ความมุ่งหมายและขอบข่ายการวิจัยสถาบัน


ความมุ่งหมายและขอบข่ายการวิจัยสถาบัน

ความมุ่งหมายและขอบข่ายการวิจัยสถาบัน

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า  สถาบันต่างๆที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบสูง  และเกี่ยวกับบุคลากรจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันระดับอุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น  ล้วนแต่มีระบบการบริหารงานที่ละเอียดอ่อน  และซับซ้อนมาก  ประกอบกับจะต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงสถาบันทั้งหลายดังกล่าวให้ทันสมัยและเหตุการณ์ใหม่ๆอยู่เสมอ  ดังนั้นผู้บริหารสถาบันที่มีประสิทธิภาพ  นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถและทักษะในการบริหารอย่างดีแล้ว  จะต้องมีข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ อย่างเหมาะสมและเพียงพอสำหรับช่วยในการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา  เพื่อวางแผนและเพื่อกำหนกนโยบายให้การดำเนินงานต่างๆ บรรลุตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด  (เยาวดี  วิบูลย์ศรี, 2535)  จากความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องได้รับข้อมูลซึ่งถูกต้องแม่นยำและเพียงพอนี้เอง  จึงก่อให้เกิดแนวคิดเรื่อง “การวิจัยสถาบัน” (Institutions research)  ขึ้น  แนวความคิดดังกล่าวนี้มีมานานแล้ว  และนับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ  เพราะการบริหารงานในยุคปัจจุบันนี้  ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีข่าวสาร  ผู้บริหารจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ยุ่งยาก  ละเอียดอ่อน  และซับซ้อนเพิ่มขึ้นนานาประการ  รวมทั้งต้องใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพด้วย

                พรชุลี  อาชวบำรุง (2545)  ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัยสถาบันก็คือ  การศึกษาการทำงานของสถาบันอย่างลุ่มลึก  เพื่อแสวงหาหลักฐานของจุดอ่อนและข้อผิดพลาด  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดการให้บรรลุปณิธาน  เป้าหมาย หรือนโยบายของสถาบัน  หรือทำให้การใช้จ่ายสูงขึ้นโดยใช่เหตุ  ดังนั้น  การวิจัยสถาบันจึงต้องอาศัยกลุ่มบุคลากรที่มีพื้นฐานความรู้จากสาขาวิชาต่างๆกัน  ได้แก่  การวิจัยทางการศึกษา  สถิติศาสตร์  การบัญชี  การวิเคราะห์ระบบ  คอมพิวเตอร์ศาสตร์  สังคมวิทยา  และจิตวิทยา  ซึ่งสถาบันบางแห่งมีการจัดตั้งศูนย์หรือหน่วยงานเพื่อการวิจัยสถาบันโดยเฉพาะเพื่อป้อนข้อมูลให้แก่ผู้บริหาร  และจัดทำข้อมูลสถิติเพื่อเป็นรายงานและประวัติของสถาบันบางสถาบันจัดเป็นรูปของคณะกรรมการเฉพาะกิจ บางสถาบันก็ถือว่างานวิจัยสถาบันเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายแผนและพัฒนา

                ภาวณี  ศรีสุขวัฒนานนท์ (2545)  ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของการวิจัยสถาบันไว้ดังนี้

               1)   สร้างฐานข้อมูลที่ดี  เพียงพอ  เพื่อให้ได้สาระสำคัญที่จะนำมาตัดสินใจเสริมสร้างประสิทธิภาพของสถาบัน

               2)  แก้ปัญหาที่สถาบันเผชิญอยู่  เช่น  นิสิตสอบตกมาก

               3)   เพื่อตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบ  และต้องการคำอธิบายชี้แจงแก่สาธารณชน

               4)  วางแผนและพัฒนาทางวิชาการ  เช่น  การปรับปรุงหลักสูตรเดิม  การเปิดหลักสูตรใหม่  การวิจัยจะช่วยค้นหาความต้องการ  และตอบสนองได้เหมาะสม

               5) เพื่อประกันคุณภาพการศึกษา  เช่น  ประเมินความพึงพอใจในการสอน  ความพึงพอใจในระบบบริหาร  และการประเมินหลักสูตร  เป็นต้น

        การวิจัยสถาบันมีการพัฒนามาเรื่อยๆ  มีสาระสำคัญในการศึกษามากยิ่งขึ้น  และใช้เทคนิคและเครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น  นักบริหารหลายท่านได้กำหนดขอบข่ายงานที่ควรจะดำเนินการดำเนินการ  ดังเช่น  อุทุมพร  จามรมาน (2527)  กำหนดขอบข่ายการวิจัยสถาบันไว้ดังต่อไปนี้

          1)  ลักษณะนิสิตนักศึกษา  เช่น  การวิเคราะห์ลักษณะนักศึกษาที่เหมาะสม  นักศึกษาใหม่ บัณฑิตที่จบ  ความต้องการ/เป้าหมายในชีวิตของนักศึกษา  ความคิดเห็นต่อสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย

          2)  คณาจารย์และบุคลากร  เช่น  การประเมินผลการสอน  การประเมินประสิทธิภาพของอาจารย์  สภาพขวัญ  กำลังใจ  ความพึงพอใจ  โครงสร้างลักษณะสังคม  เศรษฐกิจของอาจารย์/บุคลากรอื่นๆ การพัฒนาอาจารย์/บุคลากร

          3) หลักสูตรและการสอน  เช่น  การวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษา  การกำหนดปรัชญาและเป้าหมายทางการศึกษา  การประเมินหลักสูตร  การพิจารณาเกรด

          4)  การประเมินโครงการหรือกิจกรรมในสถาบัน  เช่น  คุณภาพการศึกษา  การใช้แหล่งสารสนเทศ  การประเมินโครงการตามแผน  การประเมินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยดำเนินการ

          5)  การจัดการลงทะเบียน  เช่น  ความต้องการในการเรียนวิชาต่างๆ  สาขาวิชาที่คนต้องการ  วิธีการสอบคัดเลือก วิธีการรับสมัคร ความต้องการและวิธีการผลิตคนสู่แหล่งงาน

           6)  การทำนายความสำเร็จของการศึกษา  เช่น  การทำนายผลสำเร็จของนักศึกษา  การทำนายผลของการบริหารของผู้บริหารระดับต่างๆ  และผลการปฏิบัติงานของบุคลากร

           7)  การวางแผน  เช่น  การพิจารณาวิธีการวางแผน  การประเมินแผนในลักษณะต่างๆ และในระดับต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นระดับมหาวิทยาลัย  คณะ/หน่วยงาน

           8)   การวิเคราะห์นโยบาย  เช่น  การวิเคราะห์วิธีการกำหนดนโยบาย  โครงสร้างและรายละเอียดของนโยบาย  การวิเคราะห์เป้าหมายและความเป็นไปได้ของการจัดการศึกษา

           9)  ระบบข้อมูล  เช่น  การพิจารณาจัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานเพื่อดำเนินการกิจกรรมอื่นๆ ตามขอบข่ายหน้าที่ของมหาวิทยาลัย  เทคนิคการรายงาน  และเผยแพร่

           10)     งบประมาณและค่าใช้จ่าย  เช่น รูปแบบการจัดสรรงบประมาณภายในมหาวิทยาลัย

          11)     อาคารสถานที่  การจัดตารางบริการและการใช้ประโยชน์  เช่น  ลักษณะการใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย  การวิเคราะห์ความต้องการใช้พื้นที่  การคาดคะเนการใช้พื้นที่  การใช้อาคาร  การจัดสาธารณูปโภคต่างๆ  ความคุ้มค่าและความเหมาะสม  การวิเคราะห์ตารางการให้บริการเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

            สรุปได้ว่า  จากความมุ่งหมายและขอบข่ายดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าการวิจัยสถาบันนั้นมิใช่เป็นเพียงหน่วยงานหรือสำนักงานที่เพียงแต่เก็บข้อมูลทางสถิติเท่านั้น  แต่การทำงานนั้นจะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่(Change & innovation) ในอันที่จะทำให้สถาบันก้าวหน้าต่อไปในทางที่พึงปรารถนาของสังคม  และประเทศชาติ  ซึ่งมิใช่เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อหาข้อยุติในการบริหารอุดมศึกษา  แต่จะเป็นสื่อกลางนำไปสู่ความสัมฤทธิผลทางการบริหารนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 341711เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท