การจัดการความรู้ภาคปฏิบัติในชุมชน(3)เวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 1 กระบวนการDialouge(สุนทรียสนทนา)


กระบวนการสุนทรียสนทนานี้จะต้องมีการฝึกฝนหลายๆครั้งจึงจะทำให้อยู่ในวิถีปฏิบัติของขบวนชุมชนได้ การฝึกปฏิบัติเพียงครั้งเดียวจึงยังไม่เพียงพอต่อการสร้างเปลี่ยนแปลงได้

การจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือกระบวนการสุนทรียสนทนา(Dialouge) ได้มีการจัดเวทีเมื่อวันที่12 ธ.ค. 2552  เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ณ วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เวทีการจัดการความรู้ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น"

เครื่องมือการจัดการความรู้โดยกระบวนการสุนทรียสนทนา(Dialouge)นี้ผมเห็นว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของผู้นำชุมชน ผมได้มีโอกาสฝึกฝนเครื่องมือนี้กับครูบาอาจารย์หลายท่านครับเช่น อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์  อ.ณัฐฬส  วังวิญญู  ได้เข้าอบรมในหลักสูตรของสคส.โดย อ.อ้อม การอบรมในหลักสูตรของเสมสิกขาลัยโดย จอร์จ เลกี้และอ.ประชา  หุตานุวัฒน์ ต้องขอขอบคุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายในโอกาสนี้ จากการเรียนรู้จากสำนักต่างๆแล้วผมมาประยุกต์ใช้ครับ

                การดำเนินการจัดกิจกรรมการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้ในครั้งนี้ผมใช้แนวการจัดกระบวนการของ อ.สุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์เป็นแนวในการจัดกระบวนการเรียนรู้ครับ ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1)    กิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนแนะนำตนเองว่าแต่ละคนชอบอะไรโดยใช้เฉพาะภาษาท่าทาง (ไม่ให้พูด) ซึ่งแต่ละคนต่างแสดงท่าทางเพื่อที่จะสื่อสาร ทำให้เกิดบรรยากาศที่สนุกสนานเป็นกันเองกันมาก ซึ่งที่สุดแล้วผู้เข้าร่วมเวทีจัดการความรู้ทุกคนสามารถเข้าใจกันได้หมดว่าใครชอบทำอะไร

2)   กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในตน(Self-esteem) ให้แต่ละคนนั่งหลับตาอยู่กับตนเองหนึ่งนาที ใคร่ครวญคิดถึงสิ่งที่ตนประทับในตนเองที่สุดในการเป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก  จากนั้นให้ลุกขึ้นไปทักทายกันและกันทั้งห้อง โดยบอกความประทับใจที่ตนมีต่อตนเองต่อคนอื่น ซึ่ง ผลสะท้อนออกมาแต่ละคนต่างประทับใจ ทำให้แต่ละคนเกิดทั้งความภาคภูมิใจในตัวเองหรือการชื่นชมในตนเอง( self-appreciation) และความประทับใจหรือความชื่นชมเพื่อนในกลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีจัดการความรู้ด้วยกัน

3)   ฝึกการฟังอย่างลึก (deep listening) โดยการจับคู่ผลัดกันถามซ้ำๆ ด้วยคำถามเดียวกับคู่ของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเวลา 3 นาที ว่า “ตัวฉันเป็นคนประเภทใด  ตัวฉันชอบอะไรเป็นพิเศษ” ใช้กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมกิจกรรมต่อไปด้วย ซึ่งการฟังอย่างลึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสุนทรียสนทนา

4)   กิจกรรม 4 ทิศ ภายหลังที่ได้แจกเอกสารการจำแนกประเภทคน เป็น 4 แบบโดยเรียกตามชื่อสัตว์ (กระทิง เหยี่ยว หนูและหมี)  ในนั้นได้บอกลักษณะคน ที่เป็นทั้งจุดแข็งจุดอ่อนของคนแต่ละแบบ โดยทุกคนมีทุกลักษณะอยู่ในตัว เพียงแต่อาจมีบางธาตุที่มักแสดงออกชัดเจนบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลองวิเคราะห์ตนเองแล้วเลือกด้วยตนเองดูว่าตนเป็นคนประเภทใด?เหตุการณ์สำคัญอะไรที่ตัวเรามักแสดงลักษณะนั้นอยู่บ่อยครั้งแล้วจัดกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในลักษณะสุนทรียสนทนา

5)  กิจกรรมแสดงบทบาทภาวะผู้นำการการเสริมสร้างความสุขมวลรวม โดยทุกคนร่วมแสดงท่าทางประจำลักษณะเด่นของคนแต่ละประเภท(ตามชื่อสัตว์)ต่างๆ คนเป็นกระทิงทำท่าเท้าสะเอวชี้นิ้วใส่คนอื่น คนเป็นเหยี่ยวทำท่าบินไปรอบๆ คนอื่น คนเป็นหมี ทำท่ายืนเท้าชิดกอดอกตนเองแน่น คนที่เป็นหนู คุกเข่าลงทำท่าร้องขออ้อนวอนขอความเห็นใจจากคนอื่น เป็นต้น

6) กิจกรรมการพูดคุยกลุ่มย่อย  แบ่งกลุ่มย่อยพูดคุยกันถึงบทบาทภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมทั้งมิติ ภาวะผู้นำเชิงความสามารถเอื้ออำนวยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ภาวะผู้นำเชิงความดีต่อสาธารณะ ภาวะผู้นำเชิงสุขภาวะ(ความพึงพอใจในชีวิต)ในฐานะสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลเรามีประสบการณ์ครั้งใดที่ประทับใจที่สุด ที่ได้ผลมากที่สุดในการแสดงภาวะผู้นำครั้งนั้นเป็นอย่างไร ทำอย่างไรโดยล้อมวงพูดคุยในลักษณะเป็นวงสุนทรียสนทนา

ผลการประชุมสรุปการจัดเวทีการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือกระบวนการสุนทรียสนทนา(Dialouge)ในครั้งนี้พบว่ามีหลายคนที่สะท้อนออกมาว่ากระบวนการและเครื่องมือนี้ทำให้แต่ละคนได้เล่าเรื่องของตัวเองได้อย่างสบายใจจึงรู้สึกประทับใจมาก บางคนบอกว่าทำให้ตัวเองได้รู้จักตัวเองมากขึ้นทำให้รู้ว่าตนเองมีพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ทำให้เห็นภาพของตนเองที่สะท้อนบทบาทภาวะผู้นำผ่านกิจกรรมนี้ชัดขึ้น และเห็นว่ากระบวนการสุนทรียสนทนานี้จะต้องมีการฝึกฝนหลายๆครั้งจึงจะทำให้อยู่ในวิถีปฏิบัติของขบวนชุมชนได้ การฝึกปฏิบัติเพียงครั้งเดียวจึงยังไม่เพียงพอต่อการสร้างเปลี่ยนแปลงได้

หมายเลขบันทึก: 344198เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2010 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท