การผลิตบัณฑิตในอุดมคติ


บัณฑิตไทยในอุดมคติ

การผลิตบัณฑิตในอุดมคติ

เรียบเรียงจากการปาฐกถาของ ศ.นพ.เกษม  วัฒนชัย

 

                ศิลปวัฒนธรรมนั้นเป็นสัญลักษณ์  เป็นเครื่องหมายของชาติใดชาติหนึ่ง  อุดมศึกษาต้องสามารถสร้างจินตนาภาพ  หรือจินตนาการในอานุภาพของศิลปวัฒนธรรมของสังคมไทยได้ว่า  ทำอย่างไรให้สังคมไทยมันดีขึ้น  ให้มันดีขึ้นแล้วผ่านใคร  ผ่านบัณฑิตที่ท่านสอนทุกวัน  ที่ท่านกำลังจะมาตั้งข้อสังเกตว่าแล้วจะเป็นยังไง  เพราะว่าในกระแสโลกาภิวัตน์  และทุนนิยม  ไม่มีใครเมตตาใคร  ระหว่างประเทศต่อประเทศ  ระหว่างบริษัทต่อบริษัท  เขาต้องถือประโยชน์ของตนเป็นหลัก  เพราะฉะนั้น เรื่องของกระแสโลกาภิวัตน์ก็ดี  เรื่องของทุนนิยมก็ดีมันก็จะเกิด  Political  and  Economic  Conflicts เรื่อยไป ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อประเทศไทย  ยกตัวอย่าง  เรื่อง การกระจายรายได้ของสังคมไทย

                สภาพัฒน์ให้ตัวเลขมาชัดเจนสมมติว่าประเทศไทยทั้งประเทศมีทรัพย์สินอยู่ 100 บาท  คนรวยประมาณ 20 % ครอบครองอยู่ 57.8 บาท  คนชั้นกลาง 60%   ครอบครอง 30 กว่าบาท  คนจน 20 % ครอบครอง 3.90 บาท  คำถามคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเราจะแก้ได้อย่างไร

                มหาวิทยาลัยต้องพยายามถามตัวเองว่า  มหาวิทยาลัยจะมีส่วนในการลดช่องว่างทางสังคมได้อย่างไร  เช่น  แนะนำการออกกฎหมาย  แนะนำการถือครองที่ดิน  แนะนำในเรื่องโอกาสทำกิน  แนะนำในเรื่องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา  แนะนำในเรื่องของผู้ยากไร้อย่างนี้เป็นต้น  มันก็จะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน มันมีไม่มากเท่าไหร่  ขณะนี้  10%  แรกกับ  10%  ล่าง  รายได้ทั่วไปของคนจนของเรามันห่างกันถึง  27 เท่า  เรามีคนมีเงินเป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน  ในขณะอีก  9  ล้าน  เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ  930  บาท  คือ วันหนึ่งได้ไม่ถึง  30  บาท  อันนี้เป็นเส้นแบ่งจนดักดาน  ถ้าใครมีเงินไม่ถึง  930  บาท  ก็ถือว่า  ไม่พออาหาร 3  มื้อ  ไม่ใช่ว่าขาดอาหาร  เพราะฉะนั้นตรงนี้เราน่าจะถามตัวเองว่า  เราจะสร้างบัณฑิตไทยออกไปกอบโกยอีกไหม  ไปเอาเปรียบคนยากคนจนอีกไหม  แล้วทำให้ช่องว่างคนจนมันมากขึ้นไหม 

                เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว  ทบวงมีตัวเลขของคนเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยได้  เป็นลูกของคนในเมือง  คือ ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง  93 %  เป็นลูกของชาวไร่ชาวนาเพียง 7 %  เมื่อปีที่แล้ว  ประธาน “สมศ.”  ได้แสดงตัวเลขมาว่า  ขณะนี้ตัวเลขมันแย่ลงกว่าเดิม คือ  98 % เป็นลูกของชนชั้นกลางและชนชั้นสูง  2 %  เป็นลูกของชาวไร่ชาวนา  นี้คือ มหาวิทยาลัยไทย  แล้วมาบอกว่าจะสร้างบัณฑิตในอุดมคติ  มหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐขณะนี้นะครับเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาอุดหนุนชนชั้นกลางและคนรวยให้ลูกเขาได้เรียนถูก ๆ

                มหาวิทยาลัยไทยกำลังให้การศึกษาลูกคนรวย  โดยคิดค่าเรียนถูก ๆ  แล้วเอาเงินคนจนมาบริหารมหาวิทยาลัย  ที่ผมพูดได้อย่างนี้เพราะตัวเลขมันบอก  คณบดีแพทยศาสตร์บอกว่าจะขอเงินจากรัฐบาลเป็นค่าใช้จ่าย  2  แสนบาท  รัฐบาลจะให้แสนหนึ่งไม่ได้เพราะว่ามันแพง  แล้วถามว่าเก็บมาจากพ่อแม่เท่าไหร่  เก็บปี  ไม่กี่พันบาท  แล้วที่เหลือใครเป็นคนจ่าย  ภาษีราษฎรจ่าย  จบแล้วไปไหน  จบแล้วไปอยู่เมืองนอก

          มหาวิทยาลัยต้องทบทวนตัวเองว่าจะสร้างบัณฑิตได้อย่างไร  ผมเสียใจมาก ๆ เลย ข่าวเมื่อปีที่แล้วทบวงมีนโยบายจ้างบัณฑิตออกไปอยู่ชนบทในภาคฤดูร้อน  โดยให้เงินบัณฑิตเดือนละ 5,000  มันแย่มากเลย  บัณฑิตในอุดมคติจะต้องอินังขังขอบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศคือคนจน  แล้วจะต้องยกจิตวิญญาณของตัวเองให้เป็นผู้เสียสละ  ให้มองเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ  แล้วอาสาสมัครออกไปช่วยเขา  สมัยก่อนมีการออกไปค่าย Summer  ไปอยู่กับชาวไร่ชาวนา  ชาวบ้านกับพวกเราช่วยกันหาเงิน  แล้วก็ไปปรึกษากับชาวบ้านเค้าว่าจะมาช่วยกันทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนบ้าง แล้วก็มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ

                ขณะนี้ชาวไร่ชาวนาของเรามีที่ดินเท่าไหร่รู้ไหม  มีที่ทำนาอยู่เพียง  20 % อีก  80 %  ไม่มีที่นาของตัวเองต้องเช่าที่คนอื่นเขาทำ  เพราะฉะนั้นใครได้ประโยชน์จากการศึกษาในปัจจุบัน  แล้วถ้าเราไม่อนาทรร้อนใจกับคนระดับล่างแล้ว  ประเทศชาติจะมีอนาคตที่ไหน  เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้นิสิตนักศึกษาของเรามองเห็นสาระของสังคม  มันเป็นสาระความเป็นจริงของสังคม  แล้วไปสร้างจิตวิญญาณของอาสาสมัครของการเสียสละให้ไปช่วยคนระดับล่างบ้าง  ซึ่งตรงนี้จะเป็นกุศลมหากุศลให้กับประเทศเรา

                เราถูกกระแสทุนนิยม บริโภคนิยมมาครอบงำหมด  รวมทั้งวิถีชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองถูกครอบงำหมดเลย  เราไม่เคยสอนศีล 5 กัน  หิริโอตตัปปะตอนนี้ไม่รู้เรื่องแล้ว  เรามีแต่ว่าวันหยุดจะไปศูนย์การค้าตรงไหนดี  การผลิตบัณฑิตในอุดมคติเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา  เรากำลังต้านกระแสสังคม  กระแสบริโภค  กระแสทุนนิยม  เรากำลังต้านตรงนี้อย่างแรง  แต่อย่าท้อ  ต้องมีหลักคิดที่จะต่อสู้กับมัน

                ถ้าเราอยากให้เมืองไทยเข้มแข็ง  เราต้องเสริมให้เด็กไทยสู้งาน  ได้เงินมาโดยน้ำพักน้ำแรง  ของตนเอง  ภาษาไทยมีคำว่า  “น้ำพักน้ำแรง”  ของตัวเอง  ต้องมี Spirit  ต้องรู้งาน  เพราะฉะนั้นวิชางานนี้สำคัญมาก  ต้องสู้งาน  ต้องมีทักษะงาน  ต้องมีเจตคติที่ดีต่องาน  คือว่าเราต้องเติม  EARN  ก็คือการทำงานต่างเหงื่อต่างน้ำ  ทำงานเพื่อแลกเงินมา

                นอกจากนั้นที่จะสอนลูกศิษย์ของเราคือ วิชาชีวิต  ชีวิตทั้งชีวิตของตนเอง  และชีวิตของผู้อื่น  เราต้องมีความรู้ทางศาสนา  มีความรู้ทางจิตวิทยา  มีความรู้ทางมนุษยศาสตร์  ต้องมีทักษะชีวิต  กลุ้มใจทำอะไรดี  กลุ้มใจไม่ใช่ไปกินเหล้ากับเพื่อน  กลุ้มใจต้องไปนั่งดูโดยใช้หลักอริยสัจจ์ 4 ใช้หลักอิทัปปัจจยตา  เราก็รู้หมดแล้วก็แก้ได้หมดแล้วและแก้ได้อย่างถาวร  แล้วก็สะอาดบริสุทธิ์  ที่สำคัญคือ เจตคติที่ดีต่อชีวิตของตนเองและของผู้อื่น  จะได้รักตัวเองไม่เบียดเบียนตัวเอง  จะได้รักคนอื่นไม่เบียดเบียนคนอื่น 

                เราควรจะให้บัณฑิตทุกคนที่ออกไปจากมหาวิทยาลัยทุกแห่งในเมืองไทย  ออกไปเป็นตัวเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น  ให้มีความเสมอภาคมากขึ้น  แล้วสันติสุขของคนไทยจะเกิดขึ้น  บัณฑิตเป็นผู้โชคดีของประเทศเป็นคนโชคดีของสังคมไทย

                ผู้ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาของประเทศ  ก็เปรียบเหมือนนักรบที่ชาวบ้านไว้วางใจ  มอบเนื้อแห้งที่เหลือให้เขา  เพื่อเขาจะได้ไปล่าสัตว์  โดยหวังว่าเมื่อเค้าไปล่าสัตว์ได้  เค้าจะเอาเนื้อมาแบ่งปันให้กับชาวบ้านที่อ่อนแอกว่าในหมู่บ้าน  เปรียบเหมือนนักศึกษาที่ได้ทุนหรือได้โอกาสไปเรียนอุดมศึกษา  ชาวบ้านก็ดีใจเหลือเกิน  และหวังว่าเมื่อเขาเรียนจบ  เขาจะได้มาแบ่งปันความรู้  เหมือนนักรบที่ได้มาแบ่งปันเนื้อสัตว์ให้กับพวกเขาบ้าง  แต่ถ้านักรบนั้น  เมื่อล่าสัตว์ได้แล้ว  ทั้ง ๆ ที่ได้เอาเนื้อในหมู่บ้านไปแล้ว  ระหว่างทางเอาไปกินแล้วไม่แบ่งปันคนในหมู่บ้านเลย  เค้าคือผู้ทรยศต่อประชาชน

หมายเลขบันทึก: 346434เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2010 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท