(2) นวัตกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อฟื้นฟูเด็กพิการ


นวัตกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน

 

ศรัทธา เชื่อมั่น คือ.....แรงบันดาลใจ(2) 

 

       เมื่อคุณครูไปถึงบ้านก็พบชีวิตเด็กผู้หญิงตัวน้อยนอนอยู่บนฟากไม้ไผ่ หน้าเตาปรุงอาหารและเครื่องครัว   โดยไม่มีผ้าปู หรือหมอน หรืออุปกรณ์ใด ๆ เมื่อสอบถามผู้ปกครอง ก็ได้คำตอบว่า เด็กผู้หญิงคนดังกล่าวเป็นลูกฝาแฝด ผู้หญิงทั้งคู่ ชื่อ แฝดพี่ชื่อพี่กุ๊ก  แฝดน้องชื่อน้องกิ๊ก  แฝดพี่เรียน ป.4 โรงเรียนใกล้ ๆ บ้าน สภาพร่างกายปกติ ส่วนแฝดน้อง คือน้องกิ๊ก มีสภาพร่างกาย คือ ตาบอดทั้ง 2 ข้าง นั่งไม่ได้ ยืนไม่ได้ เดินไม่ได้  พฤติกรรมชอบขว้างปาสิ่งของ  การขับถ่ายช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พูดได้เป็นบางคำ มักพูดตามผู้ใหญ่มากกว่าพูดด้วยตนเอง  ชอบฟังเพลง 

         สาเหตุที่ทำให้น้องกิ๊กมีสภาพอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากเหตุผลหลายประการ คือขณะคลอด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เข้าตู้อบนาน หลังจากนั้น ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ ผู้ปกครองขาดองค์ความรู้ในช่วยเหลือลูกอย่างถูกวิธี  สังคมขาดการยอมรับ ฐานะครอบครัวยากจนมาก พ่อมีอาชีพรับจ้างทั่วไป แม่เป็นแม่บ้าน  ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ครอบครัวน้องกิ๊ก มีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากมาก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เพราะหลังจากนั้นแม่น้องกิ๊กมีน้องกีต้าเป็นผู้หญิงเพิ่มอีกคน ขณะนี้  อายุ 2 เดือนเศษ 

          สภาพของครอบครัวเป็นความจริง เหมือนคำบอกเล่าของเพื่อนบ้าน ตรงกันหมดทุกอย่างยกเว้นแต่ตัวน้องกิ๊กเอง พิการรุนแรงดังคำบอกเล่า ซึ่งคุณครูกลับมองเห็นว่า น้องกิ๊กน่าจะฟื้นฟูได้ในระดับหนึ่ง แต่จะได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เพราะน้องกิ๊กมี สีหน้า ท่าทาง มีอาการตอบรับ และโต้ตอบได้ในบางกิริยา ลักษณะของร่างกาย น้องกิ๊กจะพลิกตัว กลับ ไป-มา ได้  มือ แขน ขา สามารถเคลื่อนไหวได้ คุณครูคิดว่าหากน้องกิ๊กหากได้รับการกระตุ้นหรือฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องน้องกิ๊กอาจจะพัฒนาได้  เช่น  การนั่งทรงตัวโดยมีเครื่องช่วย  การเกาะยืน การเกาะเดิน การเดินโดยใช้ราวไม้ได้  อย่างน้อยก็ลดภาระในการอุ้ม หรือเคลื่อนย้ายตัวน้องกิ๊ก  เพื่อทำกิจวัตรประจำวันของครอบครัวได้บ้าง

         คุณครูจึงได้ให้คำแนะนำ ในเรื่องการดูแลลูกอย่างถูกวิธี การทำกายภาพบำบัดอย่างง่าย  และการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น การหยิบ จับ อาหารรับประทาน  การฝึกพูดตามฝึกให้รู้จักอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และที่สำคัญได้ทดลองฝึกให้น้องกิ๊กนั่งพิงในตักผู้ปกครองปรากฏว่าน้องกิ๊กนั่งได้นานครั้งละ 5-10 นาที  

         คุณครูจึงแนะนำให้ทำเครื่องช่วย(เก้าอี้)ฝึกนั่ง เพื่อฝึกให้น้องกิ๊กนั่งทรงตัวโดยใช้เครื่องช่วย (เก้าอี้)และ ใช้ผ้าคาดเอว  ผูกแขนทั้ง 2 ข้าง และกั้นด้านหน้า เพื่อป้องกันการพลัดตกจากเก้าอี้  ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นเศษวัสดุที่เหลือใช้ มาประยุกต์โดยได้นำแนวคิดมาจากรถเข็นสำหรับคนพิการ ออกแบบง่าย ๆ มาทดลองใช้ในการฝึก การนั่ง และมีการปรับปรุงแก้ไขบกพร่องอย่างเนื่องจนสามารถใช้งานเป็นอย่างดี มีความเหมาะสมกับสภาพของเด็ก

 อุปกรณ์ฝึก(เครื่องช่วย)

        เก้าอี้ฝึกนั่ง  เป็นนวัตกรรมที่ทำด้วยไม้ชนิดต่าง ๆ ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นเศษวัสดุที่เหลือใช้ มาประยุกต์โดยได้นำแนวคิดมาจากรถเข็นสำหรับคนพิการ ที่ประกอบขึ้นอย่างง่าย ๆ มีพนักพิง และที่วางพักแขนทั้ง 2 ข้าง มีที่นั่งอยู่ในระดับพอเหมาะกับความสูงของช่วงเข่า  เพื่อให้วางเท้าได้อย่างเหมาะสม 

        ผลการฝึก เด็กสามารถนั่งทรงตัวบนเก้าอี้ฝึกนั่งด้วยตนเอง และสามารถใช้มือและเท้าดันตัวไปด้านหลังให้นั่งทรงตัวได้เมื่อรู้สึกว่าจะพลัดตกจากเก้าอี้ได้  และสามารถนั่งทรงตัวบนพื้นราบด้วยตนเอง  ใช้มือทั้ง 2 ข้าง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นบางครั้ง

        กระดานฝึกยืน เป็นนวัตกรรมที่ทำด้วยไม้ชนิดต่าง ๆ ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นเศษวัสดุที่เหลือใช้มาประยุกต์  โดยได้นำแนวคิดมาจากเตียงฝึกยืน(Tilt table)รถเข็นสำหรับคนพิการ มีลักษณะเป็นแผ่นกระดาน ขนาดโตกว่า หรือเท่ากับ แผ่นหลังของเด็ก มีความสูงเท่ากับช่วงตัวเด็ก และมีที่พักแขนทั้ง 2 ข้าง

        ผลการฝึก เด็กสามารถยืนทรงตัวด้วยกระดานฝึกยืนด้วยตนเอง โดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง จับที่พักแขน และขยับเท้าให้ยืนทรงตัวได้ ในท่าต่าง ๆ ใช้มือทั้ง 2 ข้าง ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระ

        รั้วกั้น  เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากเศษไม้ที่เหลือใช้นำมาทำรั้วกั้น  มี 3 ขั้น ความสูงแต่ละขั้นประมาณ  15 เซนติเมตร รวม 3 ขั้น ประมาณ 45 เซนติเมตร

        ผลการฝึก เด็กสามารถเดินข้ามรั้วกั้น โดยผู้ใหญ่คอยพยุงตัวเด็กให้เดินข้ามรั้วกั้น โดยการกระตุ้นในครั้งแรก ทั้งทางร่างกาย  วาจา และเมื่อเด็กทำได้แล้ว  เพียงแต่กระตุ้นด้วยวาจาก็สามารถข้ามรั้วได้เอง ทั้ง 3 ขั้นรั้วกั้น

         ราวไม้คู่  เป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ไผ่  ความสูงเท่ากับ ช่วงไหลของเด็ก ความยาวประมาณ 4 เมตร สำหรับฝึกเดินไปข้างหน้าและหมุนตัวไป-กลับ ได้สะดวก

        ผลการฝึก  เด็กสามารถพยุงตัวเดินไปข้างหน้าโดยใช้มือทั้ง2 ข้างจับราวไม้ไผ่  เมื่อสุดไม้ เด็กสามารถหมุนตัวกลับหรือเลี้ยวกลับได้ด้วยตนเองเพียงกระตุ้นด้วยวาจาบางครั้ง

         หลังฝึกเด็กพิการรุนแรงมีพัฒนาการทางสังคมสามารถแสดงออกทางอารมณ์   มีการสื่อความหมายได้มากขึ้น เช่น ทักทาย พูดคุย แสดงความต้องการได้ ร้องเพลงได้ แสดงท่าทางประกอบเพลงได้จากการใช้นวัตกรรมและอุปกรณ์ในการฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ประมาณ 8-10 เดือน พบว่า เด็กพิการระดับรุนแรงมีพัฒนาการโดยความร่วมมือระหว่างครูและผู้ปกครอง ผลจากฝึกใช้อุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยความ เชื่อมั่นและศรัทธาในความตั้งใจ จริงใจและกำลังใจจากคุณครู ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ทำให้ ครอบครัวพบกับความสำเร็จ และความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ลูกและได้พัฒนาไปเป้าหมายสูงสุดอย่างภาคภูมิใจ

        นอกจากนั้นผู้ปกครองมีกำลังใจในการฝึกอย่างต่อเนื่อง พยายามศึกษาหาความรู้ และทักษะเพื่อนำไปใช้และแนะนำครอบครัวที่มีเด็กพิการอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ

 นวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่มที่ใช้ 

1.เก้าอี้ฝึกนั่ง

        ควรคำนึงสภาพร่างกายของเด็ก เพราะเก้าอี้ทำด้วยไม้ชนิดต่าง ๆ มีความแข็งแรง หากเด็กทับนาน ๆ จะทำให้เกิดแผล อาจใช้ผ้าหนา ๆ รองหรือปูนั่งก็ได้

        การปรับปรุง  เก้าอี้ฝึกนั่ง เมื่อนำมาใช้ครั้งแรก ต้องอุ้มตัวเด็กให้นั่งทรงตัวบนเก้าอี้ฝึกนั่งโดยต้องยกตัวเด็กให้พ้นจากแผ่นกระดานที่กั้นด้านหน้า  ทำได้ระยะหนึ่ง ผู้ปกครองไม่สะดวก  เพราะเด็กมีน้ำหนักมาก จึงได้ปรับปรุงโดยเอาแผ่นกระดานที่กั้นด้านหน้าออก แล้วใช้ผ้ากั้นแทน  เมื่อเด็กเริ่มปรับตัวในท่านั่งได้ และได้ปรับระดับพื้นที่วางเท้าให้สูงขึ้นเหมาะสมกับช่วงขาของเด็ก

 2.กระดานฝึกยืน

        ควรใช้ไม้กระดานแผ่นที่มีความเรียบ ไม่ขรุขระ  ไม่มีรอยตะปูหรืออื่น ๆ ควรปักเสาหลักให้แข็งแรง ที่พักแขนต้องพอเหมาะกับตัวเด็ก

        การปรับปรุง  กระดานฝึกยืน เมื่อใช้ครั้งแรก เด็กยืนได้ ไม่สะดวกเท่าที่ควร เพราะกระดานฝึกยืน อยู่ติดกับเก้าอี้ฝึกนั่ง  ที่พักแขน 2 ข้าง ต่างระดับกัน จึงได้ปรับปรุง โดยทำกระดานฝึกยืนแยกจากเก้าอี้ฝึกนั่ง  และได้ปรับระดับที่พักแขนให้อยู่ระดับเดียวกัน             

 3.รั้วกั้น

        รั้วกั้น เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากเศษไม้ที่เหลือใช้  ควรใช้แผ่นที่มีความเรียบ  หรือไม้ไผ่กลม ขนาดพอเหมาะ ความสูง พอเหมาะ

        การปรับปรุง เมื่อใช้ครั้งแรก ผู้ปกครองพยุงเด็กเดินข้ามรั้วกั้น 1 ขั้น สูง 15 เซนติเมตรได้  จึงได้ปรับเพิ่มจำนวนรั้วกั้น เป็น 3 ขั้นและเพิ่มความสูง  เป็น 45  เซนติเมตร  ผู้ปกครองพยุงเด็กเดินข้ามรั้วกั้น 3 ขั้น สูง 45 เซนติเมตร ได้

 4.ราวไม้คู่

         ราวไม้คู่  เป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ไผ่  ความสูงเท่ากับ ช่วงไหลของเด็ก ความยาวประมาณ 4 เมตร สำหรับฝึกเดินไปข้างหน้าและหมุนตัวไป-กลับ ในทางเดิม เมื่อใช้ในช่วงแรก ๆ เด็กสามารถเดินไปข้างหน้าโดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง จับราวไม้ เมื่อสุดไม้ เด็กไม่สามารถหมุนกลับได้ ต้องให้การช่วยเหลือ จึงได้ปรับปรุง โดยเพิ่มจำนวนราวไม้เพิ่มอีก 1  อันทำให้ขนานกับไม้ไผ่ คู่แรก และเพิ่มไม้กั้นขว้าง เมื่อเด็กเดินสุดไม้ก็สามารถเลี้ยวไปตามแนวราวไม้ โดยไม่ต้องหมุนตัวกลับสามารถเดินเป็นรูปตัวยูได้โดยสะดวก รวมระยะทาง 1 เที่ยว ประมาณ 8 เมตร

                                                                       อุบลรัตน์  นำนาผล  เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 344969เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท