้องและตีฆ้องเอาชัยจบลงก็มาถึงตอนเวียนเทียนเบิกบายศรี ตอนนี้ญาติกาทั้งหลายของนาคหรือท่านเจ้าภาพก็จะเข้ามานั่งล้อมเป็นวงโดยถือเอาบายศรีหลักเป็นศูนย์กลาง แต่ก็มีบางสถานที่ท่านเจ้าภาพนำเอาเครื่องอัฏฐะบริขารที่ได้เตรียมเอาไว้ในพิธีอุปสมบทมาจัดตั้งแสดงเอาไว้ด้วย และให้บุคคลที่มาร่วมในพิธีเวียนเทียนได้เข้ามานั่งล้อมรอบเครื่องพิธีด้วยทำให้วงเวียนเทียนกว้างมากขึ้น

          ก่อนที่จะกระทำพิธีเวียนเทียน โหราบดีหรือหมอขวัญจะเป็นผู้กล่าวแนะนำ อธิบายบายศรีว่า มีความหมายอย่างไน กระทำในสิ่งนี้เพื่อเป็นสิ่งแทนอะไร ให้กับนาคเพื่อที่จะได้รับทราบความหมาย โดยกล่าวว่า

         

          “ในวันนี้บุตรหลานของท่านถึงกำหนดที่จะเป็นวันอุปสมบทแล้ว จึงได้เชิญผู้ที่รู้คัมภีร์ไสยศาสตร์ มาจัดบายศรี 5 ชั้น หรือ 7 ชั้นและบายศรีปากชามอีก 3 หวี ตามประเพณีเรียนกว่า ทำขวัญนาค ที่บายศรีในแต่ละชั้นนั้นใส่เอาไว้ด้วยอาหารคาวหวาน และจัดหาไม้ซีก 3 ซีกมาค้ำจุนบายศรีให้ซวนเซ บายศรีต้น 5 ชั้น ได้แก่ ศีล 5 ประการ ส่วนบายศรีปากชาม 3 หวี คือ ไตรสิกขา 3 ศีลทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นรากฐานแห่งศีลทั้งหลาย ผู้ที่มีศีลย่อมที่จะเป็นผู้มีมิ่งขวัญสิริมงคลอันประเสริฐ ศีลนี่แหละจะเปลี่ยนสภาพจากนายนั่นนายนี่ มาเป็น ภิกษุนั่น ภิกษุนี่

          สำหรับอาหารคาวหวานที่ใส่ไว้ในบายศรีแต่ละชั้น เสมือนหนึ่งเนื้อหนัง มังสา โลหิตในร่างกายแห่งเราท่านทั้งหลาย ย่อมที่จะไม่ตั้งอยู่ได้นาน   ไม่ช้าก็เร็วย่อมที่จะเน่าเปื่อยทรุดโทรมลงและจมอยู่ในแผ่นดินในที่สุด

          ไม้ 3 ซีกที่ค้ำบายศรีเอาไว้ไม่ให้ซวนเซนั้นเหมือนบุญกุศลกรรมที่ค้ำจุนชีวิตบุคคลให้เป็นอยู่

          ด้ายดิบที่มัดบายศรี เปรียบได้แก่มิจฉาทิฐิอุปทาน เห็นผิดจากครรลองครองธรรม ยึดมั่นถือมั่นว่า มีตัวตน

          ใบตองสด 3 ก้าน ที่ห่อหุ้มบายศรี หมายถึง โลภะ โทสะ โมหะ ที่เข้าห่อหุ้มไม่ให้เห็นธรรม ดุจร่างกายของคนเราย่อมที่จะทรุดโทรมเหี่ยวแห้งเป็นธรรมดา

          ผ้าหุ้มบายศรี คือ ตัณหาที่เข้ามาปิดบัง ไม้ให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชรา มรณะ ทุกข์ เห็นแต่สนุกสุขสันต์ บายศรีที่ถูกห่อหุ้มเอาไว้จนมืดมิดนั้น เปรียบได้แก่บุคคลที่ยังไม่ได้บวช เมื่อเปิดผ้าหุ้มบายศรีออกมา หมายถึงเบิกบายศรีก็เหมือนกับบุคคลที่จะได้พบกับหนทางที่สว่างไสวในทางธรรม

          แว่นติดเทียนที่จะเวียนไปรอบบายศรี ได้แก่ ภาพทั้ง 3 คือ กามภพ 1  รูปภพ 1  อรูปภพ 1 ย่อมที่จะชักจูงให้คนเราเวียนว่ายตายเกิด เมื่อโหราบดีดับควันเทียนเป่าควันที่หน้านาคนั้น (นาคอ้าปากรับควันเทียน) ให้พ่อนาคดับไฟทั้ง 3 กอง นั้นเสีย คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ เมื่อไฟทั้ง 3 กองนั้นดับสนิทก็จะมีแต่ความสุข ร่มเย็นดุจดังแป้งหอมน้ำมันหอมที่เจิมหน้านาค เขียนเป็นอักษรว่า “มะ, อะ, อุ”

          มะพร้าวอ่อนที่จะป้อนให้นาคได้ดื่มกินนั้น น้ำมะพร้าวอ่อนเป็นน้ำที่เกิดมาจากธรรมชาติ ให้นาคได้ดื่มในครั้งนี้เพื่อชวนให้คิดถึงค่าน้ำนมของแม่ที่เคยชุบเลี้ยงร่างกายมา

          เทียนชัยที่จุดไว้บนยอดบายศรี (ปัจจุบันอาจจุดไว้ที่ขันปักเทียนแทน)  เป็นแสงสว่างส่องนำทางให้เห็นบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ต่อไป”

          ต่อจากนั้นโหราก็เตรียมจุดแว่นเวียนเทียนแว่นที่ 1 แล้วร้องส่ง-รับด้วยเพลงไทย ทำนองนางนาค ร้องต่อไปจนจบตอนแล้วตามด้วยทำนองลาวเสี่ยงเทียน หรือจะใช้ทำนองนางนาคจนจบพิธีก็ได้ เมื่อท่านที่มาร่วมในพิธีเวียนเทียน ทำการเวียนไปจนครบ 3 รอบ โหราก็รวมเทียนทั้ง 3 แว่นเข้าด้วยกันเอาใบพลูรองล่างแล้ววนเวียนรอบหลักบายศรีทูนขึ้นเหนือศีรษะและลดต่ำลงมาดับควันเทียนแล้วเป่าควันเทียนใส่หน้านาค (ให้นาคอ้าปากรับควัน) ทำจนครบ 3 ครั้ง

          นำเอาแป้งหอมน้ำมันหอมมาเจิมที่หน้าผากนาค เสร็จแล้วให้นาคส่งบายศรีที่ห่อไว้ให้กับบิดา มาดรา แล้วกราบ 3 ครั้งกล่าวคำขอสมา กล่าวจบ กราบ 3 ครั้ง รับบายศรีหุ้มคืนจากบิดา มารดา นาคลุกขึ้นยืน นำบายศรีไปวางไว้ในห้อง ให้อยู่สูงจากพื้น (ดนตรีเชิด) เป็นอันเสร็จพิธี หรืออาจจะมีเกร็ดที่แตกต่างไปบ้างตามประเพณีของท้องถิ่น โหราจะต้องสอบถามก่อนที่จะเริ่มพิธีและถือปฏิบัติตามความนิยม

         

          ขอแนะนำพิธีการ ในขั้นตอนของการเวียนเทียน เพื่อความเป็นระเบียบในพิธีการแบบอย่างย่อ ๆ ดังต่อไปนี้

         ให้บิดา มารดาของนาคมานั่งด้านซ้ายมือของหมอขวัญ แล้วร้องส่งบทนางนาง เมื่อขึ้นต้นเพลงท่อนที่ 1 หมอขวัญหยิบแว่นเวียนเทียนมาจุดไฟ ว่าบทสวด “ชะยันโต ไปจบจบบท ปะถาวิโปกขะเล” เวียนเทียนไปรอบบายศรี แบบทักษิณาวัตร กระพุ่มเทียน 3 ครั้งส่งให้บิดา มารดา เวียนเทียนทั้ง 3 แว่น

          แกะผ้าหุ้มบายศรีมาห่อใบตอง (กรณีที่เป็นบายศรีแห้งหรือแบบใช้ผ้าหุ้ม) มัดให้สวยงามส่งให้นาคอุ้มเอาไว้

          เอาผลมะพร้าวอ่อนมาเวียนรอบบายศรี 3 รอบ ตักขวัญข้าวใส่ในน้ำมะพร้าวอ่อน (อาจจะไม่ต้องใส่อาหารคาวหวานลงไปจริง ๆ ใช้วิธีตักหลอก) แล้วป้อนนาค 3 ครั้ง

          เมื่อเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้รวมเทียนทั้ง 9 เล่ม เวียนรอบบายศรี 3 รอบ แล้วเป่าเทียนให้ดับที่บายศรี เอาควันเทียนไปเป่าใส่หน้านาค 3 ครั้ง

          นำเอาเทียนชัยมาจุ่มที่แป้งเจิมหน้านาค ว่า คาถา

“อุนะโลมา ปะนะชายะเต  จงมาบังเกิดเป็น อุ”  เขียนยันต์ ที่หน้าผาก

“มะกาโลโหติ                จงมาบังเกิดเป็น มะ” เขียนยันต์ไว้ทางซ้าย

“อะกาโลโหติ                จงมาบังเกิดเป็น อะ” เขียนยันต์ไว้ทางขวา

เรียกบิดา มารดามารับขวัญ รับบายศรีจากนาค ให้นาคกราบบิดา มารดา 3 ครั้ง แล้วรับบายศรีกลับคืน นำเอาไปเก็บไว้ในที่อันควร

เพลงร้องเบิกบายศรี (ทำนองนางนาคหรือลาวเสี่ยงเทียน)

            ครั้นล่วงเวลัย               พอได้ฤกษ์

         อินทราให้เบิก                 บายศรี

         ญาติกามาพร้อม               ธิบดี

         ให้เวียนวงอัคคี                ไปตามกัน

            ญาติกามาพร้อม            น้อมคำนับ

         เคารพรับจุนเจิม               เฉลิมขวัญ

         ขอเชิญขวัญของพ่อนาค    มาเร็วพลัน

         กระแจะจันทร์ จุลเจิม        เฉลิมการ

            ขอให้พรพุทธสวัสดิ์       พิพัฒน์ผล

         ทั่วทุกคน ที่มานั่ง             ฟังทำขวัญ

         ให้มีสุขสดชื่อ                  ทุกคืนวัน

         สมบัตินั้นเหลือล้น            คนเลื่องลือ

           ให้มั่งคั่งตั้งตึก               เป็นปึกแผ่น

         มีเงินแสนศีลทรัพย์           คนนับถือ

         ให้บ่าวค่านับร้อย              คอยปรนปรือ

         ตลอดชื่อทั่วหน้า              ดินฟ้าเอย

            ให้อยู่กันจงดี                อย่ามีทุกข์

         เจริญสุขปรากฏ               ทั้งยศถา

         ทั้งโรคภัยอย่าไดมี           มาบีทา

         ให้ชันษาเศษสร้อย           นับร้อยปี

(สำหรับการผูกสัมผัสระหว่างบทอาจมีการโยงสัมผัสไม่ตรงบ้าง นี่เป็นบทเดิมที่ตัดเอามาต่อติดกันเมื่อมีญาติกามาเวียนเทียนเป็นจำนวนมาก ก็พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมหรืออาจะเปลี่ยนฉันทลักษณ์ให้มีสัมผัสที่สละสลวยมากขึ้นก็ได้)

                        

เพลงร้องเบิกบายศรี (ทำนองนางนาคหรือลาวเสี่ยงเทียน)

            ครั้นล่วงเวลัย               พอได้ฤกษ์

         อินทราให้เบิก                 บายศรี

         ญาติกามาพร้อม               ธิบดี

         ให้เวียนวงอัคคี                ไปตามกัน

            ญาติกามาพร้อม            น้อมคำนับ

         เคารับจุนเจิม                   เฉลิมขวัญ

         ขอเชิญขวัญของพ่อนาค    มาเร็วพลัน

         กระแจะจันทร์ จุลเจิม        เสริมศรัทธา

            แว่นที่หนึ่งบริสุทธิ์         สมมุติไว้

         ชื่อสุริโย อโณทัย             ในตำรา

         แว่นที่สองรองก็คือ           แว่นนี้มีชื่อจันทรา

         จะเจาะแสงสว่างจ้า          ยามราตรี

            แว่นที่สามนามก็คือ       ชื่อ ราหู

         พินิจดูแว่นทั้งสาม            ช่างงามดี

         มะพร้าวอ่อนป้อนเจ้า        ทั้งของความของหวาน

         กระแจะจันท์เจิมหน้า        เป็นราศี

            ให้พ่อนาคป้าปาก         รับควันเทียน

         หมอขวัญจะเวียน             แล้วเป่าที่หน้าเป็นราศี

         จะให้พ่อนาคได้ขอขมา     กราบลา พ่อแม่

         ผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่า               และตายาย

            เอาไว้พบกันวันหน้า       หากแม้นว่ามีงาน

         รักสงสารแล้วไปหาบ้าง     หนทางไม่ไกล

         ขอฝากชื่อ หรือผลงาน      เอาไว้ ในการพิธี

         คุณค่านี้ ขอให้มีเสริมส่ง    คงต่อไป

(นายชำเลือง มณีวงษ์ นำเอามาจาก นายวัน มีชนะและต่อเติมบ้าง ตามสมควร) 

 

ติดตามตอนที่ 10 เรียนรู้พิธีทำขวัญนาค กระบวนการขั้นตอนที่มาจากภูมิปัญญา 

 

หมายเลขบันทึก: 348011เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตอนนี้ผมไม่มีครูสอนผมเป็นศิษย์พ่อเเก่โดยตรง เห็นจะมีครูนี่เเหละที่ให้ความรู้ผมได้มากเหลือเกิน สักวันหนึ่งหากผมได้บรรจุเป็นครูพันใหม่ลงสุพรรณขอโอกาสผมได้ร่วมงานกับครูสักครั้งจะได้มั้ยครับ...ขอบคุณสำหรับขุมทรัพย์เเห่งภูมิปัญญามหาศาล

จาก

ศิษย์พักลักจำ

  • ชนินทร์ ยังมีเวลาอีกยาวนาน ชีวิตยังก้าวต่อไปได้อีกไกล ขอเพียงให้มีความตั้งใจและเหนียวแน่น พัฒนาตนเองให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น
  • อาชีพนักแสดง เพลงพื้นบ้าน ทำขวัญนาค รับใช้สังคมได้จนวาระสุดท้ายของชีวิตเพียงแต่ไม่หวือหวานัก และมีผู้ที่เข้ามารับมรดกหรือเป็นทายาทน้อยลงไปทุกที

เรียน อาจารย์ที่เคารพตัวอย่างเพลงเบิกบายศรี อาจารย์พอมีบ้างมั๊ยครับ (ตามเนื้อร้องที่ปรากฎ) ผมพยายามหาในยูทูปก็ไม่เจอครับ ขอรบกวนอาจารย์ด้วยครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท