หัวใจเดียวกัน สุพรรณ-สารคาม


ผมคิดเสมอว่า ถ้า “คนโรงพยาบาล” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุด จะสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างราบรื่น ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทร ซึ่งมีอยู่เต็มเปี่ยมในผู้คนที่ร่ำเรียนในสายอาชีพนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเราทำงานด้วยใจจริงๆ

   และนี่เป็นอีกบทความหนึ่งของท่านผู้อำนวยการ นายแพทย์ชัชรินทร์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการ รพศ.เจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี ค่ะ      

 
    "หัวใจเดียวกัน สุพรรณ-สารคาม"
 
     ทุ่งนาเมืองสุพรรณ ไม่ค่อยต่างจากทุ่งนาแถวสารคาม กาฬสินธุ์ ด้วยความเป็นลูกทุ่ง ชนบท จะผิดกันก็แต่สุพรรณห่างจากกรุงเทพ ไม่กี่กิโลเมตร แต่สารคาม กาฬสินธุ์ ห่างออกไปหลายร้อยกิโล และสุพรรณมีความชุ่มชื้นมากกว่าอีสานมาก
 
          ผมจากอีสานมา 7 ปีเศษ ด้วยความอยากรู้ อยากมีประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลระดับจังหวัด จากผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร และท้ายที่สุดเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี
 
          “อยากรู้นัก...ภาคกลางต่างจากภาคอีสานมากไหม?”
 
          ผมโชคดีและมีโอกาสเป็นผู้บริหารของโรงพยาบาลจังหวัดตั้งแต่อายุไม่มากนัก  ผมได้ประสบการณ์มากมาย วิธีคิดที่กว้างไกล
 
            สิ่งที่คิดว่าใช่...อาจไม่ใช่ สิ่งที่คิดว่าไม่ใช่...อาจจะใช่...ดูคล้ายๆ จะเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
 
          การเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลจังหวัดที่เคยอยู่เป็นผู้ปฏิบัติในอีสานมานานก็คิดเสมอว่า   มีประสบการณ์มาก แต่ตอนนี้มีคำตอบแล้ว...ไม่ใช่  ปัญหาใกล้กรุงเทพยิ่งซับซ้อนและยากเย็น
 
          วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมชุมชน และความใหม่ของประสบการณ์พื้นที่ คงเป็นคำตอบให้ผมเองว่า...มันไม่ง่ายนัก ทั้งๆ ที่วิธีคิดของผมในการทำงาน เน้นการทำงานเป็นทีม เชิงแนวราบอย่างยิ่งก็ตาม
 
          ผมคิดเสมอว่า ถ้า “คนโรงพยาบาล” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุด จะสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างราบรื่น ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทร ซึ่งมีอยู่เต็มเปี่ยมในผู้คนที่ร่ำเรียนในสายอาชีพนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเราทำงานด้วยใจจริงๆ
 
          สิ่งที่ผมได้เห็น ที่ไม่แตกต่างกันเลยระหว่าง สุพรรณ กับ สารคาม ก็คือ ความรู้สึกเป็นมิตร เป็นคนซื่อๆ ของชาวบ้าน ที่หลายๆ ครั้งพวกเรา สหสาขาวิชาชีพและผู้บริหารได้มีโอกาสมาสัมผัส
 
          บุญชู เป็นผู้หญิงวัย 50 กว่าปี เล่าให้พวกเราฟังว่า เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมข้างซ้าย ขณะนี้กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลยมราช (เจ้าพระยายมราช) ได้รับการผ่าตัดและให้คีโมมา 4 ครั้งแล้ว หมอบอกจะต้องทำอีกหลายครั้งและอาจต้องฉายแสงเพิ่มเติม โดยจะรอดูผลการรักษาก่อน
           เรานั่งคุยกันบนเก้าอี้ตรงลานหน้าบ้าน เพราะเมื่อวานนี้เพิ่งมีงานบวชลูกชายของเพื่อนบ้านไป บ้านบริเวณนั้นมีหลายหลัง ทุกหลังไม่มีรั้วบ้าน สามารถเดินไปมาหาสู่กันได้
         
           ก็มีบุปผา(ชื่อเล่นกริ่ง..เพื่อนบ้าน) นี่แหละ ที่คอยเป็นคนให้กำลังใจและบางครั้งก็ช่วยพาไปหาหมอ
         
           เพราะสามีของบุญชู ได้ไปบวชเป็นพระ ตั้งแต่บุญชูป่วย ส่วนลูกสาวอายุ 30 ปี ก็ได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว และ พากันไปทำงานที่กรุงเทพ นานๆ ครั้งลูกจึงจะมาเยี่ยมแม่หรือมาพาแม่ไปหาหมอ
 
            ทุกวันนี้บุญชูอาศัยอยู่กับแม่ของเธอซึ่งอายุมากแล้ว มีพี่สาวและน้องสาวคอยช่วยเหลือดูแลทำงานบ้านให้ในช่วงนี้
 
            สังเกตดูแววตาของบุญชูมีความวิตกกังวลมากที่เดียว บุญชูยกมือทั้ง 2 ข้างตีเบาๆ เป็นจังหวะที่ขาของเธออยู่ตลอดเวลาที่เราคุยกัน
 
           “จะไปโรงพยาบาลที่ไร ตัวเย็นทุกที” บุญชูพูดออกมาหลายครั้ง เธอคงประหม่า กลัวหรือ กังวลอะไรอยู่ในใจ
 
           เราพยายามชวนคุยในเรื่องต่างๆ นาๆ ความเจ็บป่วยคงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือ กำลังใจ ที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้
 
            การมาเยี่ยมบ้านในครั้งนี้ พวกเราชาวสหสาขาวิชาชีพ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช คงได้สร้างความมั่นใจ ความอบอุ่นใจแก่บุญชูได้มากพอสมควร อาจทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น สังเกตได้จากหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้นหลังการเยี่ยมเยือน
           
             ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดและคณะมาให้กำลังใจ  มาในฐานะที่เคยเป็นญาติผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มาในฐานะทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผู้ให้การรักษา มาในฐานะเพื่อนบ้านชุมชนเดียวกัน
 
            การที่ได้ออกมาเยี่ยมพูดคุยกับผู้ป่วยที่บ้าน พร้อมกับเจ้าหน้าที่สหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงเมื่อตอนจบแพทย์ใหม่ๆ ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนในภาคอีสาน   ดูไม่แตกต่างจากวันนี้เลย ...ผมจึงได้พบกับคำที่ว่า... “หัวใจเดียวกัน สุพรรณ-สารคาม”
 
หมายเลขบันทึก: 342909เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • โอโหดีจังเลยครับ
  • ลงชุมชนด้วยไปลงแถวๆๆไหนครับพี่
  • ทีมงานเข้มแขงมาก
  • เพิ่งทราบว่า ผอ มาจากสมุทรสาคร
  • เพราะตอนไปทำเรื่องเบาหวานที่สมุทรสาคร ได้ยินชื่อเหมือนกันครับ
  • ตามมาให้กำลังใจ ผอ พี่เจี๊ยบและทีมงานครับ

ทีมแพทย์ พยาบาล น่ารักดีจัง

แบบนี้ซิคะ โรงพยาบาลจะได้

ไม่น่ากลัวอีกต่อไป

สวัสดีครับ คุณ ชา หวานเจี๊ยบ

นึก ว่าเดินทางไป งาน HA ที่กทม.ด้วยครับ

ชื่นฃมทีมงาน ขอเรียนรู้และทำตามครับ

จะได้มีทีมที่แกร่งด้วยครับ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ขจิต ท่านวอญ่า
  • ไป HA Forum กันมั๊ยคะ
  • วันที่ 12 มีค. 53 นี้ ท่าน ผอ.ชัชรินทร์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ "Tertiary หัวใจ Primary" ที่ห้อง Sapphire 4 เวลา 10.30 น.-12.00 น. ค่ะ
  • สวัสดีค่ะ ครู ป.1 เราก็พยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
  • คุณครูก็มีส่วนสำคัญมากๆๆๆ ในการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ดีแก่เด็กเช่นกันค่ะ
ชัยชนะ วีระสุชาติ

ผมขอชื่นชม แนวคิดและการทำงานขอท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาล ถ้าคุณหมอทั้งประเทศเป็นเหมือนท่านก็ดีนะครับ โดยเฉพาะ ผอ.รพท.และหรือรพ.ศูนย์ ทุกแห่งในประเทศไทย หัวใจของท่าน คงไม่....เฉพาะ สุพรรณบุรี-มหาสารคาม หรอกนะครับ ท่านคงเป็นหมอของประชาชนทุกคน ขอชื่นชมครับ./แวะอ่าน.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท