การบริหารงานวิชาการในสถานศึกษา


งานวิชาการเป็นหัวใจของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา

การบริหารงานวิชาการ

             การบริหารงานวิชาการเป็นงานที่สำคัญสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นงานที่จะต้องปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน  ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของสถานศึกษาและเป็นเครื่องชี้ความสำเร็จ  และความสามารถของผู้บริหาร

             การบริหารงานวิชาการ  หมายถึง  การบริหารกิจกรรมทุกชนิดในสถานศึกษา หรือโรงเรียนเกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ผลดี  และมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาทุกแห่ง  คือ การให้ความรู้ทางด้านวิชาการแก่ผู้เรียน

             การบริหารงานวิชาการประกอบด้วยงานหลายอย่าง  สิ่งสำคัญของงานด้านวิชาการ คือ หลักสูตรเป็นตัวกำกับงานด้านวิชาการ  ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำ  ในการนำไปใช้ในแต่ละสถานศึกษาจึงแตกต่างกันไป       การจัดโปรแกรมการศึกษาจึงขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น  บุคลากร  งบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์  รวมทั้งผู้เรียนด้วย

 

1. ความสำคัญของการบริหารงานวิชาการ

            งานวิชาการเป็นหัวใจของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา  ส่วนงานด้านอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้สถาบันดำเนินไปด้วยความราบรื่นเท่านั้น  ผู้บริหารการศึกษาทุกคนควรจะรับผิดชอบเป็นผู้นำของครูในด้านวิชาการเป็นอันดับแรก  เพราะหน้าที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกแห่ง คือ  การให้ความรู้แก่นักเรียนในด้านวิชาการ  โดยการทำงานร่วมกับครู  กระตุ้นเตือนครูให้คำแนะนำครู  และประสานงานให้ครูทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในการสอน  งานวิชาการเป็นงานหลักของการบริหารสถานศึกษา  ไม่ว่าสถานศึกษาจะเป็นประเภทใด  มาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษาจะพิจารณาได้จากผลงานด้านวิชาการ  เนื่องจากงานวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตร  การจัดโปรแกรมการศึกษา  และการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งเป็นหัวใจของสถานศึกษาซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อม ก็อยู่ที่ลักษณะของงานนั้น

                ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า   งานวิชาการถือว่าเป็นหัวใจของการบริหารการศึกษา เพราะจุดมุ่งหมายของสถานศึกษาก็คือ  การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ  ซึ่งขึ้นอยู่กับงานวิชาการทั้งสิ้น  งานวิชาการเป็นกิจกรรมการจัดการเกี่ยวกับงานด้านหลักสูตร  การนำหลักสูตรไปใช้  แบบเรียน  งานการเรียนการสอน  งานสื่อการเรียนการสอน  งานวัดผลและประเมินผล  งานห้องสมุด  งานนิเทศการศึกษา  งานวางแผนการศึกษา  และงานประชุมอบรมทางวิชาการ  เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุจุดหมายของการศึกษาที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ขอบข่ายของการบริหารงานวิชาการ

                งานวิชาการมีขอบข่ายครอบคลุมเกี่ยวกับงานด้านหลักสูตร  และการเรียนการสอน  ตั้งแต่การวางแผนเกี่ยวกับงานวิชาการ        การจัดดำเนินงาน       เกี่ยวกับการเรียนการสอน        การจัดบริการ   การสอน  ตลอดจนการวัด และประเมินผล  รวมทั้งติดตามผล และสื่อการสอนรวมไปถึงการพัฒนาผู้สอนตลอดจนการดำเนินกิจการของโรงเรียนจะต้องเป็นไปตามหลักสูตร  และระเบียบพิธีการของการเรียนการสอน  จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมทุกระยะ  ด้วยการจัดเนื้อหาวิชาให้ทันสมัย  บางครั้งก็มีการเพิ่มวิชาใหม่ ๆ เข้าไปด้วย   ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างแท้จริงนั้น เกิดจากการเรียนการสอน  ดังนั้น  เมื่อหลักสูตรเปลี่ยนก็จำเป็นต้องอบรมครูตามไปด้วย  เพราะการใช้หลักสูตรในโรงเรียนจะมีส่วนเกี่ยวโยงไปถึงการจัดตารางสอน การจัดชั้นเรียน  วิธีสอน   การใช้อุปกรณ์การสอนและการประเมินผลด้วย       ถ้ามองในด้านของงานสถานศึกษา  การบริหารงานวิชาการ ได้แก่  งานควบคุมดูแลหลักสูตร  การสอน  อุปกรณ์การสอน  การจัดการเรียน  คู่มือครู  การจัดชั้นเรียน  การจัดครูเข้าสอน  การปรับปรุงการเรียนการสอน  การฝึกอบรมครู  การนิเทศการศึกษา การเผยแพร่งานวิชาการ  การวัดผลการศึกษา การศึกษาวิจัย  การประเมินมาตรฐานสถานศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพ  และประสิทธิภาพสถานศึกษา

                จะเห็นได้ว่า  งานวิชาการเป็นงานที่มีขอบข่ายครอบคลุมหลายด้าน  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพแก่ผู้เรียนทุกด้าน  ซึ่งสามารถสรุปขอบเขตของงานวิชาการได้ดังนี้  งานการจัดหลักสูตร  งานการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  งานการใช้วิธีการสอน และการใช้สื่อการเรียนการสอน  งานการวัดผลการเรียนการสอน และการนิเทศการสอน

 3. หลักการบริหารงานวิชาการ

                ในการบริหารงานวิชาการจะต้องมีหลักการและวิธีการดำเนินงาน  เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร  ดังนั้นในหลักการเบื้องต้นของการบริหารจึงต้องมีข้อความชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

                3.1 ยึดหลักให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นไปตามกรอบหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง  โดยมีครู  ผู้บริหาร  ผู้ปกครอง  และชุมชนมีส่วนร่วม

                3.2 มุ่งส่งเสริมสถานศึกษาให้จัดกระบวนการเรียนรู้  โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

                3.3 มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้รวมทั้งเป็นเครือข่ายและแหล่งการเรียนรู้

                3.4 มุ่งจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยจัดให้มีดัชนีชี้วัดคุณภาพการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ และสามารถตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาได้ทุกช่วงชั้นทั้งระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา

                3.5 มุ่งส่งเสริมให้มีการร่วมมือเป็นเครือข่าย  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 344746เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท