ใครว่าทนายไม่สำคัญ


ใครว่าทนายไม่สำคัญ

          มักมีคนถามว่า ทนายความมีความสำคัญและจำเป็นในการต่อสู้คดีหรือไม่ ในคดีที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา

          หากย้อนถามคนที่ถามว่า แล้วคุณเห็นว่าสำคัญหรือไม่ละครับ

          คนถามได้ตอบคำถามที่ตนเองเป็นคนถามด้วยความไม่ค่อนจะมั่นใจว่า ไม่น่าจะสำคัญและจำเป็นมากนัก เพราะคดีอาญาที่จำเลยให้การปฏิเสธนั้น ฝ่ายโจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบจนกว่าศาลจะแน่ใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ หากปรากฏว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ กฎหมายให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227

           แต่กลับมีความเห็นในทางตรงกันข้ามกับคำตอบดังกล่าว โดยเห็นว่าแม้ว่ามาตรา 227 ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดอาญาจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และให้ศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ แต่ใครจะเป็นคนชี้ให้ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นเหตุให้ศาลเกิดความสงสัยในพยานหลักฐานนั้นว่าจำเลยได้กระทำความผิดอาญานั้นหรือไม่ ก็คือทนายความที่มีความชำนาญในวิชากฎหมายวิธีสบัญญัติหรือสารบัญญัติ ทั้งต้องเป็นทนายความที่มีปฎิภาณไหวพริบดีอีกด้วยนะครับ ก็คือว่าต้องเป็นทนายความที่เก่งว่าอย่างงั้นเถอะ

            เก่งในการนำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ เก่งในการป้อนคำถามค้านถามติงพยานเมื่อถึงคราวที่ควรจะถาม ไม่ใช่ถามไปเรื่อยเป็นนกแก้วนกขุนทอง หรือเฉยเสียเมื่อพยานเบิกความสมประโยชน์จำเลยอยู่แล้ว เป็นต้น

            มีคดีอาญาเป็นจำนวนมากที่ศาลยกฟ้องเพราะความเก่งของทนายความ ดังเช่น คำพิพากษาที่ 455/2542 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ส. ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ จับตัวและขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากขัดขืนจะฆ่าแล้วจำเลยกระทำชำเรา ผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 จำเลยให้การปฏิเสธ

            ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี

            จำเลยอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

            จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกา จำเลยประการแรกว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงคงฟังได้ แต่เพียงว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายเท่านั้น แสดงว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยชำเรามิใช่จำเลยข่มขืนกระทำชำเรา แต่แม้ว่าจำเลยจะชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมก็ตาม ถ้าผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปี จำเลยก็ยังคงมีความผิดตามมาตรา 277 อยู่

            ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายมีอายุเท่าใด ผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายเกิดวันที่ 17 ตุลาคม 2521 ตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านหมาย จ.2 และ จ.3  แต่นาง ท. มารดาผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะที่ผู้เสียหายเกิดนั้นนาง ท.ไม่ได้ไปแจ้งเกิดในทันทีแต่ได้ไปแจ้งเกิด เมื่อผู้เสียหายมีอายุ 9 เดือน วันเดือนปีเกิดที่ระบุในสูติบัตรเอกสาร หมาย จ.2 เป็นวันที่พยานไปแจ้งเกิดผู้เสียหาย มิใช่วันเกิดที่แท้จริง เหตุที่แจ้งอย่างนั้นเพราะกลัวจะเสียค่าปรับ เห็นว่า ในเรื่องวันเกิดของผู้เสียหายนี้ไม่มีใครทราบได้ดีกว่ามารดาผู้เสียหายเพราะเป็นผู้อุ้มท้อง และคลอดผู้เสียหายเอง ย่อมต้องจดจำวันได้อย่างแม่นยำเมื่อพิจารณา จากคำเบิกความของนาง ท.ทั้งหมดแล้วไม่มีส่วนใดเป็นพิรุธเพื่อช่วยเหลือจำเลย หากนาง ท.จะเบิกความช่วยเหลือจำเลยแล้ว ก็น่าจะช่วยเหลือจำเลยมากยิ่งไปกว่านี้ ดังนั้น คำเบิกความของนาง ท.จึงน่าเชื่อถือ และฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุตามสูติบัตร 14 ปี  6 เดือน เมื่อรวมอีก 9 เดือนด้วยแล้วขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุที่แท้จริง 15 ปีเศษแล้วอายุของผู้เสียหายนั้นต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะมีอายุเกินกว่า 15 ปีแล้วมิใช่ 14 ปีเศษตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา   ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"

             พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

             คดีนี้ศาลฎีกายกฟ้อง เพราะความเก่งของทนายจำเลยโดยแท้

หมายเหตุ

            ตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ศาลฎีกาเชื่อคำเบิกความของนาง ท.  มารดาผู้เสียหายที่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยเกี่ยวกับเรื่องวันเกิดของผู้เสียหาย มากกว่าเชื่อสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน โดยเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุที่แท้จริง 15 ปีเศษ ไม่ใช่อายุ 14 ปี 6 เดือน ตามที่ระบุในสูติบัตร แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ขณะมีอายุเกินกว่า 15 ปีแล้ว มิใช่ 14 ปีเศษตามฟ้องการกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง กรณีนี้เท่ากับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมหาชนนั้นนำสืบถึงความไม่ถูกต้องของเอกสารมหาชนนั้นได้ จะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกานี้ว่า การนำสืบถึงความไม่ถูกต้องของเอกสารมหาชนนั้น คู่ความฝ่ายที่ถูกอ้าง  เอกสารมหาชนไม่จำเป็นต้องนำพยานของตนมาสืบถึงความไม่ถูกต้องเสมอไป อาจจะอาศัยเพียงการถามค้านของทนายของตนก็ได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 346274เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2010 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ สบายดีนะค่ะ มาพร้อมกับภาพสายฝนมาฝากเพื่อจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้บ้าง .........
  • มีความสุขมาก ๆ นะค่ะ

              

สำคัญที่สุดค่ะ..เปรียบเหมือนคนขับรถชนกัน แล้วต้องมองหาเส้นขาวกลางถนน..

สวัสดีครับท่านอาจารย์เมธา

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าทนายความมีความสำคัญต่อการดำเนินคดี

โดยเฉพาะคดีอาญา ผู้ที่ตอบว่าไม่สำคัญนะอาจไม่ทราบถึงความจำเป็นในการนำสืบเพื่อเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ให้รอบด้านก่อนศาลจะมีการวินิจฉัย การทำคดีใช่ว่าจะอาศัยเพียงรู้กฎหมายเท่านั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ของทนายแต่ละท่านกับการรู้และทราบถึงข้อเท็จจริงของคดีอย่างดี อาชีพของพวกเราไม่ได้ทำให้ขาวเป็นดำหรือดำเป็นขาว แต่เรามีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฎก่อนศาลจะวินิจฉัยครับ

ท่านอาจารย์สบายดีนะครับผมไม่ได้แวะมาทักทายเสียนาน

ขอบคุณครับสำหรับข้อคิดดีๆ 

สวัสดีครับบุษรา

ที่เข้ามาเยี่ยมชม สบายดีครับ และรู้สึกเย็นสบายเมื่อมองภาพสายฝนที่นำมาฝากครับ

สวัสดีครับครูบันเทิง

สำคัญที่สุดค่ะ"ขอบคุณสำหรับอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนถึงสำคัญของอาชีพทนายความ

สวัสดีครับ ชาวฝนแปดแดดสี่

"เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าทนายความมีความสำคัญต่อการดำเนินคดี" ท่านก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนและมีส่วนช่วยให้วงการทนายความเป็นที่รู้จักกับบุคคลโดยทั่วไปครับ "การทำคดีใช่ว่าจะอาศัยเพียงรู้กฎหมายเท่านั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ของทนายแต่ละท่านกับการรู้และทราบถึงข้อเท็จจริงของคดีอย่างดี" เป็นเรื่องจริงที่ถูกที่สุด เหมือนอย่างมีบางคนถามว่า "ทนายครับ ผมละงงจริงๆ คดีเดียวกัน ผมถามท่านสองคน หรือมากกว่านั้น ทำไม่จึงเรียก "ค่าทนาย" (ค่าจ้างในการว่าความ) ไม่เท่ากันครับ ถ้าเป็นท่านจะตอบอย่างไร แต่จริงๆท่านก็ตอบมาแล้วนะว่า "ประสบการณ์และความสามารถของทนายไม่เหมือนกัน" ไงครับ ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ "อาชีพของพวกเราไม่ได้ทำให้ขาวเป็นดำหรือดำเป็นขาว แต่เรามีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฎก่อนศาลจะวินิจฉัยครับ" ใช่ครับเราไม่ใช่ผู้ตัดสินแต่เราคือผู้ชี้กรรม ใช่หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆเรามีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏต่อศาล และใช้ข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ดังนั้น ทนายคือผู้เขียนฎีกาใหม่ๆ มิใช่ผู้พิพากษา ใช่ไหมครับ

สวัสดีครับอาจารย์

ผมได้ดำเนินการตามที่อาจารย์ต้องการแล้วครับ ยาจากประเทศอินเดียมาถึงแล้ว ให้อาจารย์ส่งที่อยู่มาทางอีเมล์ผม ด้วยน่ะครับ

ผมจะส่งยาไปให้น่ะครับ

มาเป็นกำลังใจค่ะ

ในการต่อสู้ต่อไปค่ะ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจเรื่อยมาครับภัทรานิษฐ์ (ครูจิ๋ว)

  • สวัสดีค่ะ ผศ.ดร. เมธา สุพงษ์
  • ใครหนอบังอาจว่า "ทนายความไม่สำคัญ"
  • อ่านแล้วก็เห็นความสำคัญอย่างเด่นชัด
  • ขอบพระคุณที่เล่าตัวอย่างกรณีศึกษาที่แทบไม่น่าเชื่อว่าทำได้...
    สงสัยต่อไปก็คือ  การรับว่าความคดีต่าง ๆ ทนายมีหลักเกณฑ์หรือ
    จรรยาบรรณอย่างไรบ้าง ?? 
  • หากรู้ว่าผู้ที่ติดต่อให้ไปว่าความทำความผิดจริง  แล้วเขาพยายามทุ่มเงินให้มากมายเพื่อให้พ้นผิด  หากทนายเก่ง ๆ ดังว่ารับว่าความและชนะคดี  มิกลายเป็นช่วยคนผิดและเป็นบาปหรอกหรือ ?  (ลองคิดเล่น ๆ ค่ะ ...แต่คิดดังไปหน่อยค่ะ 
    ขออภัยค่ะ)
  • ในทางกลับกันทนายความจำนวนมากได้ช่วยคนดี ๆ มากมายที่ถูกใส่ร้ายให้พ้นผิดถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่
  • ในส่วนของอาจารย์มีหลักเกณฑ์อย่างไรในการรับว่าความละคะ ?

 

ทนายความเป็นนักกฎหมายที่มีความสำคัญมาก เพราะเขาเป็นตัวแทนของตัวความแก้ว่าต่างลูกความในศาล ซึ่งโดยหลักเขามีหน้าที่ 3 ประการคือ

1.) หน้าที่ต่อตัวความ ซึ่งเป็นตัวการที่จะกระทำการแทนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดี

2.) หน้าที่ต่อศาลที่จะต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำสั่ง และปฏิบัติตามคำสั่ง และ

3.) หน้าที่ต่อผู้อื่นที่จะไม่เอา เปรียบกัน 8 หน้าที่ต่อลูกความนั้นแบ่งเป็นระหว่างทนายกับลูกความเองกับหน้าที่ที่จะกระทำการกับบุคคลภายนอกแทนลูกความด้วยความซื่อสัตย์และระมัดระวัง เขาจะต้องรักษาประโยชน์ของลูกความเหมือนกับประโยชน์ของเขาเองและด้วยคุณธรรม มีสภาทนายความเป็นองค์กรอิสระและมีกรรมการควบคุมมารยาททนายความลงโทษกันเอง ซึ่งมีตั้งแต่ภาคทัณฑ์เป็นอันดับต้น ห้ามว่าความเป็นอันดับสูงขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 ปี และถ้าร้ายแรงก็จะ ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

จรรยาสำหรับทนายความเรียกว่ามารยาททนายความ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2529 มี 21 ข้อ เป็นข้อห้ามทำผิดหน้าที่ ที่มีต่อศาล และต่อลูกความ

ข้อ 1 – ข้อ 4 เป็นบททั่วไป จะไม่นำมาพิมพ์ไว้ในนี้ ส่วนข้อต่อไปนี้เป็นข้อห้ามมิให้กระทำ ทนายผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าผิดมารยาท หากเขาผู้ใดประพฤติตนดังต่อไปนี้ :

ข้อ 5 ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่มีข้อแก้ตัวโดยสมควร

ข้อ 6 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจหรือผู้พิพากษา

ข้อ 7 กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลงหรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

ข้อ 8 สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบทแก่เจ้าพนักงาน

ข้อ 9 กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้

ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้ อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใด ๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดี นั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้

ข้อ 11 เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล

ข้อ 12 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ จงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

ข้อ 13 ได้รับปรึกษาหารือหรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่งแล้วภายหลัง ไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ ในกรณีเดียวกัน

ข้อ 14 ได้รับทนายความแล้ว ภายหลังใช้อุบายด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้

ข้อ 15 กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระยัดสินลูกความหรือครอบครองหรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือ ทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความที่ตนได้รับโดยหน้าที่ อันเกี่ยวข้องไว้นอนเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความเว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร

ข้อ 16 แย่งหรือทำการใดในลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่าหรือรับหรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นว่าอยู่แล้วเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้น แล้วมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว

ข้อ 17 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใด ๆ ดังต่อไปนี้

- อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเองหรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง หรือ ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานอันเป็นไปในทางโอ้อวด เป็นเชิงชักชวน ให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ หรืออื่น ๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ

ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการ เสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรี และเกียรติคุณของทนายความ

ข้อที่ 19 ยินยอมตกลง หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าหรือบำเหน็จรางวัลใด ๆ ด้วยทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือมีคนประจำสำนักงานดำเนินการจัดหาคดีความมาให้ว่า โดยทนายความผู้นั้นคิดค่าส่วนลดของค่าจ้างให้ หรือให้เงินเดือน หรือเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความมาให้นั้น แม้บุคคลผู้หาคดีความมาให้โดยลักษณะดังกล่าวจะเป็นเสมียนหรือลูกจ้างประจำสำนักงานของทนายความผู้นั้นก็ตาม

ข้อ 20 ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

- ทนายความชาย แต่งตามแบบสากลนิยมเป็นชุดสีขาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ๊ตขาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว สีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล หรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า

- ทนายความหญิงแต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพ ไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น

- ทนายความที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบราชการ จะแต่งเครื่องแบบราชการก็ได้

- ในขณะว่าความ ทนายความที่มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย

ข้อ 21 ทนายความจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความและคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตลอดจนบรรดาข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้สั่งหรือมีไว้แล้วแต่กรณีตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบัญญัติแห่งกฎหมาย ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ

ดังกล่าวมีโทษ 3 สถานคือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ (มาตรา 51 , 52) ทั้งนี้แล้วแต่ความร้ายแรงแห่งการกระทำ

ทนายความมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏต่อศาล และให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษสมกับความผิดที่ได้กระทำไปและไม่มากจนเกินกว่าความผิดที่ได้กระทำจริง ๆ

"ในส่วนของอาจารย์มีหลักเกณฑ์อย่างไรในการรับว่าความ" รับคดีที่ตนเองมั่นใจว่าสามารถทำหน้าที่ให้กับตัวความได้"

  • สวัสดีค่ะ ผศ.ดร. เมธา สุพงษ์P
  • มาอ่านคำตอบ  เหมือนฟังคำบรรยายเลยค่ะ
  • อ่านแล้วได้ความรู้เกิดความชัดเจนมาก
    ที่แท้ก็มีข้อระเบียบข้อบังคับที่ต้องระวังตัวมากมาย  ยิ่งกว่าหลาย ๆ อาชีพ
  • กราบขอบพระคุณในความเมตตาที่กรุณาแบ่งปันความรู้ค่ะ
  • ...กว่าจะได้เป็นทนายความก็ยากลำบาก  เป็นแล้วก็ต้องมีปฏิภาณไหวพริบ
    ช่างสังเกต  คิดวิเคราะห์  ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมกำกับ
  • คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดถึงทนาย  ยามใดที่เกิดคดีหรือเรื่องราวนั่นแหละจึงคิดถึง
    เหมือนคำค่อนขอดที่เกี่ยวกับอาชีพหมอที่ว่า...
          "เวลาป่วยเห็นหมอเป็นเทวดา  เวลาหายเห็นหมอเป็น...."

              

ขอบคุณเช่นเดียวกันที่ให้ความสนใจในวิชาชีพทนายความ หวังว่าคงได้ประโยชน์บ้างนะครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ดร. ทนายฯ

จากคำกล่าวของคุณทนายแปดฯ อาชีพของพวกเราไม่ได้ทำให้ขาวเป็นดำหรือดำเป็นขาว แต่เรามีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฎก่อนศาลจะวินิจฉัย

เห็นด้วยอย่างยิ่งยวดค่ะ ว่าทนาย อัยการ ที่ดี ล้วนมีความสำคัญต่อทุกๆ คน

ยิ่งส่งผลกระทบต่อส่วนรวม โดยเฉพาะกรณีเรื่องของชาติ มนุษยชาติแล้วขาดไม่ได้ค่ะ

มาทายทักแบบสบายๆ ก่อนพักผ่อนเทศกาลปีใหม่ไทย สุขสันต์วันครอบครัวนะคะ

สวัสดีครับ k.poo

ขอขอบคุณที่มีความคิดเห็นที่ดีกับอาชีพทนายความ เช่นเดียวกันมีความสุขวันครอบครัวครับ ความหวังของทนายคือทำความจริงให้ปรากฏ และได้ใช้ข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง

ผมมีเรื่องอยากปรึกษาท่านอาจารย์หน่อยครับ ผมก็เปนประชาชนตาดำดำืที่มีเรื่อง โดนหลอกอยู่ครับ ถ้าท่าน มีเวลาสักเล็กน้อยผมขอเศดเวลาของท่านด้วยครับ จากลูกช้างตาดำดำ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับพัฒน์คณิต

ได้ครับ เรียนเชิญไม่ทราบว่าเรื่องที่ต้องการจะปรึกษามีรายละเอียดอย่างไรครับ

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ ไม่มีทนายก็ทำนิติกรรมโดยส่วนใหญ่ไม่ได้อ่ะ

กรณีข่มขืน หรือชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ส่วนมากศาลจะมีน้ำหนักไปทางผู้เสียหาย โดยไม่ได้คำนึกว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน โดยมีญาติพี่น้องของผู้เสียหายที่มีสาเหตุกับจำเลยอยู่เบื้องหลัง จึงเชื่อในความยุติธรรมของศาลประเภทเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง !!!

สวัสดี ภู ตะวัน

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็น

สวัสดีครับท่านอาจารย์เมธา

ผมขออนุญาตอาศัยบันทึกนี้ของท่านอาจารย์ ก้าวล่วง ไปยังคุณภู ตะวัน ด้วยความเคารพยิ่งในความคิดเห็นของคุณภู ตะวัน

ผมได้อ่านความคิดเห็นที่ 21 แล้ว ทำให้สงสัยว่าคุณ ภู ตะวัน อาจจะได้รับทราบเคสบางอย่างเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศมาแล้วทำให้ก่อเกิดความรู้สึกเป็นไปในทางที่ให้ความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมลดน้อยลง อย่างที่บอกว่า

กรณีข่มขืน หรือชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ส่วนมากศาลจะมีน้ำหนักไปทางผู้เสียหาย โดยไม่ได้คำนึกว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน โดยมีญาติพี่น้องของผู้เสียหายที่มีสาเหตุกับจำเลยอยู่เบื้องหลัง จึงเชื่อในความยุติธรรมของศาลประเภทเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง !!!

ผมจึงขออาศัยช่องทางนี้แจงแทนระบบยุติธรรมซึ่งผมก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบนี้

กล่าวคือ  โดยปกติแล้วทุกคดีที่มีความผิดทางอาญา และมีการฟ้องร้องคดีต่อศาล(ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความเกี่ยวกับเพศ) หากศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตราบนั้นถือว่าจำเลยบริสุทธิ์อยู่ ก่อนศาลจะตัดสินว่าจำเลยผิด ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำมาสืบพิสูจน์ต่อศาลเสียก่อนแล้วจึงพิจารณาจากพยานหลักฐานที่นำสืบกันในศาล โดยเฉพาะคดีประเภทนี้แม้จำเลยจะรับว่ากระทำความผิดจริง พนักงานอัยการก็ต้องมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงต่อศาลจนเป็นที่พอใจเสียก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่รับสารภาพจริง จึงจะตัดสินคดีได้ และในคดีที่มีอัตราโทษสูง แม้จำเลยจะรับสารภาพ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้จำเลย

อย่างกรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีตัวอย่างตามที่ท่านอาจารย์เมธา ยกมานี้ ก็จะเห็นได้ว่าประเด็นข้อต่อสู้ของคดีไม่ได้อยู่ที่ว่า จำเลยกระทำชำเราหรือไม่ แต่ประเด็นของคดีอยู่ที่อายุของผู้เสียหายว่าต่ำกว่า 15 หรือไม่ กรณีที่ว่านี้ถ้าศาลไม่รับฟังข้อเท็จจริงทุกด้านแล้ว และศาลมีน้ำหนักไปทางผู้เสียหายอย่างเดียว ตามที่คุณภู ตะวัน เข้าใจนั้น ในคดีนี้มีหลักฐานเป็นเอกสารว่าผู้เสียหายอายุไม่ถึง 15 ปี ศาลก็ต้องรับฟังเอกสารสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน ซิครับจะไปรับฟังพยานบุคคลทำไมในเมื่อให้น้ำหนักไปทางผู้เสียหายตามที่คุณภู ตะวัน เข้าใจ แต่นี้เป็นเพราะศาลไม่ได้ให้น้ำหนักหรือตั้งธงว่าจำเลยต้องผิด เมื่อผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 15 ปี ผลคดีจึงเป็นอย่างที่ได้รับทราบ

ผมเรียนมายังคุณภู ตะวัน ก็ด้วยความเคารพต่อความเข้าใจของคุณภู ตะวัน แต่หากเป็นไปได้ขอได้โปรดอ่านบทความในบันทึกของท่านอาจารย์เมธา อีกสักครั้งแล้วพิจารณาดูว่า ศาลมีน้ำหนักให้กับผู้เสียหายที่อายุต่ำกว่า 15 จริงๆ หรือว่าศาลถือเอาตามกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินคดี หวังด้วยความเคารพว่าคุณภู ตะวัน คงไม่ถือโทษโกรธผมที่แสดงความเห็นแย้ง

และขออภัยท่านอาจารย์เมธา อีกครั้งที่มาใช้บันทึกนี้ของท่านอาจารย์แสดงความคิดเห็นแย้งคุณภู ตะวัน โดยมิได้ขออนุญาตเสียก่อน

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับชาวฝนแปดแดดสี่

ด้วยความเคารพ ผมมิได้ถือว่าเป็นเรื่อง "ก้าวล่วง" หรอกครับ เป็นความกรุณาที่ ชาวฝนแปดแดดสี่ ได้ช่วยแสดงความคิดเห็นและช่วยชี้แจงให้กับคุณภู ตะวันได้เข้าใจครับ ถึงระบบของกระบวนการยุติธรรม และผลแห่งคำพิพากษาในคดีนี้ครับ ด้วยความขอบพระคุณ

ท่านอาจารณ์คับผมมีความสงสัยว่าการเรียกสืบพยานโจทแล้วจำเลยแล้ววันนี้นัทฟังคำพิพากสาแต่ท่านศาลสั่งให้สืบใหม่หมดคืออะไรคับรบกวนท่านช่วยตอบผมทีคับผมอาจใช้คำไม่ถูกต้องขอโทษด้วยคับ

ไปมีเรื่องมา ผมเปิดทางเป็นถนนกว้าง10เมตรแล้วได้ที่ดินมา10กว่าไร่เป็นข้อแรกเปลี่ยนกัน ฝ่ายโน้นให้เมียเซนโอนที่ดินให้ผมคนเดียว คู่สมรสไม่ได้เซนโอนให้ อ้ายผมก็ไม่รู้เรื่องแบบนี้ อ้างว่าเป็นสินสมรส เพิ่งยื่นคำแก้ฎีกาที่ศาลจังหวัดพะเยา ชนะมา2ศาลแล้วเหลือศาลฎีกาสุดท้ายแล้ว ทนายกรองแก้วเขียนคำแก้ฎีกาเก่งมากๆ เขียนตั้ง20กว่าหน้า เขียนละเอียดดีมากๆ ผมได้อ่านหลายรอบ รู้สึกว่าได้เลยว่าชนะ100% ทนายดีทนายเก่งต้องยกนิ้วให้ ทนายกรองแก้ว สู้แบบยุติธรรม เอาความจริงมาสู้ แต่ดูจากการว่าความศาลชั้นต้น เขียนคำแก้อุทรณ์และเขียนคำแก้ฎีกา รู้สึกได้เลยว่าวิเศษจริงๆ วันนี้ขอเชียร์ทนายกรองแก้วสักวัน "ทนายคนดี ทนายคนเก่ง ทนายคนซื่อ ทนายมือสอาด ทนายฝีมือดี" ต้องทนายกรองแก้ว เขียวแก่ สำนักงานทนายอยู่ที่ซอย ประดิพัทธ์ 3 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400 โทร.02-2713168,081-6555254

ท่าน ผศ.ดร. เมธา สุพงษ์ ยอดมากครับผม

พอดีผมได้อ่านบทความแล้วคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่าน จึงช่วยแป๊ะให้ครับ

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ "ทนายความ" และการว่าจ้างทนายความ จากใจทนายเชียงใหม่
ผู้เขียนในฐานะทนายเชียงใหม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นหน้าตาที่จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของทนายความได้ชัดเจนที่สุด ตามความเห็นของผู้เขียน ย่อมเป็น “สำนวนคดี” ในแต่ละคดีที่ทนายความผู้นั้นเคยทำ ซึ่งจะบันทึกเรื่องราวของคดีทั้งหมดตั้งแต่การวางรูปคดี การตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การร่างฟ้อง ร่างคำให้การ จังหวะและรูปแบบการยื่นคำคู่ความต่างๆในคดีเพื่อชิงความได้เปรียบในคดี การแถลงด้วยวาจาต่างๆที่จะปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงไหวพริบและความกล้าหาญในการรักษาผลประโยชน์ของลูกความ และที่สำคัญที่สุด บันทึกการถามพยาน ที่จะแสดงให้เห็นถึงฝีมือในการถามพยานของทนายคนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการซักถาม ถามค้าน ถามติง

ซึ่งทนายความคนไหน จะเป็นทนายความที่เก่งหรือไม่ ย่อมรู้ได้โดยการตรวจสอบสำนวนคดีในอดีตของทนายความผู้นั้น เพราะสำนวนคดีแต่ละคดี ย่อมจะบ่งชี้ให้เห็นว่า ทนายความผู้นั้นมีความใส่ใจในการทำคดีเพียงใด มีความสามารถในการร่างฟ้อง ร่างคำให้การเพียงใด มีสไตล์การทำงานที่รักษาผลประโยชน์ของลูกความแค่ไหน และมีฝีมือในการซักถาม ถามค้าน ถามติง แค่ไหน

ดังนั้นตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว หากท่านเป็นประชาชนผู้มีคดีความและต้องการหาทนายความเก่งอย่างแท้จริงในการทำงาน ท่านก็ควรต้องขอตรวจสอบสำนวนคดีที่ทนายความผู้นั้นเคยทำมาก่อนในอดีต เช่นถ้าท่านต้องการหาทนายความเพื่อต่อสู้คดีอาญาในคดีที่ท่านตกเป็นจำเลย ท่านก็ต้องขอตรวจสอบสำนวนคดีอาญาที่ทนายความผู้นั้นเคยทำมาก่อน และหากท่านมีฐานะเป็นทนายความโดยเฉพาะทนายเชียงใหม่ ท่านก็ควรรวบรวมสำนวนต่างๆที่ท่านเคยทำไว้อย่างเป็นระบบและแบ่งแยกให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ลูกความรายใหม่ของท่านตรวจสอบได้ เพื่อที่จะยืนยันได้ว่าท่านเป็น “ของจริง” ซึ่งยังเป็นประโยชน์ในการที่ท่านจะค้นคว้าหรืออ้างอิงสำนวนคดีเดิมในการทำงานครั้งหลัง และเป็นการกระตุ้นเตือนตนเองให้ตั้งใจทำงานให้ดีอีกทางหนึ่งด้วย หากท่านมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ท่านสามารถติดต่อผมได้ที่
FB : ดร.เกียรติศักดิ์ พันธวงศ์

สนใจกฎหมายมาตรา 277ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท