ภารกิจการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก


ภารกิจการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก

        การศึกษาหมายถึงความเจริญงอกงาม หรือการพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญงอกงามทางด้านสติปัญญา  ร่างกาย  และการพัฒนาการทางอารมณ์  รัฐมีหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนและบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2550  มาตรา 43)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

        เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำเนินชีวิตและการดำรงอยู่แนวทางการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว  ชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในด้านการพัฒนาและบริหารประเทศชาติให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์  ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ  ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆอันรอบครอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนการดำเนินการทุกขั้นตอนและขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ  นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม  ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม  ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน  ความเพียร  มีสติปัญญา และความรอบครอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ  สังคม  สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ:2546.91)

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 (ปรับปรุง พุทธศักราช 2545)

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550  มาตรา 43  บัญญัติให้รัฐต้องจัดการศึกษา  อบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษา ให้ผู้เรียนเกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง  การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  สนับสนุนการค้นคว้า วิจัยในศิลปะวิทยาการต่างๆ  เร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  พัฒนาประเทศ  พัฒนาวิชาชีพครูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปวัฒนธรรมของชาติ  รวมทั้งการจัดการศึกษาของรัฐให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ตามกฎหมายการศึกษา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19  สิงหาคม  พุทธศักราช  2549  มีผลบังคับใช้ 20  สิงหาคม  พุทธศักราช  2549) ที่มา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ : 2546.17)

ระบบการศึกษา

        ระบบการศึกษา กำหนดให้จัดการศึกษาได้ 3  ระบบ  คือ  การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย (พรบ.การศึกษา 2549 :มาตรา 15)    สถานศึกษาอาจจัดรูปแบใด รูปแบบหนึ่ง หรือทั้ง 3  รูปแบบก็ได้และกำหนดให้มีการเทียบโอนผลการเรียนได้ทั้ง 3  รูปแบ

การบริหารจัดการศึกษา

    การบริหารและจัดการศึกษาแบ่งออกเป็น  3  ระดับ  คือ  ระดับชาติ  ระดับเขตพื้นที่การศึกษา  และระดับสถานศึกษา (พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542  หมวด 5)

โรงเรียนขนาดเล็ก

        โรงเรียนขนาดเล็ก  หมายถึง  หน่วยงานหรือองค์การที่ทำหน้าที่จัดการเรียนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพื่อพัฒนาให้เกิดความเจริญงอกงามในตัวบุคคล โรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนผู้เรียนตั้งแต่ 1-120 คน

 (ศ.ดร.  ธีระ    รุญเจริญ  : 2546 1.7)

การแบ่งขนาดของโรงเรียน

        การแบ่งขนาดของโรงเรียนหรือสถานศึกษาตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2549  แบ่งเป็น  4  ระดับ  ดังนี้

        1.  โรงเรียนขนาดเล็ก  หมายถึงโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีผู้เรียนตั้งแต่ 1-120  คน

         2.  โรงเรียนขนาดกลาง  หมายถึง  โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีผู้เรียนตั้งแต่ 121-600  คน

        3.   โรงเรียนขนาดใหญ่  หมายถึง  โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีผู้เรียนตั้งแต่ 601-1,500  คน        

4.   โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ  หมายถึง  โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีผู้เรียนตั้งแต่  1,500  คน ขึ้นไป

 

การบริหารจัดการเรียนรู้โรงเรียนขนาดเล็กโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

    1.เจตนารมณ์/หลักการ/แนวคิด

        การจัดการเรียนรู้และการบริหารโรงเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  หมายถึง  การจัดการเรียนรู้ที่มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ  มีทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย สามมารถนำวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้และทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนเพื่อวางแผนพัฒนาผู้เรียน

        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช  2542 (ปรับปรุงครั้งที่ 2  พุทธศักราช  2545  มาตรา 43)  มีสาระสำคัญมุ่งเน้นการจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา มีความรู้คู่คุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต  สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  การบริหารจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนทุกคนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการบริหารจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

        ดังนั้นในการบริหารจัดการศึกษาหรือบริหารจัดการเรียนรู้ต้องจัดให้สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียนฝึกทักษะ  กระบวนการคิด  การจัดการ  การเผชิญสถานการณ์  การประยุกต์ความรู้มาใช้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ฝึกปฏิบัติ  ผสมผสานความรู้ต่างๆ  พร้อมทั้งปลูกฝังคุณธรรม  ค่านิยม  คุณลักษณะ  จัดบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  สื่อการเรียนการสอน  และจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นทุกเวลา  ทุกสถานที่  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องร่วมมือกับบุคคล  องค์การ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ร่วมจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้และมุ่งประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี  คนเก่ง และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

โครงสร้างการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก

        โรงเรียนขนาดเล็กแบ่งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็น  4  ฝ่าย ดังนี้

        1. งานบริหารวิชาการ หมายถึงงานที่จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนตามเนื้อหาหลักสูตรแกนกลาง  หลักสูตรท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น  งานทะเบียน  งานวัดผล และการทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษา

        2.  งานบริหารบุคลากร  ประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงเรียน  ครู  ครูอัตราจ้าง   ครูพี่เลียงเด็กปฐมวัย พนักงานบริการ และลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ภาระงานเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน  การให้สวัสดิการเช่นการศึกษาต่อและงานวินัย

        3. งานบริหารงบประมาณ ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องบริหารงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนรายหัว  เงินอุดหนุนอื่น  และเงินนอกงบประมาณ เช่นเงินบริจาคแบบมีวัตถุประสงค์ และเงินบริจาคแบบไม่มีวัตถุประสงค์ ให้เกิดความยุติธรรม  โปร่งใส  ตรวจสอบได้ โดยให้คณะครู  ผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน  นักเรียน  ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหาร โดยมีเป้าหมายหลักลงไปสู่ผลผลิต คือตัวนักเรียน ให้เป็นคนดี  คนเก่ง  และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

        4.  งานบริหารทั่วไป ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้อำนวยการสถานศึกษาบริหารงานเพื่อส่งเสริม  สนับสนุนให้ครู  บุคลากร  และนักเรียนจัดการเรียนรู้ งานบริหารทั่วไปประกอบด้วยงานกิจการนักเรียน  งานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน  งานอาคารสถานที่ และงานกิจกรรพัฒนาผู้เรียนเป็นต้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดกลยุทธ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเกณฑ์หลัก ประสานงานกับองค์การ  ชุมชน  หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น  ภาคธุรกิจเอกชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียนตามศักยภาพ

 

ขั้นตอนการบริหารโรงเรียน

                         1.  ศึกษาระเบียบ  คำสั่ง  กฎกระทรวง  คำสั่งมอบอำนาจต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจ และสามารถตีความได้

                         2.  ประชุม ปรึกษาหารือคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียน  คณะครู   คณะผู้ปกครองนักเรียนเพื่อวางแผนการบริหารโรงเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

                         3.  จัดทำแผนงาน/โครงการของโรงเรียนโดยยึดตัวชี้วัดได้แก่มาตรฐานโรงเรียนที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 18  มาตรฐาน และสำนักงานประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษา(สมศ.)  จำนวน  14  มาตรฐาน

                         3.  นำแผนงาน/โครงการลงสู่การปฏิบัติ โดยประเมินผล  กำกับ  ติดตาม  นิเทศการดำเนินงาน/โครงการเป็นระยะๆ

                         4. นำผลงานหรือชิ้นงาน/โครงการที่ประสพผลสำเร็จจัดทำเป็นผลงานคุณภาพ

(BEST PRACTICE)  ของโรงเรียน

                         5. จัดทำรายงานการประกันคุณภาพภายใน (SAR) ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียน ประธานเครือข่ายวิชาการ  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อรองรับการประกันคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษา

 

หลักการบริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา

                   การบริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษาบริหารโดยยึดทฤษฎีการบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(SBM) ผสมผสานกับการบริหารโรงเรียนโดยยึดหลักธรรมาภิบาล(GOOD GOVERNANCE) ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  มหาราช  รัชกาลที่ 9  มุ่งให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ โดยให้ชุมชน  องค์การ  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนมีส่วนร่วมในการบริหาร มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดสู่ตัวผู้เรียน เพื่อให้เป็นคนดี  คนเก่งและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ผู้เขียนบทความ

นายเอกกมล    ภิญโญวงศ์

ครุศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ ๙

 

มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ   โทรศัพท์ ๐๘๕-๗๖๙๖๘๖๔  E-MAIL  :EKKAMOL.PHINYOVONG @
                                                                                                              G MAIL.COM

หมายเลขบันทึก: 343990เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2010 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โชคดีที่ได้อ่านข้อมูลดีดี ก่อนสอบครูผู้ช่วย 2554 และได้ทำความเข้าใจหลักการบริหารงาน เพื่อจะนำไปใช้ในการทำงานค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท