สัญญะ วาทกรรม ความตาย : ลิลิตพระลอและอลองเจ้าสามลอความแตกต่างในความเหมือน ตอนที่ ๑


วาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้าง

สัญญะ วาทกรรม ความตาย : ลิลิตพระลอและอลองเจ้าสามลอความแตกต่างในความเหมือน

 

สินทรัพย์ ยืนยาว

๕๒๐๑๐๑๘๐๐๐๗

ภาษาไทย ศศ.ม. (นอกเวลา)

[email protected]

 

บทคัดย่อ 

                การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบวรรณคดีเรื่อง ลิลิตพระลอและวรรณกรรมไทยเขินเรื่องอลองเจ้าสามลอ โดยมุ่งที่จะศึกษาวิเคราะห์วาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้าง การตายของตัวละครแบบโศกนาฏกรรมที่ต้องตีความ ความหมายของสัญญะที่ปรากฏในเรื่อง และระบบศีลธรรมกับกระแสโลกาภิวัตน์

                ผลการศึกษาพบว่าวรรณคดีทั้งสองเรื่องมีความเหมือนกันในประเด็นหลัก แต่มีความแตกต่างกันอยู่อย่างมากและการสื่อความหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยที่ความแตกต่างของเรื่องมีผลมาจากวาทกรรมที่แฝงด้วยอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจของผู้ปกครองกับสามัญชนในประเด็นของการประพันธ์

 

บทนำ

                   การศึกษาด้านวรรณคดีมีประวัติการศึกษาที่ยาวนาน เริ่มตั้งแต่การศึกษาแบบดั้งเดิมคือ เป็นการศึกษาในแนวของเราเอง (คำว่าของเราเองในที่นี้หมายถึง การใช้แนวคิดและวิธีการศึกษาอย่างไทย) กระทั่งการศึกษาของไทยขยายออกไปสู่ต่างประเทศ เมื่อมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ นักศึกษาเหล่านี้ได้จุดประกายความคิดที่สำคัญด้านการศึกษาวรรณคดี และเป็นการศึกษาแนวใหม่ คือการศึกษาตามแบบอย่างวิธีแบบตะวันตก ด้วยวิธีการศึกษาแนวใหม่ที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การศึกษาวรรณคดีของไทย นักวิชาการกลุ่มนี้เช่น อาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนาได้นำเอาแนวคิดจิตวิเคราะห์ของซิกมัน ฟรอยด์ มาศึกษาวิเคราะห์วรรณคดี ผลการศึกษาได้สร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษาวรรณคดีแบบเก่าที่เคยศึกษากันอยู่ในประเทศไทยมาก่อน ในยุคแรกๆ การศึกษาในแนวใหม่นี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรแล้วเกิดการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต

                   แนวการศึกษาวรรณคดีได้เพิ่มแนวการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ จากหนึ่งเป็นสอง สาม สี่ ห้า เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แนวการศึกษาอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมและมีความเป็นสากลไม่นานมานี้คือ การศึกษาในแนวเปรียบเทียบ เป็นแนวทางการศึกษาวรรณคดีที่พึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ การศึกษาวรรณคดีเปรียบเทียบได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในระยะเวลาสั้นๆ กระทั่งได้เปิดสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบขึ้นอย่างเช่นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของประเทศไทย

                   ในบทความนี้ผู้ศึกษาได้นำเอาแนวทางการศึกษาแบบเปรียบเทียบมาศึกษาเปรียบเทียบวรรณคดีสองเรื่องคือ วรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอและวรรณคดีเรื่องอลองเจ้าสามลอ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ศึกษามองเห็นลักษณะที่เหมือนกันของวรรณคดีทั้งสองเรื่องในหลายประการ อาทิมีคำว่า “ลอ” เช่นเดียวกันคือ “ลิลิตพระลอ” กับ “อลองเจ้าสามลอ” ประการต่อมาคือ เนื่องจากวรรณคดีทั้งสองเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักที่ไม่สมหวัง ถูกปิดกั้นจากผู้ปกครองและต้องจบชีวิตลงในตอนท้ายของเรื่อง ประการต่อมาในวรรณกรรมทั้งสองเรื่องมีเรื่องของ “เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง” เช่นเดียวกัน ประการถัดมาทั้งสองเรื่องนี้กล่าวถึงเมืองสองเมืองเช่นเดียวกัน ประกอบกับประการสุดท้ายคือ วรรณกรรมเรื่องลิลิตพระลอมีความเกี่ยวเนื่องกับดินแดนล้านช้าง หรือที่นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าเป็นวรรณคดีที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามที่ไทยรบกับเชียงใหม่ วรรณคดีเรื่องนี้จึงมีที่มาจากทางภาคเหนือของประเทศไทย ในขณะที่วรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง “อลองเจ้าสามลอ” ก็มาจากดินแดนทางเหนือด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเหตุผลที่ผู้ศึกษามองเห็นและชวนให้ศึกษาวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ในแนวเปรียบเทียบ และอาจจะศึกษาแนวเปรียบเทียบแนวใหม่

                   ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกันในหลายประการดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เป็นความเหมือนที่วิเคราะห์อย่างผิวเผินหากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากที่เรียกว่า “ความต่างในความเหมือน” กล่าวคือ วรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้เราสามารถวิเคราะห์อย่างลึก ตีความได้แตกต่างกัน ความแตกต่างที่ซ่อนอยู่ในความเหมือนกันของวรรณคดีทั้งสองเรื่องจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจการศึกษา

                   ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องได้ ผู้อ่านจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องนั้นก่อน ผู้ศึกษาจึงของนำเสนอในส่วนของเนื้อเรื่องโดยย่อก่อนที่จะนำเสนอบทวิเคราะห์ เนื่องจากวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ผู้ศึกษาจึงนำเสนอเฉพาะเรื่องย่อของเรื่อง “ลอองเจ้าสามลอ” ซึ่งเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นไทยเขิน ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่รู้จัก ผู้เขียนจึงสรุปย่อเนื้อเรื่องดังนี้

                         มีเศรษฐีสองสามีภารยาอาศัยอยู่เมืองกึง (โกสัมภรา) มีบุตรสาวรูปร่างหน้าตางดงามชื่อนางอุเปียม ความงามของนางระบือไปทั่วถึงต่างแดน ทั้งนี้เพราะเมื่อพ่อค้าจากต่างเมืองเดินทางมาค้าขายที่เมืองกึงและได้พบนางก็ติดใจในความงามของนาง ต่างพากันเอาไปเล่าต่อๆ กันไป ความงามของนางทำให้มีชายหนุ่มๆ มาเที่ยวหานางมากมายด้วย หวังได้นางเป็นเมีย แต่นางไม่พอใจชายใดเลย

                         ที่เมืองเชียงทอง เศรษฐีสองสามีภารยาคู่หนึ่ง มีบุตรชายชื่อเจ้าสามลอ มีรูปร่างหน้าตางดงามจนเป็นที่ร่ำลือ บรรดาสาวๆ แม่ม่ายแม่ร้าง ต่างต้องการจะเป็นคู่ครองของเจ้าสามลอ แต่เจ้าสามลอไม่ได้พึงพอใจหญิงใดเลย เมื่ออายุได้สิบหกปี พ่อแม่กลัวว่าเจ้าสามลอจะไปชอบหญิงอื่นที่อยู่ต่างบ้าน จึงไปหมั้นนางอก ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันไว้ให้เจ้าสามลอ แต่เจ้าสามลอไม่รักนางอกเลย

                         เมื่อเจ้าสามลอได้ทราบข่าวความงามของนางอุเปียม หญิงงามแห่งเมืองกึง จึงขออนุญาตพ่อแม่ไปค้าขายที่เมืองกึง เมื่อพ่อแม่รู้ว่า บุตรชายจะไปเมืองกึงก็ห้ามปราม เพราะกลัวว่าเจ้าสามลอจะไปรักนางอุเปียม แต่ก็ไม่สามารถห้ามปรามได้ เมื่อเจ้าสามลออ้อนวอนและอ้างว่าเดินทางไปเพื่อค้าขาย เมื่อเสร็จก็จะกลับ เจ้าสามลอจึงได้เดินทางไปค้าขายที่เมืองกึง

                         ฝ่ายนางอุเปียม เมื่อรู้ว่าชายหนุ่มรูปงามนามสามลอเดินทางมาค้าขายที่เมืองตนก็อยากที่จะเห็นหน้า เพราะนางต่างได้ยินเสียงร่ำลือในความงามของสามลอ นางจึงขออนุญาตจากพ่อแม่ ครั้งแรกพ่อแม่ห้ามเพราะกลัวลูกตนจะไปเห็นเจ้าสามลอและเกิดการรักใคร่ชอบพอ แต่ก็ไม่สามารถทนคำรบเร้าของนางได้

                         เมื่อเจ้าสามลอและนางอุเปียมพบกัน ก็เกิดความรักขึ้นมาในทันที ต่อมาได้นัดหมายและชวนให้สามลอมาที่บ้านนางอุเปียม เมื่อเจ้าสามลอไปเที่ยวหานางที่บ้านไม่นาน ทั้งสองก็ลักลอบได้เสียกัน โดยที่พ่อแม่ของนางอุเปียมไม่รู้เรื่องเลย เมื่อค้าขายเสร็จเจ้าสามลอเดินทางกลับเมืองเชียงทองและแอบหนีพ่อแม่มาหานางอุเปียม กระทั่งนางตั้งท้องและได้บอกให้เจ้าสามลอพาผู้ใหญ่มาสู่ขอตน เจ้าสามลอรับปากและกลับไปบอกพ่อแม่ แต่พ่อแม่เจ้าสามลอไม่ยอมมาขอนางอุเปียม

                         ฝ่ายนางอุเปียมเมื่อถูกจับได้ว่าท้องถูกด่าว่าเฆี่ยนดีและไล่ออกจากบ้าน นางอุเปียมและนางสาวใช้สองคนจึงเดินทางไปที่เมืองเชียงทอง เพื่อไปหาเจ้าสามลอ ก่อนถึงบ้านเจ้าสามลอนางพบกับนายพราณจึงถามทางไปบ้านเจ้าสามลอ นายพราณบอกทางให้และแนะนำให้ค้างแรมที่นั่นก่อนวันรุ่งขึ้นค่อยออกเดินทาง นายพราณเดินทางไปถึงบ้านเจ้าสามลอก่อนและบอกให้แม่เจ้าสามลอรู้ว่าจะมีสามสาวมาหาเจ้าสามลอที่บ้านพรุ่งนี้ นางรู้ได้ทันทีว่าต้องเป็นนางอุเปียม นางไม่ต้องการให้ทั้งสองได้พบกันจึงออกอุบายให้เจ้าสามลอไปหาปลาเพื่อเตรียมรับแขกที่จะมาเยี่ยมบ้าน เจ้าสามลอจึงออกไปหาปลา

                         เมื่อนางอุเปียมมาถึงจึงไปพบเจ้าสามลอ พบแต่แม่ของเจ้าสามลอซึ่งได้พยายามกลั่นแกล้งกันอย่างทารุณ โหดร้าย นางอุเปียมถูกคมไม้ไผ่บาด และตกบันไดมาถูกไม้เสี้ยมปลายให้แหลมแทง เลือดไหลแดงไปทั้งตัว และถูกแม้ของเจ้าสามลอใช้ไม้คานไล่ทุบตี นางอุเปียมจึงเดินทางกลับบ้านด้วยความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ขณะที่เดินทางกลับนางอุเปียมจึงคลอดลูกออกมาเป็นชายที่ในกลางป่า บุตรชายของนางขาดใจตายตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะแม่ได้รับความกระทบกระเทือนมาก เมื่อลูกของตายแล้วจึงได้เกิดเป็นนกแก้ว นางอุเปียมเศร้าโศกเสียใจที่ลูกของนางต้องมาตาย นางซมซานกลับมาถึงบ้านและสิ้นใจตายต่อหน้าพ่อแม่ของนางเพราะทนความเจ็บปวดจากบาดแผลไม่ไหว

                   ส่วนเจ้าสามลอออกไปหาปลาก็หาไม่ได้ เหมือนมีลางบอกเหตุร้าย เมื่อนอนหลับก็ฝันว่า มีช้างเผือกตัวหนึ่งตามตัวแดงช้ำไปด้วยเลือด วิ่งมาหาตน และขาดใจตายต่อหน้า เมื่อตื่นขึ้นมาเจ้าสามลอรีบเดินทางกลับบ้าน พบคราบเลือดตกเปอะเปื้อนตามลานบ้าน จึงถามแม่ แต่แม่เจ้าสามลอโกหกบอกว่าเป็นเลือดของสัตว์ที่ไล่กัดกัน เจ้าสามลอรู้ความจริงจากชาวบ้านจึงณุ้ว่านางอุเปียมมาตามหาตนและได้รับบาดเจ็บกลับไป จึงรีบเดินทางไปยังเมืองกึง เมื่อถึงบ้านนางอุเปียมก็พบว่า นางอุเปียมเสียชีวิตแล้ว เจ้าสามลอจึงใช้มีดแทงคอตายตามนางไป พ่อแม่ของนางอุเปียมจึงส่งข่าวให้คนไปบอกให้พ่อแม่ของเจ้าสามลอรู้ข่าว และจัดงานศพทั้งสองใหญ่โต

                   เจ้าสามลอและนางอุเปียมเมื่อตายแล้วไปเกิดเป็นดวงดาว ส่วนพ่อแม่ของนางอุเปียม และพ่อแม่ของเจ้าสามลอ เมื่อลูกตายไปก็สำนึกผิด และหมั่นทำบุญทำทานเป็นนิจ เมื่อตายไปจึงได้ไปเกิดบนสวรรค์ และนกแก้วลูกของเจ้าสามลอและนางอุเปียม เมื่อตายก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ด้วยเช่นกัน

 

วาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้าง : ความแตกต่างในภาพของความเหมือน

                   วรรณคดีทั้งสองเรื่องมีอนุภาคร่วมทางวรรณกรรมที่เด่นในเรื่องวาทกรรม “เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง” เนื่องจากตัวละครเอกในวรรณคดีทั้งสองเรื่องต่างตกอยู่ภายใต้วาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างเช่นเดียวกัน ผลของการตกอยู่ภายใต้วาทกรรมดังกล่าวได้นำมาซึ่งความสูญเสียแห่งชีวิตและความรักที่เรียกว่า “โศกนาฏกรรมแห่งความรัก” เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่กล่าวถึงคือ เสียงแห่งการเล่าลือความงามของตัวละครเอกในงานวรรณกรรมทั้งสองเรื่องประกอบด้วย พระลอ พระเพื่อน พระแพง เจ้าสามลอ และนางอุเปียม

                   เสียงลือเสียงเล่าอ้างในลิลิตพระลอเริ่มต้นขึ้นโดยการที่ขับซอยอยศของพระลอความว่า

                                     ...รอยรูปอินทร์หยาดฟ้า              มาอ่าองค์ในหล้า

                         แหล่งให้คนชม                          แลฤๅ ฯ

                                      พระองค์กลมกล้องแกล้ง             เอวอ่อนอรอรรแถ้ง

                         ถ้วนแห่งเจ้ากูงาม                      บารนี

                                      โฉมผจงสามแผ่นแพ้    งามเลิศล้วนแล้

                         รูปต้องตัดใจ                                บารนี

                                      ฦๅขจรในแหล่งหล้า                      ทุกทั่วคนเที่ยวค้า

                         เล่าล้วนยอโฉม                           ท่านแล ฯ

                                      เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า                ผิบได้เห็นหน้า

                         ลอราชไซร้ดูเดือน                      ดุจแล ฯ

                                      ตาเหมือนตามฤคมาศ   พิศคิ้วพระลอราช

                         ประดุจแก้วเกาทัณฑ์  ก่งนา ฯ

                                      พิศกรรณงามเพรศแพร้ว              กลกลีบบงกชแก้ว

                         อีกแก้มปรางทอง                       เทียบนา

                                      ทำนองนาสิกไท้                             คือเทพนฤมิตไว้

                         เปรียบด้วยขอกาม ฯ

                                      พระโอษฐ์งามยิ่งแต้ม   ศศิอยู่เยียวยะแย้ม

                         พระโอษฐ์โอ้งามตรู                  บารนี ฯ

(ลิลิตพระลอ. ๒๕๐๘ : ๕)

 

                   ด้วยเสียงขับซอชมโฉมพระลอได้ไปต้องหูของพระเพื่อนพระแพงจึงเกิดความหลงใหลในการอยากชมโฉมพระลอ จึงให้คนเดินทางไปค้าขายแล้วขับซอให้พระลอได้ยินถึงความงามของพระเพื่อนพระแพง ดังความว่า

                                      ...ข้าจะใช้ชาวในผู้สนิท ชิดชอบอัชฌาสัย ไปซื้อขายวายล่อง แล้วให้ท่องเที่ยวเดิร สรรเสริญสองโฉมศรี ทั่วบุรีพระลอ ขับซอยอยศอ้าง ฦๅลูกกษัตริย์เจ้าช้าง ชื่นแท้ใครเทียม เทียบนา ฯ

                   (ลิลิตพระลอ. ๒๕๐๘ : ๙)

 

                   ทั้งสองจึงตกอยู่ภายใต้ของวาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างเช่นเดียวกัน ในส่วนวรรณกรรมอลองเจ้าสามลอ ตัวละครเอกตออยู่ภายใต้วรรณกรรมเสียงฦๅเสียงเล่าอ้างเช่นเดียวกัน โดยที่ความงามของนางอุเปียมเล่าลือมาถึงหูของเจ้าสามลอ ความงามของนางอุเปียมถูกเล่าลือว่า

                                      ...คันว่าเขาเมือเมืองเก่า พ่อค้าอันอยู่สร้างเล่าเมืองไกล เขาก็ไปไขคำลือเล่า ว่านางหน่อเหน้าอุเปียมเมืองกึง โฉมเพาพึงวิดว่อง ไผได้ช่องหมานมีแท้แล

(อลองเจ้าสามลอ. ๒๕๓๑ : ๑๗)

 

                   ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการร่ำลือความงามของนางอุเปียมที่พ่อค้าจากต่างเมืองได้ไปพบเห็นแล้วนำความงามของนางกลับไปเล่าลือต่อในเมืองของตน

                   เมื่อเจ้าสามลอได้ยินเสียงเล่าลือดังกล่าวจึงเกิดความต้องการที่จะเห็นโฉมนาง จึงเดินทางไปยังเมืองของนาง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นต้นเหตุของวาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างตอบโต้ เมื่อชาวเมืองอื่นได้เห็นความงามของของเจ้าสามลอ และเมื่อไปถึงเมืองของนางอุเปียมก็เกิดเสียงเล่าลือความงามของเจ้าสามลอไปถึงหูนางอุเปียม นางเกิดความต้องการที่จะชมความงามของเจ้าสามลอเช่นเดียว ด้วยเหตุที่มีเสียงเล่าลือกลายเป็นที่มาของความต้องการพบเห็นซึ่งกันและกันของตัวละครเอกทั้งสองเรื่อง

                   ถึงอย่างไรก็ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างดังกล่าวนั้นไม่ได้มีลักษณะของการเล่าลือเช่นเดียวกัน เนื่องจากในเรื่องลิลิตพระลอนั้นเป็นเสียงเล่าลือที่ใช้ดนตรีที่เรียกว่าเป็นการ “ขับซอ” ชมความงามของตัวละครเอก หรือเป็นการสร้างวาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้าง แต่ในวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอเสียงเล่าลือนั้นเกิดขึ้นจากปากพ่อค้าต่างเมืองที่นำไปเล่าต่อๆ กันไป ไม่ได้มีศิลปะหรือวิธีการใดที่พิเศษเช่นในลิลิตพระลอ

                   เหตุที่ลิลิตพระลอเป็นวรรณกรรมที่เขียนโดยคนชั้นสูง ดังเห็นได้จากบทเริ่มต้น ความว่า “มหาราชเจ้านิพนธ์” หมายความว่าวรรณคดีเรื่องนี้ไม่ได้แต่งโดยสามัญชน ประกอบกับตัวละครมีฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ การนำเสนอตัวละครออกมาจึงถูกกำกับโดยอำนาจ เมื่อสามัญชนจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ได้จึงเป็นเรื่องยาก เมื่อจะกล่าวถึงต้องแสดงออกในเรื่องของความศรัทธาและความเคารพอย่างที่เชื่อว่าเป็นสมมุติเทพ การเล่าลือความงามของพระลอจึงไม่สามารถนำเสนอโดยการเล่าต่อๆ กันไป แต่สามารถนำเสนอได้ในรูปแบบของบทกวีต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน การขับซอเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการกล่าวถึงความงามของพระมหากษัตริย์ที่สามารถหลีกเลี่ยงการกล่าวที่เข้าข่ายการนินทา และผู้พูดจะไม่ถูกการฆาตโทษจากอำนาจแห่งกษัตริย์

                   เสียงลือเสียงเล่าอ้างในอลองเจ้าสามลอนั้นไม่ได้มีลักษณะดังเช่นในลิลิตพระลอ เสียงของการเล่าลือความงามของตัวละครเป็นเพียงใช้วาทกรรมผ่านพ่อค้าที่เดินทางมาพบเห็นความงามของนางอุเปียมและนำกลับไปถ่ายทอดต่อยังเมืองของตน วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมของสามัญชนและกล่าวถึงสามัญชน ในการพูดถึงตัวละครสามารถกระทำได้ในลักษณะของการนินทา ดังนั้นเสียงลือเสียงเล่าอ้างในวรรณกรรมทั้งสองเรื่องจึงถูกใช้พื้นที่(เครื่องมือในการสื่อสาร)และวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน ด้วยความแตกต่างของพื้นที่ที่ตัวละครแต่ละตัวยืนอยู่คือ พื้นที่ราชสำนักอันหมายถึงพื้นที่แห่งอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้อย่างง่ายดาย ควรแต่ต้องให้ความเคารพ

                   เมื่อลิลิตพระลอเป็นพื้นที่ของราชสำนักที่มีอำนาจกำกับอยู่ และมีเรื่องของขนบธรรมเนียมที่เข้าข้นมากกว่าพื้นที่ของสามัญชน ทำให้เกิดความเกรงกลัวและนำมาซึ่งความศรัทธาและความเคารพของผู้คน ด้วยชุดของความเชื่อชุดเดิมของคนในสังคมที่เชื่อว่า “พระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ” ในการกระทำการใดก็ตามเกี่ยวกับเทพเจ้าจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ การขับซอยอยศพระลอก็เป็นการสร้างควมศักดิ์สิทธิ์ในกับพระมหากษัตริย์โดยการใช้เป็นเครื่องมือ

                   พิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในราชสำนักล้วนเป็นพิธีกรรมของพราหมณ์เป็นส่วนมาก โดยในการอ่านหรือกล่าวคัมภีร์ต่างๆ หรืออ่านบทสวดในพิธีการใดก็ตามมักจะกล่าวประกอบเครื่องดนตรีเสมอ เช่นเสียงของสังข์ ซึ่งบางครั้งเพียงแค่เป่าโดยไม่มีการอ่านออกเสียงประกอบก็ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ดังในพิธีการคอบครูนาฏศิลป์ก็จะมีการบรรเลงดนตรีคั่นระหว่างการอ่านโองการและเล่นประกอบเวลาอ่าน ดังนั้นการเล่าลือความงามของพระลอผู้เป็นเทพจึงไม่สามารถเล่าลือได้โดยง่าย การจะทำอันใดต่อเทพเจ้านั้นต้องมีลักษณะของความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องหรืออาจจะมีลักษณะเป็นพิธีกรรม และมีการใช้เครื่องดนตรีประกอบเสมอ เสียงลือเสียงเล่าอ้างในลิลิตพระลอจึงเป็นพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งในราชสำนัก การบอกเล่าเรื่องราวความงามของเทพเจ้าจึงต้องใช้ดนตรีเป็นเครื่องประกอบเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือ แสดงออกถึงอำนาจบารี วาสนา ให้ตนแตกต่างออกไปจากสามัญชน

                   นอกจากการสร้างความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเทพเจ้าอันหมายถึงพระมหากษัตริย์โดยการขับซอดังกล่าวมาแล้วนั้น ประการหนึ่งของเสียงลือเสียงเล่าอ้างในลิลิตพระลอ เนื้อหาของบทชมโฉมตัวละครเอกทั้งสองฝ่ายได้อ้างอิงวาทกรรม “บุญ” ดังความว่า

                                ...โฉมสองเหมือน

(ลิลิตพระลอ. )

                   จากข้อความข้างต้น นอกจากวาทกรรมแห่งเสียงลือเสียงเล่าอ้างแล้ว เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เสียงลือเสียงเล่าอ้างยังได้นำเอาวาทกรรมอีกชุดหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องคือเรื่องของบุญ การอ้างเรื่องบุญนั้นจึงเป็นการสนับสนุนวาทกรรมกระแสหลักที่เชื่อกันอยู่แล้วว่า ผู้ที่เป็นกษัตริย์นั้นเป็นสมมติเทพที่มาจากสวรรค์ เป็นผู้มีบุญเพื่อยกฐานะให้บุคคลกลุ่มนี้มีฐานะสูงกว่าคนทั้งมวล เป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่ตนเพื่อให้ผู้อื่นกลัวในบุญบารมี

                   การอ้างเรื่องผู้มีบุญจึงเป็นวาทกรรมชุดหนึ่งที่ถูกอ้างถึงในวาทกรรมอีกชุดหนึ่ง เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญวาทกรรมบุญยังฉายภาพของตัวละครให้อยู่ในพื้นที่อันแตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงกันข้ามกับพื้นที่ต่ำอันหมายถึงพื้นที่ของคนส่วนมากรวมถึงพื้นที่ของตัวละครเอกในวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบในการศึกษาครั้งนี้ด้วย

                   ความสำคัญของบุญได้ปรากฏอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อวาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างในลิลิตพระลอไม่มีผลต่อการได้ยินของสตรีและบุรุษอื่น กล่าวคือ เสียงลือเสียงเล่าอ้างไม่ไปดลจิตใจของผู้อื่นอย่างในเสียงลือเสียงเล่าอ้างของอลองเจ้าสามลอ ในเรื่องลิลิตพระลอนั้นไม่ได้เน้นให้เห็นความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อเสียงลือเสียงเล่าอ้างนั้น นอกจากนำเสนอความรู้สึกของพระเพื่อนและพระแพงที่มีต่อพระลอเมื่อได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความงามของพระลอ ในขณะที่วรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอนั้นได้นำเสนอผลของเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ทำให้ทุกคนต่างหมายปองที่จะได้ชาความงามของเจ้าสามลอและนางอุเปียม พร้อมหมายปองได้มาเป็นคู่เชยชม โดยที่หนุ่มๆ หมายปองที่จะได้นางอุเปียมมาครอบครองและในขณะที่สาวๆ ต่างก็ต้องการได้เจ้าสามลอมาเชยชมด้วยเหตุดังกล่าววาทกรรม “ผู้มีบุญ” จึงจะเป็นผู้ที่สามารถได้ยินและเข้าใจในเสียงขับซอดังกล่าวด้วย ในลิลิตพระลอทั้งพระเพื่อนพระแพงและพระลอต่างก็อ้างตนเป็นผู้มีบุญทั้งสิ้น วาทกรรมชุดนี้จึงแบ่งพื้นที่ของตัวละครของทั้งสองเรื่องออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด

                   ประการสุดท้ายเสียงลือเสียงเล่าอ้างในวรรณกรรมทั้งสองเรื่องมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน ในเรื่องลิลิตพระลอนั้น เสียงลือเสียงเล่าอ้างเกิดจากการเล่าลือความงามของพระลอก่อน เสียงลือเสียงเล่าอ้างไปถึงหูพระเพื่อนพระแพงจึงมีการขับซอตอบกลับให้พระลอได้ยิน ในขณะเดียวกันในวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอเสียงลือเสียงเล่าอ้างในวรรณกรรมเกิดจากการร่ำลือความงามของฝ่ายหญิงก่อน เมื่อเสียงลืเสียงเล่าอ้างความงามของนางอุเปียมกระทบหูเจ้าสามลอ เจ้าสามลอจึงออกเดินทางมาเพื่อที่จะชมความงามของนางอุเปียม การเดินทางมาของเจ้าสามลอทำให้มีผู้พบเห็นความงามของเจ้าสามลอ เกิดเป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้างให้นางอุเปียมได้ยินและต้องการที่จะพบเจ้าสามลอให้ได้ ดังนั้นเสียงลือเสียงเล่าข้างในวรรณกรรมทั้งสองจึงมีลักษณะตรงกันข้ามกัน

                   การใช้เสียงลือเสียงเล่าอ้างเริ่มต้นขึ้นจากการชมโฉมชมความงามของพระลอก่อนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคมในลิลิตพระลอว่าเป็นสังคมที่เป็นแบบปิตาธิปไตย คือการให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทั้งที่ความจริงในเรื่องความรักนั้นชายควรเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างความรักต่อฝ่ายหญิงไม่ใช่ฝ่ายหญิง ประกอบกับฐานะของตัวละครซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกษัตริย์จึงควรได้รับการยกย่องและเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่แพร่ออกไปก็หมายถึงการกล่าวขานถึงชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ที่ขยายกว้างออกไปตามบารมี ตามความสามารถที่สร้างความศรัทธาได้มากน้อย ในขณะเดียวกันเมื่อพระเพื่อนพระแพงได้ยินเกิดความหลงใหลถึงเกิดความต้องการเชยชมความงามของพระลอ ซึ่งไม่ใช่ความต้องการเพียงแค่ได้เห็นแต่เป็นความต้องการที่จะได้สมสู่เป็นคู่สองเมื่อได้ยินความงามของพระลอนั้น อาจมีนัยทางการเมืองที่แสดงให้เห็นว่าการหลงใหลในเสียงลือเสียงเล่าอ้างของพระเพื่อนพระแพงคือ การยอมรับสังคมแบบปิตาธิปไตย ที่หมายถึงการยอย่องผู้ชายให้มีบทบาทและความสำคัญที่เป็นใหญ่มากกว่า และที่สำคัญประการหนึ่งคือความต้องการได้ชมความงามของพระลอนั้นย่อมหมายถึง ความต้องการแสดงความชื่นชมต่อบุญบารมี อำนาจ วาสนาของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ ทั้งหมดแสดงให้เห็นความวิเศษของพระลอในอีกประการหนึ่งด้วย โดยธรรมชาติหากตัวละครอยู่ในพื้นที่ของสามัญชนย่อมหมายถึงการเข้าไปหาฝ่ายหญิงก่อน ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอที่ให้ความสำคัญและยกย่องบทบาทของสตรี เป็นลักษณะตรงกันข้ามในลิลิตพระลอ

                   ในส่วนของอลองเจ้าสามลอนั้นได้ให้ความสำคัญไปที่ตัวละครเอกหญิงเป็นจุดเริ่มต้นของเสียงลือเสียงเล่าอ้าง โดยตามประเพณีหรือแนวปฏิบัติของสังคมแล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาเพื่อสร้างความรักให้เกิดขึ้นคือฝ่าย แม้หญิงจะเป็นผู้เริ่มรักก็ไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติหญิงมีสิทธิ์เริ่มต้นก่อนได้แค่ความคิดเท่านั้น เจ้าสามลอเมื่อได้ข่าวสาวงามก็มุ่งหวังที่จะได้ชมความงามของนางอุเปียม ไม่ใช่ให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเดินเข้าหา พื้นที่ของผู้หญิงในสังคมของวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอจึงเป็นพื้นที่ที่มีการกำหนดขอบเขตของบ้าน อย่าออกจากบ้านไปหาชายให้ชายเป็นฝ่ายเข้ามาหาที่บ้าน ในขณะที่พื้นที่ของผู้ชายเป็นสาธารณะที่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและพื้นที่มากกว่า พื้นที่ในตรงนี้ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ที่เป็นพื้นดิน อาณาบริเวณเท่านั้นแต่หมายถึงระเบียบข้อบังคับของสังคม กล่าวคือมีกฎระเบียบเหล่านั้นมาปิดกั้นพฤติกรรมของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นข้อห้ามที่เป็นอาวุธในการป้องกันตนเองด้วย ในวาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างในวรรณกรรมเรื่องนี้จึงแฝงด้วยนัยที่ว่าผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติจากผู้ชายภายใต้กรอบของระเบียบของสังคม ทั้งหมดเป็นการชูให้ผู้หญิงให้อยู่เหนืออำนาจของผู้ชาย การหลงใหลในเสียงลือเสียงเล่าอ้างของเจ้าสามลอจึงเปรียบเสมือนการพ่ายแพ้ต่ออำนาจผู้หญิงหรือการยอมรับสังคมแบบมาตาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบของสังคมที่นักวิชาการบางส่วนเสนอไว้ว่า สังคมปิตาธิปไตยเป็นสังคมที่สามารถทำลายสังคมแบบมาตาธิปไตยได้สำเร็จ เนื่องจากในอดีตนั้นให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นใหญ่มากกว่าชาย มาก่อน

                   วาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างในลิลิตพระลอเป็นวาทกรรมที่ถือว่าเป็นวาทกรรมของชนชั้นสูง ชนชั้นผู้ปกครอง โดยที่วาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างนี้ล้วนแฝงไว้ด้วยอำนาจของผู้ปกครองเพื่อสร้างความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดขึ้นแก่ตน โดยการพยายามทำให้ผู้คนยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจเชื่อฟังและศรัทธาต่อตนเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับวาทกรรมเสียงลือเสียงเล่าอ้างในวรรณกรรมเรื่องอลองเจ้าสามลอที่นำเสนอภาพความเป็นไปของสังคมโดยปราศจากอำนาจทางการปกครองผู้ชนชั้นผู้ปกครอง

หมายเลขบันทึก: 344975เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วคับอาจารย์...แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนัก เดี่ยวผมขออ่านอีกหลายๆรอบก็แล้วกันคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท