Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท : เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช พระวิปัสสนาจารย์ http://www.veeranon.com/

ต่อมาส่วนที่เป็นนามที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

ส่วนที่พอใจ คือ ความสุข ความสบาย

ส่วนที่เป็นเวทนา คือ ที่ไม่พอใจและที่ไม่ชอบคือความทุกข์ ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ

ส่วนเวทนาที่เรียกว่า  ความพอใจ และความไม่พอใจก็เป็นเวทนา

ความพอใจเรียกว่า  สุขเวทนา

ความไม่พอใจเรียกว่า  ทุกขเวทนา

ความเฉยๆ ขณะเรานั่งภาวนาพองหนอ ยุบหนออยู่นี้ สภาวะท้องพองท้องยุบ มันหายไป

มันมีสภาวะอาการของเวทนาเข้ามาแทรกแซง คือ

ปวดที่ขา รู้สึกง่วง หรือรู้สึกอึดอัดตรงนี้เรียกว่า ทุกขเวทนา

ปวดเหมือนกับระเบิด มันเหมือนจะแตกดับ เหมือนกับไฟไหม้

มันยิ่งปวดมากเมื่อพิจารณาปวดหนอๆ  มันก็ไม่หายปวด แต่มันยิ่งปวดมากขึ้นๆ ตรงนี้เรียกว่า ทุกขเวทนา

 

หากนั่งแล้วมีสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ มันมีเวทนาอยู่ไหม

ตอบว่ายังมีเวทนาตั้งอยู่ แต่เราไม่รู้สึกปวด

การที่รู้สึกเฉยๆ และนั่งนิ่งได้ ตรงนี้เรียกว่า  อุเบกขาเวทนา

คือ  มันเฉย มันทนได้ มันรอได้ เมื่อมีสมาธิตรงนี้อยู่

 

โดยเริ่มจาก ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จิตตั้งมั่นเข้ามาระยะ ๑

พอ อัปปนาสมาธิ จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ร่างกายก็ดีดขึ้นนั่งตั้งตรงโดยอัตโนมัติของกาย

 

นี่คือ   สภาวจิตและกายได้สมาธิ ถ้ามองดูก็รู้ลักษณะของผู้ทำสมาธิแล้วได้สมาธิ

หากผู้ไม่มีสมาธิก็จะนั่งโคลงเคลง เอียงไปเอียงมา ขยับตัวไปมาและหายใจไม่สม่ำเสมอ

 

นี่คือ ลักษณะของสภาวะสมาธิไม่เกิดขึ้น มันมีแต่ความอึดอัดขัดเคืองใจ มีจิตใจทุรนทุรายตลอดเวลา ฉะนั้น เมื่อเวลาทำสมาธิภาวนา

 

เราต้องนั่งตัวให้ตรง เมื่อตัวตรงแล้ว  ให้กำหนดภาวนาโดยอย่าเผลอสติและตั้งจิตภาวนาตลอดเวลา จึงจะมีสมาธิพอที่จะต่อสู้กับเวทนาได้

 

ตัวเวทนานอกกับเวทนาในมันต่างกันอย่างไร

เวทนานอก  ยกอย่างเช่น เมื่อได้ยินเสียงแล้วรู้สึกว่าเสียงนี้มันดังจริงๆ

บางทีได้ยินเสียงคนอื่นหายใจแล้วรู้สึกว่าเสียงดังจัง

บางครั้งมันทำให้รู้สึกอึดอัดและรำคาญใจ ทำให้เวทนาเกิดขึ้น

ทำให้เกิดความไม่พอใจ เราจึงเรียก

อาการนั่นว่าเวทนา

เป็นการเอาเวทนานอกมาเป็นเวทนาใน คือ  จับเอาสภาวะคนอื่นมา 

หรือเอาสภาวะของอาการของคนอื่นมาเป็นความทุกข์ในใจตนเอง

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเราขาดการมองด้านใน

เรามองแต่ด้านนอก จับสภาวะนอก มันจึงเกิดทุกข์กายเป็นทุกขัง

หรือเป็นทุกขลักษณะ ที่มันรับเข้ามาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะใจมันเคยชินอย่างนั้น

 

กรรมฐานเหมือนแว่นส่องใจ

 

การทำกรรมฐานเหมือนการเอาแว่นมาส่องใจ เราจะส่องให้เห็นชัดเจนมากน้อยเพียงใด

โดยส่องทั้งข้างนอกและข้างใน แต่เขาให้เราส่องข้างในให้มาก

 

เมื่อส่องข้างในได้ชัดเจนแล้ว การปฏิบัติของเราจะมีการเริ่มขยับเลื่อนชั้นขึ้นมาทีละชั้นๆ ทีละนิดๆ จนเกิดความเคยชิน

 

เมื่อความเคยชินเกิดขึ้นแล้ว กายมันก็จะเบา ใจมันก็จะเบา

มันไม่อึดอัดขัดเคืองเนืองแน่นหรือกระวนกระวายใจ

 

พอนั่งไปอาการพองหนอ ยุบหนอ มันชัดเจน โดยเห็นท้องพองก็ชัด ท้องยุบก็ชัด

ดูสภาวะอาการต้นการพองมันชัดเจน

 

เมื่อกำหนดเห็นได้ ทำให้เห็นสภาวะตัวนี้ภายในใจ เห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น

ตัวสภาวะนี้เกิดขึ้นที่ลักษณะอาการพองอาการยุบ หรือ

ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ

หากเห็นได้อย่างนี้ การปฏิบัติจะเกิดสภาวะเร็วขึ้นมา สภาวะของเวทนา

มันก็จะตัดเบาลงไป แต่ถ้าเวทนาเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำอย่างไร

เราก็กำหนดเวทนานั้น ท่านเรียกว่าอยากออกจากทุกข์ เราต้องรู้ทุกข์เสียก่อน

เหมือนกับเรารู้จักว่าไฟมันร้อน เมื่อเรารู้ว่าไฟร้อน เราก็ต้องออกจากความร้อนได้

 

ส่วนวิธีการที่จะออกจากความร้อนได้อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละท่านหรือแต่ละบุคคล

เหมือนกับคนรู้จักไฟกับคนที่ไม่รู้จักไฟ คน ๒ ประเภทนี้

 

หากถามว่า คนประเภทใดเมื่อจับไฟจะรับอันตรายมากกว่ากัน

คงตอบว่า  คนที่ไม่รู้จักว่าไฟนั่นแหละจะได้รับอันตรายมากกว่า

เพราะเมื่อไม่รู้จักไฟ ก็จะจับไฟเต็มมือ ไฟก็จะไหม้เต็มที่

 

หากคนที่รู้จักไฟก็จะรู้จักระวังตัวเองโดยเอานิ้วไปแหย่นิดๆ เสียก่อน

มันก็จะถูกไฟไหม้น้อยหรือไม่ไหม้เลย เปรียบเหมือนการที่ผู้ปฏิบัติรู้จักทุกข์ก็เช่นเดียวกัน

 

เมื่อรู้จักทุกขเวทนา ก็เข้าใจเวทนาและมีวิธีการที่จะต่อสู้กับเวทนา

คือ ข้าศึกที่เรามองไม่เห็นตัว แต่มันสามารถมาครอบงำตัวและใจได้

 

สภาวทุกข์ตัวนี้ ท่านเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 

วิธีการต่อสู้กับเวทนา

 

การที่ตัวเวทนาเกิดขึ้น เราต้องรู้จักวิธีการต่อสู้กับเวทนา

โดยการกำหนดปวดหนอๆ นั่นคือโยคีผู้ปฏิบัติปฏิบัติได้ชำนาญและได้สมาธิแล้ว

แต่ถ้าโยคีผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ก็ให้ภาวนาดูท้องพอง ท้องยุบ แล้วกำหนดปวดหนอๆ สัก ๒-๓ ครั้ง

หากยังมีเวทนาอยู่ ก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนสมาธิแก่กล้าขึ้นมา

เมื่อสมาธิแก่กล้าขึ้นมาพอที่จะกำหนดพิจารณาต่อสภาวะเวทนาได้

จึงวางพองหนอ ยุบหนอไว้ เมื่อมันปวด มันเกิดเวทนาก็กำหนดเวทนา

หากปวดก็ดูอาการปวด ดูที่มันปวด ปวดตรงไหนก็ดูตรงนั้น

โดยเอาจิตพิจารณาอย่างละเอียดลึกลงไปว่า  ขาปวด

มันปวดตรงไหนของขา จุดใดของขาที่มันปวด ปวดตรงเนื้อ ปวดตรงเอ็น ปวดตรงกระดูกหรือว่าที่ใดที่

หนึ่ง

ให้จับจุดให้เจอ ถ้าจับจุดไม่เจอ เขาเรียกว่า เกาไม่ถูกที่คัน มันก็ไม่หายคัน มันจะคันไปตะพึด คันไปทั้งตัว

ในที่สุดก็บอกว่าการเดินจงกรม การนั่งสมาธินั้นไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรเลย

เพราะปฏิบัติแล้วมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นเหมือนคนจะเป็นไข้

นั่นเป็นโรคมายาทางจิตมาหลอกหลอนเราแล้ว บางคนก็ต้องพับเสื่อกลับบ้าน

พอกลับไปแล้วเลิกนั่งกรรมฐาน เลิกเดินจงกรม ทิ้งกรรมฐานเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างนี้เขาเรียกว่าโรคมายา

บางทีเราไม่รู้เท่าทันมายา จึงกลายเป็นโรคแพ้กรรมฐานและยกธงขาวโบกมือลาก่อน

การทำกรรมฐานนี้มันทำให้ใจแพ้ได้ เพราะใจไม่แข็งพอ

เมื่อแพ้ใจแล้ว เราไม่ได้สัมผัสกับรสชาติแห่งกรรมฐานจะได้แต่การนึกคิดเอาเองเท่านั้นเอง

 

เวทนา...ทำให้เห็นตัวบรรลุธรรม

 

ในสมัยที่อาตมายังไม่ได้บวชก็เช่นกัน เมื่อเห็นพระเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิทั้งวัน ท่านไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนา

มองดูหลวงปู่ไม่ได้ทำอะไรเลย อาตมามองแล้วคิดว่าท่านคงสบาย

เพราะไม่ต้องทำอะไร เมื่อถึงเวลาเพลก็ไปฉันภัตตาหาร

เมื่อฉันเสร็จแล้วก็มานั่งสมาธิภาวนาทั้งวัน

แม้ฝนจะตกหรือแดดจะออก อากาศร้อนก็ไม่ใส่ใจและไม่สนใจเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

หลวงปู่นั่งอยู่อย่างนั้นทั้งวัน อาตมาสงสัยคิดในใจว่า “พระขี้เกียจจังเดี๋ยวจะไปบวชเป็นพระบ้าง จะได้ไม่ต้องทำอะไร

แต่พอมาบวชเป็นพระและได้มาทำกรรมฐาน จึงทำให้รู้รสชาติกรรมฐาน มันเผ็ดยิ่งกว่า

พริกขี้หนูเสียอีก

เพราะเวลามันปวดสิ่งที่เราไม่รู้อยู่ที่การสัมผัสเอง กับสิ่งที่เรารู้คือการคิดเอาเองมันต่างกันมาก

 

การทำกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน เราอย่าเพิ่งให้เป็นกรรมถอน ถอนราก ถอนโคนกลับบ้านไปหมด

โดยไม่เอากรรมฐาน

หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าจิตใจกับตัวสติมันไม่ทันต่อสภาวะที่มันเกิดขึ้น

 

ตัวเวทนานี้แหละมันสามารถเห็นตัวที่ทำให้เราบรรลุธรรมได้ เพราะเวทนามันทำให้เกิดสติแก่กล้า มันยิ่งปวด มันยิ่งเห็นชัด

 

แต่ตัวสุขเวทนานั่น คือ  การนั่งไปเพลินไป จนลืมกำหนดพองหนอ ยุบหนอ เราก็มีแต่ตัวสมาธิอย่างเดียว ตัวสตินั่นไม่มี

จึงกลายเป็นกะทิ คือ มันหลับสบาย ไม่มีอะไรมากำหนดพิจารณา และไม่รู้สภาวะต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร

 

นี่คือสมาธิ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วเราก็เผลอสติ

จนไม่ได้กำหนดสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อนั่งสมาธิภาวนาครั้งต่อไปเราอยากให้เป็นสมาธิเหมือนเดิม พอไม่เป็นสมาธิก็รู้สึกอึดอัด ทำให้เกิดอาการฟุ้งซ่าน กระวนกระวายใจ

 

นี่คือการทำสมาธิที่ขาดสติ โดยไม่ได้อาศัยสติมาเป็นตัวกำหนดและมาเป็นตัวควบคุมในการพิจารณา

อาการต่างๆนั้น

 

ติดตามอ่านตอนต่อไปที่นี่ค่ะ

 

อิสระแห่งจิต

 

http://gotoknow.org/blog/mindfreedom

 

ขอให้เจริญในธรรมทุกท่าน

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 347584เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2010 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ ครับ อาจารย์ สำหรับบันทึกนี้

ผู้ปฏิบัติใหม่ มักจะเจอทุกขเวทนา เสมอ

ได้อ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้น

ขอให้บรรลุธรรม ได้มรรถผลกันทุกคน สาธุ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท