สร้างเด็กไทยให้อ่านเก่ง อ่านเร็ว : ประเภทของวิธีอ่าน


            การมุ่งให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการอ่านนั้น  นักเรียนต้องฝึกปฏิบัติมาแล้วจนเกิดทักษะการอ่านในแต่ละวิธี  ซึ่งแบ่งประเภทของวิธีอ่านได้  ๕  วิธี  ได้แก่  วิธีอ่านปกติ  วิธีอ่านสำรวจ  วิธีอ่านละเอียด  วิธีอ่านเร็ว  และวิธีอ่านคร่าวๆ  รายละเอียดของแต่ละวิธีได้ผ่านการฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านมาแล้วในชั้นประถมศึกษาปีที่  ๔ – ๖  จึงนำเสนอองค์ความรู้โดยสรุป  ดังนี้

 

 

          ๑)  วิธีอ่านปกติ 

          วิธีอ่านปกติ  ใช้ประโยชน์ในการอ่านเรื่องทั่วไป  ไม่จำกัดเวลาผู้อ่านจะเคลื่อนสายตาจากซ้าย  ไปขวาโดยมิได้เร่งรีบเพื่อรับรู้ค่า  กลุ่มคำ  ประโยคและเรื่องทั้งหมด  เพื่อให้สมองแปลความหมาย  หากมีส่วนใดยังไม่เข้าใจก็จะอ่านซ้ำและพิจารณาให้ถี่ถ้วน  จนกว่าจะเกิดการรับรู้ที่ชัดเจน  เป็นการอ่านโดยมิได้เร่งรีบแต่ต้องการให้บรรลุผลตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย  มากกว่าที่จะเน้นในเรื่องของเวลาไม่จำกัดความยาวของสาร  ส่วนความยากง่ายของสารควรเหมาะสมกับความสามารถในการอ่านของผู้อ่าน  อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้อ่านด้วยเป็นการอ่านที่นักเรียนใช้อ่านได้ทั้งสารวิชาการและสาระบันเทิง

 

 

          ๒)    วิธีอ่านสำรวจ

          วิธีอ่านสำรวจ  เป็นการอ่านในใจวิธีหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการอ่านไม่มากนัก  ผู้อ่านต้องอาศัย ความชำนาญในการเคลื่อนสายตาและกวาดสายตาอย่างรวดเร็ว  เพื่อค้นหาคำสำคัญหรือหัวข้อที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป  ดังนั้นผู้อ่านจึงมักจะมองผ่านข้อความต่างๆ  โดยสนใจและบันทึกไว้เฉพาะคำหรือหัวข้อตามจุดมุ่งหมายของผู้อ่านเท่านั้น

 

 

           ๓)     วิธีอ่านละเอียด

            วิธีอ่านละเอียด  ผู้อ่านจะเคลื่อนสายตาผ่านทุกตัวอักษรของคำกลุ่มคำและประโยคทำความ เข้าใจความหมายทั้งทางตรงและทางนัย  เพื่อให้ได้ข้อมูลตรงตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการ  เป็นการอ่านสารวิชาการจึงต้องใช้เวลาในการอ่านมากกว่าการอ่านวิธีอื่นๆ  เพราะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ

 

 

            ๔)     วิธีอ่านเร็ว

            วิธีอ่านเร็ว  เป็นวิธีอ่านที่ใช้อ่านสารวิชาการและสารทั่วไปเพื่อความรู้และความเพลิดเพลิน วัตถุประสงค์ต้องการอ่านสารให้ได้มากที่สุดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด

 

 

          วิธีอ่านเร็ว 

           ผู้อ่านจะเคลื่อนสายตาอย่างรวดเร็วจากซ้ายไปขวาโดยไม่เคลื่อนใบหน้าเพราะจะทำให้เมื่อยล้าสายตา  เพื่อรับรู้ตัวอักษรเป็นกลุ่มคำประโยค  หรือเป็นข้อความ  ส่งให้สมองแปลความอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเคลื่อนสายตาผ่านไปรับรู้ประโยคอื่นๆ  เป็นการอ่านอย่างรวดเร็ว  อัตราเร็วในการอ่านเป็นองค์ประกอบสำคัญของการอ่านเร็วเช่นเดียวกับความถูกต้องของการอ่านอัตราเร็วในการอ่านสามารถพัฒนาได้โดยอาศัยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอทุกวันให้นักเรียนปฏิบัติโดยไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับให้เป็นการปฏิบัติโดยอัตโนมัติทั้งการอ่านและการจับใจความได้ถูกต้อง

 

 

 

           ๕)    วิธีอ่านคร่าวๆ 

           วิธีอ่านคร่าวๆ  เป็นการอ่านในลักษณะเพื่อยืนยันความถูกต้องในเรื่องนั้นๆ  หลังจากที่ได้อ่านอย่างละเอียดมาแล้ว  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทบทวนเรื่องราว  ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล  ตรวจดูเนื้อหาอย่างย่อๆ  ก่อนอ่านละเอียดหรืออ่านคร่าวๆ    เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อหนังสือ

 

 

             วิธีอ่านในใจที่มักจะใช้กันทั่วไปมี  ๕  วิธี  คือ 

             วิธีอ่านปกติใช้เพื่ออ่านสารทั่วไปโดยไม่จำกัดเวลา 

            วิธีอ่านสำรวจเป็นการอ่านเพื่อค้นหาคำหรือหัวข้อสำคัญ  จึงมองข้ามข้อความที่ไม่เกี่ยวข้อง 

            วิธีอ่านละเอียดเป็นการอ่านทุกถ้อยคำเพื่อเข้าใจความหมายใช้ในการอ่านสารวิชาการ  

            วิธีอ่านเร็วเป็นการอ่านที่ต้องการปริมาณของสารเป็นจำนวนมากแต่ใช้เวลาน้อย  เน้นการเคลื่อนตาอย่างรวดเร็ว

           และวิธีอ่านคร่าวๆ  เป็นการอ่านเพื่อทบทวน  ยืนยันความถูกต้องหรืออ่านเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกสารประเภทต่างๆ

 

 

ที่มา : คู่มือการสอนภาษาไทย สร้างเด็กไทยให้อ่านเก่งอ่านเร็ว ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓) สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สถาบันภาษาไทย

 

หมายเลขบันทึก: 343277เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท