กระบวนการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน


กระบวนการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน

 

ชื่อเรื่องภาษาไทย  กระบวนการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ  Process  of  Forces  for  Sustainable  in  Community  Business

ชื่อผู้วิจัย     นายบรรชร          กล้าหาญ    Mr.Banchon  Klahan

ตำแหน่ง/สังกัด  ครู  วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

วุฒิการศึกษา  ปริญญาโท  สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ

ผู้วิจัยร่วม    นางรุ่งทิพย์       กล้าหาญ     Mrs.Roungthip  Klahan  

ตำแหน่ง/สังกัด  อาจารย์ และรองผู้อำนวยการสำนักวิชาการ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตเชียงใหม่

วุฒิการศึกษา  ปริญญาโท  สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ

นักวิจัยร่วมในชุมชน

             นายประเสริฐ    ทะลาบุญ                    

             นายทองสุข       ธาตุอินทร์จันทร์  

             นายจีรพัฒน์     ธาตุอินทร์จันทร์  

ปีที่ทำวิจัยสำเร็จ  ปี  พ.ศ. 2551

แหล่งทุนวิจัย  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผ่านสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา  ปีงบประมาณ  2550

 

ความเป็นมา

การพัฒนาภายใต้กรอบคิดระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  แต่ก็ได้สร้างปัญหาวิกฤตทางสังคม  เศรษฐกิจ  และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลได้พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคม   ด้วยการแสวงหาทุนทางสังคมซึ้งได้แก่พลังคน พลังกลุ่ม พลังทุน พลังธุรกิจ พลังเอื้ออาทร และพลังการเรียนรู้   พร้อมทั้งประกาศนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองให้เป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงและหลักอิงประเทศ

            ธุรกิจชุมชนเป็นกระบวนการทางสังคมที่ถูกคัดสรรสำหรับการนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังประสบและเตรียมการเพื่อสร้างรากฐานการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจให้แก่สังคมไทย โดยใช้รากเหง้าของ “ วัฒนธรรม ” ที่มีอยู่ในสังคม จากความเชื่อว่า การพัฒนาธุรกิจชุมชน จะต้องใช้คนเป็นเป้าหมายและดำเนินการพัฒนาแบบองค์รวม หรือการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ จิตใจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมืองโดยใช้พลังทางสังคม ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา ในรูปแบบของกลุ่ม เครือข่ายหรือประชาสังคม กล่าวคือเป็นการผนึกกำลังของทุกฝ่ายในลักษณะ “ พหุภาคี ” ประกอบด้วย  รัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน   เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาธุรกิจชุมชนคือ “ คุณภาพชีวิตที่ดี ” ของทุกคนในสังคม  เพราะธุรกิจชุมชน เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้วิธีการจัดการธุรกิจ การทำงานร่วมกันเพื่อตัวเองและเพื่อส่วนร่วมตลอดจนได้เรียนรู้ถึงการจัดการผลประโยชน์เพื่อพัฒนาชุมชน ทำให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง  อนึ่งสิ่งสำคัญยิ่งของแนวคิดธุรกิจชุมชนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ   หลักการของพระพุทธศาสนาที่เน้นการพึ่งตนเอง   เน้นความเป็นชุมชน และเน้นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ที่ยึดมั่นในสัจจะ การทำความดี ความมีเมตตา การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการมีความสมานฉันท์                           

จากปรากฏการณ์รุกฆาตของระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ที่ผ่านมา  ได้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านทั่วประเทศนับหมื่น ๆ กลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมธุรกิจชุมชน โดยอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจ หากแต่ส่วนใหญ่มีลักษณะ  เป็นไปเพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าของสมาชิก ไม่สามารถแข่งขันทางการตลาด จึงทำให้ธุรกิจชุมชนไม่สามารถเป็นที่พึงของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามยังคงมีธุรกิจชุมชนในบางแห่งการประสบความสำเร็จและสามารถพัฒนาให้ดำรงอยู่  โดยสามารถแสวงหาทุน วัตถุดิบ แรงงาน เทคโนโลยี ทักษะทางการผลิตและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของสมาชิกในชุมชน เกิดกระบวนการเรียนรู้และฝึกสอนกันเองระหว่างชาวบ้าน จนสามารถสร้างเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ในชนบท เกิดความเข้มแข็งในระบบการผลิตด้านการเกษตรแบบพึ่งตนเอง และนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน พร้อมกับการถักสานเกลียวสัมพันธ์ดั้งเดิมของชุมชนให้เหนียวแน่นจากความสมเหตุสมผลในการทำธุรกิจกับคุณงามความดีและความสมานฉันท์ของสังคม   ซึ่งพัฒนาการของกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้  ล้วนมิได้ดำเนินอย่างราบเรียบ หากแต่ต้องเผชิญกับปัจจัยและเงื่อนไขในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบที่เป็นอันตราย (เป็นปฏิปักษ์) และแบบเป็นมิตร (เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกัน) ซึ่งการเผชิญหน้าสิ่งต่างๆนี้ ชุมชนจะต้องมีศักยภาพและความสามารถในการจำแนกแยกแยะและการจัดการที่ถูกต้อง  โดยรวมก็คือการต่อสู้ในมิติต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการเอาเปรียบจากภายนอก การตัดสินใจ ความสัมพันธ์ทางสังคมและคุณค่าดั้งเดิมของชุมชนให้ดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีทิศทางและเท่าทัน

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเกิดข้อสงสัยว่า ท่ามกลางความผันแปรและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ชุมชนมีกระบวนการในการประคองธุรกิจของชุมชนได้อย่างไร ซึ่งหมายถึง  มีกระบวนการต่อสู้ในมิติต่าง ๆ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมอย่างไร  และมีกระบวนการในการพัฒนาธุรกิจเช่นไร  รวมทั้งมีองค์ประกอบ และปัจจัยเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้ธุรกิจของชุมชนดำรงอยู่  ดังนั้นหากมีการวิจัยหาคำตอบร่วมกับชุมชนที่มีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาในการวิจัย เชื่อว่าจะเป็นการถอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมอาชีพและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น  รวมทั้งนำไปเผยแพร่แก่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป

 

 

 

แนวคิด  ทฤษฎี

ก.      ทฤษฎีโครงสร้าง – หน้าที่  

ข.      แนวคิดเรื่องทุนในการจัดการธุรกิจชุมชน 

ค.      แนวคิดเกี่ยวกับกลุ่ม  

ง.      แนวคิดการพึ่งตนเอง

จ.      แนวคิดการจัดการความรู้

ฉ.     งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

ซึ่งทั้งหมดได้ถูกใช้สร้างเป็นกรอบคิดในการวิจัยโดยมีความเชื่อว่า ธุรกิจชุมชนเป็นกระบวนการทางสังคม เป็นวิถีชุมชน หรือวัฒนธรรมของชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีหลักคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นรากฐาน มุ่งใช้คนเป็นเป้าหมายและเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมหรือการพัฒนาแบบบูรณาการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตใจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา ในรูปของการรวมกลุ่ม เครือข่าย หรือประชาสังคม ในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา โดยเฉพาะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน ศักยภาพของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการธุรกิจชุมชนทั้งในส่วนของกระบวนการวางแผน  การจัดการ การตัดสินใจ โดยใช้ระบบวัฒนธรรม   ระบบสังคม  ระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างทางกายภาพของชุมชน เป็นองค์ประกอบและเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจชุมชนสามารถดำรงอยู่และพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

            1.  เพื่อศึกษากระบวนการต่อสู้ของธุรกิจชุมชนโดยวิเคราะห์ถึง ความเป็นมาและพัฒนาการของกลุ่ม ตลอดจนสามารถในการจัดการธุรกิจชุมชน  ได้แก่  โครงสร้าง  แนวคิด  และรูปแบบในการจัดการธุรกิจชุมชน     

            2. เพื่อศึกษาการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน โดยวิเคราะห์ถึง องค์ประกอบ  และปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน 

 

วิธีดำเนินการวิจัย

 

ก. ระเบียบวิธีการวิจัย  ได้เลือกระเบียบวิธีเชิงคุณภาพโดยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีนักวิจัยจากชุมชนเข้าร่วมกระบวนการวิจัยจำนวน  3  คน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในชุมชนและเป็นคณะกรรมการบริหารกลุ่มแปรรูป  โดยทั้งหมดมีบทบาทในการร่วมวางแผนการวิจัย   การประสานผู้เข้าร่วมกิจกรรม   การเก็บรวบรวม และการวิเคราะห์ข้อมูล    โดยใช้เทคนิคการจัดเวทีเรียนรู้  การสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก

 ข. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ   ประชาชนหมู่บ้านป่าไผ่  ตำบลแม่โป่ง  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีปรากฏการณ์ตรงตามประเด็นของการวิจัย คือ เป็นชุมชนที่มีการก่อตั้งมาเป็นเวลาช้านานนับร้อยปี  มีการสืบทอดระบบความเชื่อวัฒนธรรม ระบบการผลิต และระบบความสัมพันธ์ทางสังคม อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชุมชนได้ผ่านสถานการณ์ทั้งในทางสร้างสรรค์และส่งผลกระทบต่อชุมชน  โดยเฉพาะในประเด็นทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาอาชีพจำนวนหลายกลุ่ม  ซึ่งในที่นี้ได้เลือกศึกษากลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่พบว่า  มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการจัดองค์กรอย่างชัดเจนผ่านการเรียนรู้สะสมประสบการณ์ด้านธุรกิจชุมชน มีการปรับใช้ทุนทางสังคมเพื่อการดำเนินงาน และประสานองค์กรภายนอกอย่างเหมาะสม ทำให้สามารถพึ่งตนเองในการดำเนินงานได้อย่างน่าพอใจ จนได้รับการยอมรับจากบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน  สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ให้ข้อมูลประกอบด้วยผู้ที่มีส่วนร่วมได้เสียกับกลุ่มแปรรูปอาหารคือผู้บริหารและสมาชิกกลุ่มแปรรูปอาหาร จำนวน 25 ราย  กลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มแปรรูปได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไป   กลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นทางการ  และไม่เป็นทางการ      

ค. การศึกษาข้อมูลเบื้องต้น   ประกอบด้วย  การศึกษาข้อมูลจากเอกสาร โดยนำเอาทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่   แนวคิดเรื่องทุนในการจัดการธุรกิจชุมชน  แนวคิดเกี่ยวกับกลุ่ม   แนวคิดการพึ่งตนเอง  แนวคิดทุนในการจัดการธุรกิจชุมชน  แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการความรู้  แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง     มาใช้เป็นกรอบคิดในการวิจัย  พร้อมทั้งการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารที่เกี่ยวข้องได้แก่   แบบสำรวจข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.2 ค.)  ข้อมูลเกี่ยวกับความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)  เอกสารรายงานประจำปีของหมู่บ้าน

ง. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม  ด้วยการวิจัยครั้งนี้การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาในลักษณะ  Holistic and Multifacts approach คือ    ศึกษาจากปรากฏการณ์ที่หลากหลายแง่มุม และมองภาพในองค์รวมตามบริบททางสังคมและให้ความเคารพต่อผู้ที่ถูกศึกษา ดังนั้นจึงเก็บรวบรวมข้อมูลใน  4 ลักษณะได้แก่

1. การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ได้แก่  เอกสารรายงานสรุปผลการดำเนินงานประจำปีของกลุ่มแปรรูปอาหารและรายงานการวิจัยเกี่ยวกับชุมชน 

2. การสังเกตทั้งโดยตรงคือ  การสังเกตการณ์   การบันทึกภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย อาทิ  การสังเกตการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม  หรือการสังเกตการประชุมประจำปีของสมาชิกในกลุ่ม   และ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม  เป็นวิธีการสังเกตจากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้ถูกศึกษา  เช่น ร่วมในงานการทำบุญ  การร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน  เวทีประชาคม ฯลฯ เพื่อพยายามสังเกตถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน แบบแผนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน บทบาทและสถานภาพของสมาชิกในชุมชน    และความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม

3. การสัมภาษณ์ ซึ่งเน้นบรรยายกาศแบบไม่เป็นทางการและมีการกำหนดประเด็นการสัมภาษณ์ไว้กว้าง ๆ ล่วงหน้า ในลักษณะคำถามปลายเปิด  โดยมีประเด็นในการสัมภาษณ์มีดังนี้

- บริบทชุมชน  ได้กำหนดหัวข้อ คือ  ประวัติความเป็นมาของชุมชน  สภาพพื้นฐานทางสังคม  เศรษฐกิจ  ประเพณี  วัฒนธรรม และการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาการของชุมชน

            - ศักยภาพในการจัดการธุรกิจของชุมชน  ได้กำหนดหัวข้อคือ  ความเป็นมาของกลุ่มธุรกิจชุมชน  โครงสร้าง  รูปแบบและแนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจชุมชน  

 - ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน  ได้กำหนดหัวข้อคือ  ลักษณะและองค์ประกอบของกลุ่ม   ระบบทุนทางสังคมของกลุ่ม : ทุนด้านมนุษย์  ทุนวัฒนธรรม  ทุนปัญญา และทุนทรัพยากรธรรมชาติ   การเรียนรู้ของกลุ่มและการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก

4. การจัดเวทีเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระกว้างขวางของผู้ที่ร่วมเวทีเรียนรู้  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมได้เสียในธุรกิจชุมชน  เพื่อร่วมแสดงทัศนะต่อการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนและปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน   ซึ่งผลจากการจัดกิจกรรมเวทีการเรียนรู้   ทำให้เกิดความตระหนักร่วมถึงความจำเป็นในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งสามารถดำรงอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง   จึงเกิดแนวคิดและดำเนินโครงการอบรมเรื่องการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการบริหารจัดการกลุ่ม รวมทั้งการศึกษาดูงานกลุ่มธุรกิจชุมชนที่มีการดำเนินงานในลักษณะใกล้เคียงกัน 

          จ.การตรวจสอบข้อมูลภาคสนาม  เพื่อให้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษามีความเที่ยงตรง  และมีความน่าเชื่อถือ นักวิจัยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลโดยใช้วิธีการตรวจสอบแบบสามเส้า (Triangulation) โดยการตรวจสอบด้านข้อมูลเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลจากแหล่งที่มาทั้งด้านเวลา สถานที่ บุคคล  และการตรวจสอบด้านทฤษฎี  โดยตรวจสอบการตีความข้อมูลว่าเป็นไปตามกรอบทฤษฎีที่ใช้หรือไม่

ฉ. การสังเคราะห์และรายงานผล          โดยสร้างข้อสรุปและสังเคราะห์ปรากฎการณ์เทียบทฤษฎี  ทั้งนี้ในทุกระยะของการสรุปรายงาน นักวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไปตรวจสอบกับกลุ่มผู้ศึกษา  เพื่อเป็นการเปรียบเทียบมุมมองระหว่างนักวิจัยกับผู้ที่ถูกศึกษา  ทั้งยังเป็นการทำให้กลุ่มได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่ม  ซึ่งทำให้ได้รับความพึงพอใจและความร่วมมืออย่างดีในการศึกษา

 

สรุปผลการวิจัย

ก.ความเป็นมาและพัฒนาการของกลุ่มธุรกิจชุมชน

กลุ่มเกษตรกรแม่บ้านป่าไผ่ได้มีการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรโดยมีพัฒนาตามลำดับ  มีการแสวงหารูปแบบวิธีการดำเนินงานให้เหมาะสมกับกลุ่ม  จนกระทั่งพบว่า ลักษณะโครงสร้างการบริหารคือ  การผสมผสานระหว่างแนวตั้งและแนวนอน  โดยมีการกำหนดบทบาท ปทัสถานและสถานภาพของสมาชิกในกลุ่ม ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  ทำให้สามารถปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์และความเหมาะสม   เปิดโอกาสให้สมาชิกของกลุ่มมีส่วนร่วมในหลายลักษณะตามแต่สถานภาพของสมาชิก   ที่สำคัญคือ  คณะทำงานมีการปฏิบัติตามตำแหน่งอย่างแท้จริงมิใช่เพียงในนาม  เน้นการคารพให้เกียรติระหว่างกัน  เป็นพี่น้องเพื่อนฝูง  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ด้วยใจ ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์    ทั้งมีการจัดสรรผลประโยชน์ตามบทบาทสถานภาพของสมาชิกของกลุ่ม และจัดสรรรายได้ของกลุ่มเพื่อการพัฒนาชุมชน  ดังเช่น    ในแต่ละปีได้มีการจัดสรรผลกำไรสุทธิ 10 %  เพื่อการพัฒนาชุมชน   10 % เพื่อเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกกลุ่ม   10 % นำเข้ากองทุนกลุ่ม เพื่อใช้ในการขยายการดำเนินการต่อไป    นอกจากนี้กลุ่มได้จัดระบบในการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน  ทั้งโดยรูปแบบที่เป็นทางการผ่านการประชุมประจำปีเพื่อชี้แจงสรุปงานและแบ่งเงินปันผล ฯลฯ   หรือในยามที่ปกติแกนนำของกลุ่มก็จะมีการพูดคุยปรึกษาหารือระหว่างกันเสมอ  ตามโอกาสต่าง ๆ เช่น  การทำงานในไร่นา  วัด  ตลาดหรืองานต่าง ๆ ที่ได้มีโอกาสพบเจอกันตามลักษณะของสังคมชาวนาทั่วไป   ประกอบกับพัฒนาการของกลุ่มที่มีการปฏิสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น  จึงเกิดการสร้างเครือข่ายที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  มีการประสานงานระหว่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนหรือ OTOP

ข. ศักยภาพของกลุ่มธุรกิจชุมชน

การดำรงอยู่และพัฒนาธุรกิจชุมชนของกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านป่าไผ่ เกิดจากกลไกสำคัญคือ

ระบบการบริหารจัดการกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย ลักษณะโครงสร้างกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านป่าไผ่เป็นองค์กรที่ผสมผสานจุดเด่นของความเป็นองค์กรแบบวัฒนธรรมชุมชนและประเพณีนิยมเดิมการใช้ศรัทธาและหลักธรรมทางศาสนาพุทธ รวมทั้งความเชื่อในเรื่องประเพณีเดิม ระบบอาวุโส ระบบเครือญาติเป็นกลวิธีในการแก้ปัญหาและสร้างเครือข่ายการทำงาน   ซึ่งเมื่อนำมาผสมกับแนวคิดความเป็นองค์กรชุมชนสมัยใหม่ ใน วัฒนธรรมยุคอุตสาหกรรม ทำให้มีลักษณะเป็นองค์กรที่เปิดกว้างไม่ติดยึดกับวัฒนธรรมประเพณีนิยมมากเกินไป  และตั้งอยู่บนพื้นฐานการใฝ่หาความรู้ เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก มีความพยายามทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งภายในและนอกชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันและกัน  ตลอดจนการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้กลุ่มฯมีพลังในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองที่เท่าทันสภาพบริบทรอบด้านที่เปลี่ยนแปลงไป

            ในขณะที่รูปแบบการบริหารการผลิต มีการวางแผนจัดหาวัตถุมาในการผลิตและจัดการสินค้าคงคลัง เพื่อป้องกันสินค้าขาดตลาดและมีวัตถุดิบเพียงพอกับการผลิต ในราคาต้นทุนที่เหมาะสมทั้งยังมีการควบคุมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนได้รับการยอมรับมาตรฐานหลายด้านเช่น การรับรองมาตรฐาน OTOP ระดับห้าดาวโล่พระราชทานปี 2541 เครื่องหมายการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมีฟอกสี  สารบอแรกซ์ ทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อาหารอิสลามคือ ตราฮาลาน และยังได้รับรองมาตรฐาน  GMP  นอกจากนี้กลุ่ม ฯ ยังได้พัฒนาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เน้นสร้างสัญลักษณ์กลุ่มให้เป็นที่รู้จักและจดจำ ซึ่งเกิดจากการปรับประยุกต์ภูมิปัญญา ความรู้พื้นบ้านผสมผสานกับแนวคิดสมัยใหม่

            เช่นเดียวกับการบริหารการตลาด จากสภาพการณ์แข่งขันสูงในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน  และอุปสงค์ที่หลากหลายไร้ขอบเขตของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่นิยมอาหารสำเร็จรูปจากโรงงานหรืออาหารสากลแบบตะวันตก  ทำให้กลุ่มได้พยายามกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการตลาด  เริ่มจากการระดมความคิดวิเคราะห์การตลาด   การสร้างจุดขายที่เน้นกระบวนการทางธรรมชาติปราศจากสารเจือปน  สร้างการจดจำรับรู้ในตราสินค้าภายใต้ชื่อ “ ป่าไผ่ ” และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เช่น  การบรรจุขวดแก้วขนาดเล็ก  - กลาง – ใหญ่  หรือการบรรจุถุงพลาสติก  ทั้งยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและสร้างความแตกต่างให้แก่คู่แข่งขัน จากการจัดทำบรรจุภัณฑ์แบบกล่องที่สวยงามเพื่อเป็นของที่ระลึกหรือของฝาก และมีการกำหนดราคาจำหน่ายตามความเหมาะสม  นอกจากนี้ยังมีการกำหนดช่องทางจำหน่ายสินค้า ทั้งทางตรง  การขายปลีกผ่านคนกลางทั้งภายในและภายนอกประเทศ  โดยกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมการขายคือ  การจัดทำแผ่นพับ  การจัดแสดงสินค้าตามหน่วยงานต่าง ๆ การนำเสนอสินค้ากลุ่มทางอินเตอร์เน็ต 

ทั้งนี้ด้านการบริหารการเงิน  กลุ่มมีการระดมทุนและการรักษาสภาพคล่องทางการเงินของกลุ่ม โดยการจัดสรรรายได้สุทธิจากการจำหน่ายร้อยละ 10 เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการลงทุนของกลุ่ม และมีการกำหนดเงื่อนไขสินเชื่อสำหรับการรับสินค้าไปจำหน่ายของสมาชิก

ค. ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน

จากคุณลักษณะของกลุ่มฯ  ที่พัฒนาจากกลุ่มธรรมชาติมีรากฐานจากความเป็นญาติมิตร  และความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกกลุ่ม มีการเลือกสรรผู้นำที่มีความอดทน ซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือไว้วางใจ  มีจิตสาธารณะ  มีความสามารถ มีมนุษยสัมพันธ์ และมีความกระตือรือร้นเต็มใจที่จะทำกิจกรรมให้กลุ่ม  ทำให้สมาชิกกลุ่มมีความไว้เนื้อเชื่อใจ  มีศรัทธาต่อการทำงานของกลุ่ม  ในขณะที่สมาชิกกลุ่ม มีความสามัคคี มีระเบียบวินัย ยอมรับและทำงานร่วมกันอย่างเกื้อกูลภายใต้กติกาของกลุ่ม   ซึ่งเป็นผลจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการจัดสรรผลประโยชน์และระบบการสื่อสารข้อมูลของกลุ่ม

            กลุ่มเกษตรกรแม่บ้านป่าไผ่มีทุนทางสังคมของชุมชนหลายด้าน  ได้แก่  ลักษณะทางกายภาพ  โครงสร้างทางดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สามารถเพาะปลูกวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปของกลุ่ม     มีแหล่งน้ำที่เอื้ออำนวย  และสร้างความมั่นคงในระบบการผลิต       ประกอบกับทำเลที่ตั้งของกลุ่มฯ ที่มีระยะห่างจากเขตเมืองพอสมควร   มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวกต่อการขนส่งผลผลิตออกภายนอกชุมชน   เป็นการสะดวกต่อการติดต่อค้าขายกับชุมชนภายนอก มีโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พอเพียง อาทิ  ระบบไฟฟ้า  การประปา  ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม  ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนิยมนำพาบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ ไปศึกษาดูงานของกลุ่ม  ซึ่งช่วยสร้างความกระตือรือร้นในการพัฒนากิจกรรมของกลุ่ม   และมีการเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน   ทำให้กลุ่มสามารถรับรู้ข้อมูลวิธีคิดจากสังคมภายนอกได้อย่างทันต่อกาล  ส่งผลให้เกิดการปรับขยายโลกทัศน์ สามารถปรับตัวอย่างเท่าทัน   เช่นเดียวกับทุนทางวัฒนธรรม  ที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม  จนทำให้สามารถหล่อหลอมความรู้สึกของการเป็น “เรา” ของสมาชิกแต่ละคนให้เกิดเป็นความรู้สึก “พวกเรา”และทำให้เกิดความตระหนักในการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนากลุ่มจากการพัฒนาตนเองด้วยความรู้สึกว่าตนเองคือส่วนหนึ่งของกลุ่ม และมีคุณค่าต่อกลุ่ม

            กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านป่าไผ่เกิดจากได้สั่งสมประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน  การปะทะสังสรรค์กับกลุ่มคนต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มที่สร้างวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนฐานของการมองความจริง เช่น  การคิดอย่างเชื่อมโยง การสร้างผลทวีคูณ  การสร้างเอกลักษณ์   การพึ่งตนเองความพอเพียง  การร่วมมือ การกลมกลืนกับวิถีชีวิตและตลาดท้องถิ่น  รวมทั้งจากประสบการณ์ในอดีต  ที่มีบทเรียนเกี่ยวกับศักยภาพและทุนของกลุ่มสิ่งเหล่านี้ได้หลอมรวมเป็นกระบวนทัศน์การดำเนินงานของกลุ่มเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร  การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยไม่เลียนแบบหรือแสวงหาสูตรสำเร็จ  หากแต่ใช้ฐานภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่มาปรับประยุกต์ให้สมสมัยผนวกผสานกับความเป็นสากล โดยการวิเคราะห์ข้อมูลและค้นหาทางเลือกใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้ตัวอย่างและความสำเร็จของกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมกลุ่มแบบบูรณาการที่มีการประสานผนึกพลังและเกื้อกูล 

กลุ่มเกษตรกรแม่บ้านป่าไผ่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก โดยเฉพาะภาครัฐโดยมีการปฏิสัมพันธ์และพึ่งพิงอำนาจของรัฐฯในระดับหนึ่ง  เพื่อประโยชน์เชิงสังคมในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม เช่น การสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนเพื่อสินเชื่อ  ความรู้ในการผลิตและการจัดการ   โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่มพัฒนาอื่น ๆ และแนวคิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มพัฒนา   ซึ่งรัฐฯได้ช่วยประสานงานให้เกิดพันธมิตรทางการค้ากับกลุ่มพัฒนาอาชีพในชุมชนอื่น ๆ ที่มีการรวมตัวเพื่อทำธุรกิจชุมชน   เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีบทบาทในการสนับสนุนเชิงวิชาการ  กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์เพื่อแสวงหาแนวทางพัฒนาตนเอง    สร้างให้เกิดความเชื่อมั่นในย่างก้าวของการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างมีพลัง    

 

ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

            .ข้อเสนอแนะทางการปฏิบัติ

            1. เนื่องจากกลุ่มธุรกิจชุมชนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ทำให้กลุ่มจะต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อหาหลักประกันการถูกเอาเปรียบ  ซึ่งแบบแผนในการต่อสู้มักเป็นไปตามวิถีของวัฒนธรรมชุมชนเช่น การสร้างเครือข่ายหรือการขยายตลาดในพื้นที่ หากแต่สำหรับในภาวการณ์ที่การแข่งขันทวีความซับซ้อนมากขึ้นแบบแผนเดิมอาจมิได้ผลดีพอ  จึงควรที่หน่วยงานเกี่ยวข้องจะสนใจแก้ไขอย่างจริงจัง

2. ปัญหาเรื่องการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชนในอนาคตนั้น  เกี่ยวข้องกับเรื่องความสามารถในการพึ่งตนเองของกลุ่มธุรกิจเป็นอย่างมาก  ซึ่งควรมีศักยภาพการพึ่งตนเองทั้งด้านทรัพยากรวัตถุ  ด้านความคิด  ด้านทรัพยากรบุคคล  ดังนั้นควรจัดกระบวนการที่ส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจชุมชนเกิดการวิเคราะห์ศักยภาพการพึ่งตนเองของกลุ่ม

            3. ตัวอย่างของกลุ่มธุรกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรป่าไผ่  สะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงของกลุ่มธุรกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ล้วนมีการใช้และการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่ม  ซึ่งความรู้เหล่านั้นเกิดจากบทเรียนการทำงานทั้งในส่วนความสำเร็จและปัญหา  อีกทั้งยังเป็นความรู้ที่ประกอบด้วยความรู้ที่มีอยู่ในบุคคลและความรู้จากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่มีอยู่ในบุคคลอาจสูญหายหากเกิดการเปลี่ยนแปลง   ดังนั้นจึงควรรีบเร่งดำเนินการจัดการความรู้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจชุมชน

            4. ระบบธุรกิจชุมชนเป็นการจัดการทรัพยากรและทุนของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่การผลิต  การตลาด การลงทุนและการจัดสวัสดิการ  ซึ่งทั้งหมดต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้และการจัดการที่เหมาะสม  เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดระบบที่มั่นคงยั่งยืน  ดังนั้นจึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มธุรกิจเพื่อการเพิ่มมูลค่าให้ทรัพยากร ด้วยการคิดอย่างสร้างสรรค์ และการประสานพลังกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ 

            ข. ข้อเสนอแนะทางวิชาการ

  1. ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อเปรียบเทียบวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจชุมชน
  2. ควรมีการศึกษาวิจัยถึงแนวทางพัฒนาธุรกิจชุมชน

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

ก. ประโยชน์ทางวิชาการ

             1. ก่อให้เกิดความเข้าใจกระบวนการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของธุรกิจชุมชน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ถึงศักยภาพ  ความสามารถ  และภูมิปัญญาของชุมชนในการจัดการธุรกิจชุมชน  รวมทั้งองค์ประกอบ  ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ในการดำเนินธุรกิจชุมชน      อันจะเป็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจชุมชน

             2. ข้อมูลที่ได้รับจากการวิจัยนี้  สามารถใช้เป็นรากฐานการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์  ในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการทำธุรกิจชุมชน

ข. ประโยชน์ในการประยุกต์ใช้

            1. ผลการวิจัยครั้งนี้ ทำให้กลุ่มธุรกิจชุมชนที่เป็นเป้าหมายในการวิจัย  ได้มีโอกาสในการคิด  วิเคราะห์และสังเคราะห์ ถึงการดำเนินรูปแบบและบทบาททางธุรกิจของตนเอง  จากการร่วมศึกษากับคณะผู้วิจัย จนก่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่า ความสามารถและศักยภาพในการจัดการธุรกิจชุมชน รวมทั้งองค์ประกอบ และปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจชุมชน ตลอดจนการแสวงหาการแนวทางในการสร้างสรรค์ธุรกิจชุมชนต่อไป

2. ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยสามารถใช้เป็นแนวทางในการวางแผนส่งเสริมธุรกิจชุมชนให้มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสถานการณ์ของสังคม โดย

หมายเลขบันทึก: 343139เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท