การศึกษากฎหมายเชิงเปรียบเทียบ


การศึกษากฎหมายเชิงเปรียบเทียบ

นักกฎหมายหลายๆ ท่านมักประสบปัญหาในการเรียนในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี เพราะการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีมีความแตกต่างจากระดับปริญญาโทหรือเอกเป็นอย่างมาก กล่าวคือการเรียนการศึกษากฎหมายในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก มุ่งให้นักศึกษากฎหมายรูจักที่จะคิดหาเหตุผลในทางกฎหมาย รู้จักการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ เป็นการเรียนอย่างมีเหตุผลกอปรกับต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) และในการทำวิทยานิพนธ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ

ความหมายของกฎหมายเปรียบเทียบ เป็นการเปรียบเทียบระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ เพื่อนำไปสู่คำตอบเกี่ยวกับหลักกฎหมายหรือกระบวนการทางกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อทราบข้อดี ข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็งของหลักกฎหมาย โดยนำมาศึกษาในทางวิชาการ แล้วนำคำตอบที่ดีที่สุด (Best Solution) มาใช้ในการสร้างกฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมาย กฎหมายเปรียบเทียบจึงเป็นการใช้กฎหมายในเชิงคุณค่า

การศึกษาเชิงเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศกับกฎหมายไทยมักจะอยู่ในบทที่ 3 หรือส่วนกลางของของวิทยานิพนธ์ การศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในบริบทของเรา ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่การศึกษากฎหมายแบบนี้จะเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ศึกษาจะต้องมีการสังเคราะห์ความรู้ในเชิงบูรณาการอันเป็นการสอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน

ลักษณะของกฎหมายเปรียบเทียบ

1. พิจารณาตามขอบเขต (Scope) โดยศึกษาเปรียบเทียบ (1) ในระดับกว้าง (Macro Comparative Law) เพื่อค้นหาคำตอบโดยวิเคราะห์ระบบความคิดทั้งระบบ และ(2) ในระดับแคบ (Micro Comparative Law) เพื่อค้นหาคำตอบในเรื่องเฉพาะเรื่อง โดยไม่ได้ศึกษาทั้งระบบ

2. พิจารณาตามวัตถุประสงค์ โดยศึกษาเปรียบเทียบในเชิงทฤษฎี (Theoretical Comparative Law) เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์กฎหมายในเชิงวิชาการ และการเปรียบเทียบเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ (Legislative Comparative Law) เป็นการเปรียบเทียบเพื่อนำไปสู่การสร้างหรือปรับปรุงกฎหมาย

กระบวนการของกฎหมายเปรียบเทียบ ที่นำไปสู่การร่างกฎหมายหรือเสนอกฎหมายนั้นจะมีการค้นคว้ากฎหมายของประเทศต่างๆ ที่เป็นระบบกฎหมายหลัก เพื่อทำการเปรียบเทียบ ประเมินจุดเด่น/จุดด้อย เพื่อให้ได้หลักกฎหมายที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำไปใช้ ทั้งนี้ก่อนนำระบบกฎหมายของประเทศใดมาเปรียบเทียบให้พิจารณาดูว่าระบบกฎหมายของประเทศนั้นๆ ใกล้เคียงกับประเทศของเราหรือไม่ และให้พิจารณารวมถึงระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้วย

หมายเลขบันทึก: 340701เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2010 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีครับท่าน ผศ.ดร.เมธา สุพงษ์

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำสำหรับ การศึกษากฎหมายเชิงเปรียบเทียบครับ

ประสบการณ์ที่ผมทำงานมามีบ่อยครั้งครับที่ได้มีโอกาสไปทำสัญญาและติดต่อกับทางลาวซึ่งต้องไปทำสัญญาทำไม้และทำเหมืองหินในลาว กว่าจะร่างสัญญาออกมาได้ต้องใช้กฎหมายทั้งของไทยและของลาวมาปรับใช้ เพราะบางต่างมีข้อห้ามไม่เหมือนกัน แลยิ่งมีการนำเครื่องจักรจากไทยส่งไปทางลาวยิ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง หากจะยึดหลักเฉพาะกฎหมายไทยพอข้ามไปทางลาวกลายเป็นผิดกฎหมายทันทีในทางกลับกันทางลวถูกกฎหมายแต่ทางไทยผิดครับ แต่ในฐานะที่เราเป็นนักกฎหมายไทยจึงแก้ไขได้ไม่ยาก เพราะเราทราบข้อกฎหมายดีแต่กับทางลาวต้องศึกษาก่อนแล้วนำมาปรับใช้  ที่ท่านอาจารย์นำเอาการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบในระดับโทและเอก มาแนะนำนี้มีประโยชน์และมีความสำคัญยิ่งต่อการทำธุระกรรมระหว่างประเทศมากเลยครับ

ขอบพระคุณที่แบ่งปันครับอาจารย์

สวัสดีครับชาวฝนแปดแดดสี่

ก่อนอื่นต้องขอบคุณสำหรับการเข้ามาเยี่ยม และให้ข้อแนะนำในทางปฏิบัติทำให้เห็นภาพของการทำงานและการใช้กฎหมายจริงๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่นักกฎหมายจะถูกหล่อหลอมจากการเรียนการศึกษาให้รู้จักแก้ปัญหา รู้จักจับประเด็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงไม่เป็นการยากที่จะประยุกต์ในการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อใช้กฎหมายในเชิงเปรียบเทียบเพียงแต่บางท่านอาจจะต้องอาศัยการชี้แนะบางครับ การเรียนกฎหมายจะสนุกก็ต่อเมื่อผู้เรียนกฎหมายมีความสนใจ

ขอบพระคุณที่เข้ามาแลกเรียนความรู้

สวัสดีครับ

  • ทำอย่างไร ให้มีการเคารพกฎหมาย กันมากกว่านี้ครับ
  • กฎหมาย ต้องอ่าน ต้องจำ(ท่อง)
  • ป.ตรี ก็หนักแล้วครับ

สัวสดีครับหนุ่ม ร้อยเกาะ

ต้องขอพูดถึงพื้นฐานในการเรียนกฎหมายก็ก่อนว่ามิได้มีแต่การท่องจำเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญในการเรียนกฎหมายคือความเข้าใจครับ การเรียนกฎหมายในระดับปริญญาตรีเป็นการเรียนกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ในประกอบวิชาชีพ ดังนั้นการเรียนจึงมุ่งเน้นไปสู่การนำไปใช้ในทางปฏิบัติครับ ค่อนข้างหนักแต่ถ้าเรารู้จักหลักในการเรียนก็จะไม่ยากจนเกินไปครับ แต่หลักในการเรียนในระดับปริญญาโทเป็นการเรียนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รู้จักที่จะคิดหาเหตุผลในทางกฎหมาย รู้จักการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ เป็นการเรียนอย่างมีเหตุผล โดยวิธีการเปรียบเทียบกฎหมายครับ ส่วนประเด็นแรกแต่นำมาไว้ในตอนสุดท้ายคือทำอย่างไร ให้มีการเคารพกฎหมาย กันมากกว่านี้ครับ นี้คือเป็นประเด็นปัญหาที่ใช้ในการศึกษาในระดับปริญญาโท และเอก ว่าการที่คนไม่เคารพกฎหมายเนื่องจากอะไร และกฎหมายอะไรที่คนไม่เคารพ โดยวิธีการตั้งสมมติฐานว่า ที่คนไม่เคารพกฎหมายเนื่องจากกฎหมายไม่มีสภาพบังคับ หรือคนบังคับกฎหมายไม่นำกฎหมายมาใช้บังคับอย่างจริงจัง อาจมีได้หลายๆคำตอบ แต่ที่แน่ก็คือเราในฐานะเป็นคนหนึ่งที่เรียนกฎหมายและรู้จักวิธีการใช้กฎหมายจะต้องนำกฎหมายไปใช้ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม

ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้

อยากทราบว่ากฏหมายไทยมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไรครับ

กฎหมายไทยมีจุดอ่อนแข็งมากมาย เช่นเป็นกฎหมายที่มีการผสมผสานทั้งแนวคิดของระบบกฎหมาย 2 ระบบ คือจารีตประเพณีและประมวลกฎหมาย แต่มีลักษณะลองผิดลองถูกในการนำมาใช้ ของคุณครับ

อยากทราบว่าถ้าเกิดเรื่องที่เราทำวิทยานิพนธ์ยังไม่มีกฎหมายโดยตรง และ/หรือยังไม่มีกฎหมายของต่างประเทศที่จะมาเปรียบเทียบด้วย แล้วจะทำบทที่3อย่างไรครับ

ปัญหาการศึกษาวิชากฎหมายในสถาบันการศึกษามีอะไรบ้างคะ

สวัสดี sapiente

บทที่3อย่างไรถ้ายังไม่มีกฎหมายโดยตรง และ/หรือยังไม่มีกฎหมายของต่างประเทศที่จะมาเปรียบเทียบ คุณต้องการศึกษากฎหมายเรื่องอะไรก็นำเรื่องดังกล่าวมาอธิบายในบทนี้

สวัสดีSiripen

ปัญหาการศึกษาวิชากฎหมายในสถาบันการศึกษามีอะไรบ้างคะ มีหลายลักษณะครับ เช่นผู้มาเรียนมิได้มีใจที่จะศึกษาในวิชาที่เรียนก็มีปัญหาในการปรับสภาพ หรือความเข้าใจผิดในรูปแบบการเรียนที่บอกว่าเรียนกฎหมายจำอย่างเดียวทั้งที่ความจริงต้องมีความเข้าในหลักของกฎหมายด้วย

กราบเรียนท่านอาจารย์ ผศ.ดร. เมธา สุพงษ์ ครับ

     ขณะนี้ผมกำลังจะเริ่มทำเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ในเรื่องกฎหมายเปรียบเทียบครับ แต่เป็นในส่วนของกฎหมายกีฬาครับ  กำลังเพิ่งเริ่มจะ Review ครับ อยากจะขอคำแนะนำจากอาจารย์ครับ ว่ามีประเด็นไหนน่าทำ และจะเป็นประโยชน์กับสังคมครับ ขอบพระคุณมากครับ.

สวัสดีครับ

ทำเรื่องเขตอำนาจศาลกีฬาครับ น่าสนใจ มีตัวอย่างในต่างประเทศ  หัวข้อจะทำเป็นเปรียบเทียบก็น่่าสนใจดีครับ แต่ต้องไม่เป็นบทที่สามนะครับ คือต้องเปรียบเทียบทุกบท ผสานเข้ากันไประหว่างกฎหมายที่เปรียบเทียบนะครับ จริงๆ เมืองไทยยังไม่มีศาลกีฬา กฎหมายเกี่ยวกับการกีฬาก็น้อยนิด ทำแบบไม่เปรียบเทียบจะยากน้อยกว่ามังครับ


โชคดีนะครับ

ขอบพระคุณมากครับ ขณะนี้กำลังเขียนทยอยเขียนบทความวิชาการกฎหมายกีฬาของประเทศต่างๆครับ เพื่อจะได้ใช้ ในการ review ในส่วนของบทที่ 2 และเป็นความรู้ประดับตัวเองครับ เรื่องของเขตอำนาจศาลกีฬาน่าสนใจมากครับ และวิธีในการทำในลักษณะเชิงเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบทุกบทเช่นอย่างท่านแนะนำ ผมเห็นด้วยว่าดีที่สุดครับ ขอบพระคุณอีกรอบครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท