BWN Newsletters # 31-40


BWN Newsletters # 31-40

11/6/50 Newsletter#40 (Field trip & more good news)
สวัสดีครับ BWN
     เมื่อพฤหัสที่ผ่านมา (7 มิ.ย) คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ ร่วมกับ BWN จัดทัศนศึกษาการพังทลายของชายหาดสงขลา มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 25 คน ซึ่งสิ่งที่ทุกคนได้เห็น ต่างไม่เชื่อสายตาตนเอง ว่ามีคนใจร้ายทำลายชายหาดได้รุนแรงเพียงนี้ โดยเฉพาะที่บ้านบ่อโชน ต.สะกอม หลายคนถอดใจหมดหวังกับสังคมไทย แต่เพื่อลูกหลานและประเทศชาติท่านจะยอมแพ้ไม่ได้ เชิญแวะชมภาพทัศนศึกษาฯได้ที่ web BWN
     นอกจากนี้ทุกคนยังได้รู้จักกับเนินทรายชายฝั่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก จึงขอเชิญทุกท่านหาเวลาแวะไปเรียนรู้ก่อนที่มันจะถูกทำลายไปจนหมดสิ้น ในเวลาอันสั้นนี้ บนเส้นทางที่ไปผ่านโรงแยกแก๊สไทย-มาเลเซีย บริเวณก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่สงขลาแห่งที่ 2 และโรงไฟฟ้าสงขลาที่กำลังสร้าง
     ของแถมที่ทำเอาทุกคนหมดแรง ก็คือ ได้เห็นน้ำเน่าไหลออกจากคลองสำโรงลงสู่ชายทะเลหาดชลาทัศน์  ครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลมาก แต่ความจริงแล้วไม่ต้องวิตกมาก เพราะคลื่นจะทำหน้าที่เจือจางมันลงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือ การพังทลายอย่างถาวรของชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ที่นับวันต้นสนจะล้มลงสู่ทะเลมากยิ่งขึ้น
     เมื่ออาทิตย์ที่ 10 มิ.ย. ในเวทีมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่ ม.สงขลาฯ ผมได้บรรยาย เรื่อง บทบาทสื่อกับการพังทลายของชายหาด ให้กับ คุณโสภณ ตัวแทน กก.สิทธิฯ และดร.กิตติศักดิ์ กับ ดร.จันทจิรา ซึ่งเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทุกท่านต่างสนใจและเห็นว่าต้องฟ้องศาลให้เข็ดหลาบ ก็หวังว่าอาจารย์จะมาช่วยกัน
         
Save Our Beach

==================


4/6/50 Newsletter#39 (Coastal knowledge & BWN Activities)
สวัสดีครับ BWN
     ด้วยมีเพื่อน BWN แจ้งว่าความรู้เชิงทฤษฎีเกี่ยวกับชายฝั่งที่เป็นภาษาไทยหาอ่านไม่ได้เลยในประเทศนี้ ผมจึงเรียบเรียงเขียนขึ้นจากตำราและนำใส่ลงใน web BWN แล้ว จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจแวะหาอ่านได้ และถ้ามีข้อแนะนำใดๆหรือสนใจเรียนรู้ในเรื่องใด ก็เขียนมาบอกได้ครับ ทุกอย่างที่ทำทั้งหมดก็เพื่อการรักษาทรัพยากรชายหาดให้อยู่คู่ชาติไทยและเป็นมรดกให้ลูกหลาน ผมจะนำวิชาการต่างๆทยอยนำลงใน web อย่างต่อเนื่องต่อไป
     มีข่าวดีที่ขอแจ้งให้ทุกท่านถึงการรณรงค์รักษาชายหาด ว่า ขณะนี้ทางกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการเรื่อง การฟื้นฟูชายหาดอย่างเป็นรูปธรรม คือ มีโครงการรื้อถอนเขื่อนหินบางแห่งที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วออกไป เช่นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา และที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีฯ ขอเพื่อน BWN ติดตามข่าวนี้และเป็นกำลังใจให้ด้วย
     นอกจากนี้กรมทรัพยากรทะเลฯจะจัดประชุมสรุปยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชายฝั่งในวันที่ 4 มิ.ย. 50 นี้ที่ กทม และจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฟื้นฟูชายฝั่งอย่างเป็นรูปธรรมในวันที่ 20-22 มิ.ย. 50 ที่กาญจนบุรี หลังจากนั้นราวเดือนกรกฎาคม ทางกรมทรัพยากรทะเลฯก็จะมาจัดระดมกำหนดยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ร่วมกับ ม.อ. และสถาบันการศึกษาในภาคใต้ที่หาดใหญ่ ก็ขอเชิญทุกท่านร่วมเสนอแนวทางด้วย
     เมื่อศุกร์ที่ผ่านมา ชาวบ้านเกาะลันตา กระบี่ มาเล่าให้ฟังถึงการต่อสู้รักษาทรัพยากรชายฝั่งที่นั่น ซึ่งทางรัฐบาลมีโครงการขนาดใหญ่จะพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งของเกาะให้เป็นสวรรค์นักท่องเที่ยว แต่สร้างปัญหาสังคมระยะยาวให้กับชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม ใครสนใจรายละเอียดติดต่อข้อมูลมาได้นะครับ
     5-7 มิ.ย. นี้คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ. จัดประชุมวิชาการในวาระวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยในวันพฤหัสที่ 7 มิ.ย. เวลา 9.00-16.00 จะเป็นการทัศนศึกษาการพังทลายของชายหาดสงขลา จึงขอเชิญทุกท่านและโปรดแจ้งชื่อล่วงหน้าเพื่อเตรียมรถและอาหารเที่ยง ท่านที่ยังไม่เคยไปไม่ควรพลาดครับ
      สังเกตว่ากิจกรรมของ BWN มีมากมายในระยะนี้ เราจึงต้องเร่งออกแรงอีกสักนิดเพื่อพิชิตชัยชนะให้ได้ในเร็ววัน
Save our living beaches
=======================

25/5/50 Newsletter#38(Stop Breakwaters at Bang Khun Tien, BKK)
สวัสดีครับ BWN
      นสพ.มติชน ฉบับ 26 พ.ค. 50 หน้า 5 ลงข่าวว่า กทม สั่งให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนกันคลื่น 41 ตัวที่จะสร้างที่ชายฝั่งบางขุนเทียน กทม นับว่าเป็นข่าวดีอีกชิ้นหนึ่ง รายละเอียดหาอ่านใน web BWN หัวข้อ "ข่าวจากสื่อ"
      สัปดาห์นี้มีข่าวมากมายครับ ผมขอลำดับให้เพื่อน BWN ฟังดังนี้
- กรมเจ้าท่าจะสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองท่าตะโก จ.ชุมพร และผมได้เชิญให้กรมเจ้าท่ามาร่วมแลกเปลี่ยนกับทางเราที่  ม.อ.เพื่อหาแนวทางรักษาชายหาดไว้
- ชาวบ้านเกาะลันตา กระบี่ กำลังคัดค้านการสร้างท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่นั่น และทางตัวแทนจะมาขอแลกเปลี่ยนกับ BWN ในวันศุกร์ที่ 1 มิ.ย.ในเวทีวิทยาลัยวันศุกร์ จึงขอเชิญชวนทุกท่าน
- ผมได้ส่ง email แนะนำ web BWN และบอกปัญหาชายหาดพังทลายให้แก่ผู้บริหาร ม.อ. และ กก.สภามหาวิทยาลัยสงขลาฯ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้ทราบข้อเท็จจริง และช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน
- ทางตัวแทนของ GIDTDA email มาแจ้งการเยี่ยมชม web BWN ซึ่งช่วยให้หน่วยงานต่างๆเข้าใจปัญหามากขึ้น
- สมาชิก BWN email แนะนะ website เกี่ยวกับการรักษาชายหาด เชิญแวะชมได้ที่
http://www.asbpa.org/
และ
http://www.beachreplenish.com/replenish.html
       ขอเชิญ BWN พบชาวบ้านเกาะลันตา กระบี่ ศุกร์ที่ 1 มิ.ย. นะครับ
 
Make our beaches alive
===============

21/5/50 Newsletter#37(New BWN Website)

สวัสดี BWN
    ด้วยมีเพื่อน BWN แนะนำการปรับปรุง website ให้ดีขึ้น และขณะนี้ได้จัดทำเสร็จแล้ว จึงขอเชิญทุกท่านเข้าเยี่ยมชม web ใหม่ได้
     เมื่อศุกร์ที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ทราบว่านักศึกษาคณะทรัพยากรธรรมชาติจะไปปลูกต้นสนที่ชายหาดเขาล้อน ต.สะกอม ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดจากการงอกของทรายทางใต้ของเขื่อนกันทรายปากคลองสะกอม ผมจึงเล่าให้เขาฟังว่า บริเวณนั้นไม่ใช่ชายหาดตามธรรมชาติ แต่เกิดทรายถูกขโมยมาจากชายฝั่งทางเหนือของเขื่อน ซึ่งขณะนี้บ้านเรือนและชายฝั่งพังทลายไปแล้วเกือบร้อยเมตร ทำให้นักศึกษาสนใจอยากรู้ความจริง และให้ไปบรรยายให้ฟัง
     เมื่ออาทิตย์ที่ 20 พ.ค. คุณไสว ซึ่งเป็น NGO ที่ทำงานกับชุมชนชายฝั่งหัวไทร-ปากพนัง เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นั่นกำลังจะสร้างเขื่อนกันคลื่นเอง ซึ่งฟังข้อมูลแล้วก็ทราบทันทีว่าชาวบ้านยังขาดความรู้พอควร และเสียดายเงินทองซึ่งถ้าเอาเงินนั้นมาส่งเสริมอาชีพจะมีประโยชน์มากกว่า
    มีข่าวคืบหน้าจะเขียนมาเล่าให้ฟังต่อไป
Make our beaches alive

================

16/5/50 Newsletter#36(Remember Lady Hai and Beach Poem)
สวัสดีครับมิตรชาว BWN
    เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 50 รายการ คนค้นคน ได้นำเรื่อง ยายไฮที่ต่อสู้เอาผืนนาของเขาและครอบครัวคืนมาจากการสร้างเขื่อนท่วมที่ดินของเขาอย่างไม่เป็นธรรม โดยใช้เวลาถึง 27 ปีในการเรียกร้องต่อสู้ ทำให้ได้คิดว่าการทวงคืนชายหาดที่สวยงามในอดีตคืนมา ก็ยังคงมีความหวังในที่สุด และคงไม่นานถึง 30 ปี เป็นแน่ ถ้าเรา BWN ไม่ละความตั้งใจเสียก่อน  

     มีมิตรสหาย BWN เขียนกลอน มาฝากซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศแบบผิดๆของไทยเรา ลองอ่านดู

 เหตุจากคลื่น เป็นตาม ฤดูกาล
 ฤดูผ่าน คลื่นพอประมาณ ซัดทรายกลับ
 เหตุมนุษญ์ สร้างเขื่อน ทำหาดยับ
 แต่มันกลับ สร้าง"กันคลื่น" ฝืนตำรา
 ขุดภูเขา ถมทะเล ไม่แก้เหตุ
 ขุดประเทศ ถมสองฝั่ง จะดีไหม
 ขุดให้หมด มันทั้ง ประเทศไทย
 แก้ปัญหา ภาคใต้ ได้ด้วยนา

ใครมีอะไรหรืออึดอัดใจก็เขียนมาบอกเล่ากันนะ
 
Save our beaches

=====================

14/5/50 Newsletter#35 (Coastal Erosion Trip on Envi. Day June 7,07)
สวัสดีครับ  BWN
    วันสิ่งแวดล้อมโลก 5-7 มิ.ย. 2550 นี้ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.สงขลาฯ ได้จัดประชุมวิชาการ และในวันที่ 7 มิ.ย. จะมีการบรรยาย เรื่องการพังทลายของชายฝั่ง ร่วมกับการทัศนศึกษาชายฝั่งสงขลา ซึ่งท่านอาจจะได้เห็นวิธีการก่อสร้างเขื่อนหินกันคลื่นชายฝั่งสงขลา ของกรมเจ้าท่า ซึ่งจะเริ่มสร้างปลายเดือน พ.ค. นี้
     จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่รักชายหาดและชายฝั่ง ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
รายละเอียดดูได้ที่
http://www.envi.psu.ac.th/foem/pr/brochure-enviday07.pdf
ความรู้ที่ได้รับจะเป็นแนวทางในการจัดประชุมร่วมกับกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่จะจัดขึ้นที่ ม.สงขลาฯ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการรักษาชายฝั่ง

Save Our Precious Beaches
==================

11/5/50 Newsletter#34 (Songkhla Breakwater Constructed end of May 07)
ด่วนครับ  BWN ที่รักในชายหาดสงขลาทุกท่าน
      เป็นที่แนน่นอนแล้วว่า กรมเจ้าท่าฯจะเริ่มสร้างเขื่อนริมทะเลตลอดแนวชายฝั่งสงขลาฯ ปลายเดือน พ.ค. 50 นี้ ด้วยงบก้อนแรกกว่า 260 ล้านบาท ชาวบ้านปึก ต.นาทับ บอกผมเมื่อวันพุธ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อผมได้แวะไปที่นั่นเพื่อเตรียมการพาผู้สนใจไปทัศนศึกษาในวันสิ่งแวดล้อมโลกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5-7 มิ.ย.นี้
      วันนั้นน้ำทะเลสงบ ใสเป็นสีฟ้าอ่อน ชายหาดที่หลงเหลือเป็นแนวแคบๆนั้น มีเด็กเล็กๆสิบกว่าคนจากหมู่บ้านพากันมาวิ่งเล่นบนชายหาด ลงเล่นน้กและจับหอยเสียบกันอย่างสนุกสนาน  เขาจะรู้บ้างใหมว่าพ่อๆพี่ๆของเขาได้ทำลายมรดกที่งดงามนี้เสียแล้วด้วยความจงใจเราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ ... ภาพสวยงามเหล่านั้นผมนำลงไว้ใน web BWN เชิญแวะชมได้ และขอให้ช่วยกันติดตามข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง
       มีข่าวดีเล็กๆน้อยๆจะแจ้งแก่เพื่อน BWN ว่า กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งซึ่งมีความตั้งใจจริงที่จะรักษาทรัพยากรชายหาดไว้ (ต่างจากกรมเจ้าท่าโดยสิ้นเชิง) จะจัดประชุมร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่นภาคใต้ เพื่อจะหามาตรการฟื้นฟูชายหาดในเร็วๆนี้ จึงขอให้ทุกท่านติดตามเรื่องนี้ต่อไป

Please Save Our Songkhla Beaches   

==================================

มีเพื่อน BWN ที่เป็นข้าราชการ เขียนมาแจ้งข่าวและขอข้อแนะนำในการแก้ปัญหาชายฝั่ง คือ
1. การสร้างท่าเรือที่ภูเก็ตนั้น มีจำนวนมาก มักสร้างในเขตปะการังน้ำตื้นที่เราต้องสงวนรักษา แต่โดนตำหนิจากที่ประชุมอย่างรุนแรงเสมอ ในข้อหาเป็นตัวถ่วงความเจริญของการพัฒนาจังหวัด ว่าปะการังกองเดียว มันจะอะไรกันนักหนาสรุปแล้ววิชาการที่ร่ำเรียนมาไม่สามารถเอามาช่วยอนุรักษ์รักษาทรัพยากรทางทะเลได้ เพราะผู้ใหญ่ทางจังหวัดไม่เอาด้วย

2. พอจะมีข้อมูลการกัดเซาะบริเวณพระตำหนักทักษิณฯที่นราธิวาสไหม เรื่องนี้สำคัญมากเพราะต้องหาคำตอบและเสนอแนวทางแก้ไขเบื้องต้น เท่าที่ทราบมีการกัดเซาะอย่างมาก จากการดูพื้นที่เบื้องต้น พบเขื่อนดักทรายที่สร้างต่อเนื่องมาจากแม่น้ำโกลกจำนวน 33 ตัว มีระยะทางรวมกว่า 20 กม. เหลืออีก 10 กม. ก็ถึงพระตำหนักแล้ว อันนี้เป็นสาเหตุที่ถูกต้องหรือไม่ครับ และมีอันอื่นอีกเหลือไม่ แนวทางแก้ไขคืออะไร

       ผมมีสมมติฐานวิธีการแก้ปัญหาทรัพยากรชายฝั่งของสังคมไทย ดังนี้
      (ก)  ใครก็ตามที่เสนอสร้างเขื่อนหินและใช้จ่ายเงินมากๆ จะได้รับการชื่นชมจากหน่วยงานและผู้ใหญ่ของรัฐฯ
      (ข) ในทางกลับกันใครก็ตามที่ต้องการรักษาทรัพยากรชายหาดให้ยั่งยืนด้วยวิถีธรรมชาติ ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้จะบอกว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้  
       ผมขอตอบคำถามของเพื่อน BWN ในเบื้องต้นดังนี้ 

1. เสนองบประมาณในการโยกย้ายประการังไปไว้ที่อื่น รับรองว่าได้รับการยอมรับและได้งบประมาณแน่นอน ยิ่งเสนองบฯมาก ยิ่งได้รับการยอมรับ และประการังก็ยังคงอยู่ในทะเลต่อไป
    
2. ให้นำรูปการพังทลายชายฝั่งจากเขื่อนหิน ที่บ้านบอคณที อ.ปากพนัง ไปให้ ผอ.ดู  ภาพนั้นสามารถบรรยายได้มากกว่าหมื่นคำพูด แล้วท่านจะตัดสินใจเอง ถ้าทางกรมจะเชิญผมไปบรรยายให้ก็ยินดี นศ. Delft ได้ศึกษาที่นั่นไว้บ้างแล้ว ซึ่งปัญหาก็เหมือนกัน คือทรายถูกยับยั้งไว้ ที่เขื่อนหินตลอดแนว ทำให้ไม่มีทรายหล่อเลี้ยงชายฝั่ง
        การสร้างประการังเทียม และระบายทรายที่ถูกกักไว้ ตามตัวรอต่างๆ มาไว้ที่หน้าพระตำหนักฯ สภาพธรรมชาติก็จะคืนมาเอง

Save our beaches  

=============================
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต หาดท่าหลา  หมู่  2  บ้านป่าคลอก  ต.ป่าคลอก  อ.ถลาง  จ.ภูเก็ต

    1 พฤษภาคม   2550

เรื่อง ขอคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือมารีน่า  แหลมยามู  ของบริษัทชาวต่างชาติ เดอะยามู  จำกัด โดยนายเอียน  ไมเคิล  ซาร์ลส์  แฮนรี 
เรียน หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่  5  สาขาภูเก็ต
        ตามวันที่  20 เมษายน  2550 เวลา  14.00 น.ได้ประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ  จังหวัดภูเก็ต  ครั้งที่  4/2550  ณ  ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ  จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวรพจณ์  รัฐศรีมา  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  เป็นประธาน  ที่ประชุมคณะกรรมการ พิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าขนาดไม่เกิน  30  ตันกรอส  และการขุดลอกร่องน้ำ  สะพานทางเดินสะพานปรับระดับและทุ่นลอย  ของบริษัทต่างชาติ เดอะยามู  จำกัด  โดยนายเอียน  ไมเคิล  ซาร์ลส์ แฮนรี  ชาวต่างชาติ  ที่บริเวณบ้านแหลมยามู ต.ป่าคลอก  อ.ถลาง  จ.ภูเก็ต  ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าพร้อมกับโรงแรม  66  หลังและรีสอร์ท  ( วิลล่า  )  32  หลัง บนเนื้อที่  100  ไร่  ที่ประชุมคณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าว  ทั้งๆที่มีบางหน่วยงานราชการไม่เห็นด้วย  และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่  สำนักงานขนส่งทางน้ำที่  5  สาขาภูเก็ต  ประมงจังหวัดภูเก็ต  และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก  ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้านและชุมชนรอบอ่าวป่าคลอก
         ชาวบ้านแหลมยามู กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบ้านป่าคลอก  คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ตำบลป่าคลอก  กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวฉลอง  เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อ่าวฉลองภูเก็ต และเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต มีความคิดเห็นต่อมติเห็นชอบในหลักการ ของคณะกรรมการฯว่า  คณะกรรมการฯไม่รับฟังเหตุผลและชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงต่อชาวบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งในพื้นที่  ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ  อีกทั้งละเลยการศึกษารายละเอียดที่จะกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง  ซึ่งทางคณะกรรมการฯละเลยหลักการที่สำคัญตั้งแต่เบื้องต้น  จะฟังเฉพาะแต่บริษัทเอกชนและบริษัทที่ปรึกษาของเอกชนอย่างเดียวมิได้  และบริษัทเอกชนต่างชาติดังกล่าวมีความไม่โปร่งใสในกระบวนการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่  โดยการจัดทำแบบสำรวจ  ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนรอบอ่าวป่าคลอกไม่ได้รับทราบและไม่มีส่วนร่วม 

         ดังนั้น ชาวบ้านแหลมยามู กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบ้านป่าคลอก  คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งตำบลป่าคลอก  กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวฉลอง เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลองภูเก็ต และเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต จึงขอคัดค้านมติคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ  จังหวัดภูเก็ต  ครั้งที่  4/2550(วันที่  20 เมษายน  2550)และขอคัดค้านการออกใบอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ของบริษัท เดอะยามู จำกัด ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ยั่งยืน  และทำให้ทรัพยากรในอ่าวป่าคลอกมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศชายฝั่ง  เช่น  แหล่งหญ้าทะเล  แหล่งปะการังน้ำตื้น  จนทำให้สัตว์ทะเลหายาก  พะยูน โลมา  เต่าทะเล  ได้เข้ามาอาศัยและหากินอยู่เป็นประจำ  อีกทั้ง การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านของชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งที่ทำมาหากินหล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชนมาหลายชั่วอายุคน  ซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามแนวทางเศรฐกิจพอเพียง  ที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ 

          จึงเรียนมาเพื่อทราบและขอให้ยกเลิกมติคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดภูเก็ต  ครั้งที่  4/2550 และคัดค้านการออกใบอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของสำนักงานขนส่งทางน้ำที่  5 สาขาภูเก็ต

ขอแสดงความนับถือ

 (นายอนุสรณ์  สมบูรณ์)                       (นายกระแส  คุ้มบ้าน)
 ผู้ใหญ่บ้านหมู่  7  บ้านยามู           ตัวแทนชาวบ้าน  หมู่  7  บ้านยามู

  (นายสมเดช  ดำรินุสรณ์)                         (นายประพันธุ์  ถิ่นเกาะยาว)
 ผู้อาวุโส  หมู่  7  บ้านยามู          ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
                                                                  ตำบลป่าคลอก

    (นายสนิท  มาสเสมอ)                         (นายเสบ  เกิดทรัพย์)
ประธานกลุ่มอนุรัก์ทรัพยากรทางทะเล     ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านบางโรง
       บ้านป่าคลอก                                              

        (นายสุทา  ประทีป ณ ถลาง)               (นายสุชาติ  ใจเหล็ก)
        ประธานชมรมชาวอ่าวฉลอง             ประธานชมรมบ้านบางคณฑี
และเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง

============================== 

30/4/50 Newsletter#33 (Harbour Dept. bad show on TV5)
สวัสดีครับ BWN
      เมื่อวานนี้ 28 เมษายน 50 ผมเผอิญดูโฆษณาสั้นของกรมเจ้าท่าเรื่อง การสร้างเขื่อนริมทะเลตลอดแนวชายฝั่งสงขลา-นครศรีฯ ซึ่งอ้างว่า ประชาชนสนับสนุน และได้ประโยชน์มากมายจากการสร้างเขื่อนริมทะเล
      ผมอยากบอกว่า กรมเจ้าท่าไม่ได้รักษาทรัพยากรชายฝั่งที่มีคุณค่ามหาศาลและทำลายมรดกของลูกหลานทิ้งจนหมด นับเป็นพ่อแม่ที่ใช้ไม่ได้ ทั้งๆที่ความรู้ในการอนุรักษ์หาดทรายมีอยู่มากมายในโลกนี้เลย แต่กลับเลือกหนทางทำลายแทน ก็ขอฝากถึงทุกคนให้ช่วยกันติดตาม และร่วมแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง
      มี website ที่ขอแนะนำให้เข้าไปชม ซึ่งเขาก็พยายามอย่างหนักเพื่อรักษาชายหาดไว้เช่นกัน คือ
http://www.norock.org/nosand/default.htm
      ชมแล้วเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

===================================
22/4/50 Newsletter#32 (About Beach : http://www.surfrider.org/)
สวัสดี BWN
      อยากเชิญชวนเพื่อนๆ BWN เข้าเยี่ยมชม Website ที่ให้ความรู้เรื่องหาดทรายที่ดีมากๆ และออกแบบได้สวยงามน่าประทับใจ

http://www.surfrider.org/
http://www.surfrider.org/whatwedo2c.asp
http://www.surfrider.org/whatwedo2b.asp
      สาระที่น่าเรียนรู้ เช่น  Beachology, Studies in Sand และ Sand Travels  ช่วยเปิดโลกให้ผมอย่างมาก ต้องขอขอบคุณ คุณหมออนันต์ที่ได้เคยแนะนำไว้ ใครเข้าไปชมแล้วเขียนมาบอกกันบ้างนะครับ

Save Our Precious Beaches  

===================================

ข่าวจาก สำนักข่าวประชาไท 12/4/50

จะนะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2  

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 เมษายน 2550 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และบริษัท เอส ที เอส เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง หรือท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 จากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรงคมนาคม ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีชาวบ้านตำบลสะกอม และแกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เข้าร่วมประมาณ 50 คน หลังจากแจ้งถึงที่มาของโครงการแล้ว นายมานะ ภัทรพานิช ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ท่าเรือนำลึกสงขลาแห่งที่ 2 อาจจะคล้ายกับโครงการขยายท่าเรือน้ำลึกบางสะพาน อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัทในเครือสหวิริยา เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 300,000 ตัน มีการสร้างสะพานเชื่อมไปยังท่าเรือที่อยู่ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร ทำให้มีผลกระทบน้อย เพราะน้ำลอดใต้สะพานได้ นายมานะ กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย มีท่าเรืออยู่มากมาย แต่เป็นท่าเรือขนาดเล็ก มีการสร้างสะพานเชื่อมต่อกับท่าเรือ จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนท่าเรือมาบตาพุดที่มีปัญหามาก เพราะมีการถมทะเล เพื่อใช้พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ทางบริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น เพื่อแก้ปัญหากัดเซาะ ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว

    นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลสะกอม แสดงความเห็นว่า พื้นที่ทะเลสะกอม มีลักษณะเป็นอ่าว ต่างกับอำเภอบางสะพานที่เป็นหัวแหลม โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ในอำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 20,000 ไร่ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โครงการนี้จึงเกี่ยวข้องกับโรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย ถ้าบอกว่าสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ชาวบ้านคงไม่เชื่อ นายประเสริฐ รักษ์ไทยดี ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เกี่ยวโรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย แต่เกิดจากความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่อยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่มีการสำรวจและออกแบบเสร็จแล้ว นางจันทิมา ชัยบุตรดี แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าโครงการนี้ไม่เกี่ยวกับโรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย เพราะคณะที่ปรึกษาได้ศึกษาถึง 8 แห่ง ตั้งแต่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส แต่เหตุใดจึงเลือกที่จังหวัดสงขลานางจันทิมา กล่าวต่อไปว่า ถ้ามีการถมทะเลแล้ว ชาวประมงจะไปจับปลาที่ไหน ชาวบ้านที่เลี้ยงปลากะพงในกระชังจะอยู่อย่างไร วิถีชีวิตของชาวมุสลิมจะเปลี่ยนไปแบบไหน โครงการนี้ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านเลย เมื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแล้วต่อไป โรงงานอุตสาหกรรมอีกกว่า 2,000 ในอำเภอจะนะก็จะตามมา เพราะเป็นแผนพัฒนาที่กำหนดไว้แล้ว คำถามก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะตามมาด้วยหรือไม่ ถ้าเกิดผลกระทบจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะขนาดปัญหาจากโรงงานอุตสาหกรรมแค่ 7 แห่ง ในอำเภอจะนะก็ยังแก้ไม่ได้ เช่นเดียวกับที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าจะให้พวกตนอยู่ดีกินดี ก็อย่าสร้างโครงการขนาดใหญ่ๆ ในพื้นที่นี้

     นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า พวกตนไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึก เพราะไม่ต้องการตามแก้ปัญหาภายหลัง พวกตนต้องการให้ยกเลิกโครงการนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา ฝากบอกไปยังผู้ใหญ่ด้วยว่า พวกตนไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึกและไม่ต้องการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

     จากนั้นแกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายคน ได้สลับกันแสดงความคิดเห็น โดยยกเรื่องผลกระทบที่จะตามมา รวมทั้งผลกระทบจากโครงการของรัฐ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขก่อนปิดการประชุม นายเสกสรร สาหีมซา ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม กล่าวว่า ตนรู้ดีชาวบ้านในตำบลสะกอมส่วนใหญ่อย่างไรก็ได้ ไม่มีผู้ใดตามคัดค้านโครงการอย่างมืออาชีพ จนทำให้คนในพื้นที่เสียโอกาส เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงที่นายเสกสรรลุกขึ้นพูดอยู่ เป็นช่วงที่ชาวบ้านในเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่องออกจากห้องประชุมไปหมดแล้ว

      จากนั้น เวลา 14.30 น. วันเดียวกัน คณะที่ปรึกษาโครงการ ได้ไปจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีนายประสิทธิ์ วิสุทธิ์จินดาภรณ์ นายอำเภอจะนะ และชาวบ้านกว่า 180 คนเข้าร่วม ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินดีให้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ตำบลนาทับ แต่ก็แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะตามมา

     นายมานะ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะที่ปรึกษาจะไปประมวลความเห็นและข้อเสนอทั้งหมด จากนั้น จะจัดสัมมนาระดับจังหวัดอีกครั้ง ประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2550 โดยวันที่ 13 เมษายน 2550 จะส่งคณะที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมลงสำรวจพื้นที่ทันที

     นายสุไลมาน โหดเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ เปิดเผยว่า คณะที่ปรึกษาต้องการที่ดินสาธารณะ 650 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่หลังท่าเรือ สำหรับที่ดินสาธารณะแปลงนี้อยู่ในหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 มีพื้นที่ทั้งหมด 2,000 กว่าไร่

ร่วมแสดงความคิดเห็นที่

http://gotoknow.org/blog/bwn/88438

====================================
 ถึงเพื่อน BWN
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "คนนาทับอ้าแขนรับท่าเรือสงขลา 2 และพรุ่งนี้ (13 เมษา) กรมเจ้าท่าจะสำรวจและออกแบบทันที"

    นี่ประเทศไทยถูกกำหนดด้วยคนเห็นแก่ตัวเพียงแค่นั้นหรือ ผมขอถามว่า พี่น้องคนอื่นๆไม่มีสิทธิออกความเห็นหรือไร มันเร่งขนาดวันสงกรานต์ก็ไม่หยุด  ถ้าไม่ทำวันนี้ประเทศไทยจะล่มสลายหรืออย่างไร
     เราควรจะต้องเอาจริงกันได้แล้วละครับ ผมจะไปนาทับ และถามดูว่าประเทศไทยเป็นของใครบ้าง

ชายหาดสงขลา คนสงขลาต้องตัดสินใจ
SAVE OUR BEACH  

=====================================

12/4/50 Newsletter#31 (Public hearing again at Sakom & Nathap)

ถึงเพื่อนๆ BWN
      กรมเจ้าท่าจะจัดประชุมฯ เรื่อง "การสร้างท่าเรือน้ำลึกใน จ.สงขลา" โดยคราวนี้จัดที่ปากบางสะกอม ในวันที่ 12 เมษายน 2550 เวลา 9:00-12:00 น จากนั้นช่วงบ่ายจะไปจัดที่บ้านนาทับ หลังจากที่เมื่อวานนี้ (11 เมษา) ชาวสะทิงพระลงมติเกือบเอกฉันท์ที่จะไม่เอาท่าเรือน้ำลึก

     ผมแปลกใจมากว่า มันเป็นโครงการอะไรกันแน่เพราะมาค่อนข้างเงียบ เร่งรีบ และไม่ยอมตอบข้อสงสัยของชาวบ้าน ขณะที่กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งกำลังจัดทำแผนแม่บทฟื้นฟูชายฝั่งทั่วประเทศ
 
"ร่วมรักษาชายหาด ก่อนไม่มีหาดทรายให้รักษา"
Make Our Beaches Alive  

======================================

คำสำคัญ (Tags): #bwn newsletters 31-40
หมายเลขบันทึก: 345604เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2010 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท