ระเบิดพลังจากภายในกับ 6 แขกรับเชิญในงาน Go Training Live Talk Forum # 2 : Boost from Within ตอนที่ 2


เรื่องของศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกัน

 

หลังจากที่บันทึกที่แล้ว (http://gotoknow.org/blog/attawutc/344823) ผมได้เล่าถึงบรรยากาศการ Present ของแขกรับเชิญมาแล้ว 2 ท่านคือ ท่าน อ. กมลลักษณ์  หงษ์หยก ที่มาพร้อมกับ Key word คำว่า “HUG” และท่าน อ. ธัญญา  ผลอนันต์ ที่มาพร้อมกับ Key word คำว่า “PLAY”  บันทึกนี้ผมก็จะมาเล่าถึงการ Present ของแขกรับเชิญอีกท่านคือ อ. ดร..วรภัทร์  ภู่เจริญ ซึ่งวันนั้นอาจารย์มาพร้อมกับ Key word คำว่า “AVATAR” การเริ่มต้น Present ของอาจารย์ในวันนั้นสร้างบรรยากาศได้ถูกใจวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี เพราะพูดเรื่องการตัดเกรดได้ถูกใจเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องที่ว่า “การตัดเกรดเป็นการปิดกั้นและทำลายการเรียนรู้ของเด็ก” คนที่ได้เกรดสูงไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งเสมอไป เป็นเพียงแค่คนคิดตรงกับผู้สอนเท่านั้น ทำให้ผมนึกถึงรายการของ Woody ที่ออกอากาศเรื่องข้อสอบ ONET กับ ศ.ดร. อุทุมพร จามรมาน  เมื่อไม่นานมานี้ (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นร้อนของ ONET ได้ที่ http://www.oknation.net/blog/chaiyospun/2010/03/08/entry-1)

 

 

ช่วงแรกของการเปิดตัว อาจารย์ค่อนข้างจะเป็นคนถ่อมตัวเป็นอย่างมากเพราะท่านยอมรับว่าแม้ว่าท่านจะจบถึงดอกเตอร์และผ่านงาน NASA มาแล้ว ก็ยังถือว่าโง่อยู่ เพราะความรู้ที่ผ่านมาในชีวิต ไม่สามารถทำให้ท่านเป็นคนอย่างสมบูรณ์ได้ จนกระทั่งมาพบกับพ่อแม่ครูอาจารย์ อย่างหลวงพ่อจันทา หลวงพ่อกล้วย เป็นต้น ทำให้ท่านค้นพบว่าศาสตร์ที่เป็นศาสตร์สูงสุดของมนุยชาติคือการหลุดพ้นไปจากวงจรการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง (นิพพาน) อาจารย์ยังได้แนะนำ อาจารย์ฌาณเดช  พ่วงจีน ซึ่งท่านอาจารย์วรภัทร์บอกว่าท่านเป็นอาจารย์ของท่านอีกท่านหนึ่งที่ช่วยสอนการบำบัดร่างกายและจิตใจให้มีความแข็งแรงและมีจิตใจเบิกบานด้วยศาสตร์ “จิงชี่เสิน” (Jing Qi Shen) ซึ่งท่านก็มาในงานนี้ด้วย นับเป็นการเปิดตัวที่ได้ใจเลยทีเดียว

 

อาจารย์วรภัทร์  ภู่เจริญ และอาจารย์ ฌาณเดช  พ่วงจีน

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/chaiyospun/2010/03/08/entry-2

 

อาจารย์เชื่อมโยงคำว่า “AVATAR” ซึ่งเป็นชื่อของหนังทีทำเงินและกล่องเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องของ Trend การบริหารสมัยใหม่ หนังเรื่องนี้เป็นหนังแนว LOKM ที่ชัดเจนมาก โดยนำเสนอให้เราฉุกคิดรื่องการอยู่ร่วมกันบนโลกอย่างมีความสุขตามหลัก 3 P (People/Planet/Profit) การบริหารสมัยใหม่ค่อนข้างจะเน้นเรื่อง Soft Side เป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้เราเน้นเรื่อง Hard Side มามากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานระบบต่างๆ เช่น ISO TQM 6 Sixma เป็นต้น ทำให้การดำเนินการขององค์กรเป็นไปอย่างไม่สมดุล องค์กรอยู่ได้ไม่นานก็ล่มสลาย หวังผลกำไรสูงสุดเฉพาะหน้า ไม่คำนึงถึงจิตวิญญาณเสรีของความเป็นคน และทำลายล้างทรัพยากรบนโลก (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง 3P ผมได้เคยเขียนบันทึกจากการบรรยายของอาจารย์วรภัทร์ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/332080 )

 

การที่องค์กรอยู่ได้ไม่ยั่งยืน จากการไม่สมดุลของการบริหารนั้น เกิดจากการเรียนรู้ของคนที่ไม่สมดุลและไม่ครบถ้วนเพราะสังคมให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากการคิด มากกว่าการสัมผัส จากนั้นอาจารย์จึงได้เชื่อมโยงเนื้อหาต่อไปยังเรื่อง ปัญญา 3 ฐาน อันได้แก่ ฐานกาย ฐานใจ และฐานคิด

 

   -  ฐานกาย เป็นการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสผ่านผัสสะทั้ง 5 คือ การมองเห็นจากตา การได้ยินเสียงจากหู การรับรู้กลิ่นจากจมูก การรับรสผ่านลิ้น และการสัมผัสเย็น ร้อน อ่อนแข็งผ่านอวัยวะร่างกาย

   -  ฐานใจ เป็นการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสจากอายตนะที่ 6 คือการรับรู้ทางอารมณ์ ความรู้สึก รัก ชอบ เกลียด ดีใจ เสียใจ

   -  ฐานคิด  เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากเหตุ (Input) และผล (Output) ของกระบวนการที่เกิดจากฐานกายและฐานใจ

 

 

หลายท่านอาจมีคำถามในใจว่าแนวคิดเรื่องปัญญา 3 ฐานเป็นเรื่องของพุทธศาสนา แต่ผมคิดว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างจะเป็นสากล ซึ่งนักปรัชญาทั้งด้านตะวันออก (OHSO มหาบุรุษ นักปราชญ์ชาวอินเดีย http://www.osho.com/  http://www.nationejobs.com/content/worklife/afterwork/template.php?conno=755 ) และตะวันตก (Rudolf Steiner นักปรัชญาผู้ก่อตั้งการศึกษาวอลดอร์ฟ http://www.tridhaksa.ac.th/school/waldorfedu.htm )ก็ได้กล่าวไว้ตรงกันคือ ในชีวิตคนเราจะมีช่วงการเรียนรู้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 7 ปี คือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 7 ปี คนเราจะเรียนรู้ผ่านฐานกายเป็นส่วนมาก จะเรียนรู้ผ่านฐานใจ และ อายุ 14 ปีขึ้นไปจะเริ่มเรียนรู้ผ่านฐานคิด (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “วุฒิภาวะ” ของ OSHO (http://gotoknow.org/blog/kmway/70352) แต่ที่ผ่านมาเราละเลยการเรียนรู้ผ่านฐานกายและใจให้ความสำคัญกับฐานคิด การเรียนรู้จึงเกิดการลัดวงจรที่มันควรจะเป็น ทำให้เรียนรู้ได้ไม่สมบูรณ์ เป็นผลให้คนเป็นคนที่ไม่ไม่สมดุล และสมบูรณ์ เป็นคนแบบสุกี้ (ลวกๆ) ศึกษาเรียนรู้ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงจิดวิญญาณ อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่อง Sex ที่คนส่วนใหญ่ตั้งแง่รังเกียจ ความจริงแล้ว Sex เป็นเรื่องที่สวยงาม เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นเรื่องของการภาวนายกระดับจิตใจ นอกจากนี้อาจารย์ยังได้ยกตัวอย่างของคนแบบลวกๆ จากหนังเรื่อง AVATAR ด้วย ที่คนฆ่าแม่ของตัวเอง (ทำลายแผ่นดินแม่ ทำลายล้างธรรมชาติ) เพียงเพื่อแลกกับความสะดวกแบบชุ่ยๆ เพราะเข้าใจผิดว่า ความสะดวกคือความสุข ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนเราทุกวันนี้มีความสะดวกสบายมากขึ้นแต่มีความสุขน้อยลง

 

 

 

อาจารย์ได้ให้แนวคิดด้านศาสนาและวิทยาศาสตร์ว่าความจริงแล้วทั้งสองอย่างนี้คือสิ่งเดียวกัน แต่คนส่วนใหญ่มองว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์ ไปด้วยกันไม่ได้ จึงเกิดสิ่งที่เด็กทั้งหลายตัดพ้อว่า “ศาสนารังแกฉัน” เพราะเราแยกศาสนาออกจากชีวิต แปลกแยก ยกศาสนาให้เป็นเรื่องทำให้เราสูงส่งเข้าถึงยาก อาจารย์เปรียบเทียบศาสนาและวิทยาศาสตร์ ให้เป็นสมการอธิบายได้ง่ายๆว่า ถ้าวิทยาศาสตร์ คือ การสังเกต (การสังเกตหมายถึงการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5) และการสังเกตต้องเป็นการรับข้อมูล (Data) ที่เป็นจริงเท่านั้น ซึ่งข้อมูลนั้นต้องไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่ตัดสิน (Fact) นั่นก็คือการมีสตินั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าความหมายเหล่านี้คือความหมายรวมของการภาวนานั่นเอง ดังนั้นเรื่องของศาสนาและวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องเดียวกันเพียงแต่ใช้คำศัพท์ในการสื่อสารไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

 

 

ก่อนจะจบอาจารย์ได้สรุปว่าชีวิตคนเราเปรียบเสมือนดิจิดอลคือมีเกิดมีดับ (ON/OFF) มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่คนส่วนใหญ่จะพยายาม ON ชิวิตไว้ตลอด ทำให้ชีวิตดูเหมือนมีแต่ความเร่งรีบ มีแต่การต่อสู้ ป้องกัน ปิดกั้นตัวเอง ดังนั้นต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ใครๆ เข้ามาได้ เพื่อให้เกิดการยอมรับตัวเองได้ ดังที่ อ. กมลลักษณ์  หงษ์หยก ได้กล่าวไว้ในเรื่องของ “HUG” นั่นเอง

 

 

บรรยากาศการนำเสนอของอาจารย์จบลงด้วยการคารวะแบบจอมยุทธ์ที่คุกเค่าคำนับแบบหนังจีน  เวลาการนำเสนอของงานในวันนั้นผ่านไป 3 แขกรับเชิญก็ใช้เวลาไปมากพอสมควร ก่อนที่จะพบกับแขกรับเชิญท่านต่อไปพิธีการก็แจ้งให้ผู้ร่วมงานเชิญพักครึ่งทางเพื่อเข้าห้องน้ำและรับประทานอาหารว่างเปลี่ยนอริยบทก่อน ตอนที่อาจารย์ลงเวทีมาก่อนที่จะไปพักผมก็ได้มีโอกาสได้ถ่ายภาพร่วมกับอาจารย์ด้วยอีกครั้ง เล่ามาถึงตอนนี้ผมก็คงต้องขออนุญาตพักเช่นกันคือขอยกยอดแขกรับเชิญที่เหลือไว้ในบันทึกหน้าก็แล้วกันนะครับ เพราะเนื้อหายังเหลืออีกมากพอสมควร

 

 

หมายเลขบันทึก: 346453เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2010 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณอาจารย์วรภัทร์ P มากๆ ครับ ที่มาเยี่ยมเยือน ต้องขออภัยด้วยที่เนื้อหาที่สรุปอาจจะมีใส่ไข่เชื่อมโยงไปบ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท