อะไรคือสาเหตุของปัญหาการศึกษา


ปัญหาการศึกษา

สำหรับประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้นั้น อุดมพร  อมรธรรม (2549, หน้า 23-34) กล่าวว่า อยู่ที่คุณภาพคนในชาติ คนจะมีคุณภาพอยู่ที่การศึกษา การศึกษาจะช่วยพัฒนาคนให้มีคุณภาพดีได้อย่างไร เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่การจัดการศึกษา ซึ่งผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา ผู้ให้การศึกษา ผู้บริหารการศึกษา เริ่มตั้งแต่รัฐบาลมาจนกระทั่งถึง ครู อาจารย์ รวมถึงผู้ปกครองจะต้องตระหนักในหน้าที่ของตนเอง ที่จะปั้นบุตรหลานผู้เข้ารับการศึกษาให้เป็นคนเก่ง ดี มีสุข ให้จงได้ ทั้งนี้ดิเรก พรสีมา และคณะ (2546) ได้กล่าวถึงกลไกสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา คือ ครู เพราะครูเป็นผู้กำหนดคุณภาพประชากรในสังคม และคุณภาพประชากรในสังคม คือ ตัวพยากรณ์ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม  ครูจึงควรเป็นวิชาชีพที่รวมคนเก่ง คนดี สามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม การประพฤติปฏิบัติตน การดำรงชีวิต และการชี้นำสังคมไปในทางที่เหมาะสม

ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ได้กำหนดให้ “ครู” เป็นบุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียน การสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542, 19 สิงหาคม 2542, หน้า 2) ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 4 ได้กำหนดให้ “ข้าราชการครู” เป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพ ซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียน การสอน และส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 (23 ธันวาคม 2547,หน้า 3) นอกจากนี้แล้วอุดมพร  อมรธรรม (2549, หน้า 111-112) ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ครูเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างนักเรียนให้มีคุณสมบัติเพียงต่อความรับผิดชอบของบ้านเมืองในอนาคต ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ผู้ที่เป็นครูจะต้องถือเป็นหน้าที่อันดับแรก ที่จะต้องให้การศึกษา คือสั่งสอนอบรมอนุชนให้ได้ผลแท้จริง ทั้งในด้านวิชาความรู้ ทั้งในด้านจิตใจและความประพฤติ ทั้งต้องคิดว่า งานที่แต่ละคนกำลังทำอยู่นี้ คือความเป็นความตายของประเทศ เพราะอนุชนที่มีความรู้มีความดีเท่านั้นที่จะรักษาชาติบ้านเมืองไว้ได้”

ในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้พยายามปฏิรูปการศึกษาทางด้านโครงสร้างและระบบการบริหารองค์การ แต่ผลการปฏิรูปการศึกษากลับทำให้สถานศึกษาอ่อนแอลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของครู (สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์, 2543), (ดิเรก  พรสีมา และคณะ, 2546) ซึ่งรัฐลงทุนทางด้านการศึกษาสูงกว่าประเทศอื่นในเอเชียโดยจัดสรรให้เป็นเงินเดือนกับเงินวิทยฐานะของครูเป็นส่วนใหญ่ แต่สมรรถนะการศึกษาของไทยกลับอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 55 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ต่ำกว่าสิงคโปร์ (11) ไต้หวัน (18) ญี่ปุ่น (19) ฮ่องกง (25) เกาหลี (29) มาเลเซีย (31) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (44) โดยเหนือกว่าเพียงอินโดนีเซีย (51) ฟิลิปปินส์ (52) อินเดีย (54) (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2550) 

เมื่อศึกษาจากคุณภาพชีวิตการทำงานของครูในสถานศึกษาแล้ว พบว่า ครูไม่มีความสุขกับการประกอบวิชาชีพ ครูหันไปดิ้นรนแสวงหาความสุขกับกระแสวัตถุนิยมที่ไหลท่วมสังคม ครูมีหนี้สินรุงรัง ครูประกอบอาชีพเสมือนอาชีพหาเช้ากินค่ำ (ดิเรก  พรสีมา และคณะ, 2546), (จุรีพร  แจ้งธรรมมา, 2545), (พรศิริ  เทียนอุดม, 2546), (อารี  สังข์ศิลป์ชัย, 2548) ทั้งนี้หากศึกษารูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว จะทำให้เกิดแนวทางในการป้องกันปัญหาความไม่พึงพอใจในการทำงานของครู ได้แก่ การลดความสนใจในงานน้อยลง การสร้างความท้อถอยในการทำงานมากขึ้น การทำงานให้ผลงานในการผลิตตกต่ำลง และการเพิ่มจำนวนการออกจากงานสูงขึ้น เป็นต้น ประกอบกับเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างความพึงพอใจในการทำงานของครู ได้แก่ การเพิ่มความสนใจในงานมากขึ้น การเพิ่มความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น และการเพิ่มผลงานในการผลิตให้สูงขึ้น เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 347304เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายด้วยสายฝนเย็นฉ่ำค่ะ

            

เพราะเราให้การศึกษาเพียงด้านเดียว หรือวัดผลเพียงด้านเดียวคือความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท