ทำตามคนที่เรารัก


วันนี้ตามประวัติศาสตร์อิสลามตรงกับวันประสูติของศาสนฑูตคนสุดท้ายคือ มุฮัมมัด หรือทีเรารู้จักคือ นบีมุฮัมมัด และท่านคือแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบของมุสลิมทุกคน

ท่านประสูติตรงกับวันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ปีช้าง คือก่อนปีฮิจเราะฮฺศักราช 53 ปี หรือประมาณปี ค.ศ.570

ตามประเพณีของมุสลิมบ้านเรา(ประเทศไทย) มีมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเฉลิมฉลองกันในเดือนนี้ (รอบีอุลเอาวัล) และจะเรียกว่าเดือนเมาลิด(บุลันเมาลิด) ซึ่งเท่าที่ผมเคยประสบมา ในเดือนนี้จะมีการเลี้ยงฉลองโดยเรียกคนบ้านใกล้เรือนเคียงมากินข้าวร่วมกันที่บ้าน โดยจะมีการอ่านคำสดุดีนบีเป็นภาษาอาหรับที่เรียกว่า เบรอซันญี

โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาบางแห่งจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในว้นประสูตินี้ มีกิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าเป็นการสร้างความสำคัญในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ให้ทุกคนระลึกถึงศาสนฑูตผู้ยิ่งใหญ่ที่นำสารที่ชี้นำแนวทางที่เที่ยงตรงแก่มวลมนุษย์

บางหมู่บ้าน บางตำบล บางจังหวัด รวมถึงประเทศไทยด้วย จะให้ความสำคัญของวันนี้ โดยการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ เช่น งานเมาลิดกลางของประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี แม้จะไม่ได้จัดกันในเดือนที่ท่านประสูติ

กิจกรรมต่างๆ ที่บ้านเราทำกันนี้ไม่ใช่เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของท่านนบีอย่างเดียว บางแห่งยังบอกด้วยว่าที่เขาทำขึ้นเพราะเขารักนบี แน่นอนมุสลิมทุกคนจะต้องรักนบี เพียงแต่ว่า คนเรารักใครแล้วก็จะแสดงว่าเขารักคนนั้นด้วยวิธีการต่างๆ

โดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมรักใครแล้วผมก็จะทำตามทุกอย่างตามที่คนๆนั้นต้องการ ว่ากันว่าคนเราเมื่อรักกันแล้ว ชี้นกก็เป็นนก ชี้ไม้ก็เป็นไม้ บางคนเป็นถึงขนาดถ้าคนรักชี้ไม้ว่าเป็นนก ก็จะตอบว่านกเหมือนกัน

อัลลอฮฺได้ตรัสแต่นบีมุฮัมมัด ว่า

"จงกล่าวเถิด(มุฮัม มัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮ์ก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อัลกุรอาน อาลิอิมรอน 3:31)

อายัตนี้ชัดเจนว่า เมื่อเรารักอัลลอฮฺสิ่งที่เราต้องทำเพื่อแสดงความรักและอัลลอฮฺจะรักตอบคือการทำตามนบีมุฮัมมัด

และในอายัต

"และอะไรที่เราะซูลนำมาพวกเจ้ารับมันเสียและอะไรที่ท่านห้ามก็จงละเว้นเสีย และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ" (อัลกุรอาน อัลหัชริ 59:7)

ส่วนคำถามที่หลายคนชอบถามว่า กิจกรรมต่างๆ อย่างที่ผมยกมาข้างบนนั้น มีแบบอย่างในสมัยนบีไหม

เท่าที่ผมศึกษามายังไม่พบการกระทำในกิจกรรมลักษณะนั้นในสมัยนบีหรือหลังจากนบี เช่น สมัยเศาะหาบะฮฺ หรือสมัยคนหลังจากนันรุ่นสองรุ่น(ตาบีอีน)

บางคนเขาได้ถือศีลอดในวันนี้ โดยยึดตามหะดีษที่ว่า

عن أبي قتادة الأنصاري رضي الله عنه أن رسول الله صلى الله عليه وسلم سئل عن صوم الاثنين ؟ فقال : فيه ولدت ، وفيه أنزل عليَّ . رواه مسلم ( 1978 ) .

"รายงานจาก อะบูเกาะตาดะฮฺ อัลอันศอรี - รอฎิยัลลอฮุอันฮุ-  กล่าวว่า ท่านเราะซูลุลอฮฺ -ศอลลอลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอด ท่านตอบว่า เป็นวันกำเนิดฉัน และเป็นวันที่ฉันถูกประทานอัลกุรอาน" บันทึกโดยมุสลิมที่ 1978

อุลามาอฺ(นักวิชาการอิสลาม) ให้ความเห็นว่า การถือศีลอดในวันจันทร์ถือเป็นสิ่งที่ควรกระทำ(สุนนะฮ) แต่ถ้าถือศีลอดเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ(ทำปีละครั้ง)ไม่ควรกระทำ

วัลลอฮุอะลัม

คำสำคัญ (Tags): #เมาลิด
หมายเลขบันทึก: 340169เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อัลลอฮฺได้ตรัสแต่นบีมุฮัมมัด ว่า

"จงกล่าวเถิด(มุฮัม มัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮ์ก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท