16.พหุปัญญาทั้ง 9 ด้าน ของ Howard Gardner


พหุปัญญาทั้ง 9 ด้าน ของ Howard Gardner

พหุปัญญา ของ Howard Gardner


Howard Gardner

"ไม่มีสมองใครถูกออกแบบมาให้..โง่"่

ปัญญาทั้ง ๘ ด้านมีอยู่ในเราทุกคน แต่คนเราจะมีด้านที่เด่นบางด้าน ในขณะที่บางด้านด้อยกว่า แต่สามารถพัฒนาได้ดั่งเช่นที่ทฤษฎีการเรียนรู้ของ Howard Gardner เสนอให้พัฒนาปัญญาทั้ง ๘ ด้าน

สรุปแล้ว Multiple Intelligence แรกเริ่มโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ คิดไว้ 7 ด้านด้วยกัน ได้แก่
1. ความฉลาดทางด้านภาษา (Linguistic intelligence) ความสามารถในการเข้าใจความหมายและการใช้ภาษา การพูดและการเขียน การเรียนรู้ภาษา การใช้ภาษาสื่อสารให้ได้ผลตามเป้าหมาย สื่ออารมณ์ความรู้สึกให้คนอื่นเข้าใจได้ดี เช่น กวี นักเขียน นักพูด นักกฎหมาย

2. ความฉลาดทางด้านตรรกะ (Logical-mathematic intelligence)
ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และเรื่องของเหตุผล คิดวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์

3. ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical intelligence)
ความสามารถในการเข้าใจและสร้างสรรค์ดนตรี เข้าใจจังหวะ เช่น นักแต่งเพลง นักดนตรี นักเต้น

4. ความฉลาดทางด้านมิติ (Spatial intelligence)
ความสามารถในการสร้างภาพในจินตนาการ และนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน เช่น จิตรกร ประติมากร สถาปนิก ดีไซเนอร์

5. ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily-kinesthetic intelligence) ความสามารถในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ เช่น นักเต้น นักกีฬา นักแสดง

6. ความฉลาดในการเป็นผู้นำ (Interpersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น สามารถจูงใจผู้อื่น
เช่น นักการเมือง ผู้นำทางศาสนา ครู นักการศึกษา นักขาย นักโฆษณา

7. ความฉลาดภายในตน (Intrapersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกภายในของผู้คน เช่น นักเขียน ผู้ให้คำปรึกษา จิตแพทย์

ต่อมาการ์ดเนอร์ ได้เพิ่มความฉลาดอีก 2 ด้านตามลำดับคือ

8. ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalist intelligence)
ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ พืช สัตว์ ธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม

9. ความฉลาดในการคิดใคร่ครวญ (Existential intelligence)
ชอบคิด สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต ชีวิตหลังความตาย เรื่องเหนือจริง มิติลึกลับ เช่น นักคิด อามิ อริสโตเติล ขงจื้อ ไอน์สไตน์ พลาโต โสเครติส ฯลฯ

การ์ดเนอร์เคยคิดจะนำ ความฉลาดทางด้านคุณธรรมจริยธรรม (Moral intelligence) เพิ่มเข้าไปด้วย

การ์ดเนอร์กล่าวว่า ความฉลาดหรือสติปัญญาทำให้คนเราเป็นมนุษย์ พูดได้ เราทุกคนต่างมีความฉลาด แม้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถยืดหยุ่นและพัฒนาได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม

เขาแนะนำว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้หลากหลายเพื่อสังเกตดูว่าอะไรคือ สิ่งที่เด็กชอบหรือถนัด ทำได้ดี แล้วจะรู้ว่าลูกหลานหรือนักเรียนของเราแต่ละคนมีความฉลาดทางด้านใด

การ์ดเนอร์กล่าวอีกว่า ความฉลาดไม่ได้มีด้านเดียวและบางครั้งใช้ความสามารถหลายๆ ด้านในเวลาเดียวกัน

แม้ทฤษฎี MI ของเขาจะไม่ได้รับการยอมรับในทันทีทันใด แต่ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก จากนักการศึกษาและครูผู้บริหารจำนวนไม่น้อยนำ MI ไปใช้แก้ปัญหาในระบบการศึกษาในโรงเรียน โรงเรียนจำนวนหนึ่งในอเมริกาเหนือนำไปเป็นหลักในการวางหลักสูตร วางแผนการเรียนการสอน และกิจกรรมอื่นๆ สำหรับเด็กมีการใช้ทฤษฎี MI กับการเรียนหลากหลายระดับชั้น ทั้งในเด็กเล็กปฐมวัย เด็กโต และแม้แต่การศึกษาของผู้ใหญ่ การ์ดเนอร์บอกว่า “Multiple Intelligence จะทำให้เกิดการเรียนการสอนที่หลากหลาย แทนที่จะเป็นแบบเดียว (แบบในโรงเรียนทั่วไป) มีหลากหลายวิธีที่เด็กนักเรียนจะคิดและเรียนรู้ ครูเพียงแต่มีกรอบคอนเซปต์คร่าวๆ ในการจัดการเรียนการสอน”

แม้โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ จะออกตัวว่า ทฤษฎี Multiple Intelligence
ของเขาไม่ใช่คำตอบของการศึกษาทั้งหมด แต่เขาเอ่ยคำที่น่าคิดว่า ...

” Character is more important than intellect."


คุณครูควรจัดกิจกรรมอย่างไร

สำหรับเด็กที่มีปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
ควรการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ เช่น
- จัดกิจกรรมให้ได้รับประสบการณ์ตรงเพื่อนำมาเขียนเรื่องราว
- จัดกิจกรรมให้ได้พูด ได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็น ได้เขียนเรื่องราวที่สนใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
- ครูควรรับฟังความคิดเห็น คำถาม และตอบคำถามด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น
- จัดเตรียมหนังสือ สื่อการเรียนการสอนเพื่อการค้นคว้าที่หลากหลาย เช่น
เทปเสียง วิดีทัศน์ จัดเตรียมกระดาษเพื่อการเขียน อุปกรณ์การเขียนให้พร้อม
- ยุทธศาสตร์ในการสอนคือ ให้อ่าน ให้เขียน ให้พูด และให้ฟังเรื่องราวต่างๆ ที่นักเรียนสนใจ อภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็น นักพูด นักเล่านิทาน นักการเมือง
กวี นักเขียน บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ ครูสอนภาษา เป็นต้น

สำหรัูบเด็กที่มีี่ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์(Logical – Mathmatical Intelligence)
ควรจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ เช่น
- ให้มีโอกาสได้ทดลอง หรือทำอะไรด้วยตนเอง
- ส่งเสริมให้ทำงานสร้างสรรค์ งานศิลปที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
- ให้เล่นเกมที่ฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เช่น เกมไพ่ เกมตัวเลข ปริศนาตัวเลข ฯลฯ
- ให้ช่วยทำงานบ้าน งานประดิษฐ์ ตกแต่ง
- ฝึกการใช้เหตุผล การแก้ปัญหาการศึกษาด้วยโครงงานในเรื่องที่นักเรียนสนใจ
- ฝึกฝนทักษะการใช้เครื่องคิดเลข เครื่องคำนวณ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
- ยุทธศาสตร์ในการสอนคือให้ฝึกคิดแบบมีวิจารณญาณ วิพากษ์ วิจารณ์ ฝึกกระบวนการสร้างความคิดรวบยอด
การชั่ง ตวง วัด การคิดในใจ การคิดเลขเร็วฯลฯ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักบัญชี นักคณิตศาสตร์
นักตรรกศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ ครู-อาจารย์ เป็นต้น

สำหรับเด็กที่มีปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual – Spatial Intelligence)
ควรจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ เช่น
- ให้ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คิดได้อย่างอิสระ
- พาไปชมนิทรรศการศิลป พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ
- ฝึกให้ใช้กล้องถ่ายภาพ การวาดภาพ สเก็ตซ์ภาพ
- จัดเตรียมอุปกรณ์การวาดภาพให้พร้อมจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานด้านศิลปะ
- ฝึกให้เล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ เกมตัวเลข เกมที่ต้องแก้ปัญหา
- เรียนได้ดีหากได้ใช้จินตนาการ หรือความคิดที่อิสระ ชอบเรียนด้วยการได้เห็นภาพ การดู
การรับรู้ทางตา
- ฝึกให้ใช้หรือเขียนแผนที่ความคิด (Mind Mapping) การใช้จินตนาการ
- ให้เล่นเกมเกี่ยวกับภาพ เกมตัวต่อเลโก้ เกมจับผิดภาพ ฯลฯ
- ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้ดู ให้วาด ให้ระบายสี ให้คิดจินตนาการ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นศิลปิน สถาปนิก
มัณฑนากร นักประดิษฐ์ ฯลฯ

สำหรับเด็กที่มีปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily – Kinesthetic Intelligence)
ควรจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ เช่น
- เรียนรู้ได้ด้วยการสัมผัส จับต้อง การเคลื่อนไหวร่างกายและการปฏิบัติจริง
- สนับสนุนให้เล่นกีฬา การแสดง เต้นรำ การเคลื่อนไหวร่างกาย
- จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง หรือได้ปฏิบัติจริง
- ให้เล่นเกม เดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย
- ให้เล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง กีฬา การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ
- ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้นักเรียนปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง ได้สัมผัส
เคลื่อนไหว ใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ และการเรียนผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ
แสดงละคร
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักแสดง นักกีฬา
นาฏกร นักฟ้อนรำ นักประดิษฐ์ นักปั้น ช่างซ่อมรถยนต์ ศัลยแพทย์ เป็นต้น

เด็กที่มีปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
ควรจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
- ให้เล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลง ฟังเพลงสม่ำเสมอ
- หาโอกาสดูการแสดงดนตรี หรือฟังดนตรีเป็นประจำ
- บันทึกเสียงดนตรีที่นักเรียนแสดงไว้ฟังเพื่อปรับปรุงหรือชื่นชมผลงาน
- ให้ร้องรำทำเพลงร่วมกับเพื่อนหรือคุณครูเสมอ ๆ
- ยุทธศาสตร์ในการสอนได้แก่ปฏิบัติการร้องเพลง การเคาะจังหวะ การฟังเพลง การเล่นดนตรี
การวิเคราะห์ดนตรี วิจารณ์ดนตรี เป็นต้น
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง
นักวิจารณ์ดนตรี เป็นต้น

เด็กที่มีปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
ควรจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ เช่น
- จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้ากลุ่ม ทำงานร่วมกัน
- ส่งเสริมให้อภิปราย เรียนรู้ร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกัน
- สามารถเรียนได้ดีหากให้โอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- ยุทธศาสตร์ในการสอนได้แก่การให้ทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน
การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การจำลองสถานการณ์ บทบาทสมมุติ การเรียนรู้สู่ชุมชน เป็นต้น
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักบริหาร ผู้จัดการ
นักธุรกิจ นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ ครู - อาจารย์ เป็นต้น

เด็กที่มีปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
ควรจััดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ เช่น
- เปิดโอกาสให้ทำงานตามลำพัง ทำงานคนเดียว อิสระ แยกตัวจากกลุ่มบ้าง
- สอนให้เห็นคุณค่าของตัวเอง นับถือตัวเอง (self esteem)
- สนับสนุนให้ทำงานเขียน บันทึกประจำวัน หรือทำหนังสือ จุลสาร
- สนับสนุนให้ทำโครงงาน การศึกษารายบุคคล หรือทำรายงานเดี่ยว
- ให้เรียนตามความถนัด ความสนใจ ตามจังหวะการเรียนเฉพาะตน
- ให้อยู่กับกลุ่ม ทำงานร่วมกับผู้อื่นบ้าง
- ยุทธศาสตร์การสอนควรเน้นที่การเปิดโอกาสให้เลือกศึกษาในสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ
การวางแผนชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น การศึกษารายบุคคล (Individual Study)
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพอิสระ เป็นเจ้าของกิจการ
เป็นนายจ้างของตัวเอง นักคิด นักเขียน นักบวช นักปรัชญา นักจิตวิทยา ครู – อาจารย์
เป็นต้น
สุดท้ายสำหรับเด็กที่มีปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
ควรจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ เช่น
- ฝึกปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมเกี่ยวกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์
- ศึกษาสังเกต บันทึกความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ลม ฟ้า อากาศ
- จัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา ค่ายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพนักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ
นักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักสิ่งแวดล้อม ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เกษตรกร เป็นต้น

ในที่นี้ผู้สอนต้องไม่ลืมว่า "เด็กแต่ละคนก็จะมีความสามารถทางปัญญามากกว่า 1 ด้าน
ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างๆ จึงควรที่จะต้องมีความหลากหลาย โดยมุ่งเน้นที่การพยายามดึง ความสามารถทางปัญญาของเด็กแต่ละคนให้แสดงออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อนั้นเด็กก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่"



โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์

เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับจิตวิทยาพัฒนาการ ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็กและผู้ใหญ่ เขาพบความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับพัฒนาการของมนุษย์ ดังที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Artful Scribbles มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความคิดสร้างสรรค์ที่เบ่งบานในเด็กเล็ก และลดน้อยถอยลงเมื่อโตขึ้น เขาสรุปว่าเมื่อถึงตอนปลายของวัยเด็กเล็ก หรือเริ่มโตขึ้น เด็กมีทักษะอย่างใหม่คือทักษะทางด้านภาษา จึงไม่จำเป็นต้องสื่อสารด้วยศิลปะอีกต่อไปแล้ว ความคิดสร้างสรรค์จึงหดหายไป

ในฐานะที่เป็นนักจิตวิทยาทางการศึกษา การ์ดเนอร์โด่งดังด้วยทฤษฎี Multiple Intelligence ซึ่งไม่ต้องมีการทดสอบหรือมองหาข้อสรุปจากการทดสอบ แต่พิเคราะห์อย่างเป็นธรรมชาติว่า ทำไมผู้คนทั่วโลกถึงสามารถพัฒนาทักษะสำคัญๆ ขึ้นมาใช้ในวิถีชีวิตได้

หนังสือ Frames of Mind ของเขาปลุกนักการศึกษาจำนวนมากให้หันมาคิดใหม่ เขากล่าวว่า

...ความแตกต่างหลากหลายในความฉลาดหรือความสามารถของมนุษย์ที่มี 7 ด้านนั้น
แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรก ได้แก่ คณิตศาสตร์ และตรรกะ
กลุ่มที่สอง ได้แก่ ดนตรี ภาษา และการเคลื่อนไหว
กลุ่มที่สาม ได้แก่ ความฉลาดในการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น

ระบบการศึกษาไม่ได้เตรียมการสำหรับความฉลาดที่แตกต่างเหล่านี้ เด็กจึงไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ...

การ์ดเนอร์ยังใช้ทฤษฎี MI นี้ในหนังสือเล่มอื่นๆ ของเขา ได้แก่
Unschooled Mind : How Children Think and How School Should Teach
ซึ่งในเล่มนี้เขากล่าวว่า “การเรียนรู้ที่หลากหลายสไตล์ และการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กๆ ทุกคน ไม่อาจหาได้ในวิธีเรียนแบบเก่า”

โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ได้รับรางวัลแมคอาฟี่ไพรซ์เฟลโลชิป ได้รับเกียรติเชิดชูจากมหาวิทยาลัย สถานศึกษาหลายแห่งในหลายประเทศ เป็นผู้อำนวยการอาวุโสโครงการ Project Zero ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และงานวิจัยอื่นๆ อีกหลายโครงการ

ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ เล่าประวัติตัวเองว่า “ผมเกิดที่เมืองสแครนตัน รัฐเพนซิลวาเนีย ในปี ค.ศ.1943 พ่ออพยพหนีนาซีมาจากเยอรมัน ผมเป็นเด็กคร่ำเคร่งกับการเรียนที่มีความสุขกับการเล่นเปียโน ดนตรีเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อชีวิตผมเสมอมา ผมเรียนที่ฮาร์วาร์ด และฝึกฝนเป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการ
ต่อมาก็เป็นนัก neuropsychologist เป็นเวลาหลายปีที่ผมดูแลงานวิจัย เรื่อง “สติปัญญาและความสามารถในการใช้ภาษา” ในคน 2 กลุ่ม คือเด็กปกติและเด็กอัจฉริยะ กับในผู้ใหญ่ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองประสบการณ์ในการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย

ในงานวิจัยทั้งสองกลุ่มนี้นำผมไปสู่การพัฒนาทฤษฎี Multiple Intelligence โดยในปี 1983 เขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อ Frames of Mind จนกระทั่งกลางทศวรรษ 1980 ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการศึกษาในโรงเรียน

”ในปี ค.ศ. 1986 ผมเริ่มสอนที่ Harvard Graduate School of Education ขณะเดียวกันก็ทำงานโครงการวิจัยระยะยาว Project Zero ไปด้วย ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับสติปัญญาของมนุษย์โดยมุ่งเน้นไปที่ศิลปะ เมื่อเร็วๆ นี้
ผมเริ่มโครงการ Good Work Project

”ผมแต่งงานกับเอลเลน วินเนอร์ นักจิตวิทยาพัฒนาการ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่บอสตันคอลเลจ มีลูกด้วยกัน 4 คน ในชีวิตนี้สิ่งที่ผมรักคือครอบครัวและงาน ทั้งยังชอบท่องเที่ยวและชื่นชอบงานศิลปะ

”งานส่วนใหญ่ที่ผมทำปรากฏอยู่ในหนังสือที่ผมเขียนหลายเล่ม
และผมยังรับเชิญบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับความฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ การเรียนรู้ และศิลปะ"





หมายเลขบันทึก: 347259เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2015 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท