การเล่นหลอในจังหวัดนครศรีธรรมราช


การหลอ

การเล่นกาหลอในจังหวัดนครศรีธรรมราช

 

เกริ่นนำ

กาหลอ   เป็นการละเล่นประโคมดนตรีเพื่อใช้ประกอบในงานศพ  ทำนองเดียวกับการสวดคฤหัสถ์หรือสวดมาลัย  เข้าใจว่าคงนิยมเหมือนกับการเล่นซอพื้นเมืองของภาคเหนือ  ซึ่งเดิมก็เล่นเฉพาะในงานศพ  กาหลอมีปรากฏว่าเล่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาแต่อดีต  แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีการพบเห็นการเล่นกาหลอบ่อยนัก  คาดว่าน่าจะกำลังหมดความนิยม  เพื่อให้เห็นลักษณะเด่นของการเล่นกาหลอในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ในบทนี้จะได้กล่าวในรายละเอียด  ประกอบด้วย  การเล่นกาหลอในอดีต  และคณะกาหลอในจังหวัดนครศรีธรรมราช   ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

ตำนานกาหลอ

ตำนานกาหลอ  นักวิชาการกล่าวอ้างไว้หลายท่านทั้งนักวิชาการในท้องถิ่นใต้ และนักวิชาการที่ทบทวนวรรณกรรมจากแหล่งศึกษาต่าง ๆ แล้วสรุปเป็นเอกสารทางวิชาการพอจะสรุปประมวลความลักษณะการเกิดและที่มาจนกล่าวอ้างเป็นตำนานของกาหลอไว้น่าสนใจ  สามารถแยกได้เป็น ๒  กระแส  กล่าวคือ

กระแสที่ ๑ เชื่อกันว่า  กาหลอเป็นเสียงฆ้องสวรรค์  ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อกันว่า  สมัยพุทธกาลเมืองพระพุทธเจ้ายังคงพระชนม์  (ชีพอยู่  ณ  วัดแห่งหนึ่งริมแม่น้ำ จากลานวัดมีบันไดทอดลงไปในแม่น้ำ   สำหรับพระภิกษุชำระร่างกาย  มีเด็กวัด ๒ คนเป็นเด็กซุกซนมาก  ชอบมาใช้บันไดท่าน้ำมากกว่าคนอื่นๆ  พระอธิการวัดได้ห้ามปรามแล้ว แต่เกไม่เชื่อฟัง  ท่านจึงเอาหลาว  ไปปักไว้แต่เด็กที่ไปเล่นที่ท่าน้ำก็มิได้โดนหลาวตำ  ต่อมา  พระอธิการวัดรู้สึกร้อนจัด  ได้กระโดลงไปในน้ำทันที่โดยลืมเรื่องหลาวทีท่านปักเอาไว้  หลาวอันนั้นจึงตำถูกหน้าอกท่าน  พระภิกษุลูกวัดได้พยายามช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ  จึงไปทูลพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จไปดึงพระอธิการพร้อมกับหลาวเหล็กขึ้นมา  และได้เรียกประชุมพระสงฆ์ภายในวัดนั้น  เพื่อแสดงภูมิรู้และพระธรรมวินัย  เมื่อทราบถึงวามรู้ความสามารถของพระภิกษุ  พระพุทธองค์จึงแต่งตั้งภิกษุเหล่านั้นตามความรู้ความสามารถ คือ เป็นท่านกาแก้ว  ท่านการาม  ท่านกาชาด  และท่านกาเดิม (ตำแหน่งทั้ง ๔ เป็นตำแหน่งพระครูผู้ช่วยรักษาพระบรมธาตุ ทั้ง ๔ ทิศ  โดยเชื่อว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช  ทรงเป็นผู้แต่งตั้งเพื่อดูแลพระบรมธาตุเมืองนคร  ซึ่งจะพบตำแหน่งนี้ในหัวเมืองภาคใต้ เช่น ไชยา  นครศรีธรรมราช  พัทลุง  และอีกสองรูป (ไม่ปรากฏนาม)  ส่วนอีกรูปเป็นพระภิกษุที่มาทีหลังสุดเมื่อเลิกประชุมแล้ว  เพื่อให้สามารถแสดงธรรมในทั้งเจ็ด  จึงทรงให้ชื่อตำแหน่งว่า  “กาหลอ”  ตามคำบอกเล่าของผู้ให้ความรู้ว่า “หลอ”  หมายถึง “ขาด” หรือไม่มาประชุม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาณแล้ว พระภิกษุทั้งเจ็ดรูปมาประชุมพร้อมกันว่าจะจัดอะไรเป็นพุทธบูชาพระบรมศพ  ท่านกาเดิมได้คิดทำปี่ขึ้นมาเลาหนึ่ง  ท่านกาเดิมคิดทำโทน (ทน) ขึ้นมา ท่านกาแก้วคิดทำโทนส่วนท่านกาชาดคิดทำฆ้องขึ้นเพิ่มขึ้นมาแล้วใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้ตีบรรเลงแห่นำพระบรมศพของพระพุทธเจ้า  และครั้งนั้นนับเป็นการบรรเลง  หรือการแสดงกาหลอขึ้นเป็นครั้งแรก 

กระแสที่ ๒  เชื่อว่า กาหลอน่าจะกำเนิดขึ้นในสมัยพุทธกาล  (ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดแน่ชัด)  เป็นการประโคมดนตรีเพื่อแห่นำเศียรของมหาพรหมการที่ใช้กาหลอ ประโคมแห่นำเศียรมหาพรหมมีตำนานประกอบเล่าสืบต่อกันมาเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้เล่นกาหลอดังนี้  มีพี่น้องคู่หนึ่งคือมหาพราหมณ์และมหาพรหม วันหนึ่งมหาพรหมผู้น้องได้ถามปัญหาแก่มหาพราหมณ์ผู้พี่เรื่อง “มนุษย์ ๓ ราศี”   เมื่อมหาพราหมณ์ตอบไม่ได้ก็ให้เวลา  ๗  วัน  เพื่อหาคำตอบถ้าตอบไม่ได้ก็จะทำพิธีตัดเศียรมหาพราหมณ์   แต่ถ้าหากตอบได้ตัวเองก็จะยินยอมให้ตัดเศียรตัวเองเช่นกัน   มหาพราหมณ์คิดตอบปัญหาอยู่เป็นเวลา ๕ วัน  ก็ไม่สามารถตอบได้  จึงหนีเข้าป่า ขณะที่พักนอนอยู่ที่โคนต้นไม้ใหญ่ก็ได้ยินเสียงคุยระหว่างแม่นกอินทรีกับลูกนกเกี่ยวกับเรื่องที่มหาพรหมจะตัดเศียรตน  ถ้าหากตอบปัญหาไม่ได้   ลูกนกอินทรีได้ถามถึงปัญหาดังกล่าว  แม่นกก็อธิบายหัวข้อปัญหาและคำถามให้ลูกนกฟัง   ทำให้มหาพราหมณ์ทราบว่า  “มนุษย์”   นั้นในวันหนึ่งมนุษย์จะมีราศีอยู่ที่หน้า  หน้าอก  และเท้า  จึงต้องใช้น้ำล้างหน้าในตอนเช้า   ลูบอกในตอนกลางวัน   และล้างเท้าในตอนเย็น  มหาพราหมณ์จึงเดินทางไปตอบปัญหาของมหาพรหมได้ถูกต้อง  และไม่ยอมตัดเศียรมหาพรหมผู้น้อง  แต่มหาพรหมก็ไม่ยอม  ได้อ้อนวอนให้มหาพราหมณ์ตัดเศียรของตนให้ได้   หลังจากตัดเศียรมหาพรหมแล้ว ธิดาของมหาพรหมได้นำเศียรของบิดาเข้าไปเก็บรักษาไว้ในถ้ำ   ขณะที่ประโคมคุมเศียรและแห่เพื่อนำไปเก็บรักษา  การละเล่นกาหลอเป็นดนตรีที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธกาล  มีพื้นฐานความเชื่อว่า  กาหลอเป็นดนตรีที่นำวิญญาณของคนตายไปสู่สรวงสวรรค์  ข้อมูลที่กล่าวนี้ผู้วิจัยเชื่อว่าคงมาจากการเล่าปากต่อปาก  จากแหล่งของต้นฉบับที่มีความจดจำไม่เท่าเทียมกัน  อย่างไรก็แล้วแต่ ตำนานการละเล่นกาหลอคงเกิดขึ้นจริงเป็นปฐมและมีการเล่าขานตกแต่งเพื่อเสริมเนื้อเรื่องเข้าไปบ้างทั้งหมดนั้นเป็นเพราะความเชื่อศรัทธาและศักดิ์สิทธิ์ของตำนานที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ 

 

องค์ประกอบของการละเล่นกาหลอ

องค์ประกอบที่สำคัญของการละเล่นกาหลอที่มีอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ประกอบไปด้วย  การฝึกหัดกาหลอ   ความเชื่อเกี่ยวกับการประโคมกาหลอ   ขั้นตอนก่อนการประโคมกาหลอ  โรงกาหลอ  วงกาหลอ   เครื่องดนตรีกาหลอ  เครื่องประกอบพิธี  การแต่งกาย  ทุกองค์ประกอบที่กล่าวอ้างข้างต้นล้วนมีความสำคัญสำหรับการละเล่นกาหลอทั้งสิ้น  และเพื่อให้เข้าใจกระบวนการ  การละเล่นกาหลอ  จึงได้กล่าวรายละเอียดตามลำดับ  ดังนี้

๑.  การฝึกหัดการละเล่นกาหลอ

 การฝึกหัดกาหลอ  ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธ์(๒๕๔๔:  ๒๕๕) กล่าวไว้น่าสนใจว่า  การละเล่นกาหลอผู้แสดงมักสืบทอดต่อกันมาตามสายสกุล คนนอกที่บรรพบุรุษไม่เคยเล่นกาหลอมาก่อน  ก็สามารถฝึกได้ไม่มีกฎห้าม แต่การฝึกหัดมักฝึกหัด ยากกว่าคนที่สืบสกุลกาหลอมาโดยตรง  สำหรับคนในสกุลที่เล่นกาหลอถ้าจะไม่เล่นกาหลอต่อไปก็ได้  คืออาจไม่ชอบ  ไม่ถนัด  แต่เข้าก็ต้องเข้าพิธี “ครอบมือ”  ทุกคน  คือเวลาเขาเล่นกาหลอตนก็เข้าร่วมวงบรรเลงด้วย  โดยเล่นดนตรีอย่างไหนก็ได้ตามถนัดหรือง่าย  เช่น ตีกลอง  ตีฆ้อง  เพื่อเป็นการแสดง “ครูหมอ”  บรมครูกาหลอ  เห็นว่าได้ปฏิบัติหน้าที่สืบสกุลกาหลอถูกต้องแล้วการฝึกหัดเล่นปี่เป็นเครื่องดนตรีที่ฝึกหัดยากที่สุด  เพราะอยากทั้งการเป่าแบบไม่เปิดปากหายใจ  และการจดจำเนื้อทำนองเพลงต่างๆ    เพราะไม่มีโน้ตเนื่องจากไม่มีการเขียนเป็นตำราตัวหนังสือไว้ไห้หัดอ่านหรือทบทวนได้    ต้องอาศัยจากการจดจำจากครูกาหลอเอาที่ละเล็กละน้อย  คือต้องจดจำเสียงและจังหวะของปี่เอาเอง  ผู้เรียนจึงมักท้อถอยเรียนไม่สำเร็จเสียมากดังนั้นกาหลอจึงเสื่อมโทรมลงทุกที    อีกทั้งมีผู้ที่เป็นผู้เล่นกาหลอจะมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ค่อนข้างเคร่งครัดผู้ฝึกหัดกาหลอจึงได้ลดน้อยลง

๒.  ความเชื่อเกี่ยวกับการประโคมกาหลอ

    ความเชื่อเกี่ยวกับการเล่นกาหลอในอดีตที่บอกเล่าและสืบทอดกันมามีหลายกิจกรรม  อันเป็นผลสืบเนื่องจากการละเล่นชนิดนี้น่าจะใช้ประกอบการเล่นในงานอวมงคล  ดังนั้น  การที่จะทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือและน่าเชื่อมั่นสำหรับการประกอบกิจกรรมจึงปรากกฎในหลายลักษณะ  กล่าวคือ

      ๒.๑  ความเชื่อเกี่ยวกับขั้นตอนการแสดง

                  ความเชื่อเกี่ยวกับขั้นตอนการแสดงนั้น  เมื่อคณะกาหลอเดินทางออกจากบ้านหรือเมื่อรับงานแล้ว  จะไม่กลับมาบ้านจนกว่างานจะแล้วเสร็จหรือถ้าหากมีความจำเป็นจริง ๆ  จะต้องเดินทางกลับบ้านเข้าได้แค่อาณาบริเวณบ้านไม่สามารถเข้าไปในตัวอาคารบ้านได้  เมื่อไปถึงบริเวณโรงพิธีคณะกาหลอจะต้องตรวจดูโรงพิธี  ถ้าไม่ถูกต้อง  จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามขนบนิยม  ยกเว้นโรงพิธีที่อยู่ในบริเวณวัด  เน้นความเรียบง่ายและสะดวก  การเดินเข้าโรงพิธีจะต้องให้หัวหน้าคณะเดินนำเข้าไปก่อน   ในระหว่างการแสดงหรือการประโคมวงดนตรีนั้นมีกฎข้อห้ามอีกหลายข้อ  เช่น  ห้ามพูดคุยกับผู้หญิง  นอกจากมีเหตุจำเป็น ห้ามรับประทานอาหารบริเวณอื่นนอกจากในโรงพิธี  การรับประทานอาหาร  ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้ใดและอาหารจะต้องไม่ปะปนกับใคร  เว้นแต่อาหารที่เหลือจากพระสงฆ์  ส่วนใหญ่รับประทานอาหารหลังจากพระสงฆ์ทานเสร็จแล้ว  ขณะแสดงจะพูดทักทายกับใครนอกโรงหรือจะชักชวนใครให้เข้ามานั่งในโรงพิธีไม่ได้  เพราะถือว่าเป็นการชักชวนผีให้เข้ามาในโรงพิธี  หลังการแสดง เมื่อประโคมวงดนตรีกาหลอเป็นที่เรียบร้อยเมื่อกลับถึงบ้านต้องให้ภรรยาเป็นผู้ตักน้ำและล้างเท้าก่อนเดินขึ้นบันใดบ้าน

     ๒.๒   ความเชื่อเกี่ยวกับปี่

                 เชื่อว่าครูหมอปี่  จะมีอิทธิพลสูงมากในการบันดาลให้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการแสดง  ดังนั้นการวางปี่  จะต้องวางบนที่สูง  หรือที่สูงห้ามผู้ใดไปแตะต้องโดยไม่ได้รับอนุญาตห้ามเดินข้ามถ้าไม่ปฏิบัติจะทำให้เจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ  เช่นปวดหัวเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ  วิธีการนำปี่ลงจากหิ้ง  จะต้องทำพิธีคืนหมาก  ๓  คำ  เทียน  ๑  เล่ม   ทำพิธีบูชาครูก่อนที่จะนำลงมาได้  และเพื่อนำไปแสดงในพิธีกาหลอ  หรืองานที่เป็นพิธีรีตองเท่านั้น ทั้งนี้มีความเชื่อว่าครูหมอกาหลอจะอยู่คู่กับปี่เท่าเสมอ  ชาวบ้านใกล้เคียงได้ยินเสียงปี่ในขณะที่ไม่ได้เป่าแสดงว่าเป็นสัญญาณที่จะต้องไปเป่าปี่  ณ  งานศพใดงานศพหนึ่งอันใกล้ ดังนั้น ผู้ที่จับต้องปี่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของและส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย  ครูหมอปี่จะคุ้มครองดูแลบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  บ้านจะไม่มีโจนขโมย  เนื่องจากจะมีเสียงแสดงให้รู้ว่าบ้านนี้มีเจ้าของอยู่  ตลอดเวลา  เจ้าของผู้เป่าปี่จะต้องปฏิบัติตน  ตามธรรมเนียมปฏิบัติ  เช่น  ไม่พูดเท็จ  ไม่ประพฤติผิดในกาม  ไม่นั่งร่วมเสื่อกับผู้หญิง  ไม่รับประทานอาหารที่ผู้อื่นรับประทานแล้ว  (นอกจากพระสงฆ์)  ก่อนรับประทานอาหารจะต้องเซ่นไหว้ครูหมอปี่ก่อน

                     ๒.๓   ความเชื่อเกี่ยวกับกลองทน

                    ห้ามผู้ใดเดินข้าม  การปฏิบัติตนตามธรรมเนียมปฏิบัติ  ไม่พูดเท็จ  ไม่ประพฤติผิดในกาม    ไม่นั่งร่วมเสื่อกับผู้หญิง  ไม่รับประทานอาหารที่ผู้อื่นรับประทานแล้ว  (นอกจากพระสงฆ์)  ก่อนรับประทานอาหารจะต้องเซ่นไหว้ครูหมอกลองทนก่อน  (โดยการนำอาหารวางใกล้ชิดติดกับกลอง)

                      ๒.๔   ความเชื่อเกี่ยวกับฆ้อง

                                  ห้ามผู้ใดเดินข้าม  ฆ้องจะต้องอยู่รับเดียวกับกลองทน  แต่ต่ำกว่าระดับปี่   การปฏิบัติตนตามธรรมเนียมปฏิบัติ  ไม่พูดเท็จ  ไม่ประพฤติผิดในกาม  ไม่นั่งร่วมเสื่อกับผู้หญิง  ไม่รับประทานอาหารที่ผู้อื่นรับประทานแล้ว  (นอกจากพระสงฆ์)  ก่อนรับประทานอาหารจะต้องเซ่นไหว้ครูหมอฆ้องก่อน

                      ๒.๕   ความเชื่อเกี่ยวกับเพลง

                                 เพลงกาหลอเป็นเพลงมาตรฐานมีโดยทั่วไป  ประกอบด้วย  ๑๒  เพลง  ดังนี้  เพลงขอไฟ,  เพลงจุดไฟ,  เพลงไหว้พระ,  เพลงลาพระ,  เพลงฬ่อบัด,  เพลงขันเพ็ชร,  เพลงไม้พัน,  เพลงรั้วยาน,  เพลงสุริยน,  เพลงมอญ,  เพลงนกเปร้า,  เพลงทอมท่อม  ห้ามเป่าปี่เพลงลาโรง  และเพลงส่งพระพาย  จำนวนสองเพลงในบ้านเรือนของตนเอง 

                ๓.  วงดนตรีกาหลอ

       วงดนตรีกาหลอ  ประกอบด้วยเครื่องดนตรีจำนวน  ๓  ชนิด  คือ

                       ๓.๑   ปี่ฮ้อ  ทำจากไม้พอหรือไม้เนื้อแข็ง  พันด้ายสายสิญจน์  ประดับลูกปัดให้สวยงามส่วนใหญ่จะมี  ๒  ขนาด คือ  ปี่ใหญ่  ยาวประมาณ  ๑๖  นิ้ว  ให้เสียงใหญ่  ทุ้ม  และปี่เล็ก  ยาวประมาณ  ๑๔.๕  นิ้ว  ให้เสียงเล็ก  แหลม      

                        ๓.๒   ทน  (กลอง)  มี  ๒  ใบ  ใบใหญ่เรียกว่าใบแม่  ใบเล็กเรียกว่าใบลูก  ไม้ตี  เป็นรูปโค้งทำจากไม้ที่มีน้ำหนักมาก  เป็นเครื่องดนตรีที่ตี  เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น  ซึ่งมี ๒  ขนาด  คือ ใบใหญ่มีขนาดประมาณ  ๑๔.๙  นิ้ว และใบเล็ก  ยาวประมาณ  ๑๔.๗  นิ้ว 

        ๓.๓   ฆ้อง  ทำจากทองเหลืองลักษณะคล้ายกับฆ้องที่ใช้ตีในวัด  แต่จะเลือกฆ้องที่ มีเสียงก้องกังวานเสียงดัง  ขนาดหน้ากว้างประมาณ  ๒๑.๕  นิ้ว  ไม้ตีฆ้อง  ขนาด  ๓.๙  นิ้ว  หัวสำหรับตีทำด้วยยางเส้นผ่าศูนย์กลาง  ขนาด  ๓.๕  นิ้ว  เมื่อตีแล้วจะเด้งออก  ลักษณะเหมือนบูมแรง 

๔.   เพลงกาหลอ

        ในวงดนตรีกาหลอ  คนเล่นปี่  หรือที่เรียกกันว่า  “หมอปี่” จะเป็นผู้นำทำนอง  ทนตีตามจังหวะเพลงปี่  และฆ้องตีตามจังหวะเพลงทน  ถ้าเครื่องดนตรีสามสิ่งนี้  สอดประสานกันอย่างเข้ทำนอง  เพลงกาหลอ  จะไพเราะเพราะพริ้ง  ยิ่งถ้าคนฟังรู้เนื้อในเสียงเพลงนั้นด้วยก็จะยิ่งซาบซึ้งเศร้าสร้อย  บางคนถึงกับน้ำตาไหล  เพลงที่ใช้บรรเลง  มี  ๒  ประเภท  คือเพลงคาถา  และเพลงโทน

เพลงคาถา  เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องประกอบ  เช่น  เพลงไหว้พระ, เพลงลาพระ,  เพลงฬ่อบัด,  เพลงขันเพชร,  เพลงไม้พัน,  เพลงแสงทอง,  เพลงสุริยน,  เพลงรั้วยาน,  เพลงลาโรง  

เพลงโทน  เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องประกอบ  เช่น  เพลงทองสี,  เพลงนกกรง,  เพลงนกเปล้า,  เพลงพรายแก้ว,  เพลงพลายทอง,  เพลงทอมท่อม,เพลงแสงทอง,  เพลงขอไฟ,  เพลงจุดไฟ,  เพลงนกกระจอกเต้น,  เพลงพี่ทิดโสธร,  เพลงสร้อยทอง

                เมื่อเพลงปี่กาหลอขับขานขึ้นผีสางดวงวิญญาณจากทั่วสารทิศจะเร่กันเข้ามาฟัง  ขณะเดี่ยวกันหมอปี่ก็จะใช้เพลงขับกล่อม  แผ่เมตตา  และว่าคาถาส่งไปในเพลงปี่  ให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นไปสู่ที่ชอบ  การบันทึกเสียงดนตรีแล้วไปเปิดที่อื่นต่อ  จึงถือเป็นข้อห้ามโดยเด็จขาดสำหรับเพลงกาหลอเพราะเสียงในเทปไม่มีคาถาส่งวิญญาณ  เมื่อปวงผีมารวมกันแล้วไม่ถูกควบคุมและส่งไปสู่ที่ชอบ  ก็อาจเกิดเหตุเภทภัยร้าย ๆ  ขึ้นได้  แต่มีข้อยกเว้นถ้าเป็นการเปิดในวัดหรือเพื่อการศึกษา  เพลงที่ใช้ในการเป่าปี่บรรเลงของคณะกาหลอ  มีจำนวนหลายเพลงจะไม่เหมือนกันทุกคณะแต่จะมีเพลงที่เป็นพื้นฐานจำนวน  ๑๒  เพลง  (ลำดับที่  ๑-๑๒)  เพลงที่บรรเลงในวันแรก  เริ่มงานเวลา  ๑๙.๐๐  น.  จะบรรเลงเพลงลำดับที่  ๑-๑๒  และสลับกับการสวดพระอภิธรรมศพ  เช้าของวันรุ่งขึ้น  (วันถัดไป)  จะเริ่มบรรเลงเพลงที่  ๓-๑๒  และสลับกับเพลงอื่น  ๆ  จนถึงเวลาแห่ศพไป  ณ  ฌาปนสถาน  (เมรุ)  จะบรรเลงเพลงทอมท่อม  เพลงลาโรงและเพลงส่งพระพายตามลำดับ  สำหรับเพลงลาพระและเพลงส่งพระพาย  จะไม่บรรเลงในบ้านเรือน 

 

คณะกาหลอในจังหวัดนครศรีธรรมราช

คณะกาหลอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สำรวจได้ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙  มี ๓  คณะประกอบด้วย คือ  คณะกาหลอแฟ๊ต บ้านเลขที่  ๑๐๓  หมู่ที่  ๔  ตำบลนาไม้ไผ่  อำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ๘๐๑๑๐  คณะกาหลอประคอง บ้านเลขที่ ๑๔๑ หมู่ที่ ๒  ตำบลแก้วแสน  อำเภอนาบอน  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ๘๐๑๖๐   และคณะกาหลอบุญจันทร์  บ้านเลขที่  ๑๓๐  หมู่ที่  ๔  ตำบลถ้ำใหญ่  อำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ๘๐๑๑๐

               

บทสรุป

                การเล่นกาหลอของศิลปินในจังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นภูมิปัญญาที่สื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นอยู่โดยพื้นฐานพื้นเพของความเป็นอัจฉริยะบุคคลที่มีความประณีตในทุกขั้นตอนของการดำรงอยู่ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  จะเห็นได้ว่าการเล่นลักษณะดังกล่าวนี้ใช้เล่นเพื่อประโคมบรรเลงเคียงคู่กับความตายมาโดยตลอด  โดยทั่วไปนั้นการตายเป็นสิ่งสุดท้ายของการมีชีวิตสำหรับการประกอบกิจกรรมของมนุษย์ปุถุชนโดยทั่วไป  ดังนั้น โดยกระแสนิยมของชนเผ่าอื่น ๆ อาจมีการอำลาล้างสิ่งมณทินที่คาดว่าจะเกิดแก่ผู้ตายให้บริสุทธิ์เพื่อภพภูมิที่ดีในชาติต่อไป  จากนั้นจะมีการตั้งศพเพื่อบำเพ็ญกุศลและสำหรับให้บุคคลต่างๆ กราบไหว้ร่างไร้วิญญาณเพื่อเป็นอนุสติที่ดีไว้รำลึกในระยะต่อมา   ภาระกิจของคนเป็นก็มีแค่ที่กล่าวเมื่อถึงวันเวลาก็จะนำร่างไปฝังหรือเผาตามประเพณีนิยม

ในทางกลับกันกลุ่มศิลปินซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคนในสังคม  ยังสร้างมิติของการสร้างสรรค์ซึ่งสามารถยังประโยชน์ในหลายกรณี  เช่น  กรณีของเจ้าภาพที่ต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป  ยังมีกลุ่มคนที่อยู่ร่วมสำหรับเป็นกำลังใจ  ตั้งแต่เริ่มงานจนสำเร็จเสร็จสิ้นภารกิจ  นอกจากนี้ยังมีสิ่งแฝงเร้นสื่อแสดงให้เห็นถึงเบื้องลึกของจิตใจของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่มีความประณีตในการประกอบกิจกรรมแม้กิจกรรมสุดท้ายของการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์สังคม  ยังมีกิจกรรมที่งดงามปฏิบัติร่วมอยู่ด้วยตลอด  ซึ่งถือเป็นความประณีตของการประกอบกิจกรรมของคนในนครศรีธรรมราช  ที่ควรอนุรักษ์และร่วมฟื้นฟู  หากตรวจสอบตามคณะของกาหลอที่หลงเหลือในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ภาพสุดท้ายที่จะเป็นของคู่กับเมืองนครคือตำนานการกล่าวอ้างที่ไม่สามารถจะสืบค้นอดีตได้ดีเท่ากับต่ออายุวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป

หมายเลขบันทึก: 347692เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2010 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณรายละเอียดเพื่อการฟื้นฟูคะ

 

 

 

เก่งที่สุดในโลกเลยค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท