จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

มหาวิทยาลัยปลายน้ำ


หมดเวลาไปสองวันกับการเรียนรู้เกี่ยวกับ tqf ครับ เมื่อวานกับวันนี้ ซึ่งความจริงก่อนหน้านี้มีสองเสียงที่แนะนำเพื่อการตัดสินใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ คำแนะนำหนึ่งคือ จะเอาไปทำได้ก็ต้องอบรมก่อน ที่สำคัญถ้าได้อบรมกับวิทยากรที่อยู่ในทีม สกอ.เลยก็จะทำให้หลักสูตรผ่านตลอด อีกแนวหนึ่งของคำแนะนำคือ ของง่ายๆ อ่านคู่มือแล้วก็ทำได้เลย คำแนะนำหลังนี้ได้กรุณาส่งไฟล์ข้อมูลมาให้ด้วยครับ แต่ด้วยความยุ่งๆ เลยไม่ได้เปิดอ่านมันสักที 

ต้องบอกว่า โดยนิสัยแล้วมีการอบรมแบบหนึ่งที่ผมรับไม่ได้เลย คือ การอบรมแบบให้ทำตาม ทำไปทีละขั้นตอนครับ ดังนั้นสมัยเรียนคอมพิวเตอร์ หรือเรียนโปรแกรมอะไรก็แล้วแต่ ผมจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเด็กสมาธิสั้น (ฮา) ผมชอบคิดและทำเองภายใต้ความท้าทายและอยากรู้ของผมเองครับ มาเจอการอบรมปฏิบัติการเรื่อง tqf เข้า มันทำให้สมองผมคิดไปต่างๆ นานาเลยครับ ซึ่งข้อสรุปในวันแรกของการอบรมของผมคือ "มันเป็นเพียงการถอดรูปเงาะออก แต่ก็ไปหยิบเอาหน้ากากอุลตร้าแมนมาใส่แทน"

ความหมายของผมคือ มันไม่ใช่เรื่องใหม่เลยครับ มันเป็นเรื่องเก่า โดยถ้าจากการประมวลจากหลายเสียงที่พูดถึงแนวโน้มการประกันคุณภาพว่า จะต้องลงไปสู่การประกันในรายวิชารายหลักสูตร ผมว่าอันนี้แหละครับคำตอบของคำพูดนั้น ดังนั้นจากเดิมที่รูปแบบของการสร้างมาตรฐานการจัดการศึกษาเรามีแบบฟอร์มต่างๆ ที่จะต้องรายงาน สกอ. ก็เปลี่ยนมาใช้แบบฟอร์มใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ประเด็นที่ใหม่ก็เป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การประกันคุณภาพนั่นแหละครับ ดังนั้นจากเจ้าเงาะที่เดิมเวลาจะรบทัพจับศึก ต้องวิ่งไปหาไม้กระบอง ต้องนี้ไม่ต้องครับเพราะเป็นอุลตร้าแมนแล้ว เรียกอาวุธมาใช้ได้ทันที ฮา

ด้วยความที่ยังไม่ไ้ด้ศึกษาเกี่ยวกับ tqf มาเลย แล้วต้องมารับผิดชอบงานแนวๆ นี้ของมหาวิทยาลัย ผมนั่งคิดอยู่หลายวันครับ เลยร่างแบบฟอร์มมาชุดหนึ่ง แล้วก็ให้ทีมงานหาข้อมูลใส่ในแบบฟอร์มดังกล่าว วันนี้ทีมงานซึ่งไปอบรมด้วยเมื่อวิทยากรนำไปสู่ มคอ.7 ถึงกับพูดขึ้นว่า เหมือนกับที่อาจารย์ให้ทำเลย แต่ของอาจารย์ละเอียดกว่าอีก (ฮือ เป็นไปได้) ออ.ก่อนหน้าที่จะถึง มคอ.7 เมื่อวานวิทยากรแนะนำ มคอ.3 อันนี้ทีมงานผมบอกว่า ฟอร์มแบบนี้เหมือนที่มหาวิทยาลัยในมาเลเซียเลยครับ เพียงแต่เขาทำมาหลายปีแล้ว ฮา (อันนี้คงจะคล้ายประเด็น km ครับที่มาเลเซียใช้มาเมื่อสิบปีที่แล้วครับ)

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เพื่อให้มั่นใจว่าหลักสูตรที่จะต้องปรับปรุงเข้าเกณฑ์ของ tqf และ สกอ.ยอมรับ จึงใช้วิธีการขอความช่วยเหลือจากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับ tqf เช่น เป็นกรรมการในชุดใดชุดหนึ่งที่ สกอ. ตั้งขึ้นสำหรับงานนี้มาเป็นวิทยากรครับ แน่นอนครับ ส่วนหนึ่งคือ คนกลุ่มนี้รู้ดีกว่าใครๆ ฮือ และแน่นอนครับ คำพูดหนึ่งที่จะได้ยินบ่อยจากการอบรมคือ ทำไปตามนี้แหละครับ/ค่ะ รับรองถูกต้องแน่ๆ อย่างที่บอกแหละครับ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ผมไม่ชอบลอกการบ้านเพื่อน ถึงแม้บางทีผมรู้ว่าผมทำผิด ผมก็ยังยิ้มได้ เพราะนั้นมันเป็นฝีมือผมเอง ฮา

ด้วยระบบการบริหารจัดการของ สกอ.ปัจจุบันที่แบ่งเป็นกลุ่มเครือข่าย แล้วแน่นอนครับ มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เป็นคนร่วมในบอร์ดใหญ่ รับรู้ทุกเรื่องก่อนใคร แล้วค่อยมาบอกต่อกับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย มันกลายเป็นว่า เฮ้อ เอ็งไม่มีทางรู้ดีกว่าตรูหรอก ฟังดีๆ แล้วก็ต้องทำตามนี้ อย่าซ่านะโฟ้ย

ผมคิดเล่นๆ ว่า ถ้า สกอ. ยอมรับการมีตัวตนของมหาวิทยาลัยเล็กๆ บ้าง แล้วเปลี่ยนวิธีการจากการสั่งมาพร้อมๆ กับแบบฟอร์มต่างๆ ที่เขียนให้มันซับซ้อนเพื่อจะให้ต้องผ่านอบรมก่อนจึงจะทำได้ มาเป็นการบอกเป้าหมาย เป้าประสงค์ที่แท้จริง แล้วก็บอกว่า เอาเลย ทุกมหาวิทยาลัยหาวิธีเอาเอง ทำให้ได้อย่างเป้านี้ แล้วค่อยมาถอดบทเรียนกันว่า มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เขาทำกันแบบไหน มหาวิทยาลัยเล็กๆ ทำอย่างไร ที่ทำให้บรรลุเป้า ซึ่งนั่นหมายถึงมันจะเกิดรูปแบบ เกิดองค์ความรู้ที่มามายก่ายกองเลยครับ ถึงขั้นนั้นค่อยมาสรุปเป็นแนวทางเดียวกันก็ได้ ไม่เห็นต้องรีบร้อน หรือกระซิบทำกันก่อนสองสามมหาวิทยาลัยดังๆ แล้วค่อยมาบอกให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ เดิมตามหลังตลอดไป

นึกถึงภาพห้องเรียนนะครับ ครูบังคับให้นักเรียนฟังครู แต่บังเอิญผมนั่งหลังห้องนะครับ แล้วข้อสอบครูก็ออกมาว่า เมื่อกี้ครูพูดว่าอะไร ฮาฮา ยิ่งครูพูดเบาเท่าไร เด็กหลังห้องแบบผมสอบตกแน่ๆ ฮือๆ ยิ่งก่อนครูเข้าสอน ครูก็มักจะคิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ไอ้พวกหลังห้องนี้แหละ เสียงดัง รบกวนการสอน ไม่สนใจเรียน และแน่ๆ ว่ามันสอบตกอยู่แล้ว ฮา

คำสำคัญ (Tags): #tqf#สกอ.
หมายเลขบันทึก: 343851เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2010 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มหาวิทยาลัยปลายน้ำ...บางครั้งอาจสวยงามกว่าที่หลายคนคิด แต่ติดอยู่ที่ว่าทุกวันนี้เรามัวแต่ไปดูที่ต้นน้ำว่ามันสวยงามมากเพียงใดเลยไปไม่ถึงสักที เพราะท้ายที่สุดแล้วความสวยงามของต้นน้ำที่เราตามหาอาจต้องกลับมาดูที่ปลายน้ำก็ได้ครับ อิอิ

   เป็นกำลังใจให้คนทำงานครับ...ดูแลสุขภาพด้วยครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ เสียงเล็กๆ فؤاد 

ปลายน้ำก็สวยตามแบบของปลายน้ำครับ ต้นน้ำก็สวยตามแบบของต้นน้ำครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท