สัญญะ วาทกรรม ความตาย : ลิลิตพระลอและอลองเจ้าสามลอความแตกต่างในความเหมือน ตอนจบ


สัญญะทางความหมาย : ชายจริงหญิงปลอมชายปลอมหญิงจริง

สัญญะทางความหมาย : ชายจริงหญิงปลอมชายปลอมหญิงจริง

                   การศึกษาในประเด็นนี้มีแนวคิดมาจากความรูทางภาษาศาสตร์ที่ว่า “ทุกอย่างเป็นสัญญะที่สามารถสื่อความหมายได้” และความหมายอาจจะมีแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการตีความ การตีความว่าสื่อความหมายใดหรือจะออกมาในประเด็นใด ต้องดูที่เนื้อหาและปริบทเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา ซึ่งเป็นการจินตนาการความหมายโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ การตีความจึงไม่ใช่การจินตนาการเรื่อยไปไม่มีขอบเขตหรือจุดมุ่งหมาย ในประเด็นนี้จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยการตีความสิ่งของที่กวีเลือกใช้ในการประพันธ์ เพื่อจะอธิบายแนวคิดของผู้เขียนว่ากำลังคิดอะไรอยู่และต้องการที่จะสื่ออะไรกับผู้อ่าน

                   การตีความไม่สามารถที่จะชี้ถูกหรือผิดได้ว่าตีความอย่างไรผิดตีความว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง แต่การตีความความหมายอย่างไรจึงจะเป็นน่าเชื่อถือมากที่สุด กล่าวคือเมื่อผ่านการตีความแล้วผู้อ่านนิยมได้และเชื่อตามในสิ่งที่เราตีความ เชื่อว่าความหมายที่จริงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้การจะได้รับในความน่าเชื่อถือดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับทฤษฎีและเหตุผลที่ใช้ในการอธิบายความหมายของสัญญะดังกล่าว หากเป็นเหตุผลที่ดีและเหมะสมย่อมจะได้รับความนิยมจากผู้อ่านต่อไป

                   เมื่อสัญญะต่างๆ สามารถสื่อความหมายได้ การศึกษาวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอกับอลองเจ้าสามลอพบว่า มีการนำสิ่งของหรือการสร้างสัญญะต่างๆ ที่น่าสนใจในการนำมาวิเคราะห์ตีความความหมายของสิ่งของที่เป็นสัญญะเหล่านั้น ผู้ศึกษาจึงได้เลือกเอาสัญญะที่ถูกสร้างหรือแทนด้วยสิ่งของต่างๆ ครั้งนี้จึงหยิบเอาประเด็นเรื่องการวิเคราะห์สัญญะมาวิเคราะห์วรรณกรรมไทเขินเรื่องอลองเจ้าสามลอ

                   ในการตีความความหมายสัญญะจากสิ่งของที่ปรากฏในเรื่องที่ศึกษา ผู้ศึกษาได้ตีความความหมายโดยการตีความเชื่อมโยงสิ่งที่กวีใช้ให้เป็นคู่ความสัมพันธ์ในลักษณะของสิ่งที่ตรงกันข้ามหรือคู่ตรงกันข้าม สิ่งของหรือสิ่งที่กวีกล่าวถึงที่มีลักษณะเป็นเป็นคู่ตรงกันข้ามที่น่าสนใจตีความความหมายในเรื่องของเพศและพฤติกรรมของตัวละคร ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์เชื่อมโยงความหมายของสิ่งของ ๒ คู่ ประกอบด้วยคู่แรกคือ “มีด” ที่ตัวละครเอกเจ้าสามลอใช้แทงคอตัวเองตายกับ “คอ” ของตนเองที่เป็นที่รองรับคมมีด คู่ที่สองคือ แหวนและการรับแหวน การเลือกใช้สิ่งของดังกล่าวมาใช้ในวรรณกรรมนับว่าเป็นการใช้สัญญะอย่างหนึ่ง และที่มากกว่านั้นคือเป็นการหลีกเลี่ยงการสื่อความหมายออกมาโดยตรง เนื่องจากเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมต่อการนำเสนอตรงๆ ต้องนำเสนอผ่านสิ่งอื่นแทน โดยเฉพาะการใช้สิ่งของสองคู่ข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้วพบว่าเป็นการใช้สัญญะเพื่อสื่อความความหมายถึงความเป็นชายความเป็นหญิงของตัวละคร

                   ความหมายของสัญญะนอกจากสัญญะจะช่วยในการหลีกเลี่ยงการพูดอย่างตรงไปตรงมาแล้ว สัญญะยังมีความหมายในสองระดับ คือ ความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย เช่น แหวน ความหมายโดยตรงคือ เครื่องประดับชนิดหนึ่งที่สวมเอาไว้ที่นิ้วมือ แต่ความหมายโดยนัยนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายความหมาย เช่น เป็นเครื่องยืนยันในการให้คำมั่นสัญญาต่างๆ ความรัก ฐานะทางการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้นัยแฝงนั้นจะสื่อถึงอะไรจึงต้องใช้ปริบทเข้ามาเกี่ยวข้องในเวลาตีความความหมายแฝงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การตีความสัญญะในการศึกษาครั้งนี้จึงไม่ได้สรุปว่าสิ่งที่ผู้ศึกษาตีความเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผู้อ่านสามารถที่จะเห็นแย้งแตกต่างไปจากการตีความของผู้ศึกษาครั้งนี้ได้ นั่นคือความจริงในเรื่องต่างๆ ไม่มีอยู่ชุดเดียวเสมอไป หากแต่ทุกคนมีสิทธิที่จะมองได้ตามความคิดเห็นของตน ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษามุ่งที่จะตีความความหมายโดยดูปริบทประกอบให้ได้มากที่สุด ถ้าผู้ใดจะเห็นแย้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด

                   สัญญะคู่แรกที่ผู้ศึกษาจะกล่าวถึงคือมีดดาบอันเป็นอาวุธที่เจ้าสามลอใช้แทงคอตัวเองตายเมื่อตามไปที่บ้านของนางอุเปียม และเจอศพนางอุเปียมหลังจากที่เจ้าสามลอทราบความจริงว่านางอุเปียมเดินทางมาหาตนที่บ้าน แล้วถูกแม่ของเจ้าสามลอไล่ทำร้ายได้รับบาดเจ็บ ภาพศพของนางอุเปียมที่อยู่เบื้องหน้าทำให้เจ้าสามลอไม่สามารถระงับความเศร้าโศกลงได้จึงใช้มีดบาดคอตัวเองตายตามนางอุเปียม สัญญะแรกที่จะศึกษาคือ “มีด” ซึ่งศึกษาในเชิงคู่ตรงกันข้ามทางสัญญะ ผู้ศึกษาใช้มีดไปเชื่อมโยงความหมายกับ “คอ” ของเจ้าสามลอ เนื่องจากคอเป็นที่ที่รองรับมีด เป็นพื้นที่ที่เจ้าสามลอใช้มีดแทงเข้าไปเพื่อฆ่าตัวตายตามนางอุเปียม จึงศึกษาเชื่อมโยงความหมายของคู่สัญญะ “มีดกับคอ” ในลักษณะคู่ตรงข้ามทางสัญญะ

                   มีด เป็นอุปกรณ์หรือเป็นอาวุธอย่างหนึ่งที่อยู่ภายนอกร่างกาย เมื่อเราจะใช้ต้องใช้มือหยิบขึ้นมาใช้ การหยิบมีดขึ้นมาใช้จะสื่อนัยถึงการหยิบยืม “ลักษณะทางเพศมาใช้” เป็นการสื่อความหมายอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิดหากแต่สิ่งที่แสดงออกมานั้นเป็นเพียงสิ่งที่ “หยิบยืมหรือจับ” เอามาเป็นของตนหรือยืมมาใช้ (การหยิบมีดขึ้นมาเพื่อใช้ฆ่าตัวเอง) ด้วยลักษณะของมีดที่มีรูปร่างและหน้าที่คล้ายกับ “อวัยวะเพศชาย” การเลือกหยิบมีดขึ้นมาใช้ของตัวละคร เพื่อต้องการที่จะสื่อความหมายให้ทราบว่า รูปร่างหรือภาพลักษณ์ ที่เห็นในตอนต้นนั้นถูกนำเสนอด้วยความเป็นชาย แต่ที่จริงความเป็นชายของเจ้าสามลอไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมา หากแต่เป็นการเลือกหยิบยืมมาตามรูปกาย ไม่ใช่เอามาจากความรู้สึกที่ฝังอยู่ภายในจิตใจ

                   ในขณะที่คอของเจ้าสามลอ (คอที่หมายถึงคอที่เจ้าสามลอในตอนที่มีดแทงเข้าไปในคราที่ฆ่าตัวเองตายตามนางอุเปียม) คอเป็นลักษณะตรงข้ามกับมีดเนื่องจากมีดเป็นของที่หยิบยืมมาและอยู่ภายนอกร่างกาย  แต่คอเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและสามารถที่จะใช้ได้ทุกเมื่อในทันทีที่ต้องการใช้งาน เมื่อคอถูกใช้เป็นพื้นที่ให้มีดแทงคอจึงสามารถเป็นตัวสัญญะที่สื่อความหมายหมายถึง “อวัยวะเพศหญิง” ได้ นั่นหมายความว่า สิ่งที่ติดตัวเจ้าสามลอมาแต่กำเนิดคือความเป็นหญิงที่ตรงข้ามกับความเป็นชาย แต่ถูกหยิบยืมเอาความเป็นชาย (มีด) มาใช้ให้มันถูกต้องตามรูปร่างที่เป็นอยู่ (มีดสามารถใช้แทง ใช้ตัด ใช้ปาด) เท่านั้น ขณะที่คอเป็นสิ่งที่ตืดตัวมาไม่ต้องหยิบยืมจึงสามารถที่จะใช้ได้ในทันที

                   การจับมีดอยู่ในมือของเจ้าสามลอจึงเป็นการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงว่า “ความเป็นชาย ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่มันสามารถที่จะถอดออกมาได้ ในขณะที่คอไม่สามารถที่จะนำออกมาได้หรือหยิบยืมมาสวมแทนได้เช่นดังมีด ดังนั้นจึงเป็นการเน้นให้เห็นชัดเจนถึงความไม่เป็นชายของเจ้าสามลอ ความเป็นชายถูกสวมทับปิดบังความเป็นหญิงเอาไว้ โดยใช้สัญญะความเป็นหญิงคือคอ อันเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับมีด ความไม่เป็นชายของเจ้าสามลอปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเจ้าสามลอเลือกเอามีดอันเป็นสัญญะแสดงแทนอวัยวะเพศชายมาแทงเข้าที่คอของตน โดยที่คอเปรียบเสมือนหรือเป็นสัญญะแทนอวัยวะพศหญิงที่มีไว้รอการทิ่มแทงจากชาย ความเป็นหญิงจึงปรากฏขึ้นมาแทนความเป็นชายของเจ้าสามลอ

                   สัญญะ มีดและคอ จึงเป็นสัญญะอย่างหนึ่ง เป็นคู่สัญญะที่ใช้เชื่อมโยงความหมายอธิบายความไม่เป็นชายของตัวละครเอกเจ้าสามลอ และเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อนางอุเปียมนำแหวนส่งให้กับเจ้าสามลอ แสดงให้เห็นความไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่ความเป็นชาย (ผู้รุก) แต่เป็นเพียงผู้หญิง (ผู้รับ) มากกว่า

                   ในเรื่องอลองเจ้าสามลอได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่นางอุเปียมถอดแหวนออกจากมือแล้วส่งให้เจ้าสามลอ เมื่อเรามองในเชิงสัญญะวิทยาคือการตีความหมายจากรูปร่างของสิ่งของ แหวนซึ่งมีหน้าที่หรือมีความคล้ายคลึงกับ “อวัยเพศของผู้หญิง” นั้นจึงเป็นเสมือน ที่มีลักษณะคู่ตรงกันข้ามทางสัญญะกับนิ้วมือ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “อวัยวะเพศชาย” แต่ในเนื้อเรื่องนั้นได้กล่าวไว้ว่า เจ้าสามลอได้ใช้มือที่ว่างเปล่าไปรองรับแหวนจากนางอุเปียมเท่านั้น การถอยแหวนที่ใส่อยู่แล้วออกของนางอุเปียมสามารถตีความได้ว่าเป็นเสมือนกับการถอดความเป็นหญิงออกจากตัวนางอุเปียม เนื่องจากว่าข้อคิดดังกล่าวสะท้อนผ่านเนื้อเรื่องอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากการที่นางอุเปียมเป็นผู้รุก(เพศชาย)ในทางเพศก่อนเจ้าสามลอเสมอ เช่นการชักชวนให้เจ้าสามลอมาที่บ้าน การให้แหวนเป็นสิ่งแทนใจ เป็นเครื่องยืนยันในความรัก ซึ่งต้องให้เพศชายเป็นผู้ที่เริ่มก่อน เมื่อนางอุเปียมเป็นผู้เริ่มจึงดูเหมือนนางเริ่มมีความเป็นชาย และการถอดแหวนซึ่งหมายถึงอวัยวะเพศหญิงออกนั้นจึงหมายความว่านางไม่มีความเป็นหญิงอีกต่อไป และในตอนท้ายนางอุเปียมต้องเดินทางไปหาเจ้าสามลออย่างที่เพศชายพึงกระทำต่อผู้หญิง ในขณะที่การใช้มือรับแหวนแทนที่จะใช้นิ้วมือรับแหวนของเจ้าสามลอนั้นย่อมเป็นการเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามกับนางอุเปียมคือ การการเป็นชายไปสู่ความไม่เป็นชาย ดังเห็นได้จากการรับแหวนซึ่งหมายถึงการรับรองเอาความ “เป็นหญิง” มาไว้ในตนเอง

                   สัญญะในวรรณกรรมเรื่อง สามารถที่จะสะท้อนให้เห็นความ “เป็นชายและไม่เป็นชาย” หรือ “ความเป็นหญิงหรือไม่เป็นหญิง” ได้ โดยการตีความผ่านสัญญะในลักษณะคู่ตรงข้ามสองคู่คือ “มีดกับคอ” และ “แหวนกับฝ่ามือ” ผลการศึกษาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความเป็นชายเป็นหญิงของตัวละครเอกในเรื่อง อลองเจ้าสามลอเปลี่ยนไปเป็นความไม่เป็นชายเป็นหญิงแทน

 

ความพ่ายแพ้ของโลกาภิวัตน์ต่อระบบศีลธรรม จารีตของสังคมดั้งเดิม

                   หากสังคมไทเขินในวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอมองพฤติกรรมของเจ้าสามลอกับนางอุเปียมว่าเป็นเรื่องของการขัดต่อจารีตของสังคมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าสังคมยึดมั่นในศีลธรรมมาก่อน อันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยการใช้คนรุ่นเก่า(พ่อแม่)เป็นตัวแทนของระบบเดิมในสังคม ส่วนการที่คนรุ่นใหม่(ลูก) เป็นตัวแทนของสังคมแห่งยุคโลกาภิวัตน์คือ การไม่ยึดมั่นหรือถือมั่นในขอบเขตทางสังคม เพราะโลกาภิวัตน์ที่ว่าคือการพยายามจำกัดขอบเขตของสิ่งต่างๆ ให้หมดไป ทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้จะต้องไม่มีขอบเขต แต่เมื่อระบบสังคมยังมีขอบเขตในเรื่องของศีลธรรมที่มากำกับพฤติกรรมของคน จึงเป็นข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างศีลธรรมกับโลกภิวัตน์ ผลที่เกิดขึ้นคือความพ่ายแพ้แก่ศีลธรรมของโลกาภิวัตน์

                   ความไม่มีพรมแดนนั้นอาจจะมีความเหมาะสมที่จะใช้กับสิ่งอื่นๆ แต่ในทางศีลธรรมที่หมายถึงการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว โลกาภิวัตน์ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาใช้กับพฤติกรรมของคนได้ หากเราเปลี่ยนระบบของสังคมโดยการยกเลิกจารีตและเปิดกว้างทางพฤติกรรมของมนุษย์คือการทำให้ไม่มีขอบเขตอย่างที่โลกาภิวัตน์เป็นอยู่นั้น หากเป็นเช่นนั้นสังคมย่อมที่จะเกิดความวุ่นวายจนกลายเป็นหายนะในที่สุดดังที่ตัวละครประสบ

                   การต่อสู้กันระหว่างแนวคิดสองระบบได้เกิดขึ้นโดยมีความรักเป็นเงื่อนไขในการดำเนินเรื่อง พ่อแม่ทั้งเจ้าสามลอและนางอุเปียมต่างพยายามที่จะกำหนดขอบเขตหรือเส้นทางในการดำเนินชีวิตให้กับลูกของตน ในขณะที่ลูกต้งพยายามที่จะก้าวเดินด้วยตนเอง โดยปราศจากผู้ควบคุมอันหมายถึงขอบเขตของการดำรงชีวิต ในเนื้อเรื่องได้ปล่อยให้เจ้าสามลอและนางอุเปียมมีโอกาสได้เดินตามเส้นทางที่ตนต้องการ เมื่อเวลาผ่านไปการเดินทางแบบไร้ขอบเขต(ไร้ศีลธรรม) ปรากฏว่าไม่สามารถจะดำเนินชีวิตโดยไร้ขอบเขต(ไร้ศีลธรรม)ได้ หากยังคงใช้เส้นทางที่ไร้ขอบเขตอย่างโลกาภิวัตน์ในการเดินทางย่อมจะพบจุดจบแบบหายนะ

                   ในวรรณกรรมเรื่องลิลิตพระลอก็ปรากฏลักษณะของความพ่ายแพ้ต่อศีลธรรมของยุคโลกาภิวัตน์ เช่นเดียวกับในวรรณกรรมไทยเขินเรื่องอลองเจ้าสามลอ ทั้งสองสะท้อนให้ผู้อ่านได้ทราบว่า แม้ระบบศีลธรรมจะเป็นระบบที่เก่าแก่ในสังคม แต่ยังคงถือว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยและสามารถใช้ได้กับสังคมในปัจจุบัน และไม่มีวันที่จะพ่ายแพ้แก่โลกาภิวัตน์ ความรักจึงหมายถึง ให้คนสมัยใหม่รักกันเหมือนคนสมัยเก่า รักเดียวใจเดียว ยึดมั่นในความรักของเราทั้งสองเท่านั้น จะไม่มีใครมาสามารถแยกไปจากกันได้ และให้ใช้วิธีการอย่างคนสมัยเก่าอย่างเป็นความรักนอกศีลธรรม

 

สรุป

                   การศึกษาครั้งนี้พบว่าวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอและวรรณกรรมไทเขินเรื่องอลองเจ้าสามลอที่หลายท่านเห็นว่ามีลักษณะเหมือนกันนั้น หากวิเคราะห์ใหละเอียดแล้วจะพบว่า ความเหมือนกันเป็นความเหมือนของโครงเรื่องใหญ่ๆ ของเรื่องเท่านั้น แต่ในส่วนของรายละเอียดย่อยๆ ล้วนเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ซึ่งวาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ปรากฏในวรรณคดีทั้งสองเรื่องล้วนมีความแตกต่างกัน โดยเรื่องลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีของราชสำนักที่เขียนโดยคนชั้นสูงที่มากำกับให้เสียงลือเสียงเล่าอ้างแตกต่างไปจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างในอลองเจ้าสามลออันเป็นวรรณกรรมของสามัญชน

                   การตายของตัวละครเอกนอกจากเป็นความตายที่เกิดขึ้นจากการผิดจารีตประเพณีแล้วยังเป็นการตายที่แฝงด้วยนัย การตายของพระลอเป็นการตายอย่างชายชาตรี อย่างพระมหากษัตริย์ ส่วนเจ้าสามลอเป็นการตายจากความเป็นชาย การตายของพระเพื่อนพระแพงซึ่งเป็นการตายโดยที่หมายถึงการเป็นกษัตริย์ที่ไม่รักษาบ้านเมือง นั่นก็คือการไม่ทำหน้าที่ของตน นางอุเปียมต้องตายเพราะนางเป็นคนที่ผิดจารีตประเพณีของสังคม ส่วนการตายของพระเจ้าหมายถึง การที่พระเจ้ายาทำลายสันติวงค์หรือผู้ที่จะสืบต่อราชสมบัติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งวงศ์ตระกูล ลูกของนางอุเป็นเป็นการตายที่หมายถึงการปฏิเสธการมีชีวิตอยู่ของคนที่ไม่ผ่านการยอมรับจากสังคม การตายของตัวละครยังสะท้อนให้เห็นถึงผลของความแตกแตกในลิลิตพระลออันเป็นความขัดแย้งระหว่างเมือง และอลองเจ้าสามลอเป็นความขัดแย้งในครอบครัว ในสังคม แต่ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งใดหากเกิดขึ้นย่อมไม่เป็นผลดีแก่ใครทั้งสิ้น และกษัตริย์ยังเน้นถึงการรักษาไว้ซึ่งผู้สืบต่อราชวงศ์ แต่เจ้าสามลอกลับให้ความสำคัญกับการเกิด ทั้งนี้เนื่องมาจากคนเป็นปัจจัยในการสร้างความมั่นคงในชาติ

                   ส่วนสัญญะที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นชายเป็นหญิง และความไม่เป็นชายเป็นหญิง โดยการศึกษาเชิงคู่สัญญะแล้วตีความหมายจากสัญญะจาก มีดและคอ กับ แหวนและนิ้วมือ ทำให้เห็นความไม่เป็นชายของเจ้าสามลอซึ่งตรงกันข้ามกับพระลอที่มีความเป็นชายชาตรี

                   นอกจากนี้ยังพบว่าวรรณกรรมทั้งสองเรื่องได้สะท้อนให้เห็นความพ่ายแพ้ของโลกาภิวัตน์ต่อระบบศีลธรรมในสังคม โดยเฉพาะกรณีการพยายามอยู่นอกกรอบแห่งกฏเกณฑ์ จารีต ประเพณีของสังคมที่คนรุ่นก่อนได้กำหนดเอาไว้

                   การศึกษาเปรียบเทียบวรรณคดีในครั้งนี้ทำให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของวรรณคดีทั้งสองเรื่องว่ามีลักษณะร่วมทางวรรณกรรมและลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะความแตกต่างที่แฝงอยู่ในรูปของสัญญะต่างๆ โดยมีอำนาจเป็นวาทกรรมหลักที่ทำให้มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะวาทกรรมราชสำนัก

 

 

อ้างอิง

 

กาญจนา  แก้วเทพ. การวิเคราะห์สื่อ แนวคิดและเทคนิค. กรุงเทพ ฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์

                   มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒.

นพพร  ประชากุล. ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่มที่ ๑ ว่าด้วยวรรณกรรม. กรุงเทพ ฯ : อ่าน, ๒๕๕๒.

ศิลปากร, กรม. ลิลิตพระลอ.  พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพ ฯ : ศิลปาบรรณาการ, ๒๕๐๘.

สุรเดช  โชติอุดมพันธ์, บรรณาธิการ. วาทกรรม ภาพแทน อัตลักษณ์ ในวารสารอักษรศาสตร์ ปีที่

                   ๓๗ ฉบับที่ ๑ (มกราคม – มิถุนายน ๒๕๕๑).

อคิน  รพีพัฒน์. วัฒนธรรมคือความหมาย.  กรุงเทพ ฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร, ๒๕๕๑.

อนาโตน. อลองเจ้าสามลอ. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๑.

หมายเลขบันทึก: 344977เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท