ทักษะชีวิตของเด็กพิเศษจะพัฒนาขึ้นเมื่อไร


ขอบคุณทีมงานสถาบันไพดี้และคุณดลยา นักกิจกรรมบำบัด รร.รุ่งอรุณ ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประเมินและจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กพิเศษ

ผมสรุปกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ดังนี้

1. ผู้ปกครองและนักกิจกรรมบำบัดร่วมกันคัดกรองทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตามพัฒนาการของเด็ก ว่า มีความสามารถดี ไม่ต้องฝึกทักษะ จนถึงไม่มีความสามารถ ต้องฝึกทักษะ ได้แก่ การช่วยเหลือตนเองในการล้างหน้า การแปรงฟัน การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย การสวมใส่เสื้อผ้า การสวมใส่กางเกง การทานอาหาร การเตรียมอาหาร การทำความสะอาดหลังทานอาหาร การทำงานบ้าน การเล่นคนเดียว การเล่นกับเพื่อน การเล่นกับผู้ปกครอง การเรียนรู้สำรวจธรรมชาติ การเข้าสังคม เป็นต้น

2. จากนั้นให้คะแนนภาพรวมของทักษะความสามารถของเด็กในขอบเขตทักษะการดูแลตนเอง ทักษะการศึกษา ทักษะการทำงาน ทักษะการเล่น ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการจัดการตนเองขั้นสูง (เช่น การแก้ไขปัญหา การจัดการอารมณ์ การจัดการความคิดความเข้าใจ) จาก 1 คะแนน ถึง 10 คะแนน (เกณฑ์ผ่านทักษะชีวิตเท่ากับหรือมากกว่า 7 คะแนน)

3. นักกิจกรรมบำบัดสอบถามความต้องการเพิ่มเติมว่า จะพัฒนาทักษะความสามารถของเด็กและทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตามพัฒนาการ โดยค้นหาข้อมูลระบบความช่วยเหลือ ครอบครัวมีส่วนร่วมฝึกทักษะชีวิตของเด็ก ฝึกปฏิบัติโปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อนำไปใช้ต่อที่บ้าน อบรมความรู้เชิงเทคนิคการฝึกทักษะชีวิต หรือหลายๆวิธีการ

4. นักกิจกรรมบำบัดใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่จำเป็นต่อการพัฒนาจากข้อ 1-2 แล้วตั้งเวลาทั้งหมดไม่เกิน 45 นาที เริ่มจับเวลาตั้งแต่เด็กเริ่มทำกิจกรรมหนึ่งๆ ตามคำสั่ง หากเด็กมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ทำกิจกรรมหนึ่งๆ นั่นไม่สำเร็จ นักกิจกรรมบำบัดกดหยุดเวลา แล้วเพิ่มระดับความช่วยเหลือให้เด็กทำกิจกรรมหนึ่งๆ นั่นต่อให้ได้สำเร็จ เช่น จำมือทำ แตะนำ ทำให้ดูและเลียนแบบ บอกให้ทำและเงียบดู เป็นต้น เมื่อเด็กเริ่มทำกิจกรรมหนึ่งๆ นั้นต่อ ให้กดจับเวลาต่อเนื่องจากเดิม โดยตั้งเกณฑ์ให้อยู่ในช่วงเวลาที่ใช้ไม่เกิน 15 นาที และบันทึกพฤติกรรมของเด็กผ่านกล้องวิดีโอวงจรปิดด้วย

5. นักกิจกรรมบำบัดพิจารณาเพิ่มเติมว่า เด็กจำเป็นต้องฝึกโปรแกรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตหรือไม่ เช่น ระบบการรับความรู้สึก ระบบการรับรู้ ระบบการประสมประสานการรับความรู้สึก ระบบความรู้ความเข้าใจ ระบบการควบคุมอารมณ์ ระบบการแสดงออกทางพฤติกรรม ระบบการเรียนรู้ ระบบการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งหากองค์ประกอบเหล่านี้ได้ถูกฝึกฝน พร้อมๆ กับการฝึกทักษะชีวิตพื้นฐานจนค่อยๆ ปรับไปสู่ทักษะชีวิตเฉพาะทางตามบริบทของบ้าน โรงเรียน ชุมชน คลินิก ฯลฯ เช่น การจัดการเวลา การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการความคิด การจัดการปัญหา การจัดการความเครียด เป็นต้น อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมบำบัดควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพและนักกิจกรรมบำบัดที่มีประสบการณ์ในการเลือกแบบประเมินเฉพาะทางและการจัดกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและคุณภาพในการฝึกทักษะชีวิต

6. นักกิจกรรมบำบัดระดมความคิดวางแผนการฝึกทักษะชีวิตร่วมกับผู้ปกครอง โดยตั้งเกณฑ์ประสิทธิผลที่ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์ หากนัดหมายที่คลินิก 1 ครั้ง หมายถึงใช้เวลาไม่เกิน 45 นาทีในการฝึกทักษะหนึ่งกิจกรรม (รวมพักระหว่างทำ) ผู้ปกครองและครูจำเป็นต้องจัดโปรแกรมทักษะชีวิตอีก 2-4 ครั้งในสถานการณ์จริงที่บ้าน โรงเรียน หรือชุมชน อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมบำบัดควรทบทวนคุณภาพของการให้บริการทางวิชาชีพ คือ นักกิจกรรมบำบัด 1 คนควรจัดโปรแกรมเฉลี่ย 6 ครั้งตลอดหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้แต่ละครั้งอาจให้บริการแก่เด็กมากกว่า 1 ราย ทั้งที่คลินิก ที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่อื่นๆ ในชุมชน

กระบวนการเหล่านี้กำลังพัฒนาเป็นระบบนำร่อง ณ สถาบันไพดี้ และ กิจกรรมบำบัด รพ. ขอนแก่น เพื่อให้มีข้อมูล ลปรร กับผู้ปกครองและทีมสหวิชาชีพที่ช่วยเหลือเด็กพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมบำบัดก็ไม่ควรลืมกรอบอ้างอิงที่ศึกษามามากมาย ควรเปิดใจ และวิเคราะห์คุณภาพการให้บริการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากได้รับความคืบหน้าของการพัฒนาระบบข้างต้นในรูปแบบ R2R อย่างไร คงได้มา ลปรร กันครับ

นักกิจกรรมบำบัดควรมี KPI, Key Performance Index จะได้ทราบว่าโปรแกรมทักษะชีวิตควรจะพัฒนาความก้าวหน้าอย่างไร
1. จำนวนการเข้ารับบริการ (ครั้ง) ต่อเด็กมากกว่า 1 ราย ไม่ควรน้อยกว่า 6 ครั้ง - เฉลี่ยตลอดหนึ่งสัปดาห์ ไม่ว่าจะจัดบริการเดี่ยวหรือกลุ่ม

2. จำนวนเด็ก (ราย) ที่เข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนเด็กที่เข้ารับบริการต่อหนึ่งนักกิจกรรมบำบัด

หมายเลขบันทึก: 346062เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2010 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท