บ่อเกิดของสิทธิทางการเงินของคนไร้รัฐไร้สัญชาติภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ


       การศึกษาถึงสิทธิของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านต่าง ๆ จากทางการ ควรที่จะศึกษาบ่อเกิดของเกิด โดยศึกษาหลักของกฎหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบหลักของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน
        1.จารีตประเพณีระหว่างประเทศ
            1.1 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 (Universal Declaration of Human Right – UDHR)
                 ข้อ 6 กำหนดว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย”
                 ข้อ 7 กำหนดว่า “ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใดอันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว”
                 ข้อ 17 กำหนดว่า
                            “(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรง และโดยร่วมกับผู้อื่น
                              (2) บุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจไม่ได้”
           1.2 ปฏิญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ค.ศ. 2007 (UN Declaration on the Right of Indigenous People – UNDRIP)
                 ข้อ 1 กำหนดว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ตามสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสิทธิรวมหมู่ และสิทธิของบุคคล ดังที่ได้รับการยอมรับในกฎบัตรของสหประชาชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”
                 ข้อ 2 กำหนดว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองและบุคคลที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีเสรีภาพที่เท่าเทียมกับหมู่คนหรือบุคคลอื่นและมีสิทธิที่จะใช้สิทธิของพวกเขาอย่างเป็นอิสระปราศจากการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นฐานของชนเผ่าพื้นเมืองโดยกำเนิดหรือโดยอัตลักษณ์ของพวกเขา”
                  ข้อ 17 กำหนดว่า
                           “1. บุคคลที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ทุหประการตามที่ระบุในกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ”
                   ข้อ 43 กำหนดว่า “สิทธิต่าง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในที่นี้ก่อให้เกิดมาตรฐานขั้นต่ำของการอยู่รอด ศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในโลกนี้
                   จะเห็นได้ว่า หลักของกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้นมีหลักการที่คล้ายกันคือ บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพเสมอกัน มีสิทธิในทรัพย์สินที่ตัวเองเป็นเจ้าของและบุคคลใดจะมาทรัพย์สินนั้นไปจากเจ้าของไม่ได้ จากหลักดังกล่าวกฎหมายไทยก็ใช้หลักจารีตประเพณีในการพิจารณาสิทธิการครอบครองเหมือนกัน และตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศก็ใช้หลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศในการพิจารณาสิทธิการครอบครองทรัพย์สินเช่นกัน
       2  สนธิสัญญา
           2.1 สนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี
                  2.1.1  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)
                             ข้อ 26 กำหนดว่า “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกประติบัติใด ๆ ในกรณีนี้ให้มีกฎหมายห้ามการเลือกประติบัติใด ๆ และให้หลักประกันคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคและมีผลจริงจังเพื่อให้ปลอดจากการเลือกประติบัติอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรืออื่น ๆ เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน”
                  2.1.2 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 (International Covenant on Economic Social and Cultural Right – ICESCR)
                            ข้อ 2 กำหนดว่า
                                    “2. รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้รับประกันให้มีการใช้สิทธิซึ่งกำหนดไว้ในกติกาฉบับนี้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติชนิดใด ๆ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่น ชาติ หรือสังคม อันเป็นที่มาดั้งเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น
                                     3.ประเทศที่พัฒนาโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจแห่งชาติตนตามควร อาจพิจารณากำหนดว่าจะประกันสิทธิทางเศรษฐกิจซึ่งรับรองไว้ในกติกาฉบับนี้แก่ผู้ที่ไม่ใช่คนในชาติเพียงใด”
                             ข้อ 5 กำหนดว่า
                                      “1. ข้อความต่าง ๆ ตามกติกาฉบับนี้ไม่เปิดช่องที่จะแปลโดยนัยว่าสิทธิใด ๆ แก่รัฐ กลุ่มชุมชนหรือบุคคลใด ๆ ที่จะประกอบกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและเสรีภาพใด ๆ บรรดาที่รับรองไว้ในที่นี้ หรือการจำกัดขอบเขตเกินกว่าบทบัญญัติในกติกาฉบับนี้
                                       2. การจำกัดตัดทอนหรือการทำลายความเสื่อมเสียแก่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานใด ๆ ที่ได้รับรองหรือมีอยู่ในประเทศใด ๆ ตามกฎหมาย อนุสัญญา ข้อบังคับ หรือธรรมเนียมจะกระทำไม่ได้โดยข้ออ้างว่า กติกาฉบับนี้มิได้รับรองสิทธิดังกล่าว หรือแม้แต่อยู่ในขอบเขตที่น้อยกว่า”
       2.2  สนธิสัญญาที่ประเทศไทยไม่เป็นภาคี
              2.2.1 อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของคนไร้รัฐ ค.ศ. 1954
                        มาตรา 1 กำหนดว่า “คนไร้รัฐ หมายถึง บุคคลซึ่งไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐใดภายใต้กฎหมายของรัฐ”
                        มาตรา 3 กำหนดว่า “รัฐภาคีจะปฏิบัติตามบทบัญญัติในอนุสัญญานี้ต่อคนไร้รัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะโดยเชื้อชาติ ศาสนา หรือรัฐดั้งเดิม”
                        มาตรา 28 ได้กล่าวถึง สิทธิในการได้รับเอกสารในการเดินทาง ซึ่งคนไร้รัฐตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพของคนไร้รัฐมีสิทธิได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมาย รวมทั้งเอกสารพิสูจน์ตน และเอกสารสำหรับการเดินทางที่ออกให้โดยรัฐภาคีที่คนไร้รัฐอาศัยอยู่
                        มาตรา 31 ได้รับรองสิทธิในการที่คนไร้รัฐจะไม่ถูกผลักดันออกนอกประเทศไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นในเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น การผลักดันคนไร้รัฐออกนอกประเทศจำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่จากนโยบายของผู้มีอำนาจปกครองของรัฐ นอกจากนี้ในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพของคนไร้รัฐได้อ้างถึงหลักกฎหมายสากลในการไม่ผลักดันคนให้ออกนอกประเทศและต้องเผชิญกับภัยความตาย
                         มาตรา 32 ได้กล่าวถึงการแปลงชาติของคนไร้รัฐ โดยรัฐภาคีจะดำเนินการในการผสมกลมกลืนคนไร้รัฐเข้าสู่สังคม และการแปลงชาติให้คนไร้รัฐ
                          จะเห็นได้ว่า  การไร้รัฐไร้สัญชาติจะก่อให้เกิดผลเสียต่อบุคคลไร้สัญชาติและไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของรัฐต่าง ๆ เนื่องจากไม่สามารถแบ่งสรรบุคคลได้ชัดเจนว่าสังกัดรัฐใด และการใช้อำนาจรัฐเหนือบุคคลที่ไม่มีสัญชาติใด อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการคุ้มครองผู้แทนทางการฑูต โดยแนวทางแก้ไขปัญหาบุคคลหลายสัญชาติและบุคคลไร้สัญชาติ จึงต้องอาศัยสนธิสัญญาว่าด้วยการขัดกันทางกฎหมายสัญชาติ Convention on Certain Questions Relating to the Conflict of Nationality Laws 1930
 
หมายเลขบันทึก: 343046เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท