สรุปประเด็นเวทีสภามหาวิทยาลัยมหิดลพบประชาคม ๒๕ ม.ค. ๕๓



ข้อสรุปนี้ผมปรับปรุงนิดหน่อยจากของสำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล  เอามาเผยแพร่ และ ลปรร. วิธีทำงานของสภามหาวิทยาลัย

 

สรุปประเด็นเวทีสภามหาวิทยาลัยมหิดลพบประชาคม
เรื่อง แนวทางการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่ 25 มกราคม 2553


----------------------


สภามหาวิทยาลัย เป็นกลไกการบริหารระดับสูงสุดขององค์กร มีหน้าที่หลากหลาย ทั้งในด้านการกำหนดนโยบาย การวางยุทธศาสตร์ และงานที่สนับสนุน (empowerment/stewardship) ฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการ   โดยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ การกำหนดเป้าหมาย วางนโยบาย และแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย  

สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดกระบวนการทำงาน เพื่อให้บทบาทด้านการกำหนดนโยบายมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการกำหนดนโยบายนั้น มุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างจิตสำนึกและความกระตือรือร้นร่วมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเด็นเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยต่อไป

การจัดเวทีประชาคมในครั้งนี้ ถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะพบปะพูดคุยกับประชาคมภายในและภายนอก   โดยประชาคมภายใน ได้แก่ ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่เป็นพลังการสร้างสรรค์มีส่วนร่วมกันคิดแนวทาง นโยบาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์สำคัญๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความคิด การเริ่มต้น และการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประชาคมภายนอกรอบข้างมหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วยชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจ
ห้าง ร้าน ราชการส่วนภูมิภาค สถาบันการศึกษา กับประชาคมภายนอกในระดับชาติ เช่น สวทช. สกอ. และมหาวิทยาลัยอื่นๆ   ส่วนงานเหล่านี้ล้วนเป็นประชาคมร่วมที่จะสามารถรวมพลังสร้างสรรค์และผลักดันให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้

เวทีเสวนาเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงกระบวนทัศน์และทิศทางการดำเนินงานเชิงนโยบายต่อแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัย ในประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 บทบาทของมหาวิทยาลัยในการทำหน้าที่เพื่อขยายการผลิต PhD. และ Postdoc ให้มีสาขาวิชาที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาสาขาต่างๆ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล นั่นรวมถึงการทำวิจัยต้องมีคุณภาพสูงมาก   เป็นการวิจัยที่มี knowledge creation component มากขึ้น

ประเด็นที่ 2 สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็น Governance หรือกำกับดูแล มิใช่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร   ไม่มีการเข้าไปออกคำสั่งหรือตัดสินใจเชิงบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของฝ่ายบริหาร   สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ดูแลภาพใหญ่ๆ และสนับสนุนให้ฝ่ายบริหารทำหน้าที่ได้อย่างคล่องตัวและเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง
สภามหาวิทยาลัยยึดมั่นต่อการทำหน้าที่ Empowerment เป็นอย่างมาก คือ พยายามส่งเสริมฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติ   วิธีการคือ ส่งเสริมการทำงานโดยหนุนจุดที่เข้มแข็ง มีการชื่มชมผลงานดีๆ และหาวิธีการที่จะเข้าไปหนุนให้มีการขยายผลและเกิดความเข้มแข็ง ลงลึก และเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจาก success stories ที่มีอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 3 การพยายามทำให้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีสูงมาก ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์   และเปิดโอกาสให้ศักยภาพเหล่านั้นได้แสดงฝีมือและผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง   สภามหาวิทยาลัยจึงต้องมีส่วนช่วยทำให้ฝ่ายต่างๆ ร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายดำเนินการ ฝ่ายสนับสนุน ร่วมกันทำงานเป็นทีม และการจะกระทำเช่นนั้นได้ นั้น ประชาคมจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า Trust หรือ matual trust   คือไม่มีฝ่ายค้าน มีแต่ฝ่ายที่จะช่วยกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้ยิ่งขึ้น นี่ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญของสภามหาวิทยาลัย

การที่สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ Empowerment และ Create trust มีเป้าหมายเพื่อเปิดช่องให้ฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น มีผลงานที่ดีขึ้น   การ Create trust คล้ายกับการ Facilitate คือ การทำให้มีบรรยากาศทางจิตใจ จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ทางใจที่ดี เป็นบรรยากาศที่น่าอยู่ เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่แล้วมีความสุข เช่นเดียวกับที่ฝ่ายบริหารกระทำอยู่ในขณะนี้

ก้าวต่อไป
     1. การทำงานของสภามหาวิทยาลัย จะทำงานผ่าน GIS คือ Governance Information System  เป็นการทำระบบข้อมูล ระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ governance ในการทำหน้าที่กำกับดูแล
     2. การประเมินผลของการดำเนินการกำกับดูแลในเชิง issue เช่น เรื่องนักศึกษา เรื่องวิจัย เรื่องความรับผิดชอบ/การรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยมหิดลทำได้ดีมากน้อย แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเชิงนโยบาย เชิง steering การกำหนดทิศทางเชิง empowerment ทำให้เกิดข้อมูลเพื่อให้สภามหาวิทยาลัยได้ร่วมกำหนดนโยบายทั้งหลาย โดยเชื่อมโยงเข้ากับสภาพจริงในสังคมได้มากขึ้น
     3. การนำเสนอประเด็นดีๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน และให้ข้อคิดเห็นในการทำงาน ทั้งฝ่ายสภามหาวิทยาลัย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายสนับสนุน   ดังนั้น ทุกๆ ฝ่ายต้องร่วมทำงาน มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจะมีพลังและทำหน้าที่รับใช้สังคมได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไป

     จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมเสนอประเด็นเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมองและวิสัยทัศน์ต่อการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย โดยสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

- การเสริมสร้างและประสานความร่วมมือกับประชาคม

การสร้างความร่วมมือถือเป็นการทำให้เกิดความสัมพันธ์ มิใช่ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางเดียว แต่เป็นความสำมพันธ์ 2 ทาง การมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมเวที จึงทำให้ได้รับทาบความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น มหาวิทยาลัยกับเทศบาล ไม่ควรเป็นเรื่องที่เทศบาลช่วยมหาวิทยาลัยทางเดียว แต่ควรเป็นการช่วยซึ่งกันและกันได้ หรือแม้กระทั่งชาวบ้าวที่อยู่รอบข้างไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อมผู้ตกทุกข์ได้ยาก ก็ถือว่าเป็นประชาคมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนช่วยประชาชนที่อยู่รอบข้าง ขณะเดียวกันประชาชนรอบข้างก็ช่วยมหาวิทยาลัยได้ ตัวอย่าง เช่น

 1) มหาวิทยาลัยควรนำความรู้และวิชาที่มีอยู่เข้าไปร่วมในการสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนรอบข้างด้วย (ถ้าไม่สามารถทำให้ชุมชนข้างๆ มีความสุขและมีมาตรฐานได้เท่ากับชุมชนข้าในได้ วิชาที่เรียนไปก็เปล่าประโยชน์) เช่น ส่งนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปช่วยทำงานที่เทศบาลเพื่อให้เกิดการพัฒนาและก้าวหน้าได้ดียิ่งขึ้น

2) มหาวิทยาลัยอาจดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดนครปฐมด้วยกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน  มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว  มีการเชื่อมโยงข้อมูลและทำกิจกรรมในพื้นที่นครปฐมร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยมหิดลอาจช่วยงานด้านวิชาการ สถาบันราชภัฎนครปฐมช่วยด้านท้องถิ่น เป็นต้น  เพื่อให้งานวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลเกิดการเชื่อมโยงกันในระดับประเทศด้วย มิใช่แต่เฉพาะระดับประเทศเท่านั้น

 

- แนวทางการดำเนินงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยในอนาคต

ที่ประชุมได้เสนอแนะถึงภาพในอนาคตของแนวทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยว่าควรให้ความสำคัญกับ 2 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่

1) การต่อยอดความสำเร็จและความชำนาญที่ผ่านมา มุ่งในแง่ที่จะไปส่การดำเนินงาน การศึกษา การวิจัย การรับใช้สังคมในระดับนานาชาติ หรือเป็นผู้นำในระดับชาติ ตัวอย่างเช่น

     1.1 Global Health ซึ่งเป็นจุดที่มหาวิทยาลัยมีความชำนาญอยู่แล้ว และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและระดับนานาชาติ

     1.2 อีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องนึกถึงควบคู่กันคือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม Green site and Technology ซึ่งมองเห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลน่าจะทำได้ดี และอาจจะใช้ campus นี้เป็นตัวอย่าง Green site and Technology ต่อไป

2) การขยายสู่แนวทางใหม่ เป็นแนวทางใหม่ที่จะต้องดูด้วยความระมัดระวังเพราะปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยมากมายที่ถือได้ว่าเป็นคู่แข่ง มหาวิทยาลัยมหิดลจำเป็นต้องมีจุดเด่น มุ่งขยายความเข้มแข็งที่มีอยู่ โดยเน้นที่การต่อยอดควมสำเร็จ และความชำนาญที่มีอยู่แล้ว ตามที่ท่านอธิการบดีได้เล่าความสำเร็จในช่วง 2 ปีที่แล้ว เราต้องช่วยกันคิดว่าในอีก 2 ปีต่อไป จะต่อยอดของความสำเร็จเหล่านั้นอย่างไร เพื่อขยายสู่แนวทางใหม่ รวมถึงการให้แนวคิดใหม่ๆ และมองไปถึงมุมใหม่ๆต่อไปในอนาคตด้วย

- มหาวิทยาลัยกับการดำเนินการเรื่อง Global Health
คำว่า Global Health มีความหมายลึกซึ้ง เป็นการเชื่อมโยงทั้งในระดับที่เป็นการดูแลสุขภาพของประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ไปจนถึงการดูแลสุขภาพของประเทศที่กำลังพัฒนา เรื่องต่างๆเหล่านี้มีความสำคัญและควรนำมาพิจารณา  มหาวิทยาลัยมหิดลควรดำเนินการเรื่อง Global Health เนื่องจาก มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในด้านนี้  เช่น
1. มหาวิทยาลัยมหิดลควรทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมโยงส่วนต่างๆ   ซึ่ง Global Health มีความเกี่ยวโยงกับประเด็นเฉพาะเรื่องเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การดำเนินงานอาจเริ่มจากประเด็นก่อน โดยสร้างความตื่นตัวให้เข้าใจในรายละเอียดประเด็นนั้นๆ
2. มหาวิทยาลัยมหิดลอาจทำหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการ โดยมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ   ซึ่งมหาวิทยาลัยควรมีความพร้อมที่จะดำเนินการก่อนจะตกลงทำความร่วมมือกับพันธมิตร
3. กำหนดประเด็นสุขภาพให้ชัดเจน เพื่อทำการศึกษาในลักษณะสหวิทยาการสร้างกระแสความเคลื่อนไหว เปิดพื้นที่การทำงานวิชาการแบบใหม่ โดยใช้กระแสความนิยมเรื่อง Global Health ในการทำงานโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน
4. สภามหาวิทยาลัยได้มีการเสนอโครงการ ซึ่งอาจเรียก MIGHT ย่อมาจาก Mahidol Initiative in Global Health Thailand ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ได้นำเสนอไว้ และควรมีการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้เป็นรูปธรรมขึ้นได้

- การรู้ลึกและรู้กว้างของประชาคมมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยควรมีนโยบายและแผนงานที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างบัณฑิต ที่มีทั้งบุคคลที่รู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง เพื่อที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความสมดุลทั้ง 2 ด้าน โดยวิธีการที่จะทำให้ส่วนที่มหาวิทยาลัยยังไม่เข้มแข็ง มีความเข้มแข็งขึ้นนั้น คือการลงมือทำงานร่วมกัน ทำงานกับ Real sector (ภาคที่เป็นชีวิตจริง)  การทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นจะทำให้เกิดเป็น win-win ด้วยกันทุกฝ่าย ดังนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลต้องหาทางสร้าง platform ของการทำงานร่วมกัน
กับหลายๆ ศาสตร์ และร่วมกับ real sector ให้มากขึ้น เพื่อยกระดับความรู้ที่มีอยู่
ทั้งนี้ การทำงานเพื่อเป้าหมายรู้ลึกและรู้กว้าง มิใช่เฉพาะแค่เรื่องการผลิตบัณฑิตเท่านั้น หากแต่ผู้ทำงานและผู้วิจัยก็เช่นกัน ดังนั้น ถ้าประชาคมมีการทำงานประสานกันแบบ Multidisciplinary จะทำให้มหาวิทยาลัยมีความรู้ที่ลึกและกว้างขึ้นตลอดจนขยายโอกาสค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นความสำเร็จชั้นเลิศ

- การทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
โครงสร้างของมหาวิทยาลัยควรจะมีลักษณะเป็นแบบเครือข่ายมากกว่าแบบปิรามิด โดยมีความเชื่อมโยงและมีจุดศูนย์กลาง ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัยถึงอธิการบดี ผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา สามารถเชื่อมโยงกันได้ จุดที่สำคัญของเครือข่ายก็คือ เป็น Flat structure และมี inter-connection ในระดับต่างๆ มีความยืดหยุ่น สามารถเติบโตไปโดยไม่ได้มาจากตรงกลางเพียงอย่างเดียว  ถ้าจุดไหนเป็นจุดที่ดี จะโตได้เองด้วยตัวของมัน แต่ถ้าแบบปิรามิด จะมีลักษณะแบบ top-down มีขั้นตอนของการบังคับบัญชาชัดเจน และถ้ามหาวิทยาลัยมีลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น จะขาดการติดต่อกันการติดต่อแบบใกล้ชิดมีได้น้อย ข้อดีมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ข้อเสนอต่อการทำงาน คือ
1. มหาวิทยาลัยควรจะให้ความสำคัญกับเครือข่ายมากกว่าด้านปิรามิด คือให้ความสำคัญกับหน่วยงานในระดับภาควิชามากขึ้น เพราะเป็นแหล่งหลักในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
2. มหาวิทยาลัยมีปัญหาในฐานะ Federal University ตั้งแต่แรก จะมีภาควิชาที่คล้ายคลึงกันมากอยู่ตามที่ต่างๆ  จึงควรต้องมีความเชื่อมโยงภาควิชาที่มีการทำงานคล้ายคลึงกันและต้องเสริมสร้าง cluster โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน
3. มหาวิทยาลัยควรเน้นในเรื่องของการสร้างงานมากกว่าการสร้างหน่วยงาน

หน้าที่ของมหาวิทยาลัยมีหลายมิติ นอกจากวิจัยแล้วยังมีด้านการเรียนรู้ การสอน และการรับใช้สังคม อีกด้านคือด้าน Internationalization มหาวิทยาลัยควรจะใช้โอกาสที่เราจะเรียกตัวเองว่ามหาวิทยาลัยวิจัยทำงานควบคู่ในการพัฒนาให้เกิดมิติที่หลากหลายมีการเรียนรู้ และสอนเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับผู้เรียนและสังคมต่อไป

- นโยบายและการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์
ที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยมหิดลควรเน้นนโยบายเรื่องการเป็นปัญญาของแผ่นดิน  ซึ่งในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับว่านโยบายของมหาวิทยาลัยจากแนวคิดนี้ จะเป็นอย่างไร แนวทางในการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร ควรมีวิธีการขับเคลื่อนนโยบายให้ชัดเจนและเกิดเป็นรูปธรรม โดยเน้นให้ใช้ ICT ให้เต็มที่ในการนำเสนอความเป็นปัญญาสู่มหาชน
2. การมองภาพของมหิดลเหมือนกับเรื่องของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม (Living/Organic Organization) ควรมองในแง่ Micro และ Macro และ Multi-dimensional และในขณะเดียวกันก็มองในระดับกลไก Mechanic (Mechanical Organization) แต่ที่สำคัญคือ ต้องหาความหมายของมัน ให้ได้ด้วย ความหมายและจริยธรรมในกลไกเหล่านี้ ก็คือ Mechanic to meaning and morality และต้องมีการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
3. มหาวิทยาลัยควรช่วยกันคิดและดำเนินการในลักษณะเรื่องที่เป็น policy ในระยะยาวของมหาวิทยาลัย   เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมี mile stone มีเป้าหมาย และมีกระบวนการที่จะไปถึงเป้าหมายที่ชัดเจน   ซึ่งลักษณะที่เป็น policy เป็นสิ่งที่ควรจะต้องมาช่วยกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และในอนาคตคงจะมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นในเชิงนโยบายกับทางสภามหาวิทยาลัยมากขึ้น
4. มหาวิทยาลัยควรเน้นประเด็นวิชาการและเชื่อมโยงไปสู่มหาวิทยาลัยที่จะเข้าไปทำงานวิจัยเชิงนโยบายสุขภาพของประเทศ สิ่งที่สภามหาวิทยาลัยต้องผลักดัน คือ
- การดำเนินงานในเรื่องใหญ่ๆ และไปเชื่อมโยงกับนโยบายใหญ่ๆ ระดับประเทศ พยายามช่วยให้มหิดลเข้าไปรับใช้ประเทศในการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ
- มหาวิทยาลัยต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ทำงานแบบเดิม ข้อความที่สำคัญคือว่า เราคงจะต้องพร้อมที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยเท่าไร แต่สิ่งที่เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิด จะต้องทำให้เกิด win-win

- บทบาทมหาวิทยาลัยต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยจะต้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว และไกลตัว เช่น เรื่อง Outreach เป็นเรื่องสำคัญมาก มิใช่แต่เรื่อง excellent เรื่อง efficiency แต่ควรนึกถึง การเข้าถึง (equity) ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก จะต้องให้ประชาคมรอบข้างมีความรู้สึกว่ามหิดลคือมหาวิทยาลัยของเขา โดยมหาวิทยาลัยอาจจะดำเนินการ ดังนี้
1. การเพิ่ม equity ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ทุนนักศึกษาเรียนดี ยากจน การให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับคนที่มาจากท้องถิ่น
2. ปัญหาของท้องถิ่น มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาท้องถิ่น โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีร่วมกับส่วนงานของมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ การศึกษา ปัญหาเรื่องสุนัขจรจัด

- กลไกหรือกระบวนการติดตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย
1. สภามหาวิทยาลัยจะมีการติดตามการทำงานของมหาวิทยาลัยที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ สิ่งสำคัญคือ output, outcome   ดังนั้น จึงควรมีการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานในโอกาสต่อไป
2. พิจารณา/ศึกษาจากกระบวนการ การจัด organization การจัดกำลังคน เพื่อพัฒนาระบบการจัดการ   จะต้องมีการติดตาม จะมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยในการช่วยมองภาพกว้าง มองจากเป้าที่ไกล และมองจากยุทธศาสตร์ที่อาจจะแปลกแยกและแตกต่างกัน คือการที่มหาวิทยาลัยจะไปเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ต้องเปลี่ยน management ในส่วนที่เป็นเรื่องวิชาการ เรื่องของตำแหน่งวิชาการเรื่องผลงานวิชาการ เรื่องวิธีการ manage การวิจัย

- ข้อเสนอแนะจาก Stakeholder
1. มหาวิทยาลัยมหิดลจะ focus ในจุดใด หรือไม่ เป็นเลิศในจุดใดหรือไม่ ในลักษณะใด  มหาวิทยาลัยยังมีปัญหา คืองานวิจัยยังไม่ลงสู่ดินเท่าไร ถ้างานวิจัยลงสู่สังคมได้มากที่สุด มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่อง Emerging disease   ส่วนหนึ่งก็คือ เรื่องของการเผชิญปัญหาของสังคมที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรร่วมมือกันช่วยดูกันคนละส่วน ถ้าสามารถสร้างเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในการสร้างผลงานร่วมกัน สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยได้มาก และจะลงไปถึงพื้นได้ดีกว่า เพื่อให้ cover ในกรอบแผน 15 ปีของอุดมศึกษา คือ มี excellent และก็สามารถลงสู่ดิน มี equity สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างจริงจัง
2. สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เรื่องของประชากรแฝง จะเป็นปัญหาทุกที่ที่เป็นสังคมเมือง เพราะคนที่อื่นจะเข้ามาอาศัยและสร้างมลภาวะให้เรา ทั้งน้ำเสียและขยะ ชาวมหิดลอาจมีการรณรงค์เพื่อขอช่วยย้ายทะเบียนเข้ามาในศาลายาในช่วงที่มีเรียนในศาลายา พอย้ายมาครบ 1 ปี งบประมาณที่เข้ามาจะย้อนกลับมาสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นกลับมาช่วย ให้บริการตามความเติบโตของมหาวิทยาลัยมหิดลทัน เพราะตอนนี้ท้องถิ่นตามไม่ทันในเรื่อง Facilities ทั้งหลาย
3. จำเป็นต้องสร้างพันธมิตรและเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างใกล้ชิด กลไกในการเจริญเติบโตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคงจำเป็นต้องมีบทบาทของมหาวิทยาลัยมากกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก บทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการผลิตบัณฑิต เพื่อจะสื่อความเข้มแข็งของประเทศชาติคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกันอย่างมาก ประเด็นตรงนี้อาจจะต้องมีการดูเรื่องนโยบายที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีบทบาททางด้านนี้มากขึ้น ถ้าจะเร่งแบบที่เราคิดว่ามหาวิทยาลัยควรจะเร่ง คงจะต้องมีกลไกที่จะมาทำเป็น Road map ด้วยกันแบบจริงๆจังๆ ว่ามหิดลจะ contributed อะไรบ้าง มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะทำอะไรบ้าง มีการปรึกษาหารือกัน
4. มหาวิทยาลัยมหิดลมีพลังและกำลังมาก แต่ยังใช้ได้น้อย ส่วนหนึ่งคือ การรวมพลัง synergy ของชาวมหิดลยังมีน้อยเกินไป อยากให้มีการแสวงหาโอกาสทำงาน action เพื่อให้เกิด synergy และเกิดเป็น output และ impact ที่แท้จริงต่อประเทศชาติ

สรุป : กระบวนการรวมพลังสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนโยบายและทิศทางการดำเนินการร่วมกัน
การเริ่มต้นจัดเวทีเสวนาระหว่างประชาคมกับสภามหาวิทยาลัย มีลักษณะคล้ายกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เป็นการรวมพลังสร้างสรรค์ของคนหลายกลุ่มที่จุดมุ่งหมายใหญ่เหมือนกัน เช่น เวทีสมัชชาสุขภาพ
แห่งชาติ สุขภาพก็คือความอยู่เย็นเป็นสุขอย่างบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางจิตใจ ทางอารมณ์ และสติปัญญา หรือที่เรียกว่าจิตวิญญาณ และในทางสังคมที่จะอยู่ร่วมกัน นั่นเป็นเป้าหมายร่วมกันของคนทุกฝ่ายในสังคม และเพื่อให้
เกิดการรวมพลังสร้างสรรค์ของคนทุกฝ่าย ซึ่งถือว่าอยู่ร่วมกันในกระบวนการทั้งหมด ไม่มีใครเหนือกว่าใคร มีกระบวนการที่ทำให้เกิดการรวมพลังความคิด รวมพลังการกระทำ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ และช่วยติดตามผล และมาทบทวนใหม่
จนเป็นกระบวนการที่เรียกว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี ซึ่งก่อนจะมีสมัชชาดังกล่าวนี้ ได้มีกระบวนการย่อยๆ ตามประเด็น ตามภูมิภาค ตามพื้นที่ มีงานวิจัยสนับสนุน มีงานเผยแพร่การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารต่างๆ   สิ่งเหล่านี้ทำให้การกำหนดทิศทางของการสร้างสุขภาพ หรือการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นการสร้างทิศทางร่วมกันของคนไทย ขององค์กรหน่วยงานหลายๆ ส่วน ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อเกิดประโยชน์แก่สังคมต่อไป   จึงเห็นได้ว่า กระบวนการเหล่านี้สามารถที่จะประยุกต์แนวทางของการสร้างนโยบายร่วม การสร้างทิศทางร่วมกัน การช่วยปฏิบัติร่วมกัน และติดตามผลร่วมกันให้บังเกิดผล ซึ่งน่าจะสามารถประยุกต์แนวทางและวิธีการทำนองนั้นเข้ากับการแปลเจตนารมณ์ของเวทีเสวนาในครั้งนี้ ที่ต้องการให้ประชาคม สภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร ได้ร่วมกำหนดทิศทาง นโยบาย หรือมาช่วยกันปรับปรุงเสริมแต่ง หรือติดตามผลเพื่อจะพัฒนาสังคมและ
ประเทศชาติต่อไป

นอกจากนี้ Road map ที่มหาวิทยาลัยวางไว้ มิใช่ของตายตัวหรืออยู่กับที่ หากต้องมีการปรับปรุง ทบทวนพัฒนาอยู่เสมอ ถ้าใช้กระบวนการรวมพลังสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมีกิจกรรม มีผู้จัดกระบวนงาน มีงบประมาณสนับสนุนตามสมควร ต้องมีบุคลากร ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นได้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างสูง ดังนั้น การเสวนาครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการที่ต่อเนื่อง เพื่อให้กลายเป็นวัฒนธรรมของมหิดลที่จะกระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะวัฒนธรรมจะมีระยะเวลาที่ยาวและจะเป็นพลังได้อย่างดี ช่วยทำให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง และกลไกนั่นจะช่วยให้เกิดการทบทวนปรับปรุง พัฒนาได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน 
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ การมี Equity การเข้าถึง การมีส่วนร่วม การที่สภามหาวิทยาลัยมา response กับประชาคม เพื่อทำให้เกิดกระบวนการในการดำเนินการต่อเนื่องและมีโอกาสแสดงความคิดเห็นร่วมกัน หากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคม หรือประชาสังคม มีชีวิตและขับเคลื่อนได้ดี จึงควรจะมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และควรเป็นกลไกที่ดำเนินการโดยภาคประชาคมเพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงการมีส่วนร่วมในหลายภาคส่วน ถือเป็นเชิงนโยบายที่ท้าทายสภามหาวิทยาลัยในการดำเนินการ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและมีทิศทาง และสภามหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมต่อกระบวนการอย่างเหมาะสม
……………………………………
ปรับปรุงจาก
สรุปประเด็น โดย : น.ส.ณัฏฐณิชย์ ศรีมาเสริม
ตรวจทาน โดย : รองศาสตราจารย์พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย

 

วิจารณ์ พานิช

๑ มี.ค. ๕๓

 

 

หมายเลขบันทึก: 341651เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท