Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เรื่องเล่าจากอาจารย์มิวเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ : กรณีศึกษาเกี่ยวกับการจัดการผลกระทบต่อสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยอันเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยสถานะบุคคล


From: DUTCH MILL [mailto:[email protected]] Sent: Sunday, January 17, 2010 7:45 AM To: well well; archanwell; srisook veenus; verawat p-toi; tu MAI; darunee p-dao; aunkeaw pinkeaw; Bongkot Napaumporn; adisorn kerdmongkol; ngamurulert chuti; kijprayoon sarinya; ae wantanee; chatchai bangchuad; Ngam-net Mana; thanu law; supattra p-ple; kongjantuk surapong; sudarat face; ratnui udomkhate; H. Sumitchai; Pundawish Chatmongkolchart; Yooram Weera; suchadasuda Subject: มีเรื่องปรึกษาให้กับคนที่จะออกนอกประเทศ ทุกท่านคะ พอดีว่ามีเคสมาปรึกษาอีกทีค่ะ เลยอยากหารือค่ะว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรดีคะ ขอเล่าข้อเท็จจริงคร่าว ๆ นะคะ มารดาทำบัตรประชาชนปลอมแต่งงานกับบิดาสัญชาติสิงคโปร์ และมีลูกเกิดที่ประเทศไทย ลูกขึ้นต้นด้วยเลข ๑ มีสูติบัตร แต่ปัจจุบันมารดาถูกจำคุกข้อหามีและใช้บัตรปลอม (เอกสารราชการ) บิดาจึงดำเนินเรื่องกลับประเทศสิงคโปร์ และศาลสิงคโปร์มีคำสั่งรับรองบุตร ตอนนี้บุตรที่เกิดที่ไทย มีสัญชาติสิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว บิดาเขาถามว่าถ้าจะเอาเด็กกลับสิงคโปร์จะต้องทำอย่างไรบ้าง ??????? (๑) เด็กสามารถเดินทางออกนอกไทย โดยใช้พาสปอร์ตของสิงคโปร์เลยได้ใช่ไหมคะ ถ้าเด็กมีพาสปอร์ตของสิงคโปร์แล้ว และ (๒) เลขประจำตัวของเด็กก็ถือว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยใช่ไหมคะ ทางสำนักงานเขตบอกว่าฐานข้อมูลระงับเลขของน้องเขาไว้ด้วยค่ะ

เมื่ออ่านอีเมลล์นี้ อ.แหววมีความรู้สึกว่า เรื่องแบบนี้ปรากฏตัวมากขึ้นทุกที การแก้ไขปัญหาแบบผิวเผินอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ในประสบการณ์การทำงานของ อ.แหวว ก็พบเรื่องพวกนี้มามาก แต่การแก้ไขปัญหาในแต่ละครั้งก็จะทำที่ปลายเหตุมากกว่าที่จะทำที่สาเหตุ

อ.แหววตั้งใจว่า จะเอาอีเมลล์นี้มาเขียนบันทึก รออยู่นานว่า จะมีใครสักคนทักทอความคิดในเรื่องนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่า อีเมลล์นี้จะไม่ได้รับความสนใจจากใครเลย แม้กระทั่ง คนเขียนอีเมลล์เอง

เรื่องนี้สำคัญมากกับคนทำงานด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายในประเทศไทย ในวันนี้ ปัญหาเหล่านี้ถูกซุกไว้ใต้พรม แต่กำลังจะประทุขึ้นมาอย่างน่ากลัว เรื่องของคนแม่อาย ๑๒๔๓ คน ก็เป็นสัญญานเตือนภัยที่ชัดเจน ตามมาด้วยเรื่องแบบเดียวกันที่สวนผึ้ง แล้วก็แม่แตง และก็มีอีกมากมาย ..... จนสุดท้ายที่แม่สอด .... จะยังมีอีกมากมาย ......

เรามาเรียนรู้จากเรื่องเล่าจากอาจารย์มิวเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ ดีกว่า

------------------

ข้อสังเกตเบื้องต้น

------------------

อ.แหววมีข้อสังเกต ๒ ประการ กล่าวคือ

ข้อสังเกตประการแรกของ อ.แหวว ก็คือ ไม่มีใครตอบอีเมลล์นี้ของ อ.มิวทั้งที่ อ.มิว ส่งอีเมลล์ถึงหลายคน หรืออาจมีคนหนึ่งตอบ อ.มิว แต่ไม่ replyall ซึ่งปรากฏการณ์นี้แสดงว่า ไม่มีใครในวงอีเมลล์ที่คิดว่า เรื่องนี้ควรคุยกันในที่สาธารณะและน่าสนใจ จากวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ จนถึงวันนี้ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เรื่องเล่าของ อ.มิว ก็ยังอยู ่ในสายลม

ข้อสังเกตประการที่สองของ อ.แหวว ก็คือ เราแทบไม่ทราบว่า คนที่หารือมาเป็นใคร ? เพราะเขาก็ทราบว่า เขาไปเกี่ยวข้องกับความผิดกฎหมาย และเขาก็กลัวความผิดกฎหมาย จำได้ว่า อ.แหววถาม อ.มิว กลับไป แต่ก็ไม่มีคำตอบกลับมาว่า ผู้ถามเป็นใครมาจากไหน

----------

การกำหนดและการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของเด็ก : ความสามารถที่จะมีสิทธิในสัญชาติของรัฐ

----------

จากข้อเท็จจริงน้อยนิดที่ อ.มิว บอกมา ก็คือ

ในประการแรก บิดาตามข้อเท็จจริงของเด็กเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ และเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง สังเกตจากเรื่องเล่าของ อ.มิว ที่ว่า เขาถือหนังสือเดินทางของประเทศสิงคโปร์ และโดยข้อเท็จจริงที่เราสบายใจได้แล้วเปราะหนึ่ง ก็คือ ศาลสิงคโปร์มีคำสั่งรับรองเด็กเป็นบุตรของบิดา และเด็กก็ได้รับการยอมรับว่า มีสัญชาติสิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว เอาว่า โดยจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐสิงคโปร์โดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา รัฐนี้จึงยอมรับเขาในสถานะคนสัญชาติแล้ว

ในประการที่สอง มารดาถือ “บัตรปลอม” เดาว่า เป็น “บัตรประจำตัวคนสัญชาติไทยปลอม ?” ดังนั้น มารดาคนนี้อาจเกิดในหรือนอกประเทศไทยก็ไม่ทราบได้ อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยก็เป็นได้ แต่ดันไปได้มาซึ่งบัตรปลอม อันนี้ ก็มีกรณีศึกษาที่มารดาอายให้เราได้เคยเรียนรู้ คนสัญชาติไทยที่ไม่รู้ว่า ตนมีสัญชาติไทย แต่ดันไปซื้อบัตรประชาชนปลอม ถ้าข้อเท็จจริงของมารดาไม่ชัด ก็จะช่วยอะไรไม่ได้เลยในเรื่องของการสืบสัญชาติกับรัฐโดยผ่านหลักสืบสายโลหิตจากมารดา

ในประการที่สาม เด็กเกิดในประเทศไทย ซึ่งหากมารดาไม่ถูกโต้แย้งสิทธิในสัญชาติไทย เด็กคนนี้ก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา แต่เมื่อมารดากลายเป็นบุคคลที่ไม่อาจถูกกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ มารดาก็จะตกเป็น “คนไร้สัญชาติ” อันไม่อาจสืบสิทธิในสัญชาติของตนไปยังบุตรได้ ดังนั้น โอกาสที่เด็กจะมีสัญชาติไทยได้จึงเป็นไปโดยหลักดินแดนเท่านั้น ปัญหาจึงต้องย้อนมาพิจารณาว่า เด็กอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้สัญชาติไทยโดยมติคณะรัฐมนตรีใดหรือไม่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาด ไทยจะมีคำสั่งให้เด็กได้สัญชาติไทยหรือไม่  เงื่อนไขประการแรกเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่เงื่อนไขที่สองเป็นอัตตวิสัย ซึ่งเมื่อรัฐหนึ่งในสองรัฐนี้ กล่าวคือ รัฐเจ้าของสัญชาติของบิดาเข้ามารับรองสิทธิในสัญชาติแก่เด็ก เด็กคนนี้ก็ไม่ไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ กล่าวคือ ไม่ตกเป็นคนไร้สัญชาติ

----------

การกำหนดและการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของเด็ก : “การจดทะเบียนคนเกิดและคนอยู่”

----------

ขอให้ตระหนักว่า ไม่ว่า เด็กจะได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดหรือไม่ รัฐไทยก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยหลักดินแดนเพราะเด็กเกิดบนแผ่นดินไทย ซึ่งพยานหลักฐานก็หนักแน่น กล่าวคือ สูติบัตรที่ออกโดยกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยระบุว่า เขาเกิดในประเทศไทย ไม่ว่า สูติบัตรจะออกมาโดยผิดประเภทตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ไม่อาจลบล้างการรับรองจุดเกาะเกี่ยวที่ว่า เด็กเกิดในประเทศไทย และหากเด็กเกิดในโรงพยบาลในประเทศไทย เอกสารการรับรองการเกิดที่ออกโดยผู้ทำคลอดก็เป็นพยานเอกสารมหาชนที่ออกตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยอีกฉบับที่ย่อมมีน้ำหนักในการรับรองจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักดินแดนโดยการเกิดระหว่างรัฐไทยและเด็ก เรื่องจุดเกาะเกี่ยวกับสัญชาติเป็นคนละเรื่องกัน แม้เกี่ยวเนื่องกัน

มีข้อควรตระหนักที่ควรนำมาถอดบทเรียนหลายประการ

ขอให้ตระหนักในประการแรกว่า เด็กคนนี้มีจุดเกาะเกี่ยวกับ ๒ รัฐ กล่าวคือ (๑) ประเทศสิงคโปร์ และ (๒) ประเทศไทย จะเห็นว่า ความผิดกฎหมายไทยว่าด้วยสถานะบุคคลของมารดาไม่อาจลบล้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กกับรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยว แต่ละรัฐย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะป้องกันผลมิให้เด็กตกเป็นคนไร้สถานะตามกฎหมาย หน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นไปตามคุณภาพของจุดเกาะเกี่ยวที่เด็กมีกับรัฐ

ขอให้ตระหนักในประการที่สองว่า โดยผลที่เด็กเกิดในประเทศไทย รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของตนที่จะออก “เอกสารรับรองจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐในขณะที่เกิดโดยรัฐไทยตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย” ซึ่งก็คือ (๑) ท.ร.๑/๑ อันทำหน้าที่เอกสารรับรองการเกิดโดยผู้ทำคลอด[1] และ (๒) ท.ร.๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือ ๐๓ หรือ ๐๓๑ อันทำหน้าที่เอกสารรับรองการเกิดโดยนายทะเบียนราษฎร[2] ซึ่งเป็นเหล่าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย ซึ่งเอกสารทั้ง ๒ ลักษณะนี้อาจนำไปสู่ “การพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของเด็ก” ในทะเบียนราษฎรของรัฐที่เด็กอาศัยอยู่ ขอให้ตระหนักว่า หากการพัฒนาสิทธินี้ไม่นำเด็กไปสู่การบันทึกใน “ทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายของรัฐ” เด็กก็จะยังตกเป็น “คนไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “คนไร้รัฐ” เพราะเด็กอาจไม่อาจได้มาซึ่ง “สิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Right to Identification Paper)”

ขอให้ตระหนักในประการที่สามว่า ผลของเอกสารรับรองจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐในขณะที่เกิดโดยรัฐไทยตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยได้นำไปสู่ “การพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสิงคโปร์ของเด็ก” ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) การยอมรับของศาลสิงค์โปร์ว่า เด็กมีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาสัญชาติสิงค์โปร์  (๒) การยอมรับของทางราชการสิงคโปร์ว่า เด็กมีสัญชาติสิงคโปร์ ทั้งที่เด็กเกิดในประเทศไทยจากมารดาต่างด้าว และ (๓) การยอมรับของทางราชการสิงคโปร์ที่จะออก “เอกสารรับรองตัวบุคคล” ให้แก่เด็ก กล่าวคือ หนังสือเดินทางที่แสดงว่า เด็กเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ต่อรัฐต่างประเทศ

----------

การกำหนดและการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองของเด็ก 

----------

เด็กคนนี้ซึ่งเราไม่ทราบว่า เขามีชื่อว่าอะไร ย่อมมีสถานะเป็น “คนต่างด้าว” แม้เกิดในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะเราไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า เขาอาจได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน ข้อกฎหมายไทยก็จะถือว่า เขาย่อมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย

หากเขาเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เขาก็มีโอกาสที่จะมีสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ แต่เราก็ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับเขาเลย นอกจากเขาเกิดในประเทศไทย

แต่ข้อเท็จจริงที่เรามีอยู่ เราก็อาจสรุปสถานะบุคคลของเขาตามกฎหมายคนเข้าเมืองได้ดังนี้

เราอาจสรุปในประการแรกได้ว่า ในขณะที่เขาเกิด เขาย่อมถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งอาจจะเป็นฉบับแก้ไข ๒๕๓๕ หรือ ๒๕๕๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ว่า เขาเกิดในช่วงที่ใช้กฎหมายฉบับใด  และสถานะนี้จะสิ้นสุดเมื่อมีการสั่งให้เป็นคนถูกตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองที่มีผลในปัจจุบัน

เราอาจสรุปในประการที่สองได้ว่า เมื่อรัฐสิงคโปร์ยอมรับสถานะคนสัญชาติสิงคโปร์แก่เด็กและบิดาได้ยื่นขอสิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทย เด็กผู้นี้ก็ย่อมจะได้รับสถานะคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมืองไทยในลักษณะเดียวกับบิดา เมื่อเป็นบุตรผู้เยาว์ ระยะเวลาการอาศัยอยู่ย่อมเป็นไปตามบิดา เมื่อบิดาจะเดินทางออกไปจากประเทศไทย บุตรก็จะต้องเดินทางออกไปพร้อมบิดาได้ สิทธิที่จะอยู่ในประเทศไทยขึ้นอยู่บิดา

เมื่อบิดาถาม อ.มิวว่า แต่ปัจจุบันมารดาถูกจำคุกข้อหามีและใช้บัตรปลอม ... บิดา...จะเอาเด็กกลับสิงคโปร์จะต้องทำอย่างไรบ้าง ? ... เด็กสามารถเดินทางออกนอกไทย โดยใช้พาสปอร์ตของสิงคโปร์เลยได้ใช่ไหมคะ  ถ้าเด็กมีพาสปอร์ตของสิงคโปร์แล้ว  คำตอบ ก็คงชัดเจนว่า บิดาก็คงพาบุตรที่ไร้การดูแลของมารดา กลับไปสิงคโปร์ได้ ประเทศไทยคงไม่ปฏิเสธหรือไม่อาจจะปฏิเสธสิทธิของบิดาที่จะพาเด็กออกไปจากประเทศไทย เราอาจจะต้องกังวลประเด็นการค้ามนุษย์ที่มีคนปลอมตัวมาเป็นบิดาเพื่อนำเด็ดออกไปขายในต่างประเทศไทย แต่เมื่อเอกสารการจดทะเบียนการเกิดตามกฎหมายไทยและการพิจารณาของศาลสิงคโปร์รับรองความเป็นบิดาที่แท้จริงของเด็กแล้ว การจะปฏิเสธสิทธิของบิดานั้นก็น่าจะทำมิได้

----------

กลับมาพิจารณาประเด็นการแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนตามกฎฆมายไทยของเด็ก 

----------

อ.มิวถามว่า “เลขประจำตัวของเด็กก็ถือว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยใช่ไหมคะ ทางสำนักงานเขตบอกว่าฐานข้อมูลระงับเลขของน้องเขาไว้ด้วยค่ะ” อันนี้ ไม่แน่ใจว่า มีคำตอบจาก อ.วีนัสหรือไม่ ? ซึ่งหากมี อ.มิวก็น่าจะเอาความรู้มาแบ่งปันกับมวลมิตรนะคะ หรือ อ.วีนัสยังมิได้ตอบ ก็ควรจะตอบนะคะ

เราควรจะศึกษาว่า มีปกติประเพณีที่ฝ่ายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่ ?

โดยหลักกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย[3] เด็กคนนี้ไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย เขาก็ย่อมจะมีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๑ ไม่ได้ เพราะกฎหมายไทย กำหนดว่า คนที่ทรงสิทธิในเลขประจำตัว ๑๓ หลักที่ขึ้นต้นด้วย ๑ ต้องเป็น “คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งการเกิดภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด” แต่อย่างไรก็ตาม เด็กในขณะเกิดก็มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามบิดา ซึ่งเป็นบุคคลผู้ทรงสิทธิในเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๖ เพราะเขามีสถานะเป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายในลักษณะชั่วคราว และคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้แก่ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายในลักษณะชั่วคราว และคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และเด็กก็จะเป็นบุคคลผู้ทรงสิทธิในเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ เพราะเขามีสถานะเป็น “บุตรของบุคคลประเภทที่ ๖ ซึ่งเกิดในประเทศไทย”

ปัญหาทางปฏิบัติของกรมการปกครองที่เราอยากทราบก็คือ การแก้ไขเลขประจำตัว ๑๓ หลักที่เด็กได้รับไปแล้วจะได้รับการแก้ไขโดยเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองเอง หรือรอจนกว่าจะมีการร้องขอให้แก้ไข ? และใครล่ะที่ควรจะเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะแก้ไข ?

อ.แหววอยากเห็นวงเสวนาวิชาการในเรื่องนี้ แต่ไม่ทราบว่า จะเกิดขึ้นได้ไหม ? หลังจากที่ อ.แหวว เขียนบันทึกนี้แล้ว อยากเห็นใครสักคนเขียนตอบค่ะ อย่างน้อยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอีเมลล์หรือบล็อกก็น่าจะเป็นน้อยที่สุดที่เราจะทำได้ แต่ก็ไม่ทราบว่า เรานี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ?

----------

ข้อค้างคาใจ 

----------

และ อ.แหวว ก็มีความค้างคาใจ ๒ ประการ กล่าวคือ

ความค้างคาใจประการแรก ก็คือ ในวันนี้ มารดาของเด็กอยู่ที่ไหน ? เป็นใครกัน อ.แหววกลัวว่า เธอจะเป็นอดีตคนชาติพันธุ์ที่มีสัญชาติไทย แต่ด้วยความไม่รู้กฎหมาย จึงไปซื้อบัตรประชาชน แทนที่จะไปร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องนี้อาจเหมือนเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งแห่งอำเภอแม่อายที่ อ.แหวว จำติดใจ

ความค้างคาใจประการที่สอง ก็คือ ในวันนี้ เด็กคนนี้อยู่ที่ไหน ? บิดาบรรลุความสำเร็จที่พาเขาออกไปเลี้ยงดูในประเทศสิงคโปร์หรือไม่ ? หลายหนที่เรื่องราวหารือของเราไม่ได้รับการติดตามจนจบ เราอาจมีข้อแก้ตัวสารพัดว่า เราไม่มีเวลา เรื่องเข้ามามากมายเหลือกัน แต่สิ่งที่จะปฏิเสธมิได้ ก็คือ เรายังทำหน้าที่ของเราไม่เสร็จสิ้น

หากใครรู้จักครอบครัวนี้ และทราบตอนจบ โปรดบอกเราด้วยค่ะ อ.แหววจะสบายใจมากขึ้นค่ะ ขอขอบคุณล่วงหน้า 

----------

 


[1] มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

[2] มาตรา ๑๘, ๑๙, ๑๙/๑, ๒๐, ๒๐/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

[3] มาตรา ๑๖ วรรคแรก  แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ บัญญัติว่า “ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน” และข้อ ๑๕๒ (๒) แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า “คนประเภทที่ ๑ ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งการเกิดภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด”

เรื่องเล่าจากอาจารย์มิวเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓

: กรณีศึกษาเกี่ยวกับการจัดการผลกระทบต่อสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย

อันเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยสถานะบุคคล

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=510&d_id=509

http://gotoknow.org/blog/people-management/347766

หมายเลขบันทึก: 347766เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2010 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลังจากวันนั้นก็ติดต่อกับเคสไม่ได้ค่ะ แต่จะลองถามจากคนที่ส่งมาให้อีกทางค่ะ แล้วได้คุยกับพี่วีันัสถึงทางออกของเด็กค่ะ ดังนี้

๑. สูติบัตรที่เกิดจากการแจ้งโดยใช้หลักฐานเท็จหรือเอกสารปลอม ในทางปฏิบัติจะต้องยกเลิกสูติบัตรนั้นและจำหน่ายรายการของเด็กตามสูติบัตรซึ่งรวมถึงเลข ๑๓ หลักด้วย แล้วให้ผู้มีหน้าที่แจ้งเกิดทำการแจ้งการเกิดให้กับเด็กใหม่ตามข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในขณะที่เด็กเกิด ซึ่งกรณีตามเคสมีความเป็นไปได้อย่างน้อย ๒ กรณีคือถ้าแม่เด็กมีหลักฐานหรือพยานบุคคลรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย เด็กก็ยังคงได้สัญชาติไทยและได้รับสูติบัตร ท.ร.๑ เด็กจะมี ๒ สัญชาติ (ไทยและสิงคโปร์) แต่ถ้าแม่เด็กไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยหรือยอมรับว่าตนไม่ใช่คนไทย เด็กก็จะไมได้สัญชาติไทยและจะได้สูติบัตร ท.ร.๓ ถ้าพ่อเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย เด็กก็จะมีสัญชาติสิงคโปร์ตามพ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย

๒. พ่อเด็กยังไปแจ้งเกิดเด็กที่สถานทูตสิงคโปร์ได้ จะทำให้เด็กได้รับสูติบัตรของสิงคโปร์

จากเรื่องเล่าเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกไปถึงพ่อสัญชาติไทยแจ้งเกิดลูก โดยใช้ชื่อแม่ตามท.ร.38/1 แทนที่จะเป็นชื่อจริงตามบัตรประชาชนพม่า คนหนึ่งซึ่งผมเห็นสูติบัตร

แล้วหวนคิดขึ้นมาว่าวันหนึ่งหากพ่อถึงแก่กรรมขึ้นมา ญาติทางฝ่ายพ่อไม่ต้องการหลาน แม่จะพาลูกคนนี้กลับไปฝั่งพม่าอย่างไรให้เต็มสิทธิที่พึงมีได้สมบูรณ์

เพราะอะไรนะหรือ เพราะว่าเด็กคนนี้ยังต้องถูกพิสูจน์อีกว่าใช่ลูกของคนที่เกิดจากคนสัญชาติพม่าหรือไม่ ถามว่าเป็นเพราะอะไรทำไมจึงไม่แจ้งเกิดชื่อที่ถูกต้องแท้จริง ชื่อที่ถูกต้องแท้จริงใช้ชื่อไหน (ชื่อตามท.ร.38/1 หรือชื่อตามหนังสือเดินทางที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว หรือชื่อตามชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศต้นทาง)

แล้วคนที่จะเลือกชื่อของพ่อแม่เด็กบันทึกเข้าไปคือใคร 1.นายทะเบียนห้องคลอด ขณะที่กรอกชื่อบิดามารดาในท.ร.1/1 2.นายทะเบียนสำนักทะเบียน ขณะที่พิมพ์ชื่อบิดามารดา 3.พ่อแม่ควรจะบอกชื่อที่ถูกต้องแท้จริงว่าอย่างไรดี

ครับเรื่องนี้ก็ค้างคาใจผมอยู่เช่นกัน

ส่วนกรณีข้างต้น เราไม่ทราบเรื่องราวของมารดา จึงมิอาจเดาชะตากรรมภายหลังจากพ้นโทษจะเป็นอย่างไร เด็กจะได้อยู่กับแม่หรือไม่ ในลักษณะอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท