เรื่องดีที่ มวล. : เสวนาคณบดี ๒/๒๕๕๓


ได้รู้จักวิธีการตัดเกรดที่ดูสมเหตุสมผล

ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓

เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๓ มีการเสวนาคณบดี มวล. ครั้งที่ ๒ ที่ห้องประชุม ๒ อาคารวิชาการ ๘ โดยมีสำนักวิชาแพทยศาสตร์เป็นเจ้าภาพ การเสวนาครั้งนี้ ศ.ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการติดภารกิจ จึงมอบหมายให้ ผศ. ดร.อัญชลี ชยานุวัชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมาทำหน้าที่แทน อาจารย์อัญชลีใช้เวลาช่วง ๑๐ น.กว่าๆ ถึง ๑๐.๓๐ น. แจ้งเรื่องเพื่อขอหารือและเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งพวกเราไม่ได้ใช้เวลาในการอภิปรายกันมากนัก เกรงจะเผลอเอาปัญหามาพูดกัน

๑๐.๓๐ น. ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ กล่าวต้อนรับและเล่าว่าที่เอาเรื่องการจัดการเรียนการสอนและการดูแลนักศึกษามาแลกเปลี่ยนในวันนี้ เพราะในการเสวนาครั้งที่แล้ว ตนเองยังไม่ได้พูด ประกอบกับตอนที่ไป Retreat ที่บ่อแสน ได้คุยเรื่องนี้แล้วหลายคนเห็นว่าควรเอามาเล่าต่อ

คุณหมอมยุรีเล่าว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ของ มวล. มีต้นแบบจากของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่วิธีการจัดการเรียนการสอน เอามาจัดตามบริบทของเราเอง...เวลาทำอะไร ต้องมีระบบระเบียบ เพื่อให้มองเห็นได้ จับต้องได้เป็นรูปธรรม ไม่ได้เดินตามจุฬาฯ ทั้งหมด เอามาพิจารณาเองโดยใช้เกณฑ์ของแพทยสภาที่บอกไว้ว่าต้องรู้อะไร ทำอะไรได้

กว่าจะเรียนจบ ๖ ปีเป็นแพทย์และได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะต้องสอบผ่าน ๓ ขั้นตอน ขั้นตอนที่ ๑ ปี ๑-ปี ๓ ต้องสอบผ่าน Basic Medical Science ซึ่งยังไม่เคยมีสถาบันใดที่เด็กสอบผ่าน ๑๐๐% ในรอบแรก ผ่านกันประมาณ ๖๐-๗๐% ที่สอบผ่านต่ำสุดคือพวกที่จบจากต่างประเทศ สถาบันเอกชนก็มีปัญหา ขั้นตอนที่ ๒ Clinical Science เมื่อผ่านขั้นตอนที่ ๑ และ ๒ แล้วจึงจะสามารถสอบขั้นตอนที่ ๓ คือสอบ OSCE และ Practice

ตอนนี้คิดทำอะไร...คืออยากให้เด็กของเราสอบผ่านได้มากที่สุด จึงต้องถือเกณฑ์มาตรฐานแพทยสภา บรรจุเนื้อหาวิชาให้ครบตั้งแต่ปี ๑ – ปี ๖ บางรายวิชาเนื้อหาเยอะมาก เช่น Molecular Biology ก็ต้องเอาบางส่วนออกมาเป็นการสอนเสริม ดังนั้นการประเมินผลรายวิชาจึงสำคัญมาก เอามาปรับการเรียนการสอนได้เลย

การจัดการเรียนการสอนในปี ๑ เป็นไปตามของมหาวิทยาลัย พอขึ้นปี ๒ จัดเป็น Block system เรียนให้จบเป็นวิชาๆ ไป การจัดเป็นบล็อกก็เพื่อให้มีการบูรณาการ ไม่ซ้ำซ้อน เรียนตามระบบของร่างกาย แต่ละระบบจะมีทั้ง Structure, Function และอาจมี Biochemistry เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื้อหาจะเข้มข้นขึ้นตามชั้นปี แต่ละภาคการศึกษาจะมี ๕-๖ บล็อก (มวล.เรียนระบบ ๓ ภาคการศึกษา)

นักศึกษาต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับการเรียน ตอนสอบบล็อคแรกๆ มีคนได้ A น้อย แต่หลังๆ ดีขึ้น พอจบแต่ละบล็อคจะรับ feedback ทันทีเพื่อเอามาปรับในบล็อคต่อไป อาจารย์จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่นักศึกษาประเมินหรือ complain แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น PowerPoint แน่นไป เขียนไม่ได้ อินเตอร์เน็ตช้า หอพักมีเสียงดังรบกวน ฯลฯ ก็จะมีการปรับปรุง แก้ไข

รูปแบบการเรียนการสอน กำหนดให้รายวิชา ๐.๕ หน่วยวิชา  มี PBL ๑ เรื่อง ๑ หน่วยวิชา มี PBL ๒ เรื่อง (๑ หน่วยวิชาระบบไตรภาค = ๓ หน่วยกิตระบบทวิภาค) รายวิชา PBL จะมี Facilitator guide

การที่นักศึกษาต้องสอบระดับประเทศ มีข้อสอบของ ศ.ร.ว. ที่เป็น pattern... สำนักวิชาฯ มีการจัด workshop ให้ความรู้เรื่องข้อสอบแก่อาจารย์ เอาข้อสอบของอาจารย์แต่ละคนมาฉายขึ้นจอ วิพากษ์วิจารณ์กันได้ ต้องการทำข้อสอบให้มีมาตรฐาน มีข้อสอบตัวอย่าง/ข้อสอบเก่าๆ ให้ดู

การประเมินผลการเรียน กำหนดสัดส่วนคะแนนในรายวิชาตามจำนวนชั่วโมงบรรยาย PBL, Lab, Clinical correlation…มีการวิเคราะห์ข้อสอบ การตัดสินเกณฑ์ผ่านขั้นต่ำ (Minimal passing level, MPL) ดูจากความยากง่ายของข้อสอบด้วย เช่น Average difficulty = 0.76, SEM = 2.56 คะแนนเต็มของข้อสอบชุดนี้เท่ากับ 70 เกณฑ์ผ่านขั้นต่ำหรือ MPL = [76 – (1.96*2.56)]*70/100 = 49.69

คุณหมอมยุรีเตรียมเอกสารประมวลรายวิชาและแผนการสอน ข้อมูลการประเมินผลการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษา และวิธีการตัดเกรดไว้ให้พวกเราได้ดูเป็นตัวอย่างดิฉันได้รู้จักวิธีการตัดเกรดที่ดูสมเหตุสมผล จึงรีบนำกลับมาคุยให้อาจารย์บางคนในสำนักวิชาฟัง

เห็นเอกสารต่างๆ ของสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ทำให้นึกถึงตอนที่ มวล.เปิดสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ปีแรกๆ เราเตรียมการสอนกันอย่างดี มีการจัดทำเอกสารประกอบการสอน แบบฝึกหัดสำหรับนักศึกษาเป็นเล่มๆ บางรายวิชา เช่น การสร้างเสริมสุขภาพ เราเขียนเป็นตำราเลย ข้อสอบรายวิชาต่างๆ เราก็ออกกันล่วงหน้าและช่วยกันดูช่วยกันปรับ เดี๋ยวนี้อาจารย์บอกว่ามีงานยุ่งงานเยอะ เรื่องเหล่านี้ก็เลยจางๆ ไป บางเรื่อง เช่น เรื่องคุณภาพของข้อสอบ คงจะต้องรื้อฟื้นกันขึ้นมาดูแลใหม่

ฟังและจดข้อมูลเพลิน ไม่ได้ถ่ายรูปภาพตอนพูดคุยแลกเปลี่ยนฯ กันไว้ ได้แต่รูปภาพตอนรับประทานอาหารกลางวันมาฝาก

 

อาหารมื้อนี้แซบๆ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 342159เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2010 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท